Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

นับตั้งแต่มีเหตุเด็กสูญหายในพื้นที่ต่างจังหวัดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เวลาก็ล่วงเลยมาสองเดือนกว่า ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะปิดคดีนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักนิติวิทยาศาสตร์ยังคงเสาะหาหลักฐานมาใช้ในการตัดสินรูปคดี รวมไปจนถึงสื่อมวลชนก็ยังคงติดตาม และนำเสนอเรื่องราวนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฉากหน้าของคดีนี้ยังมีตัวละครและปมเรื่องราวให้ถ่ายทอดต่อประชาชนต่อไป

อย่างไรก็ดีบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏเพียงเรื่องราวโศกนาฎกรรมของครอบครัวหนึ่ง ยังมีความจริงใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมากที่ไม่ถูกหยิบมาตีแผ่และนำเสนอต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ถดถอย และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย workpointToday ได้สัมภาษณ์ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ และสิทธิมนุษยชน จะมาเจาะลึกไปให้ถึงฐานรากของปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเยาวชน

สิทธิเด็กที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย

ดร.ชเนตตี กล่าวว่า ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จะพบสถานการณ์เด็กถูกกระทำความรุนแรงในพื้นที่ข่าวอยู่เสมอ แต่ภายใต้พื้นที่ข่าวอาชญากรรมเหล่านั้น ยังมีความรุนแรงอีกมากที่ไม่ถูกนำมารายงาน หรือว่าไม่ถูกมองเห็น สภาวการณ์ความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นประจำทั้งในและนอกพื้นที่ข่าว เป็นหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ได้ว่า สิทธิเด็กในสังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย

“เราจะพบเห็นข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน เด็กต้องอยู่ในสถานการณ์ของการเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ไร้ที่พึ่งต้องออกจากบ้าน ติดอยู่ในสถานการณ์ของการถูกตีตรา การถูกไล่ล่าในโลกออนไลน์ เด็กอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถพึ่งพิง เผชิญหน้ากับสถานะของความยากจน แม้แต่การที่เด็กตกเป็นเป้าหมายการก่ออาชญากรรม หรือการเสียชีวิตโดยที่สังคมเองนั้นก็ไม่เคยมีการวางมาตรการอะไร ในการที่จะป้องกันให้สิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่เหล่านี้ตามหลักสากลของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก”

ด้วยการที่เด็กหรือเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่มีแหล่งอำนาจน้อยใน 2 ประเด็นคือ 1. การที่มีวัยที่น้อย และ 2. การที่มีต้นทุนในการใช้ชีวิตที่น้อย ทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจตกเป็นเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิในลักษณะต่าง ๆ ในพื้นที่ข่าวอาชญากรรม และนำมาสู่การสูญเสียไปก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก หรือพวกเขาไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ได้ ยอดตัวเลขการสูญเสีย และจำนวนคอลัมน์ข่าวอาชญากรรมในเด็ก จึงกลายเป็นคำถามที่สังคมต้องกลับมาทบทวนว่า สังคมไทยกำลังละเลยสิทธิเด็กข้อใด หรือกำลังเลือกปฏิบัติกับเด็กอย่างไม่เป็นธรรมอยู่หรือไม่

แน่นอนว่าเป็นเช่นนั้น อาจารย์ชเนตตีได้กล่าวเสริมอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาเด็กสูญหาย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรืออาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก สังคมมักมองเห็นเป็นเพียงโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้าในครอบครัว หรือเป็นปัญหาส่วนตัวที่ไม่ข้องเกี่ยวกับระบบทางสังคม อาทิ การกล่าวโทษว่าเป็นเรื่องของการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การบุ้ยใบ้ให้เป็นเรื่องความซุกซน และความไร้เดียงสาของเด็กเอง ที่ทำให้คดีต่าง ๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้น ซึ่งการมองเช่นนั้นยิ่งเป็นการผลิตซ้ำโศกนาฏกรรมให้สาหัสขึ้นไปอีก

