SHARE

คัดลอกแล้ว

ไหนใครพร้อมเลือกตั้งแล้วบ้างยกมือขึ้น?

ยิ่งเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งแบบนี้ ใครที่ติดตามข่าวการเมืองตอนนี้คงรับรู้ถึงความเข้มข้นของการหาเสียงในช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้งในทันที เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ทุกพรรคนั้นจะงัดเอากลเม็ดทุกอย่างของตัวเองออกมาเพื่อเรียกคะแนนเสียงของตัวเองออกมาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพียงแต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ กลยุทธ์ต่างๆ ที่เหล่าพรรคการเมืองหยิบมาใช้เองก็ไม่ได้มีแต่กลยุทธ์สีขาวเสมอไป เพราะเราก็ได้เห็นกลยุทธ์สีดำ ที่เต็มไปด้วยการใส่ร้ายป้ายสีศัตรูทางการเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวเสียๆ หาย ขุดประวัติบนโซเชียลมีเดียออกมาบิดเบือนให้เสียบริบท หรือแม้กระทั่งการ “จับโป๊ะ” นโยบายต่างๆ ซึ่งวิธีการทั้งหมดนั้นก็เพื่อเป็นการ “ตัดกำลัง” คู่แข่งของตัวเองให้ได้มากที่สุด 

เราสามารถสังเกตได้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เลือกที่จะใช้ “ข้อมูล” เป็นอาวุธในการช่วงชิงคะแนนเสียงต่างๆ จนเกิดเป็น “สงครามข้อมูลข่าวสาร (Information War)” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้เหล่า “โฆษณาชวนเชื่อ” ในรูปแบบต่างๆ ได้ปลิวว่อนกันไปทั่วโซเชียลมีเดีย พาชาวเน็ตทั้งหลายหัวหมุนกันยกใหญ่ ไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริง อันไหนเท็จ หรืออันไหนเป็นข่าวเก่าที่หยิบมาเล่าใหม่

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ชวนให้นึกถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 ของประเทศฟิลิปปินส์ที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ใช้ยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยโฆษณาชวนเชื่อและบัญชีปลอมจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย คว้าชัยชนะการเลือกตั้งไปแบบช็อกโลก

ดังนั้นในวันนี้ สำนักข่าว TODAY จะชวนทุกคนไปมาสำรวจกลยุทธ์ทางการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านมุมมองและความคิดเห็นของ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าศาสตร์และศิลป์ของโฆษณาชวนเชื่อนั้นมีพัฒนาการไปมากแค่ไหน และอิทธิพลของมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญ กำลังนับถอยหลังเข้ามาเรื่อยๆ แบบนี้

ถาม : จากเหตุการณ์การเลือกตั้งปี 2022 ในประเทศฟิลิปปินส์ที่ตอกย้ำความเชื่อว่า “ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนๆ ก็ใช้ Information War (สงครามข้อมูลข่าวสาร) ในช่วงเลือกตั้ง” เพื่อเป็นการดิสเครดิตคู่แข่ง โดยยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบนี้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วหรือไม่ เมื่อเข้ายิ่งเข้าใกล้การเลือกตั้งเข้าไปทุกที? 

ดร.จันจิรา : “ถามว่าเป็นเรื่องปกติไหม? จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะสิ่งที่เรียกว่า Information War หรือสงครามข้อมูลข่าวสาร มันเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิการเลือกตั้ง เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างก็พยายามหาคะแนนเสียง 

แต่บทบาทของสื่อ และ เทคโนโลยี มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Computational Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อด้วยเทคโนโลยี) ซึ่งยิ่งยกระดับให้เหล่าโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก แล้วทำให้คนหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

Computational Propaganda นี้มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้มันมีความซับซ้อนมากกว่าสงครามข้อมูลข่าวสารทั่วไป

