SHARE

คัดลอกแล้ว

อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังไปได้สวย โดยเฉพาะหมวดหมู่ภาพยนตร์ สังเกตได้จากมูลค่ารายได้ภาพยนตร์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ที่แตะหลักร้อยล้านไปมากกว่าหนึ่งเรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ตลาดภาพยนตร์ไทยยังเป็นตลาดระดับประเทศ​ และภูมิภาคบางส่วน ซึ่งเราต่างรับรู้กันดีว่าหลายชาติกำลังส่งออกภาพยนตร์ออกนอกแผ่นดินตัวเอง ที่ทำมานานแล้วก็เห็นได้จากฮอลลีวูด หรือ K-Drama เพราะการส่งออกภาพยนตร์สู่ตลาดนานาชาติก็เป็นทางหนึ่งในการขยายกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ตามมาด้วยมูลค่าภาพยนตร์ที่สูงตาม 

การสร้างหนังที่เดินทางได้จึงเป็นหนทางขยายกลุ่มผู้ชม และแนวคิดนี้เองได้กลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า” ภาพยนตร์รอม-คอม ผลงานแรกของ Benetone Films ภาพยนตร์สัญชาติไทยที่ฉายวัฒนธรรมอินเดียผ่านการแต่งงาน และกำลังตกอยู่ในความสนใจจากแฟนหนังนานาชาติอยู่ขณะนี้ 

TODAY พูดคุยกับกุลเทพ นฤหล้า ผู้บริหารบริษัท Benetone Films ผู้เป็นทั้งมันสมองและความสำเร็จในอุตสากรรมบันเทิงระดับโลกในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ถึงเส้นทางการเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ แนวคิดจากคนทำหนัง และความหวังที่ส่งไปพร้อมกับผลงาน 

ภาพยนตร์สัญชาติไทยที่ฉายวัฒนธรรมอินเดียผ่านการแต่งงานที่กำหนดสตรีมวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ทาง Prime Video

เล่าสักนิด Benetone Films คือใคร 

จริงๆ Benetone อยู่ในอุตสาหกรรมมา 20 ปีแล้ว เริ่มจากทำธุรกิจ Production Service คือการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย การถ่ายทำหนังต่างประเทศในประเทศไทยถ้าเราดูสถิติปีนี้มีมูลค่า 6 พันล้าน เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เงียบ คนไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2003 นับมาถึงปีนี้ 20 ปีพอดี 

ขาที่สองที่เราทำคือ Advertising Production House เราทำทั้ง 2 อย่างนี้ และทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ แต่ว่า Advertising ของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นโฆษณานอกที่มาถ่ายทำในประเทศไทย มันก็ค่อนข้างคลุกคลีกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์นอกหรือคอนเทนต์นอกที่มาถ่ายทำในประเทศไทยส่วนใหญ่ นั่นคือหลักๆ ที่เราทำมา 

คุณเคยเป็นคนกรุยทางให้กับหนังต่างประเทศมาหลายปี ทำไมวันนี้ถึงเลือกมาทำหนังของตัวเอง 

ไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วมาเป็นหรอก มันเป็นการเดินทางและยุทธศาสตร์ของเราอยู่แล้ว พูดกันตรงๆ เราไม่ได้มาจากสายภาพยนตร์เลย แต่เราเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้แล้วเราก็ทำมาเรื่อยๆ และมันก็ประสบความสำเร็จมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนึงเราก็คิดว่า ‘What’s next’ แล้วขั้นต่อไปของเรามันจะอยู่ตรงไหน 

