SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายเดือนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสข่าวจากประเทศจีนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับนักลงทุนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นการที่รัฐบาลจีนไล่ปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ ในประเทศอย่างดุเดือดเอาจริง ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา, เทนเซนต์, ไบท์แดนซ์ เจ้าของแอปพลิเคชั่น TikTok รวมถึงกรณีล่าสุดอย่าง Didi

และหากคิดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการโดนรัฐบาลไล่บี้ คือการที่มูลค่าในตลาดของบริษัทใหญ่ลดลงกว่า 30% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว

แต่คำถามก็คือ ทำไมจีนถึงไล่เชือดธุรกิจที่เป็นดั่งดาวจรัสแสงและสร้างรายได้อย่างงามให้ประเทศ และดูเหมือนจะยังเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไปอย่างต่อเนื่องด้วยซ้ำ

[บริษัทใหญ่โดนเรียบ]

หากจะย้อนดูจริงๆ ว่ารัฐบาลจีนเริ่มลงดาบบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศจีนสั่งระงับการเปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO ของ Ant Group บริษัทในเครือฟินเทคของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างอาลีบาบา ที่หาก IPO สำเร็จจะเป็นการทุบสถิติไอพีโอใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่าถึง 3.7 หมื่นล้านเหรียญ

โดยสาเหตุมาจาก ‘ปัญหาสำคัญ’ หลายประการที่อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้ทำตามข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูล

หลังจากนั้น จีนก็เริ่มเดินหน้าตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายบริษัท ซึ่งรวมถึงอาลีบาบาและเทนเซนต์ ในข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมผูกขาด หรือละเมิดสิทธิของลูกค้า

โดยในเดือน เม.ย. 2564 แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยแจ็ค หม่า อย่างอาลีบาบา ถูกสั่งปรับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านเหรียญ หลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านการต่อต้านการผูกขาดสรุปว่าบริษัทมีพฤติกรรมเหมือนผูกขาดการค้า

ไม่กี่วันหลังจากนั้น อีกหนึ่งธุรกิจของ ‘แจ็ค หม่า’ อย่าง Ant Group ก็ถูกสั่งยกเครื่องการดำเนินงานให้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางอีกด้วย

ฟากเทนเซนต์ของอีกมหาเศรษฐีจีนอย่าง ‘โพนี หม่า’ ก็ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดของจีนเรียกเข้าพบเพื่อหารือถึงเรื่องแนวปฏิบัติต่อกฎใหม่ที่ว่าด้วยการป้องกันการผูกขาดตลาด

การต่อสู้ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐและบริษัทต่างๆ ยืดเยื้อมาจนถึงเดือนนี้ ที่แพลตฟอร์มเรียกรถที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกอย่าง Didi ที่มีผู้ใช้ 493 ล้านคนต่อปี มีคนขับ 15 ล้านคนใน 15 ประเทศ ถูกสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งจีน (CAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการละเมิดความปลอดภัยระดับประเทศตรวจสอบ

และยังสั่งถอดแอป Didi ออกจากแอปสโตร์ ซึ่ง CAC ให้เหตุผลว่าแอปดังกล่าวมีการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง

ที่น่าสนใจคือการประกาศแบนดังกล่าวของจีน เกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจาก Didi เปิด IPO ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ไปด้วยมูลค่า 4.3 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทจีนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ นับตั้งแต่การ IPO ของอาลีบาบาในปี 2557

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับ Didi ไม่ใช้น้อยๆ โดยราคาหุ้นบริษัทร่วงลง 25% สูญเสียมูลค่าในตลาดไปราว 2.15 หมื่นล้านเหรียญ

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ผู้ถือหุ้นยังฟ้องร้องบริษัทอีก 2 คดี โดยกล่าวหาว่าบริษัทล้มเหลวในการเปิดเผยข้อกังวลต่อ CAC และยังมีข้อเท็จจริงที่ว่า CAC ได้แนะนำให้ Didi ชะลอการ IPO ออกไปก่อน แต่บริษัทไม่ได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าวอีกด้วย