“การที่สังคมยังมีมุมมองที่มีลักษณะคับแคบ คือมีมุมมองจากบนยอดเขาภูเขาน้ำแข็งซึ่งก็เป็นการเข้าไปเพ่งโทษแค่ว่ามันเป็นปัญหาส่วนตัวของเด็กคนนั้นืหรือว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของครอบครัวนั้น มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาเด็กหายแล้วก็เสียชีวิตในที่สุด เวลาสังคมมองในมิติที่มันแคบแบบนี้ คือมองจากบนยอดภูเขาน้ำแข็งว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของเด็กคนนั้น มันก็เลยทำให้เราไปไม่ถึงฐานรากของปัญหาของการที่เด็กถูกละเมิดสิทธิโดยแท้จริง” 

ความเหลื่อมล้ำภายใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ปรากฎ

เมื่อเราพบแล้วว่าสังคมมองเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เสพเนื้อหาคดีแค่ความเศร้าโศก และมองว่าเป็นการฟาดเคราะห์ของครอบครัวหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากเราดำลึกลงไปในน้ำ ก็จะเผยให้เห็นรากปัญหาที่ซ่อนอยู่ว่าแท้จริงแล้วความรุนแรงเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องระดับปัจเจกบุคคลเลยแม้แต่น้อย หากแต่หมายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เด็กคนหนึ่งจะต้องเผชิญ อาจารย์ชเนตตีได้ยกตัวอย่างฐานข้อมูลการรายงานข่าวพบว่า  “เด็กที่มาจากครอบครัวที่เป็นชายขอบของสังคม คือครอบครัวที่มาจากเส้นล่างของความยากจน เข้าไม่ถึงปัจจัยหรือว่าอำนาจในทางเศรษฐกิจ เขาจะมีแนวโน้มตกเป็นเป้าหมายที่ทำให้เด็กสูญหาย (มากกว่าเด็กชนชั้นอื่น) เพราะฉะนั้นเวลาเราพิจารณาที่ฐานราก เราต้องมองให้เห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ก่อนในทางสังคม เด็กที่มีโอกาสเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงจะตกเป็นเหยื่อของการที่จะต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร”

และหากนำกรณีน้องชมพู่มาวิเคราะห์ปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง พบว่ามีถึงสี่ลักษณะของความเป็นชายขอบด้วยกัน คือ 1. ความเป็นเด็กผู้หญิง 2. ความเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา 3. ความเป็นชนบท 4. ความยากจนในครอบครัวเกษตรกร ซึ่งความเป็นชายขอบทั้ง 4 ลักษณะนี้ได้ถูกวาดกรอบทับซ้อนไว้อย่างแน่นหนา ยิ่งใครมีเส้นกรอบความเหลื่อมล้ำนี้มากเท่าไหร่ ชีวิตก็ยากที่จะเข้าถึงโอกาสและอภิสิทธิ์ต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้าหากมีเส้นกรอบเหล่านี้น้อยเท่าใด โอกาสในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมก็จะน้อยลงตามลำดับ เช่น หากน้องชมพู่อาศัยอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลาง ค่อนข้างมีต้นทุนทางสังคม น้องชมพู่อาจได้เข้าเรียนในสถานดูแลเด็กเล็ก มีความปลอดภัยที่มากขึ้น มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอด และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ เป็นต้น

ความเหลื่อมล้ำที่วัดชะตาความเป็นตายของเด็กของคนหนึ่งได้ ทำให้สังคมไทยควรกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกว่า ความเป็นเด็กที่มีแหล่งอำนาจน้อยอย่างที่กล่าวมา ทำให้เขาถูกมองข้ามการปกป้องดูแลมากกว่าคนในวัยอื่นหรือไม่ และประเด็นทางเพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ และความเป็นชนบท ได้ผลิตซ้ำย้ำความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กไปอีกหรือไม่