ถ้ามองภาพสมัยก่อนคือเราเป็นคล้ายๆ OEM (Original Equipment Manufacturer) ผลิตให้กับคนอื่น แต่ว่าขบวนการผลิต กรรมาวิธีการผลิตมันก็เหมือนกัน และเราก็ทำมาหมดแล้วทั้งสเกลเล็กสเกลใหญ่ เป็นการเดินทางของเราที่เราทำมาถึงจุดที่เราจะต้องทำคอนเทนต์ของเราเอง เพราะอะไรนะเหรอ? เพราะถ้ามาในกลยุทธ์ของเรามันเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับบริษัท เพิ่มทรัพย์สินทางปัญญา มีคลังของเนื้อหาอะไรต่างๆ มันเป็นสิ่งที่เราต้องการจะอัปเลเวลขึ้นไป ทุกวันนี้ Production Service ยังคงเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ แต่นี่ก็เป็นธุรกิจใหม่ที่เราเพิ่มเติมเข้าไปในการทำเนื้อหาต้นฉบับ มองไปอีกระดับหนึ่งมันก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะมาทำหนัง เรามองเห็นกลยุทธ์เมื่อ 5-6 ปีก่อนว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด การเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคเนื้อหา เปลี่ยนแปลงด้านการกระจายของเนื้อหา และเราเห็นเทรนด์ของหนังไทยที่เราคิดว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เราก็เลยมองว่ามันเป็นจุดที่ดีที่เราจะเข้าไปในตลาดนี้ เพราะถ้ามองก่อนหน้านั้นประมาณ 10-15 ปีก่อน การกระจายตัวของคอนเทนต์ไทยมันค่อนข้างจำกับในตลาดภายในประเทศ หรือตลาดระดับภูมิภาคที่ยังมีอยู่บ้าง พอเอาไปขายในตลาดโลกคุณค่าก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่ ณ ตอนนี้มองว่าการที่จะไปเปิดคอนเทนต์ไทยในตลาดโลกมันค่อนข้างที่จะกว้างขวางขึ้น 

อีกทั้งรูปแบบของกลุ่มผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป อย่างสมัยก่อนคนอาจจะแค่ดูคอนเทนต์ของประเทศตัวเองหรือคอนเทนต์ของฮอลลีวูด เพราะฮอลลีวูดมันมาแรงอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นคนไม่ได้บริโภคคอนเทนต์ชาติอื่น แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าตอนนี้ผู้บริโภคเขาเริ่มหาอะไรใหม่ๆ กลุ่มคนที่มีเทสต์ในการเสพคอนเทนต์ เทสของฉันคือชอบดูหนังแบบนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าฉันต้องดูหนังจากประเทศนี้แต่ฉันชอบดูหนังประเภทนี้ มีคอนเทนต์อะไรอยู่ตรงนั้นแล้วฉันดูแล้วฉันชอบมันจะมาจากประเทศไหนก็ได้ ซึ่งผมมองว่าคอนเทนต์ไทยมันเดินทางได้ มันมีความเป็นสากลอยู่ในระดับนึงเราก็เลยมองเห็นโอกาส ในสเต็ปต่อไปเราจะขยายไปในระดับภูมิภาค ผลิตคอนเทนต์ร่วมกันกับอินเดียหรือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ เรามีการคุยกันอยู่ มันเป็นการขยายการตลาดโดยใช้ศาสตร์ของการเป็น OEM และ Production Service ที่เราเคยทำกับลูกค้าของเราทั่วโลกทั้งอินเดีย อเมริกา ยุโรป จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เที่ยวที่ผ่านมาผมทำ Production Service มาเกือบ 150 กว่าเรื่องทำโฆษณามาก็พันกว่าเรื่อง เราเอาตรงนั้นมาผนวกกับศาสตร์เอาเข้ามาอยู่ในคอนเทนต์ไทยให้มันสามารถเดินทางได้ มันก็เป็นกลยุทธ์ผสมกันทั้งหมด

 

นอกจากจะเป็นคนของสองวัฒนธรรมไทย-อินเดีย มีเหตุผลอื่นอีกไหมที่ต้องการทำหนังผสมรวมสองวัฒนธรรม

