โฆษกศาลยุติธรรม ชี้เรื่องการถอนหมายจับ ‘สว.คนดัง’ อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการสดับตรับฟังรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอ ประธานศาลฎีกา
นายสรวิศ ลิมปรังสี โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีประเด็นการร้องขอออกหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ตอนนี้อยู่ระหว่าง คณะกรรมการสดับตรับฟัง ที่เป็นผู้พิพากษาระดับอาวุโส ได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อมาดูว่า ที่จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ นำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปและทำความเห็นเสนอนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา ถ้าเห็นแล้วว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎระเบียบและกฎหมาย ก็จะยุติเรื่องไปหรือว่าจบเรื่องนั้น แต่ถ้าข้อเท็จจริงที่สรุปมาอาจมีโอกาสเกี่ยวข้องกับเรื่องทางวินัย ก็จะมีการเสนอความเห็นเพื่อเร่งสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่ตอนนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงทุกด้าน ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นทางการ โดยมีระยะเวลากำหนดไว้ 30 วัน ซึ่งยังสามารถขยายได้อีกหากมีความจำเป็น ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการเป็นการลับ ตนไม่ได้เข้าร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกหมายจับของ ส.ส. และ ส.ว. ต่างจากการออกหมายจับบุคคลธรรมดาอย่างไร นายสรวิศ กล่าวว่า เกณฑ์เบื้องต้นไม่ต่างกัน ศาลจะพิจารณาข้อหาที่ออกหมายจับ เช่น มีโทษจำคุกเกิน 3 ปีหรือไม่ หากโทษไม่เกิน 3 ปีก็จะดูพฤติการณ์ประกอบว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หรือจะยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรืออาจจะไปทำอันตรายประการอื่น และดูปัจจัยแม้ว่าโทษจะสูงแต่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็อาจจะไม่ได้ออกหมายจับ
ยกตัวอย่างปีที่แล้วก็มีการออกหมายจับ ส.ส. โดยศาลได้มีการออกหมายเรียก ก่อน 2 ครั้ง ซึ่งที่จริงแล้วก็คือแนวปฏิบัติเดียวกัน คือการเป็นบุคคลสำคัญไม่ได้เป็น ประเด็นสำคัญในพิจารณาคดี การที่มีอาชีพการงาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโอกาสจะหนีก็ไม่สูง การออกหมายเรียกก็เป็นขั้นตอนปกติอยู่แล้วไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นบุคคลสำคัญหรือไม่
เมื่อถามว่า การออกหมายจับแล้วผู้พิพากษาจะต้องมีการหารือกับผู้บริหารของศาลนั้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ถ้าดูจากกฎหมาย อย่างธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อำนาจของอธิบดีไม่ว่าจะเป็นอธิบดีศาลชั้นต้น อธิบดีภาค มีหน้าที่ประการหนึ่ง คือการให้คำแนะนำคำปรึกษาเพื่อระมัดระวังให้เป็นไปตามระเบียบ ราชการ ดังนั้นการปรึกษากันจึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ส่วนการออกหมายจับและการเพิกถอนหมายจับภายในวันเดียวนั้น นายสรวิศ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว ต้องขอให้รอทางคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นสรุปข้อมูลดีกว่า เพราะบางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เป็นประเด็นที่ยังต้องรอทางคณะกรรมการและประธานศาลฎีกา ส่วนที่ฝ่ายสืบสวนของตำรวจสามารถขอออกหมายจับกับทางศาลนั้น การที่เป็นตำรวจโดยหลักก็มีอำนาจ แต่จะมีอำนาจถึงขั้นใดต้องขึ้นอยู่กับระเบียบของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย