SHARE

คัดลอกแล้ว

 เวทีจุฬาฯ เสวนา ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย นักวิชาการชี้คนทุกข์จนต้องหยาบคาย แนะทางออกยอมรับความคิดต่างอย่างให้เกียรติ ไม่ทำร้ายกัน

จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัย และเป็นบ่อเกิดสำคัญของความขัดแย้งของคนภายในประเทศ ที่นับวันจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการก่นด่าหยาบคายคนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ไปจนถึงเหตุทำร้ายร่างกายนักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งทุกภาคส่วนควรเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้น

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเวทีจุฬาฯ เสวนา เรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ในสังคมไทย ซึ่งมี 4 ระดับ พบว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยเมื่อปี 2553 พบวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังอยู่ในระดับ 3 คือมีการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง แต่ยังไม่ถึงขั้นยุยงให้กระทำรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2562 นี้ ไม่สามารถบอกได้ว่าอยู่ในระดับใด พบว่าไม่ใช่แค่การสบถ แต่เป็นการยั่วยุ ผูกโยงกับข่าวลวง ข่าวเท็จ เพื่อสร้าง Hate Speech ในกลุ่มคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน เพื่อให้ตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ ทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น โดยพบมากช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ขณะที่ นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อยากเห็นการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันเเละกันของคนในสังคม เเละอยากให้รัฐเห็นความสำคัญ เพื่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองประชาชน ซึ่งแอมเนสตี้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนตลอดมา อาทิ เรื่องโรฮีนจา เรื่องต่อต้านการประหารชีวิต ซึ่งทำให้แอมเนสตี้ถูกมองไม่ดีทั้งในภาพองค์กรและเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกสังคมมองว่าเอาแต่ประท้วง แม้จะพยายามใช้กระบวนที่สร้างสรรค์ก็ตาม ก็ยังถูกข่มขู่ และมี Hate Speech มากมาย คนที่มาพูดแทนแอมเนสตี้จะโดนหมด โดยเฉพาะผู้หญิง จึงตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะคนมองว่าเราเหมือนเข้าข้างโจร เข้าข้างคนผิด ทุกคนต้องการสังคมปลอดภัย ซึ่งเราก็พยายามสื่อสารว่าไม่ได้เข้าข้างคนผิด และก็ต้องการสังคมที่ปลอดภัย แต่ไม่มีใครมองตรงนั้น หลังจากเหตุการณ์นี้ ทำอะไรก็ผิดไปหมด หายใจก็ผิด มีเพจล้อเลียนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรง แต่กลายเป็นการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เลยตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วเวลาเกิดประเด็นอะไรขึ้น เราไม่ได้ปฏิเสธที่คนเห็นต่าง มองเป็นเรื่องดี เพื่อให้เกิดการดีเบตกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือการเปลี่ยนแปลง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือเน้นไปที่การสาดโคลนและชักชวนให้สาดกันทางโลกออนไลน์ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดจะโดนหนัก และโดนโจมตีเรื่องทางเพศหรือความรุนแรงด้วย

นางปิยนุช กล่าวต่อว่า เสรีภาพการแสดงออกเป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องจ่านิวที่ทางแอมเนสตี้ทำแฮชแท็ก #เราทุกคนคือจ่านิว เพราะอยากให้เห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เขาก็ไม่ควรโดนทำร้ายขนาดนี้ การติดแฮชแท็ก เพราะวันหนึ่งเราอาจเป็นอย่างจ่านิวก็ได้ เพราะความรุนแรงทางการเมือง เฉพาะปี 2561 จนถึงตอนนี้ พบมีการทำความรุนแรงทางร่างกายแล้ว 15 ครั้ง ล่าสุดที่เกิดกับจ่านิวที่โดนความรุนแรงทางกายภาพไม่พอ ยังโดนความรุนแรงรอบสองจากวาทกรรมทางออนไลน์ รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็โดนด้วย แต่จะเห็นว่าแม้คนเหล่านี้ถูกกระทำกี่ครั้ง ก็ยังยืนยันในจุดยืน แต่พื้นที่ในการแสดงออกเริ่มถูกบีบให้ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหากถูกบีบไปเรื่อยๆ แล้วความหวังที่จะลดความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งทางแอมเนสตี้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้อย่างเป็นกลาง โดยไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด ตั้งแต่ก่อนสมัยเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เพราะความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ และหากยังจับคนผิดไม่ได้ วันหนึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้เช่นกัน

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี

ด้าน นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี กล่าวถึงสื่อมวลชนที่พึงปฏิบัติท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง ว่า เรามี 2 ทางเลือก คือ “พูดความจริง” กับ “ฆ่าความจริง” โดยยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งมีเครื่องบินตกที่เยอรมัน เพราะกัปตันประมาท ซีอีโอของสายการบินนั้นออกมายอมรับความจริงในทันที ก่อนที่สื่อจะกระพือข่าว ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กรนั้น เพราะเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นได้ยอมรับความจริง ขณะที่อีกไม่นานมีอุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่ในไทยเกิดขึ้น ซีอีโอของบริษัทเรือออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่หลังจากนั้น 7 วัน กลับต้องมายอมรับความจริง ทำให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทลดลงไป

พร้อมกันนี้ยังกล่าวด้วยว่า สื่อมวลชนมีหลายรูปแบบ ทั้งสื่อที่พูดความจริง และสื่อที่ฆ่าความจริง ในองค์กรสื่อแต่ละแห่ง เชื่อว่านักข่าวที่ทำข่าว บางครั้งอยากจะนำเสนอข่าวแบบหนึ่ง แต่เมื่อต้องกลับมาอยู่ในกระบวนการขององค์กรที่ต้องผ่านใครมากมายกว่าจะผลิตข่าวออกมา ก็อาจไม่ได้นำเสนออย่างที่อยากนำเสนอ แต่สื่อที่ดีควรนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ หรือพยายามสร้างเรื่อง โดยใช้พื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ที่ชอบเรื่องดราม่า ชอบเรื่องเล่า อีกด้านหนึ่งคือ คนไทยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กให้เชื่อฟัง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ตั้งคำถาม ทั้งที่จริงๆ แล้วคำว่า “เชื่อ” กับ “ฟัง” คนละความหมายกัน เราฟังได้ แต่จะเชื่อหรือไม่ อยู่ที่แต่ละคน ที่น่าสลดใจคือ ปัจจุบันไม่ทันฟังก็เชื่อแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการพยายามสร้างเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เป็นเหตุผลยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และสื่อก็นำข่าวเหล่านี้ไปใช้ต่อโดยไม่ตรวจสอบ คล้ายกับ Forword mail ที่ทำเพียงส่งข้อมูลต่อๆ กันไป โดยกล่าวสรุปว่าความน่าเชื่อถือของสื่อคือภูมิคุ้มกันของสื่อเอง ยิ่งแสวงหาข้อเท็จจริงมากเท่าไหร่ สื่อปลอมจะค่อยๆ หายไป ซึ่งจะช่วยทุเลาความรุนแรงในสังคมได้

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเเบบเเผนความรุนเเรง การขัดแย้ง เริ่มจากการโต้เถียง การทำร้ายร่างกายคนที่เห็นต่าง ไปจนถึงบางประเทศถึงขั้นมีบัตรอนุญาตให้ทำร้ายร่างกายได้ โดยมองว่าในทุกความขัดเเย้งมีกระบวนการแก้ไข 4 อย่าง คือ ต้องไม่ใช้ความรุนแรง สร้างความไว้วางใจ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการ โดยกล่าวสรุปว่า ความอดทนอดกลั้นเป็นปัจจัยลดความขัดเเย้งที่น่าสนใจ ยิ่งในสังคมที่มีความหลากหลาย หากไม่อดทนต่อความเห็นต่าง ก็อาจเกิดความขัดเเย้งได้ง่าย

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ขณะที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการรังแกกันง่าย คนจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ เมื่อทุกข์มากๆ จึงแสดงความหยาบคายและป่าเถื่อนออกมา โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งคนจะมีอีกลักษณะหนึ่ง ต่างจากการเจอกันซึ่งหน้า ที่เมื่อมองไปในดวงตาจะมีความเป็นมนุษย์ปรากฏชัด แต่เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ ทุกอย่างไม่มีส่วนนั้นอยู่ ทำให้เกิดการแสดงความหยาบคายออกมาได้ง่าย ถามว่าสามารถแสดงความหยาบคายต่อหน้าได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ไม่ง่าย ขณะที่ปัจจุบันง่ายมาก และทำได้เร็วขึ้น

โดยได้กล่าวถึงกรณีการถูกทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นกับ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ซึ่ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การจะพูดถึงจ่านิวนั้นมีหลายมิติ หากเป็นมิติที่ตนเป็นอาจารย์ที่สอนจ่านิวที่เรียนที่มหาวิทยาลัย ในมุมของอาจารย์จะเห็นลูกศิษย์คนนี้เป็นคนอ่อนโยน โดยเฉพาะเวลาที่พูดถึงแม่ และกล่าวถามกลับต่อสังคมว่า ทำไมจึงไม่มองจ่านิวเป็นลูกหลานของสังคมคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย และเพราะคนเรามีหลายมิติ ในตัวตนคนคนหนึ่งไม่ได้มีเพียงมุมเดียว หากตัดเรื่องความเห็นทางการเมืองออกไป จ่านิวคือลูกหลานของสังคมคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย และสิ่งที่เราควรค้นหาคือความจริง เพราะไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายร่างกายกัน โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า หากสังคมลดความหยาบคายที่แสดงต่อคนที่คิดต่างได้ ปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพชน ให้เกียรติกัน มองให้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งที่มีหลายมิติ จะช่วยทุเลาความเกลียดชังที่มีต่อกันได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า