“ถ้าสมมุติว่าสังคมไม่มีเลนส์สายตาที่จะเห็นความเหลื่อมล้ำที่มันจะเกิดขึ้นตรงนี้ เราก็จะยังมีน้องชมพู่คนที่ 2 3 4 ซึ่งจะต้องออกจากบ้านแล้วก็เสียชีวิตในที่สุดเนี่ยอีกเป็นจำนวนมากถ้าเราไม่สามารถถมช่องว่างตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ เป็นสิ่งที่ระบบและโครงสร้างของสังคม ไม่เคยมองเห็นคนที่อยู่ด้านล่างของเส้นความยากจน จึงทำให้เด็กในชนบทที่ยากจน จะต้องตกเป็นเหยื่อ อยู่ในวัฏจักรของความรุนแรงแบบนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมจะต้องกลับมามองให้เห็นก็คือคุณต้องแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพื่อที่จะปรับฐานชีวิตของเด็กทุกคน”

ระบบเศรษฐกิจต้องเข้ามาแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ระบบสังคมวัฒนธรรมต้องเข้ามาลดช่องว่างความไม่ปลอดภัยระหว่างเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิง ระบบการศึกษาต้องให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมตามวัย และระบบสวัสดิการสังคมจะต้องสร้างพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดี การเข้ามามีบทบาทของระบบสังคมทั้งหมดนี้จะช่วยให้ยอดการสูญเสีย และจำนวนคอลัมน์ข่าวอาชญากรรมในเด็กนั้นลดลง และนั่นหมายถึงการเข้าใกล้สู่ระบบสังคมที่ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวน้ำแห่งความเพิกเฉย

อาชญากรที่แท้จริง อาจไม่ได้มีแค่ผู้ร้ายในคราบโม่งคลุมหัว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุก ๆ ระบบในสังคมไทย ยังไม่ออกมามีบทบาทกับเรื่องของการปกป้องสิทธิเด็กเท่าที่ควร ความเงียบที่เกิดขึ้นในสังคมก็เกิดจากการที่สื่อไม่ทำหน้าที่เป็นกระจกส่องให้เห็นที่ความจริงใต้ภูเขาน้ำแข็ง จะเห็นได้ว่าผ่านมาหลายเดือนแล้วที่ครอบครัวนี้ต้องตกเป็นเหยื่อ เป็นจำเลยของสังคม ชุมชนนี้ไม่มีความสงบสุขเกิดขึ้น แต่สังคมกลับไม่ได้มีการตั้งคำถามต่อเรื่องเหล่านี้ เพราะแทนที่สื่อจะทำหน้าที่ปลุกให้สังคมรู้แจ้ง เห็นจริงถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่กลับพุ่งประเด็นไปที่เรื่องของการล่าหาความจริงเพียงผิวเผิน ที่สร้างอรรถรส และความบันเทิงได้มากกว่า จนสร้างประเด็นความขัดแย้ง เป็นรอยแผลในความทรงจำของคนในครอบครัว และชุมชน

“สื่อเป็นตัวการใหญ่ เป็นผู้ต้องหารายใหญ่ เพราะว่าสื่อขยาย ยิ่งการทำรายงานข่าวในลักษณะที่เราพบเห็นอยู่เกี่ยวกับเรื่องของน้องชมพู่ เป็นการขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้มันห่างออกไปอีก เพราะฉะนั้นเนี่ย สามัญสำนึกของสื่อมวลชนต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าทำไม คุณถึงมองไม่เห็นความละเอียดซับซ้อนและความเปราะบางของปัญหานี้”

