Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Clubhouse แอปพลิเคชั่นพูดคุยแบบสดๆ ผ่านเสียงอย่างคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ที่หลังเปิดตัวให้บริการได้ไม่นาน ก็มีคนดังอย่าง อีลอน มัสก์, โอปราห์ วินฟรีย์, คานเย เวสต์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาปรากฎตัวบนแพลตฟอร์มนี้ด้วย

และด้วยจุดเด่นที่ทุกคนสามารถพบการพูดคุยได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องบิตคอยน์, ศาสนา, ความสัมพันธ์ ไปจนถึงแนวเพลง R&B ทำให้ Clubhouse ประสบความสำเร็จอย่างมาก และกลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพูดถึงอย่างมหาศาลในชั่วข้ามคืน

กระนั้นก็ตาม แนวคิดที่ว่าแอปพลิเคชั่นที่มีอายุเพียง 1 ปีนี้มีมูลค่าไปจนถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.25 แสนล้านบาทแล้วนั้น กลับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากปัจจุบัน Clubhouse มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าดังกล่าวมาจากรายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ที่ระบุว่าสตาร์ทอัพจากซานฟรานซิสโกรายนี้กำลังเดินหน้าเจรจากับนักลงทุน เพื่อหาเงินระดมทุนรอบใหม่

โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา Clubhouse ได้เปิดระดมทุนรอบซีรีส์ B และนั่นทำให้บริษัทมีเม็ดเงินจากการระดมทุนทั้งสิ้น 110 ล้านดอลลาร์ โดยในรอบนั้นมีบริษัทเวนเจอร์แคปิตอลอย่าง Andeessen Horowitz ได้เข้าซื้อหุ้นเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

มูลค่า Clubhouse ที่กระโดดพุ่งขึ้นไปสูงขนาดนี้ เป็นไปได้ว่าอาจมาจากข่าวที่ว่าทวิตเตอร์เคยเจรจาเข้าซื้อบริษัท Clubhouse ด้วยราคาดังกล่าว แต่การเจรจาได้ยุติลงไปแล้ว แม้ว่า Clubhouse จะยังปฏิเสธที่จะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็ตาม

ทำไม Clubhouse ถึงมูลค่าพุ่งขึ้นไปสูงขนาดนั้น

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย App Annie ระบุว่า ในปลายเดือนมีนาคม จำนวนผู้ใช้งานบน Clubhouse มีอยู่ถึง 13.4 ล้านบัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4 สัปดาห์ก่อนหน้าถึง 1 ใน 5 ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการใช้งานจะมีเงื่อนไขคือ ‘ต้องได้รับเชิญเท่านั้น’ และ ‘ให้บริการเฉพาะบนระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิล’

“นี่เป็นช่วงจุดตัดของเทรนด์ฮอตหลายๆ เทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เสียง, ไลฟ์สด และโซเชียลมีเดีย” โจเซฟ อีแวนส์ จาก Enders Analysis กล่าว และว่า “และเทรนด์เหล่านี้ได้สร้างสรรค์หลายสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ตามปกติเนื่องจากโรคระบาดที่ทำให้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การพบปะพูดคุยแบบกลุ่ม เป็นต้น”

และถึงแม้ว่าจนถึงปัจจุบัน แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะยังไม่ได้ทำเงินได้ แต่นั่นไม่ได้สำคัญเสมอไป

ในหนังสือ No Filter ของ Sarah Frier พูดถึงกรณีที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยืนยันว่าอินสตาแกรมเองก็ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งก่อนที่จะเริ่มมีโฆษณาเข้า หลังจากเฟซบุ๊กซื้อกิจการแอปพลิเคชั่นแชร์รูปนี้มาในปี 2012 จนปัจจุบันอินสตาแกรมมีมูลค่าทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ไปแล้ว

