SHARE

คัดลอกแล้ว

จบลงไปแล้วสำหรับนิทรรศการ “The Terrarium – Redressing the Im/balance” จัดแสดงที่ The Shophouse 1527 ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็น EP.2 แล้ว เป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ดีไซน์เนอร์จาก Kernel Design และ Cloud-floor ร่วมกับทีมสนับสนุน GREEN VOLUNTEER หลังจากเคยจัดแสดงอยู่ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week 2020)

สำหรับการออกแบบนิทรรศการชุดนี้  คุณโจ – ดลพร ชนะชัย เจ้าของสเปซ The Shophouse 1527 และดีไซน์เนอร์ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานอธิบายให้ฟังว่า “งานครั้งนี้ต้องการออกแบบให้เหมือนการจัดสวนในห้อง เป็นการสร้างพื้นที่เหนือจริงด้วยการสลับพื้นที่ภายนอกมาอยู่ภายในอาคาร โดยในช่วงเราเริ่มต้นทำงานตอนนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหาใหญ่เรื่องฝุ่น PM 2.5 เราไม่อยากให้คนไปโฟกัสกับผลกระทบของฝุ่นเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้คนพูดถึงการสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างการปลูกต้นไม้แทน การสร้างความสำคัญของต้นไม้ก็เลยกลายเป็นประเด็นหลักที่เราจะเล่าถึง งานครั้งที่สองนี้จุดประสงค์ยังคงคล้ายกัน คือการพูดถึงความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่มนุษย์ต้องปรับตัวในดำรงชีวิตช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 การจำลองพื้นที่นี้ยิ่งตอกย้ำความโหยหาและการต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ขาดหายไปในสภาวะการเติบโตของเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร แต่ในขณะเดียวกันความสมดุลย์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติยังคงเป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบ และรอคอยให้ผู้ชมนิทรรศการได้ฉุกคิดถึงความเป็นไปได้ในการมีดำรงอยู่ของสองสิ่งในพื้นที่เดียวกัน”

 

“รูปแบบการจัดพื้นที่ครั้งนี้ได้เลือกต้นไม้ที่มีการออกแบบให้เหมาะกับแสงและพื้นที่ครั้งนี้ ความแคบ-ยาว-สูง ของอาคารตึกแถวเก่าอายุกว่า 50 ปีในพื้นที่สามย่าน เป็นเพียงหนึ่งความเป็นไปได้ของการสร้างทางเลือกในการเกิดพื้นที่สีเขียวแบบชั่วคราวในเมืองที่หนาแน่น นอกจากนี้เราก็ยังพูดถึงการเทียบกับสัดส่วนมนุษย์ (Human scale) หรือการเทียบตัวเองกับพื้นที่ด้วย เพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการได้สำรวจมุมมองผ่านภาพสะท้อนของตัวเองท่ามกลางบริบทของธรรมชาติ ที่จริงๆแล้วทั้งมนุษย์และต้นไ ม้ล้วนมีตัวตนที่ไม่ต่างกันเลย” งานครั้งนี้จึงแตกต่างจากครั้งก่อน เพราะผู้ออกแบบได้ใส่กระจกเข้ามาในงานอีกบานหนึ่งเพื่อเพิ่มมิติของการสะท้อนที่สัมพันธ์กับพื้นที่มากขึ้น

“เวลาที่มิติของกระจกมันซ้อนกันสองอัน การไปยืนหน้ากระจกจะมีเพียงแค่จุดตรงกลางจุดเดียวที่กระจกจะไม่เบี้ยว อีกนัยยะหนึ่งจึงหมายถึงการหาจุดตรงกลางหรือความพอดีของตัวเองกับบริบทรอบตัวให้เจอ”

 

นอกเหนือจากตัวนิทรรศการแล้ว พื้นที่จัดงานเองก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากตัวอาคารเป็นอาคารเก่าที่ตั้งอยู่ใน “สามย่าน” ย่านเก่าที่กำลังปะทะเข้ากับการพัฒนา การเกิดขึ้นของโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ขนาดใหญ่คือจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสามย่าน ซึ่งคุณโจเล่าว่า ” พื้นที่ตรงนี้หากย้อนไป 1-2 ปีที่แล้วเป็นพื้นที่ที่คนแทบไม่เดินผ่านเลย คนเลือกจะเดินด้านในมากกว่า รูปแบบกิจกรรมในพื้นที่ ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของคนที่เข้ามาในย่านเท่าไหร่ ประกอบกับตัวอาคารนี้อยู่ตรงกับทางขึ้นสะพานพอดี คนจีนที่มีความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยจึงค่อนข้างถือ เพราะเชื่อว่าจะทำการค้าไม่ได้ก็ทยอยย้ายออกไป ค่าเช่าที่กึ่งจะถูกบีบให้สูงขึ้น ชาวบ้านหลายรายอยู่ไม่ได้ ตอนที่เราเข้ามาก็เหลือห้องที่ยังคงอยู่ประมาณ 4-5 ห้อง ซึ่งจากแผนเดิมบล็อกนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานเป็นอาคารประเภทอื่นๆเราเลยคิดว่าเราพอมีช่วงเวลาประมาณ 2 ปีที่จะเกิดโปรเจกต์ให้เกิดประโยชน์เชิงสาธารณะได้ จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มสถาปนิกเพื่อยื่นเสนอกับทางจุฬาฯว่าเราจะทำโปรแกรมสร้างสรรค์ (Creative program) เพื่อช่วยพัฒนาให้พื้นที่มีกิจกรรมประเภทนี้ขึ้นมา จากที่เดินสำรวจก็มาเจอตึกนี้ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนจากสภาพเดิมน้อยที่สุด และยังมีเสน่ห์ในรูปแบบอาคารพาณิชย์ที่เริ่มหายไปจากรูปแบบการพัฒนาเมือง หลังจากได้เข้ามาปรับปรุงอาคารจึงได้มาพบทีหลังว่าตึกนี้เป็นเจ้าของมือเดียวมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนกระทั่งย้ายออก อายุตึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50-55 ปี ทำให้ร่องรอยการใช้ชีวิตอยู่ในตึกของผู้อยู่อาศัยเดิมยิ่งมีคุณค่าและเป็นเรื่องที่สามารถบอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของคนในยุคก่อนๆได้เป็นอย่างดี”