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้มาจากการที่เรามองว่าเราจะทำหนัง พอทำหนังเสร็จแล้วก็มีการคุยกันกับทีมครีเอทีฟเป็นขั้นตอนปกติ ตอนนั้นพูดว่าเราจะทำหนังอะไรกันดีเสนอมาเยอะนู้นนี่นั่น สุดท้ายก็มีไอเดียโรแมนติก-คอมเมดี้ขึ้นมาเป็นไอเดียของเรื่อง ‘แฟนเก่า’ ที่มันมีคอนเซปต์ของเรื่องคือการไม่มูฟออน มีอยู่ครั้งนึงที่ผมเคยพูดถึงเรื่องส่วนตัวที่มีคนมาถามผมบ่อยๆ ว่า “เห้ยพวกยูอะแต่งงานกัน 3 วัน 5 วัน ทำอะไรกันวะ” ก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าเราเอาคอนเซปต์(แฟนเก่า)ผนวกกับความเป็นอินเดียแล้วเอาฉากหลังเป็นสถานการณ์การแต่งงานแบบอินเดียมันน่าจะเป็นอะไรที่ใหม่ และยังไม่เห็นในวงการภาพยนตร์ไทย ก็เป็นจุดเริ่มที่เราคิดคอนเซปต์ตรงนี้ขึ้นมา 

การเอาคอนเซปต์อินเดียเข้ามาไม่ได้มีเจตนาที่จะดึงความเป็นวัฒนธรรมอินเดียเข้ามา แต่เรามองว่ามันเป็นธรรมชาติของวัฒนธรรมอินเดียให้มาอยู่ในเรื่องราวของเรา แต่สิ่งที่สำคัญคือทุกสิ่งที่เราเล่าในหนังเรื่องนี้มันต้องดูสมจริง ไม่ใช่เฟคอินเดียน หรือเฟคไทย วัตถุประสงค์มันชัดเจนว่านี่คือหนังไทยนะ แต่มีองค์ประกอบเป็นนานาชาติ และความนานาชาตินั้นก็คือสิ่งที่มีอยู่ในอินเดีย เราก็มองว่าในเมืองไทยมันจะมีใครอีกที่จะสามารถเล่าได้ดี อย่างสมมติการถ่ายทำฉากพิธีแต่งงานผมไปเอาพราหมอินเดียมาดูว่าเราทำทุกอย่างถูกต้อง ทั้งพิธีและขั้นตอนเอาที่ปรึกษาชาวอินเดียเข้ามาดูทุกอย่าง ทุกอย่างต้องเรียล ต้องถูกต้อง แล้วผสมผสานพวกนั้นเข้าไป วัฒนธรรมย่อยอินเดียเราก็ไปถ่ายในโลเคชั่นที่มีความอินเดียของกรุงเทพจับผสมมาในหนังให้ดูธรรมชาติเข้ากับเรื่องราว 

และแน่นอนเมื่อมีกลิ่นอายของความเป็นอินเดียแล้ว ในหนังของเราก็มี Song & Dance ด้วย อันนี้ต้องมี ไม่มีไม่ได้ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งไบรท์-เบลล่าเขาเต็มที่มาก ต้องรอดูเพราะสวยงามและอลังการจริงๆ ผมไปเอานักออกแบบท่าเต้นมาจากอินเดีย เพลงเราก็ไปทำที่อินเดียมา และเป็นเสียงออริจินัลจากอินเดียเลย 

ช่วงนี้เราพูดถึง Soft Power เยอะมากจริงๆ ในมุมมองของผู้มีประสบการณ์โดยเฉพาะในอินเดียที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่แยู่แล้ว มันมีพื้นที่มากแค่ไหนสำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะเข้าไปในประเทศ

คอนเทนต์อินเดียมีความแข็งแรงกับผู้บริโภคในประเทศมากอยู่แล้ว การบริโภคเนื้อหาในตลาดภาพยนตร์ของอินเดียก็มีฮอลลีวูดเข้าไปด้วย แล้วคนอินเดียที่ไม่ได้ดูแค่หนังอินเดียอย่างเดียวก็มี ไม่ได้แปลว่าตรงนี้สำคัญกว่าตรงนั้นไม่ใช่นะ หนังอินเดียมันเป็นวัฒนธรรมของเขาซึ่งเขาดูอยู่แล้ว คอนเทนต์อินเดียก็มีคอนเทนต์ดีๆ ไม่ใช่แค่หนัง แต่ยังมีซีรีส์ที่พัฒนาไปไกลมากทั้งคุณภาพดีและสตอรี่ ถ้ามีโอกาสได้ดู Prime Video ก็มีเยอะเลย เพราะ Prime Video เขาเป็นอันดับ 1 ในอินเดีย ณ วันนี้คอนเทนต์เกาหลีเขาไปในอินเดียแล้วนะ ก็เป็นตัวอย่างที่น่าจะจุดประกายให้ไทยคอนเทนต์ได้รับความสนใจในอินเดียด้วย 

ถ้าเรามองในตลาดไทยเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียค่อนข้างเยอะเป็นอันดับ 2 แต่เขาเคยดูคอนเทนต์ไทยไหม ไม่เคยดู เพราะมันไม่เคยมี หรือมันอาจจะไม่ได้รับความสนใจอะไรก็แล้วแต่ ปัจจัย หรือการจุดประกายมันไม่เหมือนกัน เราก็หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นฉนวนให้ได้รับความสนใจขึ้นมา แล้วเดินทางได้ 

ผมมองว่าซอฟต์พาวเวอร์มันไม่ได้มาจากการยัดเยียดอะไรให้เขา มันมาจากการที่เราเริ่มดูแล้วเราสนใจ แฟนคลับของไบรท์-เบลล่าเยอะมากในอินเดีย ผมยังแปลกใจเลย มีคอมเมนต์จากโซเชียลที่เราไปอ่านหลังจากปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์มันสร้างพลังบวกมาก เขากรี๊ดๆ กันทั้งนั้นเลย ไบรท์แต่งชุดอินเดียแล้วหล่อมีความเป็นธรรมชาติมาก สิ่งที่ผมภูมิใจคือคอมเมนต์ที่เขาเห็นชุดอินเดียในตัวอย่าง 30 วินาทีแล้วเขาบอกว่า ‘ใช่เลย’ มันเรียลมาก ไม่ได้ดูเฟคอินเดียน ในตัวอย่างมีกลิ่นของเพลงอินเดียนิดหน่อยด้วย เขาบอก “นี่ยูจะทำแบบออริจินัลซาวด์แทรกของอินเดียในหนังไทยเลยเหรอ 

ผมมองว่าการทำฉากหลังเป็นอินเดียมันยังใส่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ในมิติมันเป็นหนังของไทยแค่พื้นหลังเป็นอินเดีย ซอฟต์พาวเวอร์ก็คือหนังไทย คือนักแสดงไทยที่ได้เดินทางไปกับหนัง สุดท้ายมันก็จะเป็นการร่วมกัน ผมมองว่าวิวัฒนาการของซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่การเสพคอนเทนต์อย่างเดียว ในทางเทคนิคการจะมาร่วมกันทำหนังในอนาคต นักเขียนมาเขียนร่วมกัน นักดนตรีมาร่วมกัน มันขยายจักรวาลของมันอีกยาวไกล

เราจะขายความไทยให้อินเดียยังไงบ้าง เพราะจริงๆ ไทยก็เป็นจุดเช็คพอยท์การแต่งงานของชาวอินเดียอยู่แล้ว 

เราเอาความสนุก ความเฮฮาก่อน แต่เราขายการแต่งงานแน่นอน ที่อยากจะเน้นและหวังว่ามันจะเกิดขึ้นคือการทำให้เขาจดจำได้ว่าหนังไทยมีคุณภาพ เป็นหนังที่น่าดู น่าติดตาม น่าชม และไม่ได้จบแค่หนังเรื่องนี้ อยากให้เขาสำรวจหนังไทยมากขึ้นให้หนังไทยมันเข้าไปยังตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และมีผู้บริโภคสูงมากๆ ได้ นี่คือความคาดหวังของผม หนังมันไม่ได้ขายสถานที่ท่องเที่ยวหรืออะไรหรอก มันเป็นเรื่องราวที่น่ารัก เป็นสตอรี่ที่ดูเพลิน และน่าติดตาม ตรงนี้คือสิ่งที่เราอยากขาย ผมไม่ได้ทำหนังมาเพื่อจะขายบางอย่าง แต่ผมมองว่าทุกอย่างมันจะตามมาเมื่อคนดูแล้วมันสนุก ยกตัวอย่างสถานที่ถ่ายทำเราไปถ่ายที่หัวหิน คนดูก็อาจจะคิดว่าหัวหินมันมีแบบนี้ด้วยเหรอ โรงแรมที่เราไปถ่ายก็คงได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ การแต่งงานก็ได้รับความนิยมขึ้นมาอีก คนไทยก็อาจจะรู้อะไรมากขึ้นมันก็ดีต่ออุตสาหกรรม เป็นเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามา

เบลล่า-ไบรท์ ทำไมต้องเป็นนักแสดงสองคนนี้

เพราะเขียนบทมาแล้วใช่เลย คนแรกที่เราเข้าหาก็คือเบลล่า เราเคยร่วมงานกับเบลล่ามาก่อนแล้วในสายโฆษณา ดราฟต์แรกของบทที่เราเขียนมาเป็นของนักเขียนอินเดียที่อยู่อเมริกา เราให้เขาเขียนดราฟต์ขึ้นมาก่อน พอเราคิดคอนเซปต์กับไอเดียขึ้นมาแล้ว เรายังไม่มีนักเขียนไทย เราก็ให้นักเขียนอินเดียที่เขาอยู่อเมริกามา 20 กว่าปีที่เราไปดึงตัวเขาให้เขาเขียนดราฟต์แรก เขียนพล็อต เขียนสกรีนอะไรมา แล้วเอามาให้พี่ตุ๋ย (พฤกษ์ เอมะรุจิ) บอกว่า “พี่เรามีโปรเจคนี้”  พี่ตุ๋ยก็สนใจมาก เพราะว่ามันเป็นหนังไทยที่เอาความเป็นอินเดียเข้ามาในหนังเป็นอะไรที่สดใหม่มากๆ แกก็เลยเอามาอแดปต์เปลี่ยนให้มันเข้ากับความเป็นหนังไทย เราก็เก็บองค์ประกอบที่คิดว่ามันใช่ในโครงสร้างดราฟต์แรกเข้ามาอยู่ในดราฟต์ปัจจุบัน หลังจากที่เราเขียนเสร็จหน้าเบลล่าลอยมาเลย ก็เลยไปทาบทามมาโชคดีที่เขาชอบคอนเซปต์เลยตอบรับโปรเจค หลังจากนั้นเราก็ไปดึงตัวไบรท์ ไบรท์ตอนนั้นมาแรงแล้ว แต่ตอนนี้ยิ่งแรงสุดๆ เราก็อยากได้เขามาแสดงมากๆ เพราะคาแรคเตอร์มันเหมาะกับเขา ก็ไปคุยกับไบรท์เขาก็ชอบโปรเจคนี้ เลยเพอร์เฟคและแมทช์มากๆ เลย 

จากที่ฟังมาหนังต้องสนุกมาก แล้วในกองถ่ายบรรยากาศสนุกเหมือนในหนังไหม

บรรยากาศในกองถ่ายสนุกสนานมากๆ มันเป็นโปรเจคที่ผมมีความสุขมาก เราทำมาร้อยกว่าโปรเจค มีสนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง แต่ว่าโปรเจคนี้ผมออกกองไปนั่งอยู่กับผู้กำกับทุกวันเลย เพราะทุกคนมาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ทุกคนมาด้วยความสุข ตั้งแต่นักแสดง ทีมงาน ทุกคนในกองสนุกและมีความสนิทสนมกัน เหนื่อยก็ไม่เป็นอะไร ถ่ายทำกัน 2-3 ชั่วโมง อยู่กัน 2-3 วันก็กลับก็ไม่เป็นไร ทุกคนเหนื่อยแต่สนุก และมีความสุข แล้วเราทำงานกันแบบผู้เชี่ยวชาญ ทำงานเป๊ะ ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงก็คือจบ ระบบของเรามันเป็นแบบนานาชาติอยู่แล้ว เราก็เดินระบบไปตามนั้น โอเคมันอาจมีบางวันที่เรารู้ว่าจะใช้เวลาถ่ายทำเกินเวลา เราก็วางแผนไว้แล้วว่ามันจะต้องเกิน มีวันนึงโดนฝนไปอีกชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงอันนั้นเราทำอะไรไม่ได้ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วเวลาและทุกอย่างมันลงตัวมากๆ  

