Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส ได้ระบาดไปทั่วประทศจีน มีผู้ติดเชื้อกว่า 5,327 คน และเสียชีวิต 349 คน

เมื่อลูกจ้างของบริษัทด้าน “บิสซิเนส-ทู-บิสซิเนส” (Business-to-business) หรือการทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ รายหนึ่งในเมืองหางโจว เริ่มแสดงอาการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2003 ทำให้ต้องปิดบริษัท พนักงานกว่า 400 คนต้องทำงานที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทดังกล่าวซึ่งดำเนินกิจการมากว่า 4 ปี อาจต้องปิดตัวลงได้

อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดพลิกผันสำหรับกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ด้วยการเดินหน้าเปิดบริษัท “เถาเป่า” (Taobao) เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ ในเดือนนั้นเอง จากข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวของอาลีบาลา “อาลีซิล่า” พนักงานสามารถนำงานกลับไปทำที่บ้าน และสมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ รวมถึงการตอบคำถามของลูกค้าที่สามารถต่อสายตรงมายังที่พักได้

“เถาเป่า” ประสบความสำเร็จอย่างมาก และช่วยทำให้อาลีบาบาสามารถเอาชนะเจ้าตลาดอย่าง “อีชเน็ต” (EachNet ) ของอีเบย์ได้ และกลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

 

ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทของอาลีบาบาอยู่ที่ราว 573,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18.33 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับเถาเป่า บริษัทสามารถทำยอดขายในช่วง 24 ชั่วโมงของโปรโมชั่นวันคนโสด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้สูงถึง 268,400 ล้านหยวน หรือราว 1.07 ล้านล้านบาท

นอกเหนือจากอาลีบาบา ที่สามารถหาช่องทางในการสร้างรายได้จากช่วงโรคซาร์สระบาดได้แล้ว “เจดี ด็อต คอม” (JD.com) หรือในยุคนั้นที่มีชื่อว่า “เจดี มัลติมีเดีย” (JD Multimedia) ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบออฟไลน์ด้วยการเปิดร้านจำหน่ายไดรฟ์ดิสก์และเครื่องมือบันทึกข้อมูลลงแผ่นซีดี ในกรุงปักกิ่ง และเมื่อโรคซาร์สระบาด ทำให้ไม่มีลูกค้า นายริชาร์ด หลิว เฉียงตง ผู้ก่อตั้ง จึงจำเป็นต้องนำบริษัทเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์

แม้ในช่วงแรกการหาผู้ซื้อทางออนไลน์จะค่อนข้างยาก แต่หลังจากนั้นในปี 2004 ธุรกิจของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้สามารถปิดร้านจำหน่ายสินค้าได้ และหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ อย่างเต็มตัว จนกระทั่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเถาเป่า

ในตอนแรก บริษัทคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างอีเบย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทั้งอาลีบาบา และ JD.com มากนัก แต่ในปีต่อๆ มา บริษัทเริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคในประเทศ

อาลีบาบาต้องการทำให้เถาเป่าเป็นเสมือนตลาดในท้องถิ่นที่มีสินค้าที่หลากหลาย ขณะที่จุดเด่นของ JD.com ระบบเครือข่ายโลจิสติกส์เพื่อบริหารจัดการสินค้า ตลอดทั้งสายพานการผลิตให้สามารถขนส่งไปให้ถึงมือลูกค้าปลายทางได้อย่างรวดเร็ว

ดู้หมือนว่าประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง ในช่วงที่ทั้งโลกกำลังเผชิญการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เนื่องจากบริษัทหลายแห่งให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ ขณะชาวจีนหลายล้านคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจากมาตรการล็อคดาวน์ บริษัทด้านเทคโนโลยีบางแห่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจ

นายซัน เหมิงซี นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “Analysys” กล่าวว่า การระบาดครั้งนี้ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมจีนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น และทำให้โมเมนตัมของธุรกิจออนไลน์จำนวนมหาศาลเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยหลังจากการะบาด บริษัทส่วนใหญ่ หรือแม้แต่โรงงานและบริษัทด้านอุตสาหกรรมหนัก ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นธุรกิจออนไลน์ได้ อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุถึงธุรกิจในหลากหลายสาขา ที่อาจจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาใช้ในช่วงเวลาของการระบาด เช่น

 

การศึกษา

โรงเรียนในจีนยังคงปิดนับตั้งแต่เทศกาลตรุษจีน ขณะที่การเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่เริ่มเมื่อเดือนที่แล้ว เน้นไปที่การสอนทางออนไลน์ โดยนักเรียนกว่า 50 ล้านคนใน 30 มณฑล เรียนหนังสือผ่าน “ติงทอล์ค” (DingTalk) แอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่พัฒนาโดยอาลีบาบา ในวันแรกของการเปิดเทอม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์

 

 