อาจารย์ชเนตตียังเสริมอีกว่า สื่อบางช่องก็ทำหน้าที่ได้เหมาะสม แต่บางช่องก็ทำหน้าที่เกินเลย จนบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุก ๆ กระบวนการทำงานของสื่อในกรณีน้องชมพู่ล้วนละเมิดสิทธิเด็กทั้งสิ้น อันแรกคือเรื่องของการกำหนดประเด็น เราจะเห็นว่าการรายงานเรื่องน้องชมพู่ สื่อรายงานแค่ลำดับเหตุการณ์ คือรายงานแค่ความเจ็บปวด บาดแผล และการเสียชีวิต สื่อไม่ได้รายงานผลกระทบที่มองไม่เห็นซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ซึ่งผลกระทบที่มองไม่เห็นก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจารย์อ้างไปพอสื่อมองไม่เห็นผลกระทบที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นรากของปัญหาที่แท้จริง ก็จะไม่สามารถนำไปสู่การยุติปัญหาเรื่องนี้ได้ ประเด็นที่สองก็คือ สื่อขยายประเด็นออกไปเกินเลย อย่างเช่นการนำเรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องหวย เรื่องไสยศาสตร์ นำบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเลยเกี่ยวกับผลกระทบอันนี้ มาให้สัมภาษณ์ซึ่งมันทำให้สังคมไม่เติบโต แล้วก็ไม่เรียนรู้จากความบาดเจ็บใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะกลายเป็นว่าคนที่ติดตามข่าวจากสื่อ 2-3 สำนักนี้เสียงตอบรับของคนในโลกออนไลน์เขาบอกว่าคดีจบแล้วเหรอ หมดสนุกแล้วสิ เดี๋ยวเราจะไปตามเรื่องไหนต่อดี ยังฟินอยู่เลย ไม่อยากให้จบแบบนี้เลยไม่สนุก แปลว่าอะไร แปลว่าความตายของคน ๆ หนึ่ง การสูญเสียของครอบครัวหนึ่ง มันทำไมมันถึงสนุกสำหรับผู้รับสาร

พร้อมทั้งแนะอีกว่า ข่าวอาชญากรรมไม่ควรที่จะทำให้กลายเป็นเรื่องเร้าอามณ์ สร้างความบันเทิง ซึ่งเราจะพบเห็นว่าผู้รับสารในโลกออนไลน์ไม่ได้ตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทุกคนต่างติดตามข่าวนี้ไปเพียงเพราะมันสนุก เพราะฉะนั้นนี่คือการละเมิดสิทธิของผู้ตกเป็นข่าว และสำนักข่าวเหล่านี้กำลังจะใช้ข่าวเป็นเครื่องมือทำให้สังคมถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ล้าหลังทางความคิด

รวมไปถึงการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เป็นเด็กอย่างพี่สาวของน้องชมพู่ ที่สะเทือนใจอาจารย์เป็นอย่างมาก เพราะการสัมภาษณ์นั้นไม่ได้ใช้หลักการตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก เข้าไปสัมภาษณ์เด็กราวกับเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง อีกทั้งการเลือกแหล่งข่าว จะต้องพิจารณาวงศูนย์กลางของความรุนแรง ถ้าสมมุติว่าเด็กคนนั้นเขาอยู่ใกล้อยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของความรุนแรงมาก เราต้องกันเข้าออกจากพื้นที่ข่าวโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับกรณีพี่สาวน้องชมพู่ “เพราะปมที่มันเกิดขึ้นในวัยเด็ก มันฝังลึกแล้วแก้ยาก แล้วการที่น้องถูกสัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยสื่อหลายสำนัก มันเท่ากับว่าเขาถูกเปิดบาดแผลครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะต้องไม่ลืมว่ากระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมที่จะต้องมาสัมภาษณ์พี่สาวของน้องชมพู่ไปพอสมควร สื่อก็สร้างแผลแล้วก็มาทำข่าว แล้วก็จากไป สื่อได้ข่าวจากไป ได้ rating ได้ engagement แต่บาดแผลที่มีอยู่ในชุมชนในครอบครัวแล้วก็ในตัวเด็กผู้หญิงคนนั้นน่ะ ใครจะช่วยรักษาบาดแผล”