มันมีอะไรอีกที่น่าสนใจ

อีกเยอะเลยแหละ มันมีความแปลกใหม่ ความสดใหม่ ได้ดูวัฒนธรรมอินเดียที่เราอาจจะติดภาพบางอย่าง ลึกผมอยากเปลี่ยนภาพพจน์ของหลายคนที่มองหนังอินเดียว่ายังเต้นกันสามภูเขา ยังวิ่งเต้นกันอย่างนั้น มันไม่ใช่นะ คอนเทนต์ของอินเดียมันไปไกลแล้ว หรือวีถี พิธีกรรมของชาวอินเดียเป็นอย่างไร หนังเรื่องนี้เราไม่ได้มาเล่าทำนองนั้น แต่มันจะมีความเป็นธรรมชาติของมันออกมาว่า ธรรมชาติของเขามันเป็นยังไง ผมยังจะเปลี่ยนภาพพจน์นั้นแม้ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลัก มันเป็นผลพลอยได้ เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขณะเดียวเรามองว่าผู้ชมภาพยนตร์ชาวไทยจะได้อะไรจากตรงนั้น สำหรับผู้ชมอินเดียผมก็อยากได้วัตถุประสงค์ตรงจุดนี้เหมือนกัน ว่าภาพพจน์ของไทยในอินเดียจะเป็นยังไง มันเหมือนกับเราอยากให้อีกคนๆ นึงมองเรายังไง ผมเป็นคนไทย เกิดในเมืองไทย แต่สัญชาติอินเดีย ผมเคยเรียนอยู่อินเดียและเมืองไทย เพราะงั้นผมมองจะมองโลกออกเป็น 2 มุมมองตลอดเวลา เป็นมนุษย์ที่ชอบวัฒนธรรมอยู่แล้ว ถึงทำงานกับคนทั่วโลกได้เพราะเราปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของเขาได้ หลายครั้งมันจะมีการมองที่มันไม่ใช่ แต่ถ้าคุณได้มาสัมผัส ไ้ด้มาเห็นจริงๆ มุมมองคุณจะเปลี่ยนแปลงไป ลึกๆ ก็มีความคิดนั้นอยู่ในหนังเรื่องนี้ 

สปอยหน่อยได้ไหม อนาคต Benetone จะมีโปรเจคอะไร

ยังสปอยไม่ได้ แต่ว่ามีแน่นอน หนึ่งในดีเอ็นเอของเราคืออยากทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ที่มันสามารถเดินทางได้ เป็นคอนเทนต์ที่เราอยากจะใช้ ‘Know how’ ร่วมกับประสบการณ์ที่เราได้ทำงานกับสายผลิตระดับนานาชาติ เราอยากจะให้งานของเราสามารถร่วมกันกับความสามารถระดับนานาชาติ คงไม่ได้หมายถึงนักแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ร่วมมือในหลากหลายมิติได้ อาจจะร่วมมือด้านการทำเพลง ร่วมมือหลังการผลิต ตากล้อง การเขียนสคริปต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ มายเซ็ตของเราค่อนข้างเป็นโกลบอลมายเซ็ต เพราะงั้นเราเลยอยากแปลมันออกมาในรูปแบบของคอนเทนต์ต่างๆ เป็นอะไรที่ค่อนข้างตื่นเต้น และแตกต่างซึ่งเราก็กำลังปั้นกันอยู่ หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากผู้ชม และเราก็จะสามารถนำพาให้คอนเทนต์อื่นๆ สามารถเดินทางไปในทิศทางนี้ต่อไปได้ 

 “Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า” ภาพยนตร์โรแมนติก-คอมเมดี้ ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอินเดีย-ไทย ตัวภาพยนตร์บอกเล่าถึงความอลเวงในงานแต่งของชาวอินเดียเมื่อแฟนเก่าของออแกไนซ์ผู้รังสรรค์งานแต่งต้องมาเจอ ร่วมทับนักแสดงไทย-บอลลีวูดมากฝีมือทั้ง เบลล่า–ราณี และ ไบร์ท–วชิรวิชญ์ ใบเฟิร์น–พัสกร, ปิงปอง– ธงชัย มาแฮร์ แพนดิ และ แอนนาฮีตา บูชาญ รับชมพร้อมกัน 16 พฤศจิกายนนี้ที่ Prime Video 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า