ประการที่ 1 จะสังเกตได้จากการตรวจจับของประชาชน โดยดิฉันรู้สึกว่าการตรวจจับของประชาชนในช่วงที่ผ่านมามักจะมุ่งเน้นไปที่เนื้อหา (Content) เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นการเน้นว่าเนื้อหาประเภทไหนที่มีลักษณะผิดบิดเบือน มันก็เลยนำมาสู่การตั้ง Co-fact นำมาสู่การตั้งศูนย์ปราบปรามเฟคนิวส์ในหลายประเทศ ต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือน แต่ช่วงที่ผ่านมาแพลตฟอร์มหลายที่จะเริ่มไม่ค่อยดูเนื้อหากันแล้ว เพราะว่าการดูเนื้อหาแล้วมาบอกว่าอะไรผิดหรือไม่ผิดมันค่อนข้างมีปัญหาทางการเมืองค่อนข้างมาก ไม่ต้องถึงพูดว่าในโลกปัจจุบันนี้ การระบุว่า “ความจริงที่แท้” มันเป็นอย่างไรมันก็ยากมากพอแล้ว ดังนั้นเขาก็เลยเปลี่ยนมาดูที่ “พฤติกรรม” แทน

เมื่อพูดถึงพฤติกรรมที่มีปัญหามันมีอยู่ 3-4 อย่าง โดยพฤติกรรมที่มีปัญหาอย่างแรกเลยก็คือพฤติกรรมที่มีลักษณะของการ “ทำอย่างเป็นระบบ” เพราะเรากำลังพูดถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้เกิดจากแค่สิบหรือยี่สิบบัญชี หากแต่เป็นหมื่นๆ บัญชีที่กำลังเผยแพร่ข้อมูลคล้ายๆ กัน หรือมีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายๆ กัน โดยพฤติกรรมลักษณะนี้มีชื่อว่า “Brigading” นั่นก็คือการรวมพลไปถล่มหรือสร้างความอลหม่านด้วยวิธีการบางอย่างเช่น การคอมเมนต์ รีพอร์ต หรือภาษาแบบบ้านๆ แบบเราเรียกว่า “ทัวร์ลง” นั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นทัวร์ที่มีการจัดตั้ง มีการวางแผน มีรูปแบบของข้อความว่าจะเขียนอย่างไร

แต่ในทางเทคนิคนั้นมันก็มีการม็อบได้หลายแบบ เช่นการ “Vote Down” นั่นก็คือการเอาบัญชีเป็นหมื่นๆ บัญชีไปรุมถล่ม “กดโกรธ” ข้อความของนักการเมืองบางคนในเฟซบุ๊ก ซึ่งการไปรุมกดโกรธมากๆ แบบนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่มองเห็นข้อความนี้ในฟีดของตัวเองน้อยลง มันคือวิธีการบดบังให้ข้อความดังกล่าวถูกกลบไป

อีกวิธีหนึ่งก็คือการ “สวมรอย” เช่นเอารูปใบหน้าภรรยาของนักการเมืองคนหนึ่งไปสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียใหม่เพื่อสวมรอยว่าเป็นคนคนนั้น แล้วก็พูดอะไรเสียๆ หายๆ ทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจผิด รวมถึงการ Doxxing นั่นก็คือไป “ขุด” เอาข้อมูลเก่าๆ ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์มาโพสต์ใหม่เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ต้องการจะโจมตีนั่นเอง 

นำมาสู่ลักษณะประการที่ 2 ของ Computational Propaganda ในบริบทของการเลือกตั้ง “แคมเปญสีดำ (Dark Ops)” จำพวก IO (Informal Operation) ของทหารอย่างที่เรารู้จักกัน ซึ่งจะแบ่งเป็นแคมเปญสีขาว (การชื่นชมคนที่สนับสนุน) แคมเปญสีเทา (การสร้างความสับสน) และแคมเปญสีดำ (การโจมตี)

