Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“ผมตกใจและงงมาก ที่เห็นในข่าวบอกว่าอังกฤษแบนกะทิและมะพร้าวไทย เพราะเราใช้ลิงเก็บ เพราะตั้งแต่เกิดมา และทำสวนมะพร้าวเป็นสิบๆ ปี ยังไม่เคยเห็นเอาลิงมาเก็บเลย จะมีก็แต่เวลาเอามาเก็บโชว์”

คำบอกเล่าจาก นายณัฐพงษ์ สนองสินธิ์ เจ้าของสวนมะพร้าวแกงณัฐพงษ์ อ.วัดเพลง จ.สมุทรสงคราม จากการณีที่องค์กรมนุษย์เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) รายงานว่า ไทยทารุณกรรมสัตว์โดยให้ลิงเก็บมะพร้าว ทำให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในอังกฤษและยุโรป สั่งเก็บกะทิมะพร้าวไทยออกจากการขาย

ภาพลิงเกาะต้นมะพร้าว ลิงเก็บมะพร้าว อาจเป็นภาพที่คนไทยเคยเห็นและคุ้นชิ้นเพราะเป็นวิถีดั้งเดิมมาตั้งแต่อดีต แต่สำหรับในอุตสาหกรรมผลิตมะพร้าวที่ทำเป็นจำนวนมากเวลานี้ ไม่พบตัวเลขที่ชัดเจนว่าใช้ลิงหรือคนเก็บจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง

workpointTODAY ได้ลงพื้นที่สวนมะพร้าว จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวส่งออกใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ที่มีทั้ง มะพร้าวแกงสำหรับทำกะทิ และมะพร้าวน้ำหอมที่ส่งขายแบบเป็นลูก เป็นน้ำมะพร้าว และเนื้อมะพร้าว ซึ่งพบว่าใช้กำลังคนเก็บ 100 เปอร์เซ็นต์

ณัฐพงษ์ สนองสินธิ์ เจ้าของสวนมะพร้าวแกงณัฐพงษ์ อ.วัดเพลง จ.สมุทรสงคราม

ณัฐพงษ์ เจ้าของสวนมะพร้าวแกงณัฐพงษ์ บอกว่า สวนของเขาปลูกมะพร้าวแกง ส่งให้กับพ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อมะพร้าวที่กระเทาะเปลือกแล้ว ส่งให้กับ กะทิชาวเกาะ ซึ่งเขาทำสวนมะพร้าวมาตั้งแต่รุ่นแม่ ใช้คนเก็บมาตลอด ซึ่งคนที่จะมาเก็บมะพร้าวต้องเชี่ยวชาญพอสมควร เพราะก่อนจะเก็บลงมาจากต้นได้ มะพร้าวจะต้องแก่พอดี มีเนื้อหนาพอจะนำไปทำกะทิได้ ซึ่งหากเก็บมะพร้าวอ่อนลงมาก็ใช้ไม่ได้ มะพร้าวลูกนั้นก็จะเสียไปเลย

“ขนาดคนยังต้องดู ต้องใช้เวลาพอสมควร ที่จะเก็บมะพร้าวลงมาได้ ถ้าเป็นลิงคงเลือกไม่เป็นว่าลูกไหนที่ใช้ได้แล้ว ที่สำคัญน่าจะไม่ทันกิน เพราะกว่าจะปิดลงมาได้แต่ละลูกก็พักใหญ่ ถ้าเป็นคนเก็บเราใช้ไม้สอยตัดลงมาทั้งทลายได้เลย ต้นที่สูงๆ หน่อยใช้ไม้ไม่ถึงก็ยังพอมีคนปีนไปตัดได้อยู่ อีกอย่างใช้คนเก็บไม่ถึงครึ่งวันก็ได้เต็มคันรถแล้ว ถ้าเป็นลิงทั้งวันไม่รู้จะได้เต็มรถหรือเปล่า แต่ก็เคยได้ยินนะว่าทางภาคใต้เขาใช้เก็บกัน” เจ้าของสวนมะพร้าวแกง” ณัฐพงษ์ กล่าว

มะพร้าวน้ำหอม ต้นเตี้ย ขายความสวยงามของลูก ใช้ลิงเก็บไม่ได้

นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน หรือ หนุ่ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมรายใหญ่ของ จ.ราชบุรี บอกว่า จากข่าวที่ออกไปยังไม่กระบทบธุรกิจมะพร้าวน้ำหอมเท่าไหร่นัก แต่เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงกับประเทศคู่ค้าพอสมควร เพราะมะพร้าวน้ำหอม ไม่สามารถใช้ลิงเก็บได้เลย หลังมีกระแสข่าวไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ได้รีบทำการชี้แจงกับคู่ค้าว่า ใช้กำลังคน 100 เปอร์เซ็นต์ทันที ซึ่งตลาดมะพร้าวน้ำหอม หลักๆ จะอยู่ที่ จีน ฮ่องกง สหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

