หลังจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ จนลุกบานปลายกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
หลายเมืองใหญ่ในจีน อย่างนครเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ฉงชิ่ง รวมถึงกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ เริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด ยกเลิกการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของเมืองตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (1 ธ.ค.) แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 เกิดขึ้นหลังจากที่การประท้วงมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดของรัฐบาลจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่เมืองอุรุมฉี ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบคน เนื่องจากไม่สามารถหนีออกมาได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดของทางการ
ท่าทีผ่อนปรนนโยบายคุมโควิด-19 ของจีน เริ่มส่งสัญญาณออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ ซุน ชุนหลัน รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งรับผิดชอบดูแลนโยบายโควิด-19 ยอมรับว่า ไวรัสโควิด-19 มีความสามารถในการก่อโรคน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกได้เคยกล่าวไว้มานานกว่าหนึ่งปีแล้ว พร้อมกับกล่าวว่า “จีนกำลังเข้าสู่ขั้นตอนและภารกิจใหม่ในการควบคุมการระบาด”
อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การผ่อนปรนนโยบายเข้มงวดในครั้งนี้จะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกระแสต่อต้านของประชาชน แต่ประกาศที่ออกมาจากทางการได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการพูดถึงการประท้วงที่เกิดขึ้น เพียงแต่ระบุว่า จีนจะจัดการกับข้อกังวลที่สาธารณชนได้แสดงออกมาอย่างเร่งด่วน
ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องแลกมา
ความโกรธเคืองและกระแสความไม่พอใจต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาล แม้จะถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่รัฐบาลตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด แต่นักวิเคราะห์บางส่วนคิดว่า อีกสาเหตุที่ทำให้หลายเมืองตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการลง เป็นเพราะความท้าทายจากค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องเสียไปกับการดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล อย่างการตรวจทดสอบเชื้อให้กับประชาชนจำนวนมาก และข้อกำหนดให้ล็อกดาวน์สถานที่ที่พบผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด
จอร์จ แมกนัส นักวิเคราะห์จากศูนย์จีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า แม้นโยบายโควิดเป็นศูนย์จะช่วยให้จีนรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563 มาได้ แต่เกือบ 3 ปีหลังจากนั้น ตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายจากความตึงเครียดทางการเงินอย่างหนัก อันเป็นผลมาจากนโยบายดังกล่าว
“รัฐบาลท้องถิ่นกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการดำเนินการตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลกลาง และตอนนี้เราก็เห็นผลที่เกิดขึ้นแล้วจากการเป็นหนี้ของหลายหน่วยงาน มีการลดขนาดการบริการสาธารณะลง รวมถึงสินทรัพย์และบริการบางส่วนได้ถูกระงับหรือขายไปบ้างแล้ว” แมกนัส ระบุ
โดยซีเอ็นเอ็นได้อธิบายเสริมถึงเรื่องนี้ในรายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นในจีนส่วนใหญ่ มีรายได้มาจากการขายที่ดิน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของรายได้ทั้งหมด แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยซบเซาลง ประกอบกับมีการออกนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ยิ่งทำให้รายได้ของท้องถิ่นหดหายไปเป็นจำนวนมหาศาล
จากข้อมูลแค่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายที่ดินในจีนร่วงลงไปแล้วมากถึง 26% จากปีที่แล้ว และมีแนวโน้มหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ยังไม่รวมการลดหย่อนภาษีซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.7 ล้านล้านหยวน (5.24 แสนล้านดอลลาร์ ) และความซบเซาของเศรษฐกิจจีนซึ่งเติบโตขึ้นเพียง 3% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้
เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเสียให้กับการดำเนินการตามนโยบายควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดของรัฐบาลกลาง ซึ่งตามตัวเลขที่มีการเปิดเผยออกมาจากทางการแล้ว ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 พุ่งขึ้นถึง 13% แตะที่ 1.75 ล้านล้านหยวน (2.45 แสนล้านดอลลาร์) นับเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากสุดในบัญชีงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐทั่วประเทศ
จากการเปิดเผยของรัฐบาลจีน นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจนถึงเดือน เม.ย. 2565 ทางการได้ทำการตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนทั่วประเทศไปแล้วถึง 1.15 หมื่นล้านครั้ง แต่นักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่านี้มาก อีกทั้งยังมีการประมาณการด้วยว่า ในระหว่างเดือน เม.ย. – มิ.ย. ปีนี้ รัฐบาลจีนดำเนินการตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าอาจจะถึง 1.08 หมื่นล้านครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า ค่าใช้จ่ายที่จีนต้องเสียไปกับการตรวจโควิด-19 ให้กับประชาชนอาจสูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หากดำเนินการตรวจให้กับประชาชนมากกว่า 500 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในทุกๆ 2 วัน
ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลท้องถิ่นในจีน ดูเหมือนว่าจะไม่ไกลจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้มากนัก โดยเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเอง ได้เคยออกมายอมรับว่า พวกเขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนภายในเมือง
เมื่อสัดส่วนรายจ่ายและรายได้ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสุขภาพทางเศรษฐกิจของจีน เพราะไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐบาลท้องถิ่นจะผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลในการกระตุ้นการเติบโต สร้างเสถียรภาพในการจ้างงาน และขยายบริการสาธารณะต่อไปในอนาคต