SHARE

คัดลอกแล้ว

การเล่นสนุกพูดคำว่า “กล้วยอบเนยโรยเกลือ” ที่พูดเท่าไหร่ก็พูดไม่ถูกกลายเป็นเรื่องตลกของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต แต่นักภาษาศาสตร์กล่าวว่าเรื่องนี้จริงจังกว่าที่คิด และการอธิบายเรื่อง “กล้วยอบเนยโรยเกลือ” อาจเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างเทคโนโลยีเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยให้ง่ายขึ้นได้ด้วย

กลางเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kiattisak Ben Inprasert โพสต์คลิปลองพูดคำว่า “กล้วยอบเนยโรยเกลือ” ว่าเป็นคำที่พูดยาก ตนพยายามพูดแต่ก็พูดผิดเสมอ ส่งเป็นกระแสให้ประชาชนในโลกอินเตอร์เน็ตหยิบมาสร้าง #กล้วยอบเนยโรยเกลือchallenge พูดคำนี้ติด ๆ กันแล้วถ่ายลงเผยแพร่ผ่านหน้าจอในวงกว้าง 

https://www.facebook.com/allaboutpope/posts/3437546809605081"

อินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) หลายรายเผยแพร่การท้านี้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากทำตาม ขณะที่มีการเผยแพร่วีดีโอการพูดกล้วยอบเนยโรยเกลือ ก็มีการตั้งคำถามประกอบ “ทำไมจึงพูดยาก”

วิเคราะห์ กล้วยอบเนยโรยเกลือ จริงจัง

อ.ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์ทีม workpointTODAY ว่าคำเจ้าปัญหานี้ออกเสียงได้ยาก เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์ทางสรีระสัทศาสตร์ 3 จุดด้วยกัน คือจุดที่ทำให้ออกเสียงคำว่าโรย เป็น เรย จุดที่ทำให้ออกเสียงคำว่า ‘เกลือ’ เป็นคำว่า ‘กลัว’ และ จุดที่ทำให้ออกเสียงคำว่า เนย เป็นคำว่า เนือย

จุดแรก การออกเสียงคำว่า โรย กลายเป็น เรย เป็นเพราะ ‘โรย’ เป็นเสียงสระ /โอ/ ที่เมื่อผู้พูดออกเสียงลิ้นของผู้พูดจะอยู่ด้านหลังพร้อมกับทำปากห่อ ผูอ่านอาจสังเกตได้ด้วยตัวเองผ่านการออกเสียงว่า “โอ” 

ปัญหาคือ ตัวสะกดของคำนี้เป็น ย.ยักษ์ ซึ่งเป็นพยัญชนะพิเศษ เพราะเป็นพยัญชนะกึ่งสระ เมื่อออกเสียงจะทำให้ลิ้นขยับไปอยู่ตำแหน่งเดียวกับการออกเสียงสระอี ทำให้เมื่อพูด /ย/ ลิ้นจะเลื่อนมาด้านหนังและเลิกห่อปากอัตโนมัติ

เมื่อต้องออกเสียงคำว่าโรย ตามปกติก็จะเคลื่อนไหวลิ้นและริมฝีปากกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อคำว่าโรยอยู่ในวลียาว ๆ อย่าง ‘กล้วยอบเนยโรยเกลือ’ หากไม่ตั้งใจดีพอก็ทำให้เคลื่อนไหวลิ้นและริมฝีปากไม่ทัน เมื่อจะพูดเสียง /โอ/  สมองก็เตรียมการพูดเสียง /ย/ ไว้ล่วงหน้า ทำให้ริมฝีปากปากของผู้พูดห่อเพื่อออกเสียงสระโอได้ไม่เต็มที่เพราะพะวงกับการเตรียมเหยียดปากออกเสียง /ย/ ที่จะตามมา ขณะที่ลิ้นก็เตรียมเลื่อนออกจากตำแหน่งหลังมาด้านหนัาเพื่อจะได้ไปวางในตำแหน่งของสระอีได้ทัน เมื่ออกเสียงลิ้นจึงร่นมาอยู่ในตำแหน่งกลางปากซึ่งเป็นที่ของเสียงสระ /เออ/ คำว่า ‘โรย’ จึงกลายเป็นคำว่า ‘เรย’

นักภาษาศาสตร์เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า  “การกลมกลืนระหว่างเสียงสองเสียง(coarticulation)” เกิดขึ้นจากเสียงมีอิทธิพลต่อกันเมื่อผู้พูดต้องเคลื่อนไหวอวัยวะต่อเนื่อง แก้ปัญหาได้ด้วยการพูดช้าๆ ชัดๆ ออกทีละเสียง

ส่วนจุดก็เป็นลักษณะเดียวกัน 

คำว่า “เกลือ” กลายเป็นคำว่า “กลัว” เกิดจากการที่สระเอือ เป็นสระประสมระหว่างสระ /อือ/ และสระ /อา/ ถ้ารีบพูดสระอือโดยไม่ได้เหยียดปาก เสียงสระ /อือ/ ก็กลายเป็นสระ /อู/ เมื่อมาประสมกับสระ /อา/ กลายเป็นเสียงสระประสม /อัว/  คำว่า ‘เกลือ’ จึงกลายเป็นคำว่า ‘กลัว’

ขณะที่สองจุดข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ถ้าพูดเร็ว แต่ถ้าเราพยายามจะพูดให้ถูกจนยิ่งเน้นย้ำเข้าไปก็จะมีอีกปรากฎการณ์นึงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างปรากฎการณ์ที่ คำว่า ‘เนย’ กลายเป็นคำว่า ‘เนือย’

ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อผู้พูดจะพูดเสียงพยัญชนะ /น/ ลิ้นจะแตะสนิทที่บริเวณปุ่มเหงือกทำให้ลิ้นอยู่ในตำแหน่งสูงในขณะเดียวกันก็เตรียมจะออกเสียง /เออ/ ซึ่งอยู่ต่ำลงมา ตำแหน่งนั้นคือตำแหน่งของสระ /อือ/  แต่พอตั้งใจเน้นมาก ๆ จนเกินไป กลายเป็นว่าผู้พูดลากลิ้นจากบนสุดลงล่างสุด ในตำแหน่งกลาง เกิดเป็นเสียง /เอือ/ และตามหลังด้วยเสียง /ย/ เป็นเสียงเอือย คำว่า ‘เนย’ จึงกลายเป็น ‘เนือย’ 

ใครจะว่าไร้สาระก็ไม่เป็นไร เพราะสาขาของเราจริงจังกับเรื่องแบบนี้ ถ้ามัวแต่กลัวคนจะอย่างนั้นอย่างนี้ และไม่พูดไม่ตอบคำถาม เรายิ่งตอกย้ำว่า สิ่งที่เราสนใจเป็นเรื่องไร้สาระ” ดร.ศุจิณัฐ นักภาษาศาสตร์อธิบายในโพสต์เฟสบุ๊กภายหลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว 

“นี่ถ้ารู้ว่า พวกเราทำแม้กระทั่งวัดคลื่นเสียงของเสียงบางเสียงเป็นงานวิจัย เขาคงจะว่ามากกว่านี้” เขาสำทับ

จากกล้วยอบเนยโรยเกลือ สู่เทคโนโลยี Speech to Text 

แน่นอนว่าสายอาชีพนักภาษาศาสตร์ไม่ได้มีไว้เพื่ออธิบายว่าทำไมคนพูดคำว่า กล้วยอบเนยโรยเกลือไม่ชัด เท่านั้น แต่จากพื้นฐานการอธิบายคำถามประหลาด ๆ อย่างนี้ทำให้เกิดเทคโนโลยีขึ้นมามากมาย

การอธิบายข้างต้น เรียกว่าเป็นศาสตร์ของ ‘สรีระสัทศาสตร์(Articulatoryphonetics)’ ที่มุ่งอธิบายวิธีการกำเนิดเสียงจากอวัยวะในช่องปากคน ความรู้นี้ถูกนำไปต่อยอดหลายส่วนโดยหลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตถึง

ตัวอย่างเช่นการต่อยอดของ ดร.ศุจิณัฐ ที่นอกจากสอนสัทศาสตร์แล้ว เขายังมีความสนใจการต่อยอดสัทศาสตร์ออกไปในสายวิชาชีพอื่น ๆ เช่น นิติสัทศาสตร์ (Forensic Phonetics) ที่ใช้ในการพิสูจน์หลักฐานประเภทเสียงพูดในงานศาลและการยุติธรรม ตลอดจนร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ออกแบบเสียงกระตุ้นเพื่อใช้ในการทดสอบสัญญาณคลื่นสมองคัดกรองการได้ยินในเด็กปฐมวัย 

“การอธิบาย กล้วยอบเนยโรยเกลือ เป็นการตอบโจทย์ปรากฎการณ์ด้วยเหตุผลเชิงทฤษฎีในภาษาไทย มันคือสิ่งที่เรียกว่า ‘การแปรของเสียง’  เป็นความหลากหลายของเสียงที่แปรไปตามบริบทสถานการณ์ต่าง ๆ” ดร.ศุจิณัฐอธิบาย “ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องเสียงภาษาไทยที่เพียงพอเทคโนโลยีของภาษาไทยก็จะก้าวหน้าได้ยาก”

เขากล่าวว่า ความรู้พื้นฐานด้านภาษาศาสตร์อย่างเรื่องการแปรของเสียง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนวัตกรรมการเปลี่ยนเสียงเป็นข้อความ (Speech to text) ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นของเครื่องมืออิเลกทรอนิกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่ ‘ถอดเทป’ ให้เครื่องมือจับเสียงเปลี่ยนเป็นข้อความปรากฎในหน้าจอโดยไม่ต้องจรดมือเคาะแป้นพิมพ์เอง

การมีเครื่องมือเปลี่ยนเสียงเป็นข้อความที่แม่นยำ ปลดล็อกศักยภาพในการทำงานของภาคการผลิตได้มาก ไม่ว่าจะเป็นลดระยะเวลาในแปลงข้อมูลประเภทเสียงให้กลายเป็นตัวอักษร การสร้างคำบรรยายแปลภาษา (sub-title) แบบเรียลไทม์ (real-time) เป็นต้น

“เครื่องมือเหล่านี้ต้องอาศัยข้อมูลด้านความหลากหลายของเสียงพูด บางคนพูดรัวพูดเร็ว พูดไม่ชัด เครื่องก็ต้องจับได้ ยิ่งเราเข้าใจความหลากหลายตรงนี้เท่าไหร่คอมพิวเตอร์ก็จะแม่นยำขึ้น และเราก็จะรู้ได้จากการศึกษาว่าปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างไร มีองค์ประกอบอะไร คาดเดาได้หรือไม่”

“ตอนนี้จาก Speech to Text เทคโนโลยีล้ำไปเยอะแล้ว ไปเป็นการตรวจจับอารมณ์ความรู้สึก เขาโกรธหรือเปล่า เขารำคาญอยู่ไหม หรือว่าเขากลัว เราจะรู้ได้อย่างไรจากเสียงว่าคนกำลังมีอารมณ์อะไร ก็ต้องมีกรอบทางภาษาศาสตร์เข้ามาช่วยและสร้างข้อมูล เพราะต้องนำข้อมูลไปฝึกพวกปัญญาประดิษฐ์” อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาการประมวลผลภาษาธรรมชาติและวิทยาการข้อมูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาตอกย้ำความจำเป้นของการพัฒนาองค์ความรู้ภาษาศาสตร์

“อย่างการแปลอัตโนมัติใน Google Translate ก็ต้องใช้ภาษาศาสตร์ควบคุมอยู่ด้วยว่าจะควบคุมคุณภาพของการแปลได้ยังไง หรือจะดึงข้อมูลที่อยู่บนเว็บอยู่แล้ว ถูกแปลไว้อย่างแล้วมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ก็ต้องมีตรงนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายที่เป็นวิศวกรรมและภาษาศาสตร์”

 ขณะที่ฟังก์ชั่นนี้ให้บริการในภาษาต่างประเทศได้อย่างแม่นยำ แต่ภาษาไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์เข้าไปดูแลเรื่องนี้ “คนทำงานด้านเทคโนโลยีเสียงพูดหรือเทคโนโลยีทางภาษาเป็นวิศวะหมดเลย ยังขาดคนที่เขาใจเชิงภาษา สมมติถ้าเจอกล้วยอบเนยโรยเกลือแล้วอธิบายไม่ได้ก็โค้ดข้อมูลไม่ได้”

“เทคโนโลยีก็ต้องไปพร้อมองค์ความรู้พื้นฐาน ถ้าเทคโนโลยีมีแต่องค์ความรู้พื้นฐานไม่พร้อมมันก็จะไปไม่สุด” ดร.ศุจิณัฐ นักภาษาศาสตร์สรุป

การลงทุนทางวิชาการของไทย กำลังละเลยรากฐาน

ปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้ด้านภาษาศาสตร์ที่อยู่ในร่มใหญ่ของมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานแล้ว 

ยกตัวอย่าง เช่น การตั้งสถาบันวิจัยก็ส่งผลมากต่อศักยภาพในการผลิตงานวิชาการสายภาษาศาสตร์ โดยปัจจุบัน ดร.ศุจิณัฐสะท้อนว่าศูนย์วิจัยสายสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ยังไม่มีการตั้งอย่างแพร่หลาย ทำให้ภาระการวิจัยตกอยู่กับอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่ในการสอนควบคู่ไปด้วย

“องค์กรวิจัยต่าง ๆ  เช่น Nectec หรือองค์กรอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้แทบจะมีการรับนักภาษาศาสตร์เข้าไปน้อยมาก จะดีกว่าไหมถ้ามีคนทางสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์แล้วทำงานวิจัยเป็นนักวิจัยอาชีพไปเลย”

ดร.อรรถพลเห็นต่างโดยมองว่าขณะนี้ตลาดงานไม่ต้องการนักภาษาศาสตร์แยกเข้าไปในองค์กร แต่ต้องการนักภาษาศาสตร์ที่รู้เรื่องเทคโนโลยีด้วยต่างหาก ”เขาต้องการคนที่ทำเป็นจบในคนเดียว”

“ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำโครงการต่างๆ เช่น เอาคนที่ทำงานในส่วนนี้อยู่แล้วมาเพิ่มพูนทักษะแรงงงาน (Upskill) มาเทรนในส่วนตอนที่เขาทำงานแล้ว แต่ผมก็มองว่าก็ยังไม่ค่อยพออยู่ดี”

นอกจากนี้ ความกังวลยังเกิดขึ้นตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อ  “สภานโยบายการอุดมศึกษา (สกว.)” ซึ่งมีบทบาทในการให้ทุนวิจัยไปเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)” แทน มีผู้ออกมาแสดงความกังวลว่าการเพิ่มคำว่าวิทยาศาสตร์ เข้าไปเสี่ยงต่อการลดทอนความสำคัญของความรู้มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ความกังวลนี้ไม่ได้ไร้ที่มาที่ไป เนื่องจากการจัดสรรทุนให้แก่สายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เกิดขึ้นในสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อง ๆ สำนักข่าวประชาไท  รายงานว่า ปี 2561 เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) อนุมัติทุนสนับสนุนโครงการวิจัยประเด็นมนุษยศาสตร์เพียง 9 โครงการ โดยผ่านการพิจารณาเบ็ดเสร็จ 3 โครงการ ขณะที่อีก 6 โครงการมีเงื่อนไขว่าจะได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนเมื่อได้ปรับแก้ข้อเสนอตามที่ได้รับความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น ย้อนหลังไปปี 2560 งานวิจัยสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ได้รับทุน 7 โครงการและปี 2558 ได้รับทุน 12 โครงการ 

“ตอนที่ผมเรียนปริญญาเอกอยู่เมืองนอกก็ขึ้นชื่อเรื่องงานวิจัยพื้นฐาน ถึงแม้ว่าทำวิจัยพื้นฐาน แต่เวลาเขียนขอทุนก็ต้องเขียนผลกระทบที่จะมีต่อสังคม ทั้งในแง่วิชาการและในแง่สังคมเองด้วย เช่น ถ้าได้ทุนนี้จะเทรนนักภาษาศาสตร์ได้กี่คน” ดร.อรรถพลกล่าวแบ่งปันประสบการณ์ ขณะที่ดร.ศุจิณัฐชี้ว่าแม้จะเขียนเชื่อมโยงได้ แต่การขอทุนยังเป็นเรื่องของมุมมองผู้อนุมัติทุนด้วย

“ได้ยินจากหลายคนคือรอทุนไปไม่ค่อยได้ เพราะเขามองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงหรือการตอบโจทย์สังคม คำถามพื้นฐานอย่างนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์ในมุมมองผู้อนุมัติทุนโดยตรง แต่จริง ๆ แล้วเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะกลายเป็นเรื่องที่เอกชนต้องการ” ดร.ศุจิณัฐกล่าว “ก่อนที่เราจะเสนอโครงการอย่าง การพัฒนาเทคโนโลยีเสียงพูด ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานก่อน”

การออกเสียง ‘กล้วยอบเนยโรยเกลือ’ ก็เป็นความรู้พื้นฐานที่ดูจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่เมื่อถูกหยิบมาพูดคุยอย่างจริงจังโดยผู้เชี่ยวชาญก็สามารถเชื่อมโยงได้ว่าเกี่ยวข้องกับการสร้างเทคโนโลยีที่จะทำให้ชีวิตทุกคนง่ายขึ้น องค์ความรู้มีอยู่มากมายรอบตัว แต่จะถูกหยิบยกไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาใด ๆ ได้ อาจต้องเป็นโจทย์ให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพิจารณา ว่าจะทำอย่างไรยึงจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ให้เกี่ยวข้องการกับการพัฒนาเทคโนโลยีในภาพใหญ่ของชาติได้ มิเช่นนั้นเราอาจเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า