โดย Didi ออกแถลงการณ์ระบุว่าจะพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา CAC ได้สั่งแบนแอปในเครือ Didi อีก 25 แอป

นอกจากนี้ CAC ยังเดินหน้าตรวจสอบความปลอดภัยไซเบอร์บริษัทเทคโนโลยีของจีนอีก 2 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก คือ Full Truck Alliance (ซึ่งมี 2 บริษัทย่อยคือ Yunmanman และ Houchebang) และบริษัท Boss Zhipin

“นี่คือการแสดงพลังของรัฐบาลจีนที่กำลังจะบอกว่า ‘เราจะจับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ และกำราบพฤติกรรมเกเรของพวกมัน’” ศาสตราจารย์ไมเคิล ซัง ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยด้านฟินเทค Fudan Fanhai แห่งมหาวิทยาลัย Fudan กล่าว และว่า “เพราะตอนนี้บริษัทเหล่านั้นยิ่งใหญ่พอที่จะเสี่ยงต่อระบบของประเทศแล้ว”

แน่นอนว่าการปราบปรามดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งเป็นธุรกิจที่จีนใช้ในการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา (และจีนก็ใช้เงินทุนอุดหนุนให้ธุรกิจเหล่านี้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงรุก)

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในวงกว้าง รวมไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของจีนเองด้วย

[กฎการควบคุมใหม่ของจีน]

นโยบายเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของจีนที่เปลี่ยนไปนี้ อาจคล้ายๆ กับหลายๆ ประเทศ เพียงแต่ว่าจีนอาจเพิ่งตื่นตัวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ‘ข้อมูล’ กำลังจะเป็นทองคำใหม่ (New Gold) และจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อควบคุมวิธีการเก็บและแชร์ข้อมูล

โดยในเดือน เม.ย. 2563 จีนได้เผยแพร่เอกสารนโยบายที่ชี้ว่า ‘ข้อมูล’ หรือดาต้า เป็นปัจจัยการผลิตควบคู่ไปกับปัจจัยเดิม 4 อย่างที่อยู่ในนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมของประเทศ ได้แก่ ที่ดิน, แรงงาน, ทุน และเทคโนโลยี

แล้วดาต้าจากเทคโนโลยีสำคัญขนาดไหน อาจลองดูได้จากความจริงที่ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมีมูลค่าคิดเป็น 38% ของจีดีพีจีนในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 55% ในปี 2568 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

ในขณะที่เครื่องยนต์เดิมๆ ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเริ่มมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง เศรษฐกิจดิจิทัลกลับมีแต่จะสำคัญมากยิ่งขึ้น

และเนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนด้วยดาต้า สิ่งสำคัญคือต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่างๆ ใช้ในการรวบรวม, จัดเก็บ และขายออกไป

ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แชร์ข้อมูลต่างๆ กับรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อประโยชน์ที่ดีขึ้นของประเทศ

“ความพยายามมักเริ่มต้นด้วยการเกลี้ยกล่อม และหากไม่ได้ผล มันก็จะออกมาแบบที่เราเห็น” มาร์ค แนทคิน ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยด้านไอทีแห่งหนึ่งกล่าว และว่า “และในตอนนี้เราก็ผ่านช่วงเวลาแห่งการเกลี้ยกล่อมไปแล้ว”

ถ้าลองมาดูจริงๆ จะพบว่าประเทศจีนกำลังดำเนินการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ไปใน 3 ด้านหลัก คือ

-ยับยั้งการผูกขาด

-ควบคุมบริษัทฟินเทค (ซึ่งบางแห่งถูกกล่าวหาว่าทำตัวเหมือนธนาคารที่ไม่ได้รับการควบคุม)

-ปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

โดยดำเนินการผ่านกฎหมายต่างๆ ที่จีนพยายามเขียนขึ้นมาใหม่ ได้แก่ กฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ (ประกาศใช้ในปี 2560), กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.นี้) และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเพิ่งผ่านร่างฉบับที่ 2 และคาดว่าจะได้ใช้ในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การไล่บี้ลงดาบในระยะหลังของจีนนั้นมุ่งเป้าไปที่บริษัทที่จดทะเบียนหรือเตรียมเข้าจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากข้อบังคับใหม่ของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้บริษัทจีนต้องส่งข้อมูลลูกค้าให้กับผู้ตรวจสอบบัญชีด้วย

โดยในโพสต์ของ Didi บนเว่ยป๋อ รองประธานบริษัท Didi อย่าง ‘ลี มิน’ ยืนยันว่า Didi เก็บข้อมูลผู้ใช้ภายในประเทศทั้งหมดไว้ในเซิร์ฟเวอร์ในประเทศจีน และไม่สามารถส่งข้อมูลไปยังสหรัฐอเมริกาได้อย่างแน่นอน

ขณะที่เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา CAC ได้เสนอแนวทางว่า บริษัทใดๆ ที่มีข้อมูลลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย (ซึ่งจริงๆ ถือว่าน้อยหากเทียบกับประชากรในประเทศ) ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยไซเบอร์ก่อน ถึงจะจดทะเบียนในต่างประเทศได้

[ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทเทคแดนมังกร]

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทจีน 34 รายสามารถเสนอขายหุ้นและระดมทุนในสหรัฐฯ ไปแล้วถึง 1.25 หมื่นล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีของจีน 5 แห่ง ได้ถูกสั่งระงับการ IPO ในสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันแล้วกว่า 1.4 พันล้านเหรียญ ขณะที่ยังมีอีก 17 บริษัทที่วางแผนที่จะ IPO ในปีนี้ ซึ่งคงต้องลุ้นว่าจะได้ทำตามแผนหรือไม่

เพราะเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ไบท์แดนซ์ บริษัทแม่ของแอปพลิเคชั่นดังอย่าง TikTok ที่มีมูลค่ากว่า1.8 แสนล้านเหรียญ ก็ถูกสั่งระงับการเสนอขายหุ้น IPO ไว้ชั่วคราว เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของจีน

ขณะที่มูลค่าหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีจีนเสียหายรวมกันไปแล้วกว่า 8 แสนล้านเหรียญ และบางคนก็บอกว่านี่เป็นช่วงหมดยุคหุ้นเทคโนโลยีจีนบูมแล้ว และไม่น่าลงทุนอีกต่อไป

แต่คำถามคือ ไฟร้อนครั้งนี้ขยายไปถึงการลงทุนในภาคเอกชนด้วยหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าการลงทุนและการซื้อกิจการจากเวนเจอร์แคปิตอลและไพรเวทอิควิตี้ในจีน พุ่งแตะระดับ 7.43 หมื่นล้านเหรียญในไตรมาสแรกของปี 2564

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า แต่เมื่ออินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนนอกตลาดก็จะหันกลับมามอง 2 ตลาดนี้ และลดการลงทุนในจีนลง เพื่อสนับสนุนตลาดเกิดใหม่ และแนวโน้มนี้น่าจะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากความไม่แน่นอนของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับนักลงทุนเสียทีเดียว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเองก็ยังต้องการเงินทุนอยู่ หากจะยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในด้านอื่นๆ

โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตั้งเป้าเป็นประเทศปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ให้ได้ในปี 2603 ซึ่งต้องใช้งบประมาณราว 1.5 ล้านล้านเหรียญในช่วง 1-2 ทศวรรษข้างหน้านี้ และจีนน่าจะทำไม่ได้หากไม่มีเม็ดเงินจากภายนอกเข้ามาในประเทศ และการควบคุมที่เข้มข้นก็น่าจะดำเนินการในช่วง 2-3 ปีนี้เท่านั้น

ที่มา:

https://time.com/6079877/china-ipo/

https://edition.cnn.com/2021/07/07/tech/china-didi-data-tech-crackdown-intl-hnk/index.html

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า