Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

นักวิชาการ องค์กรด้านเด็กและสตรี เรียกร้องสังคมบอยคอตสื่อ นำเสนอข่าวน้องชมพู่ เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก-สิทธิส่วนบุคคล ข้ามเส้นจรรยาบรรณและความถูกต้อง ดึงผู้เสียหายรับใช้เรตติ้ง จี้ พม.บังคับใช้กฎหมาย ออกกฎกติกากำกับ

วันที่ 13 ก.ค. 2563 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน ในเวทีเสวนา “ข่าวเลยเถิดละเมิดสิทธิ ปั่น ดราม่า มอมเมา สังคมไทยควรทำอย่างไร” จัดโดย มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีสื่อทีวีดิจิทัล2ช่อง นำเสนอข่าวการเสียชีวิตน้องชมพู่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเชื่อมโยงเรื่องไสยศาสตร์นั้น ถือเป็นการสร้างมลพิษในพื้นที่ข่าวให้กับสังคม นำเสนอความขัดแย้ง ขยายบาดแผล ขยี้ปมเรื่องส่วนตัว ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ยกระดับข่าวให้เกิดการกระตุ้นเตือนสังคม หรือถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำซ้ำ ดังนั้นควรมีกลไกคัดกรองคนทำสื่อ เพราะสื่อทำหน้าที่เหมือนตะเกียงและกระจก คอยส่องทางสะท้อนภาพสังคมที่เกิดขึ้นจริง

“สื่อสารมวลชนที่ดี ไม่ควรคิดเพียงประโยชน์ส่วนตัว หรือ ยอดรีวิว ยอดแชร์ เรียกเรตติ้ง เช่น บางสำนัก จับน้องสะดิ้งออกมาสัมภาษณ์ขณะที่อยู่ในห้องเรียน โดยไม่ขออนุญาตผู้ปกครอง ถือว่าไม่สมควร ละเมิดสิทธิ สื่อผิดชัดเจน เพราะน้องยังเป็นเยาวชน และตามหลักสากลเด็กควรถูกกันตัวออกจากการเป็นแหล่งข่าว ดังนั้นหลักการสัมภาษณ์ ควรสอบถามบุคคลที่3ที่ทำงานกับเด็ก เช่น นักสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา ตำรวจ และนักพัฒนาสังคม เพราะเป็นประเด็นเปราะบาง อาจสร้างปมในใจให้เด็กไปตลอดชีวิต กรณีดังกล่าวหากมีการร้องเรียน บทลงโทษขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละองค์กร โทษเบาแค่ตักเตือน ลดเงินเดือน หรือหยุดแพร่ภาพ ส่วนโทษหนัก ปลดออกและเสียค่าปรับ ซึ่งการลงโทษสื่อยังไม่ใช่ทางออกทั้งหมด บางคนอาจกลับมาทำความผิดซ้ำ เพราะสื่อบางสำนักยังอยู่ภายใต้อำนาจทุน จึงฝากถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลสื่อต้องทำงานเชิงรุก ฝึกอบรมจริยธรรม สอบวัดมาตรฐานวิชาชีพ ที่สำคัญ กสทช. ต้องผลักดันเรื่องนี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรม ส่วนภาคการศึกษา ต้องปลูกฝังเรื่องจริยธรรมในทุกหลักสูตร” อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน กล่าว

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การนำเสนอข่าวของสื่อ ต่อคดีนี้รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศอื่นๆ หากมีการสัมภาษณ์เด็ก ถือว่าผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ การขยายประเด็นข้อมูลที่เกินความจำเป็น อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดในตัวเด็กและครอบครัว ส่งผลต่อความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการจำลองภาพความรุนแรง (Immersive Graphic) ลำดับขั้นตอนการล่วงละเมิดทางเพศและเผยแพร่ภาพจำลองที่ไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น เท่ากับสร้างแรงกดทับ ซ้ำเติม และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กโดยตรง รวมถึงครอบครัว ที่สำคัญหลังจากข่าวนั้นๆซาลง สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงในชุมชน ใครจะรับผิดชอบในการแก้ไขเยียวยาเพราะสื่อมาแล้วก็ไป

