Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2 – 4 ก.พ. 2565 เกิดปรากฏการณ์ “สภาล่ม” องค์ประชุมไม่ครบถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งหลังจบการประชุมในวันที่ 4 ก.พ. 2565  “คน” ของทางพรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านทั้งคู่ ได้ออกให้ข้อมูลต่อสาธารณชน ที่ทำให้มองเห็นความแตกต่างกัน ใน “มติพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่แสดงตน”

โดยสรุป พรรคเพื่อไทย นั้น งัดเครื่องมือทางการเมือง “ไม่แสดงตน” ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า สภาล่ม เป็นสัญญานที่ชี้ว่า รัฐบาลไม่อาจคุมเสียงข้างมากในสภาได้ จะเป็นตัวเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภาเร็วขึ้น

แต่ทาง พรรคก้าวไกล เมื่อเห็นว่า ในการประชุมวันที่ 4 ก.พ. 2565 ญัตติเรื่องคลองไทย พรรคเพื่อไทยอยู่แสดงตน และทำให้สภาดำเนินการต่อมาได้ พอใกล้จะถึง ญัตติรายงานบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท ซึ่งเป็นรายงานที่ใช้เวลาศึกษามาเป็นเวลานานหลายปี และเป็นเรื่องที่พรรคเคยหาเสียงไว้กับประชาชน ทางพรรคก้าวไกลจึงอยู่แสดงตน เพื่อให้ญัตติบำนาญฯ ได้เข้าสู่วาระ

ตัวอย่าง ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองพรรคฝ่ายค้านนี้ 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 พรรคเพื่อไทย ระบุตอนหนึ่งว่า “เรื่อง พ.ร.บ.สุรา จริงๆ คือ พ.ร.บ.สรรพสามิต เสนอโดย ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร มติพรรคเพื่อไทย คือแสดงตนและเห็นชอบกับ พ.ร.บ. แต่มติที่ไม่ร่วมแสดงตน คือญัตติของรัฐบาลที่ว่าจะขอส่ง พ.ร.บ. ให้รัฐบาลไปพิจารณาสองเดือน เพราะเป็นแค่เกมส์เตะถ่วงของรัฐบาลเท่านั้น และจะเสียเวลาประมาณ 4 เดือนเป็นอย่างต่ำ (2 เดือนครม. อีก 1 เดือนปิดสมัยประชุม อีก 1 เดือนกลับมารอคิวตามวาระสภา) และเมื่อกลับมายังสภา ทุกฝ่ายก็ทราบอยู่แล้วว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางผ่าน กม.จาก ส.ส.ฝ่ายค้านเด็ดขาด สุดท้ายก็ตก แต่เข้าใจทุกฝ่ายว่า ทางผู้เสนอย่อมประสงค์จำนำเสนอและฝากความคิดไว้ในสังคม แต่เมื่อไม่อาจเล็งผลเลิศ เพื่อไทยเลือกให้สภาล่ม เอาพล.อ.ประยุทธ์ไปไวๆ ดีกว่า”

ส่วน สภาล่มก่อนรายงานบำนาญฯ จุลพันธ์ ชี้แจงว่า “…สภาล่ม ก่อนรายงานเรื่องบำนาญ ข้อเท็จจริงคือมีอีกหนึ่งรายงานก่อนจะถึงบำนาญ และรายงานเหล่านี้เป็นรายงานจาก กมธ.ศึกษามาเสนอสภา พรรคเพื่อไทยมีมติรับรายงานเรื่องบำนาญถ้วนหน้านี้ครับ แต่รายงานนี้ไม่ใช่การแก้ กม. ไม่มีผลบังคับใช้ การไปบิดเบือนว่ารายงานนี้จะทำให้เกิดระบบบำนาญจริงเป็นเรื่องเท็จ เมื่อสภามีมติรับรายงาน จะต้องลงมติต่อว่าจะให้ส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลหรือไม่ แต่การส่งข้อสังเกตไม่มีผลทางบังคับต่อรัฐบาล จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ดีไม่ดีไม่ได้อ่าน สภาส่งเรื่องแบบนี้ไปรัฐบาลหลายครั้ง ไม่เห็นพล.อ.ประยุทธ์เอาไปทำซักเรื่อง”

