SHARE

คัดลอกแล้ว

ตอนนี้สัญญาณปี่กลองการเมืองชัดแล้วว่า “การเลือกตั้งท้องถิ่น” จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป เริ่มต้นที่สนามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. 76 แห่ง) แต่ระดับอื่น ๆจะเลือกตั้งเมื่อไหร่นั้น…ไม่กี่วันข้างหน้านี้คงจะทราบตารางแน่ชัด

ทุกพรรค, ทุกกลุ่มการเมืองและผู้สมัครอิสระต้องวางแผนหาเสียง หากหวังจะไปทำหน้าที่จากการลงคะแนนของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

แน่นอนว่า การหาแต้มให้ชนะต้องมาจากนโยบายที่จะดูแลท้องถิ่น นโยบายนั้นต้องใช้งบประมาณ

งบประมาณนั้นมาจากภาษี ที่ให้ได้ทั้งคุณและโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้อง หากงบประมาณที่ใช้ถูกต้อง โปร่งใส ทุกอย่างจะสงบ แต่หากงบประมาณที่ใช้นั้น “ผิด” ทุกอย่างจะมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าวันวาน

อย่าลืมว่าวันนี้คดีการทุจริตนั้น กฎหมายไทยเขียนไว้ชัดว่า “ไม่มีการขาดอายุความ” แม้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่วันนี้เป็นกัปตันเรือเหล็กจะกำชับหลายครั้งแล้วก็ตาม

ดังนั้น…ช่วงจากนี้ไปคนการเมืองที่สนใจสนามท้องถิ่นหลังเว้นว่างมาหลายปีน่าจะกำลังเตรียมตัวหาแต้มโดยใช้นโยบายที่ต้องพันผูกกับงบประมาณเช่นนี้ แน่นอนว่า บางคนเกรงกฎหมาย และบางคนอาจมี “อาการหมูไม่กลัวน้ำร้อน”

อาการหมูไม่กลัวน้ำร้อน ที่เห็นชัดและกำลังรับผลกรรมนั้น ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ คือ การเช็กบิล นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก รวม 18 คน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวันหรือแคร์เซตในราคาที่สูง

ตรงนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ หรืออีกตัวอย่างเมื่อวันวานซึ่งบางโครงการถึงขั้นเป็น “คดีทุจริตข้ามประเทศ” โดยมีคนการเมืองและบริษัทห้างร้านของไทยที่ชนะประมูลเกี่ยวข้อง อธิบายให้เห็นภาพ คือ คดีทุจริตข้ามประเทศเมื่อหลายปีก่อนนั้น “บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” กำลังหยิบขึ้นมาเคลียร์บัญชี ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “มีการวิ่งเต้นจากใครบางคนเพื่อล้มโต๊ะคดีนี้ให้ได้” แม้หนึ่งในตัวละครหลักของคดีนี้อำลาโลกไปแล้ว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโกงและฮั้วคราวนี้นั้น หลายคนยังอยู่และยังทำธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ประมูลงานจากภาครัฐหลายโครงการ

ดังนั้นหากคดีนี้ยังคาอยู่ น่าจะส่อแววยุ่งไปอีกหลายโครงการ เพราะห้าเสือก่อสร้างของไทยนั้น เสือบางรายมีเอี่ยวกับเรื่องราวสีเทา ๆ

สิ่งที่จะขยายความในข้างต้นนั้นคือ “โครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว” เกิดในช่วง สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีผู้วายชนม์ สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(พ.ศ.2543-2547 )และบางส่วนของทีมงานแก๊งออฟโฟร์อันโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ร่วมขบวนเมื่อครั้นเคยทำงานย่านเสาชิงช้า

โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตห้วยขวาง ,บางกะปิ, บึงกุ่ม, ลาดพร้าว ,สวนหลวง และสะพานสูง ครอบคลุมพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง โครงการ 1,440 วัน ใช้งบประมาณ กทม.ปี 2544 – 2549

โดย วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 มีการประกาศผลการประกวดราคาโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว โดยสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีการยื่นซองการประกวดราคาจากบริษัทที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค 3 บริษัท โดย “กิจการร่วมค้าไอเอ็น” หรือ “บริษัทมหาชนจำกัด อิตาเลียนไทย และนิชิมัตซึ คอนสตัคชั่น” เป็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดโดยเสนอที่ราคา 2,115,134,912 บาท และ กทม.ต่อรองปรับลดราคาลง 20 ล้านบาท เหลือที่ ราคา 2,094,995,500 บาท ขณะที่ บริษัท ช.การช่าง จำกัดเสนอราคา 2,150,868,846 บาท และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด เสนอราคา 2,238,994,474 บาท

ก่อนที่จะมีการประกาศผลการประกวดราคานั้น บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเข้าประกวดราคาโครงการนี้แต่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ร้องเรียนว่าการประกวดราคาครั้งนี้ไม่โปร่งใส

ข้อมูลที่สื่อไทยนำมาขยายผลจากสื่อญี่ปุ่นในเรื่องนี้คือ เมื่อ วันที่ 5 ก.ค. 2551 สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ ได้เผยแพร่ข่าวว่า อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้าง นิชิมัตซึ คอนสตรัคชัน (Nishimatsu Construction) ได้เปิดเผยกับอัยการว่า ในปี 2546 บริษัทเคยให้เงินสินบนแก่ “เจ้าหน้าที่ชาวไทย” จำนวนมากกว่า 400 ล้านเยน หรือราว 125 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้งานในโครงการอุโมงค์ระบายน้ำท่วม แสนแสบ-ลาดพร้าว กทม.หลังพบว่านำเงินเข้าประเทศ 100 ล้านเยน โดยไม่สำแดงที่มา

ห้วงเวลานั้น สื่อแดนอาทิตย์อุทัยรายงานว่า อัยการญี่ปุ่นได้ทำการตรวจสอบสำนักงานใหญ่ของนิชิมัตซึ ที่มีความเกี่ยวพันกับอดีตผู้บริหารของบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยมีข้อสงสัยว่าเงิน 100 ล้านเยนที่นำเข้ามาในญี่ปุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ความสัมพันธ์ของนิชิมัตซึ กับ บริษัทผู้รับเหมาท้องถิ่น(ไทย) ยังทำให้ในเดือนกันยายน 2546 บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำของกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าราว 6,000 ล้านเยน และต้องจ่ายสินบนทั้งก่อนและหลังการประมูลรวมสี่ร้อยล้านเยน

ดังนั้น การประมูลเมื่อวันวาน “ใครได้เงิน ใครได้หน้า ใครได้งาน ใครฮั้วใคร ใครผิด ใครถูก” ลองไล่เรียงและพินิจเอา

ณ วันนี้ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลเรือเหล็กอีกหลายโครงการ ที่กำลังดำเนินการไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าหลายสี,โครงการประมูลบริหารท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ฯลฯ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเป็นอุทาหรณ์ ว่า คดีทุจริต ไม่มีอายุความ และความผิดเกิดทั้งผู้ให้และผู้รับ

แปลว่า ทั้งคนการเมืองและภาคเอกชนหากร่วมกันกระทำความผิด ย่อมมิอาจหนีผลกรรมไปได้ แม้บางคนอาจลาโลกไปแล้วก็ตาม แต่ผลกรรมยังคงอยู่และบันทึกกรรมไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

และน่าจะเป็นบทเรียนให้คนการเมืองที่หวังจะคว้าชัยในสนามท้องถิ่นในวันข้างหน้าได้จดจำว่าควรเลียนแบบหรือไม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า