ไม่ได้มีแค่เพียงสถาบันสื่อสารมวลชนที่ละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำใต้ภูเขาน้ำแข็ง ยังมีผลพวงของการศึกษาที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจทุนนิยม ทำให้สถาบันการศึกษาไม่มีแม้แต่คำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ปรากฏให้เล่าเรียนอยู่ในตำรา รวมไปถึงความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมที่แสดงถึงความอยุติธรรม ทั้งหมดนี้มันแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนต่างอาศัยอยู่ในระบบสังคมที่เร่งขยายถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ หากเปรียบระบบทางสังคมเหล่านี้เป็นอาชญากรที่ก่อกำเนิดความเหลื่อมล้ำ การเพิกเฉยต่ออาชญากรเหล่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด “ถ้าเรามองในโครงสร้างของภูเขาน้ำแข็งเราก็จะพบว่า ฐานรากตรงนี้ทั้งหมดมันหายไปหมดเลย ทุกระบบในทางสังคมต้องช่วยกันในเรื่องของการขจัดช่องว่างความเหลื่อมล้ำโดยด่วน ไม่อย่างนั้นเป้าหมายที่อนุสัญญาสิทธิเด็กได้วางเอาไว้ว่าเด็กจะต้องมีชีวิตที่ปลอดภัย มีพัฒนาการที่เหมาะสมในชีวิตของเขา จะไม่มีวันเป็นจริง”

นักอาชญาวิทยา มองคดีนี้สะท้อนจุดอ่อนการเก็บหลักฐาน

จากผลการชันสูตรครั้งแรก ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ที่ระบุว่าไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย มีความเป็นไปได้ว่าอาจพลัดหลงป่า จนขาดอาหาร ขาดน้ำ เสียชีวิต ขณะที่ สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ  ชันสูตรร่างอีกครั้ง เบื้องต้นว่า ไม่ปรากฏสาเหตุการเสียชีวิต แต่พบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ไม่ใช่บาดแผลที่เกิดจากการร่วมเพศ ทำให้คดีนี้เกิดคำถามจากสังคมมากมายจากผู้ติดตามข่าวในสังคม และทำให้เกิดการพยายามตามหาคนผิดจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกันเอง จนเกิดความไม่ใจ้เนื้อเชื่อใจกันในพื้นที่ มีความหวดระแวงกันเกิดขึ้น

ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต มองว่าการเก็บหลักฐานในคดี ยังมีจุดอ่อน โดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ในการเก็บหลักฐานที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ “สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างแรกของคดีนี้ก็คือว่า เราเข้าที่เกิดเหตุได้ไม่ดีพอ มันอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นพื้นที่ไกล เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็เป็นตำรวจที่อยู่ไกลเมือง ก็อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ เท่าไหร่ ทีนี้การเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ไม่ดีพอ หมายถึงว่า การเข้าพื้นที่เกิดเหตุที่มีคนตาย จะต้องมีนักนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย มีหมอ มีแพทย์ชันสูตรเข้าไปด้วย แต่ที่ผ่านมาปัญหาของเราก็คือว่า บางทีตำรวจเข้าไปถึงโทรหาแพทย์นิติเวช มันก็เดินทางมาไกลเนาะ ก็ไม่มาอย่างนี้ แล้วเราทำอย่างนั้นจนเคยชิน พอมันมาถึงคดีที่มันเป็นคดีใหญ่ มันก็ทำให้เราไม่สามารถเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ณ เวลาแรก ที่เราไปถึงที่เกิดเหตุได้ดีพอ ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ ทั้งตัวศพ ของที่ตกใกล้ศพ ทั้งวัตถุพยานต่างๆ ได้ดีพอ เคสนี้ก็เป็นอีกหนี่งเคสที่เป็นปัญหา มันก็ทำให้คดีล่วงเลย ยาวนาน เดากันไปต่างๆ นาน แล้วหาผู้กระทำผิดไม่ได้”

กระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ถูกต้องตามหลักสากล อำนาจควรจะอยู่ที่พนักงานสอบสวน พื้นที่เกิดเหตุควรถูกปิดกั้น แต่หลายเหตุการณ์ หลายคดีพบว่า มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดี ซึ่งนี่เป็นอีกจุดที่กระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่  ซึ่ง ร.ต.อ.จอมเดช ระบุว่า “ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการเข้าที่เกิดเหตุของสากล จริงๆ ดีมากอยู่แล้ว ตรงที่เขาให้อำนาจของผู้ที่ถึงที่เกิดเหตุคนแรกก็คือพนักงานสอบสวน ให้อำนาจสูงมากในการเข้าที่เกิดเหตุ แล้วก็เอา Police Line ที่เราเคยเห็นในหนัง มากันไม่ให้ใครเข้าที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีสิทธิเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของคดี ซึ่งผมมองว่าบ้านเราไปถึงตรงนี้ยากมากๆ เพราะบ้านเรายังมีระบบอาวุโส มีผู้ใหญ่ มีผู้น้อย ผู้ใหญ่ ผู้บัญชาการมา รอง ผบ.ตร.มา ผู้ใหญ่มา พานักข่าวมา ก็อยากจะเดินเข้าไป เพราะถ้าเราไปกวนที่เกิดเหตุ กวนพยานหลักฐาน ส่วนสื่อมวลชนเองก็ควรให้เกียรติสถานที่ตรงนั้น แล้วก็รวมถึงชาวบ้าน ประชาชน ความเข้าใจของประชาชนก็ต้องรู้ว่าในพื้นที่ Police Line ไม่ว่าคุณเป็นใครก็ไม่มีสิทธิเข้าไป”

และหากเราย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่พบร่างของเด็กวัย 3 ขวบ คนในครอบครัวถูกกันออกจากพื้นที่ ความโกลาหล ความสับสน ความไม่ไว้ในในพื้นที่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น “พ.ร.บ.คุ้มกันพยาน เราก็เขียนไว้เสร็จหมดแล้ว แต่เราไม่ค่อยได้เอามาใช้เท่าไหร่ พอมันไม่ได้ถูกมาใช้บ่อยๆ มันก็ทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายไม่ได้คุ้นชิน ที่จะต้องรีบทำ รีบดำเนินการคว้าตัวพยานของจากจุดเสี่ยงทั้งหมด แต่ข้อเสียก็คือการยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานโดยเฉพาะพยานบุคคล บ่งครั้งสื่อเองก็ไม่ได้ระวังว่าการถาม อย่างถามเด็ก ถามพี่สาวของผู้ตาย เขายังเป็นเด็ก บางทีเดินไปเอาไมค์จ่อเขา บางทีไม่ใช่ มันทำไม่ได้นะครับ ขนาดตำรวจจะเรียกสอบยังต้องมีมีมสหวิชาชีพ  มีทนายความ มีอัยการนั่งอย่างนี้ แต่ทีนี้สื่อมวลชนเองก็อยากได้ข่าว แต่ละช่องก็แย่งกัน ผมว่านี่เป็นประเด็นที่จะสร้างปัญหากับรูปคดีได้ มันก็อาจจะทำให้เด็กไม่อยากให้ความร่วมมือกับตำรสจอะไรอีกแล้ว เพราะว่าพอถูกถามแล้วมันไปกระตุ้นความรู้สึกเขา ทำให้เขาหวาดกลัว เพราะเราถามไม่ถูกต้อง แล้วก็ถูกถามซ้ำบ่อยๆ ในเรื่องเดิมๆ มันก็ทำให้เขาไม่ให้ความร่วมมืออะไรมากขึ้น กลายเป็นว่าตำรวจก็ทำงานยากขึ้น”

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องถอดบทเรียน เพื่อหาทางออกใต้ภูเขาน้ำแข็ง ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า