ฟาก รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่า “ผมยืนยันว่า การแสดงตนของพรรคก้าวไกลในวันพุธที่มีร่างธรรมนูญศาลทหารและ พ.ร.บ สุรา ของก้าวไกลเข้าสภา เราได้มีการแจ้งให้พรรคร่วมทราบล่วงหน้าตั้งแต่ประชุมแล้ว วันนี้ที่มีรายงานคลองไทยเข้า มติพรรคร่วมกำหนดว่า ห้ามแสดงตน เพื่อทดสอบองค์ประชุมของรัฐบาล ส.ส. ก้าวไกลส่วนใหญ่ยึดตามนั้น แต่ปรากฎว่าเป็นเพื่อไทยไม่ปฏิบัติตามมติ ก้าวไกลจึงตัดสินใจว่า เราจะยืนยันจุดยืนของเรา คือ การแสดงตน ในวาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”

“หากอยากใช้โอกาสนี้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านควรเข้าสภาให้ครบ และโหวตลงมติผ่านร่างกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอ และคว่ำร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีโอกาสชนะ เพราะฝ่ายค้านมีโอกาสมีเสียงมากกว่าฝ่ายรัฐบาลที่มักจะมาไม่ครบ หรือเสียงแตกเพราะไม่สามารถตกลงผลประโยชน์กันได้ หากใช้วิธีนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด และจะสามารถกดดันให้รัฐบาลยุบสภาได้อย่างแน่นอน”

สำหรับ “สภาล่ม” คือเหตุการณ์ที่องค์ประชุมสภาไม่ครบกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งใน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 และ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ข้อ 25 ระบุว่า ให้ที่ประชุมต้องมี ส.ส. แสดงตนอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง โดยหากไม่ครบไม่สามารถประชุมต่อไป และประธานสภาจะสั่งปิดประชุม

ย้อนไปเมื่อวันอังคารที่ 2 ก.พ. 2565 ที่เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ครั้งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ความจริงในวันนั้นตาม วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  มีเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่ถึง 35 เรื่อง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ก็ทำให้กฎหมายสำคัญหลายฉบับยังไม่ได้ไปต่อ เช่น

– ร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (ที่เสนอโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ )

– ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคก้าวไกล )

– ร่าง พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. … (ที่เสนอโดย รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล )

อย่างไรก็ตาม กระแสในสังคม โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย พากันอื้ออึงและส่วนมากซัดกลับมาในทำนองว่า “ฝ่ายค้านกำลังเดินเกมผิดหรือไม่ที่ตั้งใจทำให้สภาล่ม” เพื่อจะบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา เพราะที่ผ่านมาๆ สภาล่มหลายครั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว เพราะเรื่องนี้เลย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ น่าจะเป็นประชาชนมากกว่าหรือไม่

ล่าสุด วันที่ 7 ก.พ. 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุมตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ เข้าร่วมด้วย และได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกันว่า

“ฝ่ายค้านจะยังคงทำงานร่วมกัน และมีความเข้าใจร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม พร้อมย้ำว่า จะมีการตรวจสอบองค์ประชุมอย่างเข้มข้นทุกสัปดาห์ ซึ่งจะเป็นวันไหน เมื่อใด อย่างไรนั้น ฝ่ายค้านจะหารือกันเป็นการภายในก่อน

และจะเสนอเป็นญัตติขอตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการเสียบบัตรก่อนการทำหน้าที่ในโอกาสต่างๆ แทนการแสดงตนก่อนที่จะมีการลงมติตามที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพราะเกิดปัญหาความสับสนในขั้นตอนปฏิบัติจากหลักการสำคัญ

ที่ฝ่ายค้านต้องการตรวจสอบองค์ประชุมของรัฐบาล และจะติดตามด้วยว่า จะมีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่”

แปลเป็นความเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เพื่อไทย กับ ก้าวไกล จบดราม่า จับมือกันเตรียมอภิปราย รัฐบาล 17-18 ก.พ. นี้ต่อแล้ว ท่ามกลางเสียงจากคอการเมืองบางส่วน ที่ไม่อยากเห็นฝ่ายค้านใช้วิธีตั้งใจทำ “สภาล่ม” โดยเฉพาะกับกฎหมายและเรื่องที่สำคัญๆ ของประชาชนอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไทย-ก้าวไกล ความเห็นไม่ตรงกัน กรณี “สภาล่ม”

ผลการนับองค์ประชุม รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องผลกระทบและแนวทาง แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า