เขาบอกว่า เหตุผลที่สำคัญกว่าคือการสร้าง “กระแสให้คงทน” มาเป็นลำดับแรก

อย่างไรก็ตาม อินสตาแกรมมีมูลค่าที่สูงไปถึงขนาดนั้นเนื่องจากทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ต่างต้องการจะซื้อ แต่นั่นไม่เหมือนกับกรณีของ Clubhouse

“ไม่กี่ปีก่อน เฟซบุ๊กคงจะยื่นข้อเสนอให้กับ Clubhouse แล้วก็ได้ แต่ว่าตลาดตอนนั้นยังไม่ตอบรับกับโซเชียลเน็ตเวิร์กประเภทอื่น พอถึงเวลานี้ ตัวเลือกเดียวของเฟซบุ๊กก็คือการแข่งขันกับคือ Clubhouse นั่นเอง” อีแวนส์ระบุ

และเมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กได้เปิดทดลองใช้แพลตฟอร์มที่คล้ายกับ Clubhouse อย่าง ฮอตไลน์ (Hotline) ที่โฮสต์สามารถพูดคุยกับผู้ฟังได้ผ่านเสียงและข้อความ

คู่แข่งเป็นใครอีกบ้าง?

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ทวิตเตอร์เพิ่งทดลองใช้ ‘Spaces’ ฟีเจอร์สตรีมมิ่งเสียงบนแอปทวิตเตอร์ แม้ในระยะแรกทวิตเตอร์จะเป็นคนเลือกครีเอเตอร์ก่อน แต่ในปลายเดือนนี้ทวิตเตอร์กำลังจะอนุญาตให้ทุกคนได้สร้างพื้นที่ของตัวเองได้

ด้านแอปแชตอย่างเทเลแกรมก็ได้เปิดตัวฟีเจอร์แชตด้วยเสียง ซึ่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาก็ได้ปรับปรุงฟีเจอร์ให้สามารถทำงานในลักษณะคนพูดหนึ่งคนและมีคนฟังหลายคนได้เหมือนกับ Clubhouse

เช่นเดียวกับอีกยักษ์ใหญ่แห่งวงการแอปสนทนาสื่อสารอย่าง Discord ที่เพิ่งเปิดตัว Stage ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คนหนึ่งคนเสมือนอยู่บนเวที แล้วพูดให้คนหลายคนฟังได้

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มธุรกิจอย่าง Slack และ LinkedIn ก็กำลังศึกษาถึงแนวคิดการคุยสดผ่านเสียงอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าจุดแข็งของบรรดาแอปคู่แข่งเหล่านี้ก็คือ การมีจำนวนผู้ใช้งานที่มากกว่า และสามารถให้บริการได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และบนเครื่องคอมพิวเตอร์

ความท้าทายที่ Clubhouse ต้องเผชิญ

ดูเหมือนว่า ‘การกลั่นกรองเนื้อหา’ จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ Clubhouse หลังมีรายงานว่ามีผู้ใช้ที่มีแนวคิดขวาจัด จัด Clubhouse เพื่อถกเถียงกันถึงประเด็นการเรียกร้องของผู้หญิงในข้อหาข่มขืน, การเหยียดเชื้อชาติ, การกีดกันทางเพศ และการต่อต้านชาวยิว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น จึงดูเหมือนว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีเลยที่จะดึงดูดความสนใจด้วยเรื่องเหล่านี้

นักการเมืองในสหรัฐฯ ขู่ว่าจะยกเลิกการคุ้มครองทางกฎหมายที่มอบให้กับโซเชียลเน็ตเวิร์กภายใต้กฎหมายที่เรียกว่ามาตรา 230 หลังจากกล่าวหาแอปเหล่านี้ว่ามีอคติและปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตราย

ส่วนในสหราชอาณาจักรเองก็มีข้อเสนอที่เรียกว่า Online Safety Bill ที่ให้อำนาจแก่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง Ofcomm ในการบล็อกแอปพลิเคชั่นที่ถูกตัดสินว่าล้มเหลวในการปกป้องผู้ใช้งาน