โดยมองว่าการสอนลิงขึ้นมะพร้าว เป็นสิ่งที่เราพบเจอในอดีตและเป็นความฉลาด ความน่ารักของลิงที่สามารถทำได้ แต่ถ้าในระบบอุตสาหกรรม ลิงไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เพราะกระบวนการเก็บต้องมีมาตรฐานและพิถีพิถัน โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอม ที่เหมาะต่อการส่งออก จะต้องมีเนื้อหนา 4-6 มิลลิเมตร เนื้อ 2 ชั้น ถึงจะได้น้ำมะพร้าวที่หอมหวาน ซึ่งต้องใช้ทักษะในการเลือกเก็บ ซึ่งคนเท่านั้นที่จะทำได้

(ณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน หรือ หนุ่ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด)

“ในอุตสาหกรรมเรามีตารางการเก็บมะพร้าวน้ำหอมที่ชัดเจน และมะพร้าว 1 ทลาย จะมีประมาณ 10 ลูก จะต้องใช้มีดตัดที่ขั้ว แล้วใช้ไม้ค้ำโยนลงมาที่ร่องสวนซึ่งมีน้ำอยู่ เพื่อถนอมไม่ให้ผิวมะพร้าวมีรอยช้ำ ให้ผิวเปลือกขาวสวย ถึงจะได้มาตรฐานที่ส่งออก แต่ถ้าเก็บมาแล้วเนื้อยังไม่พอดี น้ำก็จะมีรสเปรี้ยว มะพร้าวลูกนั้นก็จะไม่มีราคา ขายไม่ได้ ดังนั้นลิงจะไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ได้เลยคนที่จะตัดมะพร้าวและได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ต้องอาศัยการเรียนรู้นาน คนทั่วไปมองไม่ออกเลยว่ามะพร้าวลูกไหนเนื้อ น้ำ ได้หรือไม่ได้ อย่าพูดถึงลิงเลยที่บิดลงมาเป็นลูกๆ จะเลือกมะพร้าวได้” ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้การใช้คนตัดรวดเร็วมาก ซึ่งได้ทำสถิติไว้ว่า 2 คน สามารถได้สูงสุด 2,000 ลูก ในระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง เพราะอีกคนค้ำ อีกคนตัด มะพร้าว 1 ต้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที จากนั้นพอตัดเสร็จทั้งสวน ก็จะลำเลียงมะพร้าวโดยการลากขึ้นฝั่ง มะพร้าวก็จะไม่มีรอยช้ำเลย พอไปถึงโรงงานมะพร้าวจะถูกนำเข้ากระบวนการผลิต

(พิชิต พุ่มพฤกษ์ คนเก็บมะพร้าว จ.ราชบุรี)

ด้าน นายพิชิต พุ่มพฤกษ์ คนเก็บมะพร้าว เปิดเผยว่า “ตั้งแต่ทำอาชีพนี้มายังไม่พบการใช้ลิงขึ้นมะพร้าว แต่เชื่อว่าน่าจะมีในอดีตที่เครื่องมือไม่พร้อมแบบปัจจุบันนี้ ก่อนจะมาตัดแบบนี้ได้ก็เป็นคนลากมะพร้าวมะก่อน และเรียนรู้จะคนที่ตัดมาก่อน “ซึ่งก่อนจะตัดมะพร้าว ใน 1 ต้น จะมีมะพร้าว 5 ทลาย ต้องดูน้องของมะพร้าวที่เราจะตัดว่าลูกจะเท่ากำปั้นหรือยัง และดูน้องสามด้วยว่าขนาดเท่าลูกหมากหรือยัง ดูสี ผิวเปลือกมะพร้าวก่อนถึงจะตัดได้ ตัดมาก็ต้องล่องน้ำเพื่อไม่ให้ช้ำ”

เมื่อมีภาพให้เห็น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเราให้ลิงขึ้นมะพร้าวจริง แต่อาจไม่ใช่ส่วนหลักสำหรับอุตสหกรรมการผลิตมะพร้าว อย่างที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่พบว่ามีศูนย์ฝึกลิงขึ้นมะพร้าวโดยเฉพาะ ยืนยันว่า ไม่ได้ทารุณลิง บังคับขึ้นมะพร้าว แต่เป็นวิถีชาวบ้านมายาวนาน และเจ้าของลิงส่วนใหญ่ดูแลรักเหมือนลูก

(สุมาตร อินทรมณี ประธานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนคลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี)

นายสุมาตร อินทรมณี ประธานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนคลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การอาศัยลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านมายาวนานกว่า 100 ปี ใช้ลิงมาช่วยในภาคการเกษตร โดยเฉพาะการขึ้นต้นไม้สูง ๆ ไม้สอยไม่ถึง เช่น เก็บมะพร้าว ฝักสะตอ ลูกเหนียง เพราะลิงมีความชำนาญการปีนป่ายต้นไม้อยู่แล้ว และในอดีตเคยมีคนปีนต้นละพร้าวประสบอุบัติเหตุตกลงมาเสียชีวิต