หลังมาเจอตัวอาคารนี้ ทีมผู้ออกแบบจึงตั้งใจอยากทำให้เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนเมือง ด้วยวัตถุประสงค์แรก คืออยากรู้จักและถ่ายทอดเรื่องราวของบริบทของคน ชุมชน เมืองให้มากที่สุด และอยากให้ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยที่ไม่ได้ไปทำลายบริบทเดิมหรือความเป็นชุมชนเดิม “ด้วยความที่พื้นฐานเราทำงานด้านเมืองและพื้นที่สาธารณะมาราว 5-6 ปี เริ่มจากการทำเวิร์คช็อปให้ความรู้กับเด็ก สร้างฐานคนที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมืองโดยร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม พอถึงจุดนึงที่เราเริ่มสอนไปเรื่อยๆแต่เราไม่รู้ว่าเคสที่ประสบความสำเร็จในไทยจริงๆเป็นอย่างไร จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะทางเลือกโดยที่ไม่ต้องรอรัฐบาล แต่สามารถเริ่มต้นลงมือทำโดยกลุ่มเอกชนที่ลงมือทดลองและสร้างขึ้นมาเอง เราจะอยู่ด้วยตัวเองด้วยวิธีการไหนได้บ้าง เรามองว่าศิลปะเป็นหนึ่งทางเลือกของกิจกรรมในการสร้างพื้นที่สาธารณะ”

“โปรแกรมแรกที่ตั้งใจก็คือ อยากให้มันเป็นเรื่องพื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายและฟรี เพราะถ้างานศิลปะเก็บเงินทุกครั้งก็จะสร้างระยะห่างกับคนดู แต่จะทำอย่างไรให้เราเองอยู่ได้ด้วย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจึงเป็นเชิงทดลองทั้งหมด เรายังไม่เคยเห็นโมเดลไหนในประเทศไทยที่มันจะทำอะไรแบบนี้ ทั้งในแง่ของโปรแกรม การบริหาร การจัดการการเงิน”

คุณโจ – ดลพร ชนะชัย เจ้าของสเปซ The Shophouse 1527 และนักออกแบบ

 

เมื่อการพัฒนากับพื้นที่ความทรงจำมาปะทะกัน การเข้ามาพร้อมวิธีคิดของกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่พยายามผลักดันให้การสร้างสรรค์พื้นที่นั้นเกิดขึ้นจริง แม้ตอนนี้ในเชิงเศรษฐกิจจะยังวัดไม่ได้ชัดเจนว่า การเข้ามาของพวกเขาสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากน้อยเท่าไร แต่การสร้างสรรค์ไอเดียเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์ของเดิมแต่มองมุมใหม่ ปรับนิดเปลี่ยนหน่อย โดยที่ไม่จำเป็นต้องทุบทิ้งและเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดก็เป็นไปได้พร้อมๆกับการคงไว้ซึ่งความเป็นชุมชน วิถีชีวิตของผู้คนและความทรงจำ

 

หลังจากงานนี้ คุณโจตั้งใจจะเล่าเรื่องต่อด้วยการจัดนิทรรศการครั้งที่ 3 อย่างสมบูรณ์ด้วยการไปหาโลเคชั่นที่เป็นบริบทเชิงเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเป็นการเล่าเรื่องราวหลังโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจนั้นจบไปเช่น อาบอบนวด หรือพื้นที่ในเมืองอื่นๆที่ไม่ได้ถูกใช้งานมากแล้วในปัจจุบัน โดยยังคงคอนเซ็ปท์เดิมไว้ “อาจจะเป็นการจัดสวนในตู้กระจกและเล่าในอีกรูปแบบหนึ่ง จินตนาการถึงเมื่อสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นถูกทำลายและแทนที่ด้วยธรรมชาติ โดยเป้าหมายสูงสุดที่อยากทำคือ ทุกครั้งที่ไปจัดนิทรรศการเราจะเอาต้นไม้ไปปลูกในย่านหลังจากจบนิทรรศการนั้นด้วย”

หลังจากนี้แม้นิทรรศการ “The Terrarium – Redressing the Im/balance” จะจบลงแล้วแต่ ยังคงมีนิทรรศการพิเศษ “After The Terrarium” เปิดให้ผู้สนใจเยี่ยมชม สัมผัสกับที่ว่างด้วยการจัดวางองค์ประกอบใหม่กับพื้นที่เดิม หลังจบนิทรรศการ “The Terrarium” อีก 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันอังคารที่ 22 – อาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน เวลา11.00-19.00 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องจองคิวที่ The Shophouse 1527

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า