ด้านผู้ประกอบธุรกิจการศึกษาอย่าง TAL Education กล่าวว่า ธุรกิจออนไลน์ของตน มีผู้ชมมากกว่า 500 ล้านครั้งในช่วง 2 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาใหม่ ส่วน JD.com กล่าวว่า ยอดขายแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนนักศึกษา เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ระหว่างวันที่ 2 ถึง 11 ก.พ. หรือก่อนเปิดภาคเรียน

จากข้อมูลของ ไอรีเสิร์ช คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ระบุว่า การระบาดส่งผลให้ตลาดการศึกษาออนไลน์ของจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ราว 251,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ซัน เหมิงซี กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ได้ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หลังจากผู้ใช้จำนวนมากหันมาใช้แพลตฟอร์มด้านการศึกษาทางออนไลน์ ส่วนเรื่องที่ผู้ใช้จะยังคงใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวต่อหลังจากการระบาดยุติลงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการของแต่ละบริษัท

ส่วนแพลตฟอร์มด้านการศึกษา “คลาสอิน” (ClassIn) ของ EEO ผู้ให้บริการการศึกษาทางออนไลน์ เคยมีผู้ใช้บริการก่อนหน้าการระบาด ราว 200,000 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 2 ล้านคน

นายซอง จุนโบ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ EEO กล่าวว่า นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีในการบ่มเพาะความคุ้นเคยของผู้ใช้จำนวนมาก และเพิ่มอุปทานของคุณภาพของทรัพยากรด้านการศึกษา รวมถึงการเพิ่มจำนวนครูสำหรับการสอนทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าจำนวนผู้ใช้รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จะลดลงหลังการระบาดราวร้อยละ 80

“การศึกษาออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการศึกษาในห้องเรียนได้ การศึกษาทั้งสองประเภทต่างแข่งขันเพื่อช่วงชิงเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดของผู้เรียน ดังนั้น หลังการระบาดสิ้นสุด การศึกษาในห้องเรียนจะยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม”

 

บริการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต

ในช่วงการระบาด ผู้บริโภคมักหลีกเลี่ยงที่จะออกนอกบ้าน และเลือกที่จะทำอาหารรับประทานเอง เพื่อลดการติดต่อและสัมผัสกับพนักงานส่งอาหาร หรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อน

“เหม่ยถวน เตี่ยนผิง” (Meituan Dianping) สตาร์ทอัปที่เน้นให้บริการแบบที่ให้ผู้ใช้งานติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อรับสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น การสั่งสินค้าเดลิเวอรี่ กล่าวว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์ เช่น ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. ถึง 19 ก.พ. ส่วนบริการส่งอาหารของอาลีบาลา อย่าง Ele.me มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ระหว่างวันที่ 21 ม.ค. ถึง 8 ก.พ.

ส่วน “เจดี เต่าเจีย” (JD Daojia) บริการส่งสินค้าของ JD.com มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ในช่วง 10 วันแรกของวันหยุดเทศกาลตรุษจีน

นายจง เจิ้นชาน รองประธานฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีอุบัติใหม่ บริษัท IDC กล่าวว่า ผู้คนค่อยๆ ขยับจากการเดินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต มาเป็นการซื้อทางออนไลน์ และพฤติกรรมเช่นนี้จะไม่เปลี่ยนไปแม้การระบาดสิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งนี้จะส่งผลในแง่บวกต่ออุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ โดยรวม

รายงานของ Questmobile ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานประจำของบริการสั่งสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ อยู่ที่ราว 7.8 ล้านคน ในช่วงต้นเดือน ม.ค. ก่อนการระบาด และเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในช่วงเทศกาลตรุษจีน และเพิ่มเป็น 12 ล้านคนในช่วงต้นเดือน ก.พ.

 

การทำงานระยะไกล

การระบาดยังทำให้ความต้องการในการใช้บริการสถานที่ทำงานแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น นายซัน เหมิงซี กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการให้พนักงานทำงานทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นช่วงที่บริษัทซัพพลายเออร์ด้านบริการการทำงานทางไกล ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องจาก เมื่อลูกค้ากลุ่มองค์กรเริ่มมีความคุ้นชินกับการทำงานออนไลน์แล้ว ก็ยากที่พวกเขาจะกลับไปทำงานในออฟฟิศอีก เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้ารายบุคคล

 

 

ด้านบริการ “เท็นเซนต์ มีตติ้ง” (Tencent Meeting) ของบริษัทเท็นเซนต์ ผู้ให้บริการเกมยักษ์ใหญ่ของจีน ได้เพิ่มคลาวด์โฮสต์ (cloud host) กว่า 100,000 แสนตัว เพื่อขยายขีดความสามารถการให้บริการในช่วงระหว่างวันที่ 29 ม.ค. ถึง 6 ก.พ.