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรวจสอบเสียงที่ออกอากาศแบบสดๆ นั้น ทำได้ยากกว่าการใช้อัลกอริทึมตรวจจับข้อความที่ไม่เหมาะสม และแม้ Clubhouse จะมีการเก็บบันทึกเสียงการสนทนาไว้หากเป็นการรายงานเหตุการณ์ในแบบเรียลไทม์ แต่จะไม่เก็บบันทึกหากผู้ใช้พยายามจะรายงานความผิดในอดีต ซึ่งขัดต่อการสอบสวนติดตามผล

ข้อกังวลอีกประการของ Clubhouse ก็คือพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถ ‘รั้ง’ ผู้ใช้งานไว้ได้อย่างอยู่หมัด

ผู้ใช้รายหนึ่งกล่าวว่าเธอพบว่าตัวเองใช้ Clubhouse น้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีพอดแคสต์และสื่ออื่นๆ ที่แย่งความสนใจได้ดีกว่า

“Clubhouse ช่วยให้ผู้คนสร้างคอนเทนต์ได้อย่างง่ายมาก แต่ที่น่าประหลาดใจคือคอนเทนต์เหล่านั้นนำมาใช้จริงได้น้อยมากๆ” Sharon O’Dea จากบริษัทที่ปรึกษาการสื่อสารดิจิทัลในเนเธอร์แลนด์กล่าว และว่า “คุณแชร์ไม่ได้ บันทึกไม่ได้ โควทมาไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้พูดมักใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่จุดสำคัญ และนั่นทำให้ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้มีการเคารพเวลาของฉัน ในฐานะที่ฉันเป็นผู้บริโภค”

Clubhouse จะทำกำไรได้อย่างไร

วิธีดั้งเดิมในการหารายได้ของโซเชียลเน็ตเวิร์กก็คือโฆษณา แต่แพลตฟอร์มที่มีแต่รูปแบบเสียงอย่างเดียว ดูเหมือนจะหาเงินจากโฆษณาได้ค่อนข้างยาก

ผู้ใช้จะถูกบังคับให้ฟังโฆษณาตอนต้นรายการหรือไม่? การสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติจะถูกทำลายลงหรือไม่ หากโฮสต์ต้องหยุดชั่วคราวหรือมีช่วงเบรกเพื่อให้ฟังโฆษณา หรือที่แย่กว่านั้นคือโฆษณาที่เด้งขึ้นมาเองในหลายๆ ช่วงของการสนทนา เช่นเดียวกับที่พบในแอปถ่ายทอดสดเกมอย่าง Twitch

อีกทางหนึ่งที่จะสร้างเม็ดเงินได้ คือการกินส่วนแบ่งจากเงินที่ผู้ฟังจ่ายให้กับโฮสต์เป็นการขอบคุณ หรือจ่ายเพื่อแลกตั๋วที่จะได้เข้าฟัง

อย่างไรก็ตาม Clubhouse ก็อาจมีมูลค่าไปถึงตัวเลขดังที่กล่าวไว้ข้างต้นได้ เพราะตัวอย่างแพลตฟอร์มที่มีโมเดลธุรกิจคล้ายกับ Clubhouse อย่าง Patreon ก็มีมูลค่าถึง 4 พันล้านดอลลาร์แล้วจากการระดมทุนรอบล่าสุด

สำหรับ Clubhouse เองก็เพิ่งเปิดตัวช่องทางการชำระเงินของตัวเอง แต่ปัจจุบันยังเลือกที่ให้เงินที่ชำระเข้ามาทั้งหมด 100% เป็นของครีเอเตอร์ แทนที่จะรับบางส่วนมาเป็นคอมมิชชั่น แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ว่า Clubhouse จะนำคอมมิชชั่นมาใช้เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจก็เป็นไปได้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า