“การฝึกลิงจะต้องเข้าใจและดูแลอย่างใกล้ชิด เปรียบเสมือนบุตรหลาน อาหารการกินก็จะต้องดูแลเป็นอย่างดี เจ้าของบางคนชงนมใส่ไข่ไก่ให้กินทุกวัน เพื่อให้สุขภาพลิงแข็งแรงมีพละกำลัง หากไปใช้ความรุนแรงหรือทารุณลิง มันก็จะต่อต้านไม่ต่างจากคน” สุมาตร กล่าว

ขณะที่ นายนิรันต์ วงศ์วานิช ผู้ฝึกสอนลิง เล่าว่า การสอนลิงแยกแยะสีมะพร้าวแก่มะพร้าวอ่อน และสอนวิธีการแก้เชือกปมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะอยู่บนต้นมะพร้าว ซึ่งลิงเป็นสัตว์แสนรู้และลิงที่จะนำเข้าฝึกต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไปและเวลาฝึกสอนประมาณ 4 เดือน ยืนยันว่า ไม่มีการทารุณ ที่สำคัญข้อเท็จจริงในพื้นที่ การเก็บมะพร้าวส่วนใหญ่ใช้คนเป็นหลัก จะให้ลิงเก็บเฉพาะต้นสูง ๆ เท่านั้น

เช่นเดียวกับที่เกาะสมุย นายนิรันทร์ เรืองทอง เจ้าของโรงมะพร้าวกะทิ บอกว่า ปัจจุบันพ่อค้าที่ไปรับซื้อมะพร้าวจากในสวนก็จะใช้คนใช้ไม้สอยเป็นส่วนใหญ่ โดยสังเกตได้จากตามลูกมะพร้าวจะมีร่องรอยของขอเกี่ยว แต่ภาพที่ต่างประเทศเห็นน่าจะมาจากการแสดงโชว์ใช้ลิงเก็บมะพร้าวมากกว่า แต่ยอมรับว่ามีบางสวนที่ใช้ลิงเก็บมะพร้าวอยู่บ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ออกข้อกำหนดของโรงงานว่า ห้ามใช้ลิงเก็บมะพร้าว โดยได้ให้เจ้าของสวนเขียนรับรองยืนยันว่าใช้แรงงานคนสอยมะพร้าว ไม่ได้ใช้แรงงานลิง นายนิรันทร์ ยังบอกอีกว่า การใช้แรงงานคนดีกว่าใช้ลิงเก็บมะพร้าว สัตว์จะเก่งเหมือนคนได้อย่างไร ยกตัวอย่างถ้าคนเก็บได้วันละ 300 ลูก ลิงก็เก็บได้แค่ 100 ลูก ซึ่งหลังจากมีข่าวออกมาทำให้ราคารับซื้อมะพร้าวตกลงไปเป็นอย่างมาก

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เรื่องการเก็บมะพร้าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบภูมิปัญญา และ ระบบอุตสาหกรรม ซึ่งความเห็นมุมมองสองเรื่องนี้แตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับปรุงให้มะพร้าวเป็นพันธุ์เตี้ยสูง 10-12 เมตร เพื่อให้คนสามารถใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวได้ ทำให้การใช้ลิงเก็บมะพร้าวในต้นที่สูงๆ ของไทยเหลือน้อยมาก
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไทย ตัวแทนจากผู้ผลิตกะทิมะพร้าว สมาคมพิทักษ์สัตว์ในประเทศไทย ได้ข้อสรุปเป็น 3 มาตรการ ได้แก่

1. ให้ภาคเอกชนกำหนดรหัส บนผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดลงไป เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถูกผลิตจากสวนไหน มีการใช้แรงงานลิงหรือไม่

2. จะเชิญผู้แทนเอกอักคราชฑูตที่ประจำในประเทศไทย องค์กรเอกชนเกี่ยวกับการพิทักษ์สัตว์เข้าร่วมตรวจสอบด้วย และเตรียมชี้แจงผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาชี้แจง เพื่อให้ทุกส่วนได้รับทราบกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

3. ให้ทีมไทยแลนด์ที่ประจำอยู่ต่างประเทศได้ช่วยกันทำคำชี้แจงและนัดพบผู้นำเข้าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่เป็นลูกค้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยทำความเข้าใจต่อไป

อย่างไรก็ตามจากมาตรการที่รัฐออกมา ทำให้เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถจำหน่ายมะพร้าวได้ รวมถึงพ่อค้าที่รับซื้อมะพร้าวมาก่อนหน้านี้ ไม่สามารถขายต่อโรงงานได้ ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการบางเเห่งเสียหายหลายเเสนบาท เพราะต้องปล่อยทิ้งมะพร้าวที่รับซื้อไว้ บางกิจการจึงต้องปิดตัวลง และอาจยิ่งซ้ำเติมราคามะพร้าว โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ว่าผลิตจากมะพร้าวที่มาจากสวนไหน มีการใช้แรงลิงหรือไม่ ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่สามารถขายได้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า