แต่สำหรับในบริบทของการเลือกตั้ง มันมีแคมเปญสีดำที่ใช้บัญชีออนไลน์บางบัญชีเอาไว้สำหรับโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าหากว่าเราไปส่องดูบัญชีเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่าบัญชีดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีและขุดคุ้ยคนคนหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยเราเรียกสิ่งนี้ว่า Character Assasination ซึ่งเป็นการจงใจทำให้ใครบางคนเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเผยแพร่ข่าวปลอมก็ได้ แต่อาจจะเป็นการนำคำพูดในอดีต หรือข้อมูลในอดีตมาพูดใหม่ แต่อาศัยการบิดเบือนบริบทหรือตีความใหม่ ให้ชื่อเสียงของคนเหล่านี้เกิดความเสียหายก็ได้

สำหรับประการที่ 3 นั้นเราอาจจะไม่ค่อยเห็นในประเทศไทยมากเท่าไร แต่จะเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทการเลือกตั้งในต่างประเทศ นั่นก็คือการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านเอกชน ควบคู่ไปกับการทำแคมเปญเลือกตั้งสีดำ 

ล่าสุดได้มีการเปิดเผยปฏิบัติการลับของบริษัทในประเทศอิสราเอลบริษัทหนึ่งที่มีใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดสรรแคมเปญเลือกตั้งสีดำ ซึ่งบริษัทนี้สามารถสร้าง “บอท” หรือบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมขึ้นมาในระดับมากกว่าล้านบัญชีในการเผยแพร่ ข้อมูลที่ผิดพลาด เฟคนิวส์ หรือแม้กระทั่งไปทัวร์ลงใส่โพสต์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องใช้มนุษย์แม้แต่คนเดียวเลย 

นอกจากนี้บริษัทนี้ยังสามารถเขียนโปรแกรมแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ “บอท” เหล่านี้ไปทำการโจมตีบนโลกออนไลน์บางอย่าง เพื่อให้นักการเมืองเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้แคมเปญการเลือกตั้งของนักการเมืองถูกลดทอนความสำคัญลง ไปจนถึงการแฮ็กข้อมูลหวงห้ามบางอย่างขึ้นมาโจมตีก็ได้เช่นกัน 

โดยหากยังจำกันได้เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เคยถูกเปิดโปงมาแล้วในสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเขาได้ใช้บริการของบริษัท Cambridge Analytica ที่ได้มีการนำข้อมูลของผู้ใช้แพลตฟอร์ม Facebook มาทำแคมเปญเลือกตั้งแบบเลือกเป้าหมาย (Tarketing Campaign) ซึ่งข่าวนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและในแง่การเมืองสหรัฐ

โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะนี้อาจจะยังไม่มีหลักฐานการเกิดขึ้นในประเทศไทยมากนัก แต่สามารถเห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง อินโดนีเซีย ศรีลังกา โดยหลักๆ แล้ว โฆษณาชวนเชื่อแบบนี้จะพบเห็นได้เยอะมากในประเทศแถบตะวันตก

มาที่ลักษณะที่ 4 โดย Computational Propaganda ลักษณะนี้เรียกได้ว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่มีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากทั้ง 3 ลักษณะก่อนหน้า เนื่องจากว่า โฆษณาชวนเชื่อลักษณะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ผลการเลือกตั้งได้ออกมาแล้ว เกิดความไม่พอใจในฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะมีการดิสเครดิตผลการเลือกตั้งโดยใช้วิธียิงข้อมูลที่ผิดพลาดไปยังฐานผู้สนับสนุนของผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ จนทำให้เกิดกลายเป็น Echo Chamber ที่มีข้อมูลผิดๆ สำหรับดิสเครดิตผลการเลือกตั้งสะท้อนอยู่ในพื้นที่ของผู้สนับสนุนฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งอยู่เต็มไปหมด