ส่วน “ติงทอล์ค” มียอดการดาวน์โหลดแอปในจีนเพิ่มขึ้นถึง 356% ในช่วงระหว่างวันที่ 2 ถึง 29 ก.พ. เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่แอป “วีแชต เวิร์ค” (WeChat Work) และ “ลาร์ค” (Lark) จากบริษัท “ไบต์แดนซ์” (ByteDance) เพิ่มขึ้นถึง 171% และ 650% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนั้น บริษัทอีกกว่า 6 ล้านแห่ง ได้ใช้บริการ “ติงทอล์ค” หลังจากเปิดให้บริการฟังค์ชั่น “ออฟฟิศทางไกล” แบบไม่คิดค่าบริการ ที่รวมถึงบริการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์, ไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่สามารถมีผู้เข้าร่วมได้ถึง 300 คน และบริการแก้ไขและอนุมัติเอกสารออนไลน์

ด้านบริการ “วีลิงค์” (WeLink) ของหัวเว่ย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าองค์กรและหน่วยงานรัฐบาล ได้นำหน่วยงานหลายแห่งเข้าสู่ระบบ ที่รวมถึงโรงพยาบาลกว่า 6,000 แห่ง นับตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ปัจจุบันมีผู้ใช้งานประจำเฉลี่ยวันละ 1 ล้านคน

 

5G

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบริการเครือข่ายสัญญาณ 5G ในระยะยาว จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการระบาดทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อสัญญาณที่มีความรวดเร็วมากกว่าเดิม และมีการดีเลย์ต่ำ เช่นบริการสตรีมมิ่งสด และเทเลคอนเฟอเรนซ์

นายจง เจิ้นชาน จาก IDC กล่าวว่า ในระยะสั้น โครงการ 5G บางตัวถูกยกเลิกในระหว่างการระบาด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลังจากนี้ ชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของผู้คนจะเปลี่ยนไป ซึ่งจะก่อให้เกิดความต้องการเครือข่ายการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น และจำนำไปสู่การพัฒนาตลาด 5G ในจีนที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในตลาดองค์กร

นายหยาง กวง ผู้อำนวยการบริษัท Strategy Analytics กล่าว่า หากสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในเดือนเมษายน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา 5G ในจีนปีนี้มากนัก และทำให้จีนสามารถสร้างสถานีฐานได้ตามเป้าหมายที่ 6 แสนถึง 8 แสนสถานี การระบาดยังส่งผลให้ความต้องการใช้ 5G ในอุตสหกรรมเฉพาะด้าน เช่น การจัดการเหตุฉุกเฉิน การแพทย์ การรักษาความปลอภัย และการทำงานทางไกล อาจพุ่งสูงขึ้น ซึ่งนี้จะช่วยผลักดันให้ 5G เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น และช่วยขยายพื้นที่ในตลาด

 

การถือกำเนิดของ Super App ตัวใหม่

ปัจจุบัน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า O2O (online-to-offline) หรือการเชื่อมต่อห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์ เช่นการส่งสินค้าและการเรียนออนไลน์ ที่เป็นผลมาจากโรคระบาด ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มสำรวจหาพื้นที่ใหม่ๆ และช่วยกระตุ้นไปสู่การพัฒนา Super App เช่น วีแชต

 

 

“จิ้นรี โถวเถี่ยว” (Jinri Toutiao) แอพพลิเคชั่นอ่านข่าวที่ใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของ ไบต์แดนซ์ ผู้พัฒนาแอปชื่อดังอย่าง TikTok เพิ่งเปิดให้เข้าถึงบริการต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น บริการจัดส่งข้าวของเครื่องใช้ อาหาร และยา โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการภายนอก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เหม่ยถวน เตี่ยนผิง” ประกาศเตรียมให้บริการหนังสือจากร้านหนังสือ 72 แห่งในกรุงปักกิ่งภายในสัปดาห์นี้ ส่วนบริการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตของเหม่ยถวนในกรุงปักกิ่ง มียอดขายเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้ยอดสั่งอาหารจะลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม “เก้อ เจีย” นักวิเคราะห์อินเตอร์เน็ต กล่าวว่า แอปเหล่านี้ยังขาดคุณสมบัติพิเศษของการเป็น Super App นั่นก็คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งถือเป็นปัจจัยความสำเร็จของวีแช็ต

แม้ “จิ้นรี โถวเถี่ยว” จะเป็นผู้เผยแพร่คอนเทนต์ต่างๆ และสามารถเติบโตได้อีกในแง่ของบริการสิ่งพิมพ์ การโฆษณา การแบ่งปันความรู้ แต่ในแง่ของสื่อสังคมออนไลน์หรือการช็อปปิ้ง กลับมีไม่มากนัก เช่นเดียวกับ “เหม่ยถวน” ที่แม้จะขยายไปยังบริการในท้องถิ่นได้ แต่ในด้านอื่นเช่น เกม ยังคงห่างไกลอยู่มาก ทำให้ไม่มีโอกาสในการพัฒนาไปเป็น Super App มากนัก แต่แอปเหล่านี้จะขยายตัวได้ดีในการทำตลาดเฉพาะกลุ่มของตน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า