SHARE

คัดลอกแล้ว

“ขอโทษนะคะ เราเคยรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่าคะ แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม” หลายๆ คนคงคุ้นหูบทอันโด่งดังจากโฆษณาของสสส. ที่รณรงค์เรื่องควันมือสองจากผู้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แม้โฆษณานี้จะผ่านมาแล้วกว่าทศวรรษ แต่มันยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน เมื่อปัญหาควันบุหรี่มือสองยังไม่มีวี่แววที่จะลดลง มีแต่ทวีคูณขึ้น เมื่อการใช้ “บุหรี่มวน” ไม่ได้มีการลดลง ทั้งยังมีการใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” อย่างแพร่หลายมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายในทุกเพศทุกวัย แม้ “บุหรี่ไฟฟ้า” จะผิดกฎหมายในประเทศไทยก็ตาม โดยผู้สูบก็ไม่ได้ตระหนักถึงโทษที่ร้ายแรงกว่าบุหรี่มวนทั่วไป แม้ไม่มีกลิ่นแต่แฝงสารพิษเพียบ ทำลายสุขภาพทุกระบบ

พูดถึง “บุหรี่” ใครๆ ก็ทราบดีว่าเป็นอีกสิ่งเสพติดที่ก่อให้เกิดโรคภัยหลากหลายโรค โดยเฉพาะโรคที่รู้กันอย่าง “มะเร็งปอด” แต่ล่าสุดมีหลักฐานงานวิจัยใหม่ที่สร้างความน่าตกใจและน่ากังวล เพราะควันบุหรี่ไม่ได้สร้างเพียง “มะเร็งปอด” แต่ยังเสี่ยงก่อให้เกิด “มะเร็งเต้านม” ในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยหญิงไทยได้รับควันบุหรี่มือสองสูงอันดับ 5 ของโลก อีกทั้งคนไทยกว่า 70% สูดควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย

[ “ควันบุหรี่มือสอง” เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า ]

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 34 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบคนไทย 70% ได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่การสำรวจของอังกฤษ ปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าไทย โดยในไทย ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน 68% มากกว่าผู้ชายได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน 47%

“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อีก 57 ประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงไทยอายุ 15-49 ปี ได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ (British Journal of Cancer) ปี 2567 ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันมือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

[ “ควันบุหรี่มือสอง” คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย ]

รักษพล สนิทยา นักวิจัยแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดคือ 9,080 ราย (44%) รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด 4,233 ราย (20%) มะเร็งปอดและหลอดลม 1,972 (9%) และยังมีโรคอื่นๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และมะเร็งเต้านม เมื่อคำนวณภาระโรคจากการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย ปี 2562 โดยดูจากค่าการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย พบว่าการได้รับควันบุหรี่มือสอง ทำให้คนไทยสูญเสียสุขภาวะถึง 534,186 ปี ข้อมูลการศึกษาภารโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) เปรียบเทียบการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลก พบว่าภาระโรคจากควันบุหรี่มือสองของไทยอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (117.1 ปีต่อแสนประชากร) ญี่ปุ่น (221.69 ปีต่อแสนประชากร) และอังกฤษ (154.48 ปี ต่อแสนประชากร) เป็นต้น

[ น่าห่วง! เด็กกระทบ “ควันมือสอง” มากกว่าผู้ใหญ่ จากการสูบบุหรี่ในบ้าน ]

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบเด็กอายุ 1-5 ปี พักอยู่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ถึง 55% โดยในกรุงเทพฯ พบมากที่สุด 62% งานวิจัยในไทยที่ศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หอบหืดและหลอดลมหรือปอดอักเสบ พบว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคระบบหายใจส่วนล่างสูงขึ้นถึง 4 เท่า นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กที่พักอาศัยในบ้านที่มีการสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสานนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน

“ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเพราะมีกลิ่นหอม และไม่มีควันจากการเผาไหม้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วอันตรายจากการได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อสุขภาพ โดยในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบไปด้วยสารนิโคติน PM2.5 โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง ดังนั้นบริเวณที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคนที่สูบและไม่ได้สูบ งานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า การได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า โรคหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ภาวะหายใจลำบากเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า โรคหอบหืดที่ควบคุมไม่ได้เพิ่มขึ้น 1.88 เท่า และภาวะเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

[ มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่บังคับใช้ได้ไม่ดี ]

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เห็นผลได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งต่อระบบหายใจและหัวใจ เช่น เกิดการระคายเคืองและความเสียหายของเยื่อบุทางเดินหายใจ นำไปสู่อาการหืดจับและมีอาการรุนแรงในคนที่เป็นโรคหืดอยู่แล้ว หลอดเลือดเปราะบาง ยืดหยุ่นไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจช้า มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

“แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายของเรายังทำได้ไม่ดี โดยคะแนนที่องค์การอนามัยโลกประเมินเราอยู่ที่ 6 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และมีการนำมาสูบในที่สาธารณะหรือออกสื่อทั้งที่ผิดกฎหมาย จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้วว่าประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง สามารถลดความเสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองในคนที่ไม่สูบลงได้ ลดความเสี่ยงของประชากรโดยเฉพาะเด็กต่ออันตรายจากควันบุหรี่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

[ การได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน = ความรุนแรงในครอบครัว ]

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) ทนายความฝ่ายคดีปกครอง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ความรู้ถึงสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งกลุ่มกฎหมายไม่ได้ระบุเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้ไม่สูบบุหรี่ไว้โดยตรง แต่สามารถนำมาตีความเพื่อใช้ในการปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ ซึ่งได้มีการยกพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 3 นิยามคำว่าความรุนแรงในครอบครัว 

“เป็นวาทกรรมที่ถกเถียงกันเยอะว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวไหม? ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวบทกฎหมาย สามารถตีความเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัว” ดร.วศิน กล่าว

และได้มีการยกคำพูดของ อ.สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ที่ยืนยันให้เห็นว่าการได้รับควันบุหรี่มือสอง ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว “การพ่นควันบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจนเด็กสูดควันหรือไอเข้าไป อาจเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง 2550 มาตรา 4 วรรค 1 แม้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุถึงการกระทำโดยเจตนา ไม่รวมการกระทำโดยประมาท การตีความเกี่ยวกับควันบุหรี่ ไม่ว่าจะมาจากบุหรี่มวนหรือไอของบุหรี่ไฟฟ้า มีผลเช่นเดียวกันคือก่ออันตรายให้แก่เด็ก จึงไม่อาจตีความว่ากฎหมายห้ามเฉพาะบุหรี่มวน ในกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กไม่ได้ระบุถึงรูปแบบของการกระทำ แต่เน้นเนื้อหาของการกระทำ คือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเด็กจากการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใด”

“ผมว่ากฎหมายเมืองไทยของเราดีระดับนึง แต่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเนี่ย กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ ต้องมาคู่กับการที่เข้าใจจิตวิญญาณของกฎหมายว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่ออะไร ถ้าเราช่วยกันสื่อสารว่ามันมีผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารกับผู้สูบว่าที่ห้ามสูบเพราะกำลังช่วยรักษาชีวิตคุณอยู่นะ ถ้าเข้าใจตรงนี้ ก็จะไม่ดื้อแพ่งต่อกฎหมาย นำไปสู่การเคารพกฎหมายและการบังคับใช้ก็จะมีประสิทธิภาพ” ดร.วศิน กล่าว

แม้ “นิโคติน” ในบุหรี่ จะเป็นสารเปลี่ยนสมองคุณ แต่หากรู้พิษภัยอันตรายเหล่านี้แล้ว “บุหรี่มือหนึ่ง” เลิกได้ เลิกเถอะ ทั้งการสูบในบ้านและที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ล้วนแต่เป็นอันตราย หรือเรียกว่าเป็นฆาตกรที่มองไม่เห็น ควรร่วมมือร่วมใจกันงดสูบบุหรี่เพื่อไม่ให้เกิดบุหรี่มือสองและมือสามต่อไป ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยแก่คนที่ไม่สูบบุหรี่ได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า