โดยเป้าหมายของโฆษณาชวนเชื่อลักษณะนี้ มีเป้าหมายที่ต้องการที่จะระดมผู้คนให้ออกมาทำการประท้วงล้มผลการเลือกตั้ง ซึ่งเราเคยเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วในสหรัฐอเมริกาและบราซิล

กล่าวคือ Computational Propaganda ทั้ง 4 ประการนี้ถือว่าเป็นอะไรที่ประชาชนอย่างพวกเราต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้แตกต่างจากแคมเปญเลือกตั้งปกติในปัจจุบันมากนัก เพียงแต่ว่ามันได้รับการต่อขยายโฆษณาชวนเชื่อในช่วงการเลือกตั้งซึ่งทำให้เกิดผลกระทบที่เข้มข้นและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงแต่ช่วงข้ามคืน เพราะมันอาจทำให้การเลือกตั้งนั้นเกิดความไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม และไปบิดเบือนผลการเลือกตั้งนั่นเอง”

ถาม : ประเทศฟิลิปปินส์เคยบอกว่า ถึงแม้ว่าเฟอร์ดินาน มาร์กอส จะได้ไม่เป็นรัฐบาลโดยตรงในรอบที่แล้ว ก็ยังพบเห็นการใช้ “กลไกรัฐ” เพื่อเป็นการปิดบังช่องทางการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แล้วคิดว่ากลไกทางการเมืองประเภทนี้ยังมีความสำคัญในบริบทของ Computational Propaganda อยู่หรือไม่

ดร.จันจิรา : “มี เพราะว่าส่วนสำคัญที่สุดของหน่วยงานราชการหรือองค์กรของรัฐคือทรัพยากร ทั้งทรัพยากรมนุษย์หรือทรัพยากรเงิน บางคนที่ศึกษาเรื่อง Computational Propaganda ที่มีบ่อกำเนิดมาจากตัวละครของรัฐนั้นจะเรียกว่า Cyber Troops เปรียบเสมือนเป็นนักรบไซเบอร์ของทางรัฐ ถ้าหากภาษาในแบบของเราก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “นักรบคีย์บอร์ด” นั่นเอง

ซึ่งองค์กรของรัฐมีข้อได้เปรียบหนึ่งที่เหนือกว่าหน่วยงานอื่นๆ เป็นไหนๆ ก็คือ “เงินหรืองบประมาณ” ที่ใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะนำข้อมูลบนโซเชียลมีเดียนั้นมาตกแต่งใหม่เป็นอาวุธให้กับเหล่า IO 

ถ้าเป็นองค์กรปกติ วิธีนี้อาจจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก แต่พอเป็นองค์กรของรัฐที่มีทรัพยากรล้นเหลือ พวกเขาสามารถระดมเหล่า IO มากมายมาเฝ้าระวังและสอดส่องโซเชียลมีเดียของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามในระดับนาทีต่อนาที เมื่อใดก็ตามที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามมีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ รูป หรือวิดีโอใด  เหล่า IO หรือ นักรบคีย์บอร์ดของรัฐที่คอยดูอยู่ก็สามารถหยิบข้อผิดพลาดใดๆ ก็ตามขึ้นมาโจมตีได้ทันที

โดยมีการคาดคะเนว่าจำนวนทรัพยากร IO หรือนักรบคีย์บอร์ดของรัฐในประเทศไทยที่คอยเฝ้าระวังนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ผลิตเฟคนิวส์ หรือโจมตีศัตรูทางการเมืองนั้นอยู่ในระดับหลักหมื่นคนเลยทีเดียว โดยถ้าเราลองไปดูในทวิตเตอร์แล้ว เราจะเห็นบัญชีที่มีเครือข่ายหรือมีความเชื่อมโยงกันเยอะมาก

