วันที่ 3 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง ข้อปฏิบัติการเดินทางข้ามจังหวัดว่า ยังคงข้อกำหนดให้งดหรือชะลอการเดินทาง เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งต้องมีหลักฐานแสดงเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีการควบคุมและคัดกรองให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค
.
ส่วนข้อสงสัยว่าเมื่อไปถึงปลายทางจะต้องกักกันโรค 14 วันหรือไม่ และหากมีธุระต้องทำเพียง 2-3 วันจะทำอย่างไร นายฉัตรชัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เข้าใจถึงชีวิตจริง หากมีความจำเป็นมีหลักฐานอธิบายได้ กรณีที่ต้องถูกกัก 14 วัน ทั้งหมดไม่เป็นความจริง
.
เมื่อต้นทางมีการคัดกรองโรคก่อนออกจากพื้นที่แล้ว ไปถึงภูมิลำเนาเป้าหมายจะมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีการคัดกรองระหว่างทางยกเว้นกรณีด่านตรวจ โดยความเข้มงวดของการคัดกรองนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่
.
เมื่อไปถึงภูมิลำเนาแล้วหากอยู่ในพื้นที่ไม่ถึง 14 วัน ก็จะมีการดำเนินการเฝ้าระวังตามระยะเวลาที่อยู่จริง โดยจะมีการลงทะเบียนบันทึกข้อมูลไว้ เพื่อใช้ติดตามหากเกิดเหตุจำเป็นในกรณี่พบการระบาด
สำหรับกรณี จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ระบาดสูง แต่ยังเปิดให้มีการเดินทางออกจากจังหวัด นายฉัตรชัย ชี้แจงว่า มีผู้ไม่มีภูมิลำเนาใน จ.ภูเก็ต กว่า 1 แสนคน เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด และมีการปิดพื้นที่ห้ามเข้าออก ตั้งแต่ 30 มี.ค. มีผู้แจ้งความประสงค์ขอกลับภูมิลำเนากว่า 5 หมื่นคน เพราะไม่มีงานทำ มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แต่จังหวัดยังไม่เปิดให้ออกจนเมื่อวันที่ 30 เม.ย. โดยได้ให้จัดทำทะเบียน และมีการออกหนังสือรับรองว่าผ่านกระบวนการคัดกรองเกินกว่า 14 วันตามมาตรฐาน และแจ้งชื่อไปยังจังหวัดปลายทาง
.
ขณะนี้มีผู้เดินทางออกไปแล้ว 3,600 คน จำนวนนี้กว่า 2,500 คน หรือ 70% ไปยัง 11 จังหวัดภาคใต้ ส่วนที่เหลือไปยังจังหวัดอื่นๆ รวม 56 จังหวัด ทุกคนผ่านกระบวนการคัดกรอง จะมีการแจ้งชื่อไปยังด่านระหว่างทางและปลายทางจะทราบข้อมูลทั้งหมด
.
ทั้งนี้ จาก 14 ตำบลของ จ.ภูเก็ต เปิดให้เดินทางได้เฉพาะคนที่อยู่ใน 11 ตำบล ส่วนอีก 3 ตำบลที่เป็นพื้นที่เสี่ยงยังไม่อนุญาต