“มันเลยเถิดข้ามเส้นจรรยาบรรณและความถูกต้อง จนความเป็นธรรมของผู้เสียหาย ของเด็ก ครอบครัวและชุมชน ถูกแปรมารับใช้เรตติ้ง เป็นราคาทางเศรษฐกิจของบางอาชีพไปแล้ว แทนที่จะรักษาความเป็นธรรมให้เหยื่อ ให้ผู้เสียหาย เราก็แพ้กระแสสังคมที่โหมกระหน่ำ พึ่งใครไม่ได้ ไสยศาสตร์จึงชนะขาดลอย” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวด้วยว่า กสทช. ต้องเร่งตรวจสอบการเผยแพร่ข่าว ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าข่ายมอมเมาประชาชน ให้เล่นการพนัน ใบ้หวยหรือไม่ หากพบความผิดจริงขอให้ดำเนินคดีตามมาตรา พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และหากมีความผิดซ้ำซากต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ช่วยให้ความสำคัญและมีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้”นางทิชา กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า สื่อหลายสำนักพยายามแข่งขันเรียกเรตติ้ง โดยเฉพาะรายการข่าวที่ปัจจุบันเริ่มล้ำเส้นเรื่องสิทธิเพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำยังใช้กราฟฟิกเล่าเรื่องให้คนดูคล้อยตาม จนสังคมเกิดการตั้งคำถาม “คนไทยได้อะไรจากสื่อ” เมื่อข่าวอาชญากรรมเกิดการผลิตซ้ำ เร่งเร้าให้เห็นภาพที่ชัดเจน ส่งผลให้คนบางกลุ่มเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบและยังกระทบสิทธิผู้ตกเป็นข่าว อย่างกรณีล่าสุดคดีน้องชมพู่ผู้ตกเป็นข่าวเป็นเด็กและเยาวชน ในด้านสิทธิมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน แต่สื่อบางช่องไม่สนใจ กลับตีแผ่ข่าวล้ำสิทธิเรียกยอดรีวิว ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สร้างความหวาดระแวงให้คนในชุมชน ก่อปัญหา มากกว่าสร้างสรรค์ ยังไม่เห็นหน่วยงานที่มีข้อบังคับด้านกฎหมายออกมาเอาผิดสื่อ ทุกคนมองเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาไปแล้ว

“หลายภาคส่วนต้องร่วมมือกระตุ้นให้ผู้บริโภคสื่อออกมาแสดงพลัง จี้จุดอ่อนของสื่อคือเอเจนซี่และแรงกดดันทางสังคม สื่อถูกปลูกฝังให้กำกับดูแลกันเอง กำกับจริยธรรมกันเอง ลงโทษกันเอง ซึ่งในความเป็นจริงบทลงโทษยังใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นอาจต้องสร้าง New Normal คุ้มครองสิทธิเด็ก หรือรอเปลี่ยนผ่านของ New Gen ที่ตื่นตัวเรื่องสิทธิ ความเป็นมนุษย์ เช่น ออกแถลงการณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับกลไกลที่จะใช้ได้ผลในระยะยาว คือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ยื่นหนังสือถึงบริษัทโฆษณา เรียกร้องให้ไม่สนับสนุนสื่อที่ละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงการหาแนวร่วมองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดวาระที่ใหญ่ขึ้น” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เนื่องจากสังคมไทยยังคงเป็นสังคมอำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้สื่อบางส่วนได้รับอำนาจความคิดแบบนี้ จึงนำเสนอข่าวในทิศทางที่มีอำนาจเหนือกว่า สนใจประเด็นที่คนดูและติดตามเป็นหลักเพื่อเรียกเรตติ้ง เปิดเผยหมด ว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนยังไง ชี้นำจนทำให้เสียรูปคดี หรือกรณีข่าวข่มขืน ก็พยายามเบนประเด็น โค้ดคำพาดหัว ว่าผู้ถูกข่มขืนไม่ได้บริสุทธิ์จริง เป็นคนที่ชอบผู้ชาย ชอบเงินต่อรองเรียกผลประโยชน์ แต่งตัวโป้ เป็นต้น จนทำให้คนเสพสื่อมีความคิดว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายผิดมากกว่าไปแล้ว ยังไม่นับบรรดาละครทีวีต่างๆที่มีฉากพระเอกข่มขืน นางเอก ฉากตบตี ทำร้าย คุกคามทางเพศกันเป็นว่าเล่น มาช่วยผสมโรงจนกลายเป็นความเสื่อมอย่างที่สุด

“สมาคมสื่อ ต้องตรวจสอบและประเมินผล จัดให้เกรด หรือเรตติ้ง เพื่อให้ประชาชนได้เลือกบริโภคสื่อองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆต้อง ยกระดับกลไกกำกับดูแลสื่อให้มีมาตรการที่เข้มและเป็นจริงมากกว่านี้ อย่าให้ถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษหมดสภาพ ต้องประเมินและมีบทลงโทษอย่างจริงจัง รวมไปถึงสื่อออนไลน์ต้องมีกลไกกำกับดูแลเช่นกัน ส่วนประชาชนต้องช่วยกันแสดงออก ด้วยการปฏิเสธ ไม่สนับสนุนสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรือมุ่งมอมเมาประชาชน หรือแม้กระทั่งการมีองค์กรไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามกฎหมาย เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ฟ้องร้องเอาผิดกับสื่ออย่างจริงจัง” นายจะเด็จ กล่าว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า