ซึ่งบัญชีเหล่านี้เองก็ไม่ใช่บัญชีที่สร้างขึ้นมาอย่างไม่มีความหมาย โดยบัญชีเหล่านี้มีสิ่งที่เรียกว่า Influential Power หรืออิทธิพลทางความคิด ที่สร้างผลกระทบทางความคิดต่อใครก็ตามที่เข้ามาติดตามบัญชีเหล่านี้ด้วยวิธีการแชร์ข้อมูลต่อๆ กันไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็น Echo Chmaber ทำให้ผู้ที่ติดตามบัญชีเหล่านี้ จะไม่สามารถหลบหนีข้อมูลที่ทาง IO เหล่านี้พยายามจะกระจายได้เลย

ข้อได้เปรียบต่อมาที่องค์กรของรัฐมีก็คือ อำนาจทางกฎหมาย 

ยังไงก็ตาม การทำ Computational Propaganda เองก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้รัฐสามารถทำการจำกัดการเข้าถึง บิดเบือน สร้างข้อมูลเท็จ หรือควบคุมสื่อ มันเป็นเพียงด้านเดียวของเหรียญที่มีชื่อว่า กลไกการกดขี่ทางการเมืองของรัฐเท่านั้น เพราะในการจะทำให้กลไกนี้สำเร็จ รัฐจะต้องอาศัยอีกด้านของเหรียญ นั่นก็คืออำนาจในการควบคุมข้อมูลข่าวสารผ่าน “การควบคุมทางกฎหมาย” เพื่อที่จะปิดปากความเห็นอื่นๆ อย่างสมบูรณ์

ถ้าเราลองไปตามดูประกาศจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) แล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีการออกประกาศกระทรวงที่ค่อนข้างถี่ แล้วก็มีลักษณะที่ตั้งใจเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เช่นมีการออกประกาศให้มีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหมือนกับหน่วยงานเสริมการทำงานของศูนย์ต้านข่าวปลอมในปัจจุบัน 

มีการออกประกาศเป็นข้อบังคับผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใดๆ ก็ตามที่ถูกทางกระทรวง DE ตัดสินว่าเป็นข้อมูลที่มีปัญหา ต้องเอาข้อมูลเหล่านั้นลงจากโลกออนไลน์ทันที มิฉะนั้นจะมีค่าปรับ 

โดยช่วงที่เวลาไม่นานที่ผ่านมาเองก็ได้มีการออกประกาศกฎข้อบังคับต่างๆ ในลักษณะนี้ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งพวกเราเองก็ไม่รู้ว่ากฎข้อบังคับเหล่านี้จะมีการบังคับใช้เมื่อใด 

นี่คืออีกด้านของกลไกรัฐ ที่ประชาชนธรรมดาอย่างพวกเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวละครของรัฐกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเมื่อไหร่”

ถาม: จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2022 ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้มีการใช้ยุทธศาสตร์ทางข้อมูลข่าวสารอย่างหนักจนทำให้ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ขึ้นมาครองอำนาจอย่างยิ่งใหญ่ คิดว่าสมรภูมิการเลือกตั้งของประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันมากแค่ไหน? แล้วมีสิทธิ์จะซ้ำรอยประเทศฟิลิปปินส์หรือไม่? 

ดร.จันจิรา : “ยังยืนยันว่าตอนนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังมีความแตกต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศฟิลิปปินส์นั้นมีความกระจายในแง่อำนาจรัฐ ไม่มีศูนย์กลางของรัฐที่ชัดเจนเหมือนในประเทศไทย 

ดังนั้นโฆษณาชวนเชื่อด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งในประเทศฟิลิปปินส์ จะกระจายไปตามผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและแคนดิเดตของพรรคต่างๆ แต่สำหรับในประเทศไทยที่มีศูนย์กลางของรัฐที่ชัดเจน จะสังเกตได้เลยว่ามีตัวละครที่ใช้กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อที่ค่อนข้างที่จะกระจุกตัว

ส่วนระบบนิเวศและการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่ถูกกดทับมากเท่ากับประเทศไทย เนื่องจากว่าในประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่มีกฎหมายควบคุมสื่อที่เข้มงวดเท่ากับในประเทศไทย จะมีก็คือกฎหมายหมิ่นประมาทออนไลน์ที่เรียกว่า Cyber Libel ซึ่งครอบคลุมการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรอื่นผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การหมิ่นประมาทคือการกระทำต่อสาธารณะและประสงค์ร้ายโดยกล่าวหาว่าอาชญากรรม ความชั่วร้าย หรือความบกพร่อง (จริงหรือสมมติ) ต่อบุคคล หรือดูหมิ่นความทรงจำของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยได้มีนักกิจกรรม นักการเมืองอาวุโส หรือนักวิชาการในฟิลิปปินส์ อย่าง Walden F. Bello และ Maria Ressa Ceo แห่ง Reppler ก็เคยถูกฟ้องด้วยข้อกฎหมาย Cyber Libel มาแล้ว รวมถึงมีคนเริ่มถูกฟ้องมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ข้อกฎหมายที่ใช้การลงโทษคนที่อาจจะเผอิญไปหมิ่นประมาทผู้มีอำนาจนั้น มีเยอะกว่ามาก และมีโทษที่ร้ายแรงกว่ามากอีกด้วย

แต่มุมที่เหมือนก็มีให้เห็นเช่นเดียวกัน อย่างเช่นการใช้แนวคิดของ “ชาตินิยม” มาทำการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ปลุกปั่น และยั่วยุผู้สนับสนุนทางการเมืองต่างๆ ซึ่งฟิลิปปินส์เองก็มีการใช้กลยุทธ์นี้ค่อนข้างมาก เราเห็นเหล่าผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อย่าง โรดรีโก ดูแตร์เต ก็ได้ออกมาทำการชุมนุมต่อต้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับดูเตอร์แต 

ประเทศไทยเองก็คล้ายกัน โดยที่เราได้เห็นการใช้แนวคิดชาตินิยม ไปจนถึงวาทะกรรมคลาสสิคอย่าง “ชังชาติ” เพื่อเป็นการกีดกันคนที่เห็นต่างออกไป

แต่ภูมิทัศน์ของการเมืองไทย ณ ปัจจุบันเองก็มีลักษณะแบบ “เบี้ยหัวแตก” มากขึ้น โดยมีกลุ่มอำนาจต่างๆ พยายามทำโฆษณาชวนเชื่อด้วยเทคโนโลยี ที่มีความกระจัดกระจายมากยิ่งขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ใกล้เข้ามาทุกที

ตัวละครทางการเมืองที่นับว่าเป็น “ชนชั้นนำ” ก็เริ่มมีการแตกคอกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะว่านอกจากที่ตัวละครทางการเมืองเหล่านี้จะทำการโจมตีฝ่ายค้านแล้ว เขายังทำการโจมตีอดีตมิตรสหายของตัวเองอีกด้วย อย่างกรณีล่าสุดที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็โดนพาดพิงโจมตีว่าร้ายภายในเพจ “คนรักลงตู่” ที่แนวคิดสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ซึ่งกลยุทธ์ในลักษณะนี้ นักการเมืองต่างๆ อาจจะต้องมีการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร (Communication Experts) มากยิ่งขึ้น เพื่องัดกลเม็ดในการโจมตีเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือดเลยทีเดียว”

เหล่าโฆษณาชวนเชื่อหรือกลยุทธ์ทั้งหลายเหล่านี้เองก็ไม่ใช่ “ลูกไม้ใหม่” ที่พวกเราไม่เคยพบเจอมาก่อนในช่วงหาเสียงระหว่างเลือกตั้งแบบนี้ มันคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของสิ่งที่เราเรียกว่า “การเมือง” ที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของเทคโนโลยี ในยุคที่เทคโนโลยีล้ำหน้าขึ้นทุกวันเชื่อได้ว่า Computional Proproganda จะกลายเป็นข้อท้าทายใหม่ของการเมืองทั่วโลกอย่างแน่นอน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า