SHARE

คัดลอกแล้ว

ข่าวดีรับการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 1 ราย ยังเหลือรักษาในโรงพยาบาล 114 ราย

วันที่ 16 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม หรือยอดเป็น 0 ส่วนรักษาหายเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมกลับบ้านแล้ว 2,855 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 114 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยอดผู้เสียชีวิตยังคงที่ 56 ศพ ขณะที่ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,025 ราย

ยอดตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่สูงถึง 188 รายจากการรายงานในวันเดียวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 63  ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยใหม่ได้ต่ำลงมาแตะที่ 0 รายแล้ว 2 วัน ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนที่ได้ร่วมมือกัน นี่คือพลังของชัยชนะของคนไทยต่อโรคร้ายที่กำลังระบาดไปทั่วโลก และยังต้องทำต่อ

ด้านการกระจายของผู้ป่วยทั่วประเทศ จังหวัดที่มีการรายงานรักษาผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา เหลืออยู่ 18 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีการรายงานรักษาผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา 50 จังหวัด และ 9 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานรักษาผู้ป่วยยังคงเดิมอย่างเหนียวแน่น จังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดยังเป็นกรุงเทพฯ และอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุดยังเป็นจังหวัดภูเก็ต

โฆษก ศบค. กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยยืนยันตามปัจจัยเสี่ยง อันดับ 1. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้า 229 ราย อันดับ 2. ศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก 65 ราย อันดับ 3. การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก/ผู้ติดเชื้อในชุมชน 48 ราย ขณะนี้ยังทำการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอยู่อย่างต่อเนื่องเพราะร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงานและไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ฉะนั้นต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก 4. ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้า State Quarantine 40 ราย 5. ไปในสถานที่ชุมชน ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 29 ราย 6. อาชีพเสี่ยงที่ทำงานในสถานที่แออัด 28 ราย กระทรวงสาธารณสุขมีกระบวนการเชิงรุกไปหาผู้ป่วย ฉะนั้นถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้เข้ามาตรวจ เพื่อจะได้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

รายงานสถานการณ์การนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศไทย ดังนี้ วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 กลับมา 2 เที่ยวบิน คือ จากสหรัฐอเมริกาผ่านมาทางเกาหลีใต้ 204 คน และอีกเที่ยวบินหนึ่ง 187 คน จากสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 มีเที่ยวบินจากมัลดีฟส์ (มาเล) 150 คน แคนาดาผ่านญี่ปุ่น 80 คน และอินเดีย (มุมไบ) 80 คน นอกจากนี้ยังจะมีเที่ยวบินอื่น ๆ ดังนี้ วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มี 2 เที่ยวบิน จากสหราชอาณาจักร (ลอนดอน) และสิงคโปร์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 5 เที่ยวบิน จากสหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) จีน (เซี่ยงไฮ้) ญี่ปุ่น (โตเกียว) ฝรั่งเศส (ปารีส) และเนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 มี 3 เที่ยวบิน จากรัสเซีย (มอสโก) อาร์เจนตินา (ผ่านบราซิลและเนเธอร์แลนด์) และอินเดีย (กัลกัตตา) วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มี 3 เที่ยวบิน จากจีน (กว่างโจว) ออสเตรเลีย (ซิดนีย์) และเวียดนาม (ฮานอย) วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มี 3 เที่ยวบิน จากสหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) เกาหลีใต้ (โซล) และกาตาร์ (โดฮา) และวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 มี 3 เที่ยวบิน จากเยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) อินโดนีเซีย (จาการ์ตา) และบังกลาเทศ เป็นต้น

สถิติคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก ดังนี้ เมียนมา 14 คน มาเลเซีย 273 คน สปป.ลาว 15 คน และกัมพูชา 6 คน ซึ่งยอดผู้เดินทางเข้าประเทศจากมาเลเซียมีตัวเลขลดลงต่อเนื่อง จาก 400 คน เป็น 300 คน และ 200 คน

รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) เป็นยอดสะสมรวม 19,428 คน ผู้เข้ากักกันในปัจจุบัน 9,527 คน กลับบ้านไปแล้ว 9,901 คน และติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล 97 คน

สำหรับ มาตรการเคอร์ฟิว รายงานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ซึ่งออกไปตรวจในช่วงเคอร์ฟิว สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงาน พบว่า มี 40 คน ที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่กระทำผิดด้านการมั่วสุมชุมนุม โดยยาเสพติดเป็นอันดับที่ 1 (คิดเป็นร้อยละ 58) ดื่มสุราอันดับที่ 2 (คิดเป็นร้อยละ 27) และอื่น ๆ (คิดเป็นร้อยละ 9) ตามลำดับ ส่วนการตรวจร้านค้า และกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อวานนี้ตรวจเพิ่มไปอีก 23,000 กว่าแห่ง พบว่าส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการได้ดี มีปฏิบัติไม่ครบอยู่ 162 แห่ง หรือร้อยละ 0.7 เท่านั้น และไม่ปฏิบัติตามแค่ 1 แห่ง ทั้งนี้ต้องขอบคุณทุกคนที่ปฏิบัติตามมาตรการเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่ปฏิบัติตามซึ่งก็ลดน้อยลงตามลำดับ

ศบค. เปิดตัวแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” สนับสนุนมาตรการผ่อนปรนระยะ 2

ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า คณะทำงานบูรณาการชุดข้อมูลการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศบค. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ชื่อว่า “ไทยชนะ” เพื่อเป็นผู้ช่วยดิจิทัลในการทำงานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ได้ง่ายขึ้นเมื่อมีการประกาศมาตรการผ่อนปรน ระยะ 2

จุดเด่นของแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคทำได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ขณะที่ ประชาชนและสถานประกอบการต่าง ก็สามารถปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การใช้งาน “ไทยชนะ” จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ให้ได้รับการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในการติดเชื้อ และสามารถนำข้อมูลไปเป็นหลักฐาน เพื่อประกอบการรับการตรวจคัดกรองทาง ห้องปฏิบัติการฟรี อีกทั้งสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของสถานที่ให้บริการ ขณะที่ ทางฝั่งผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการ ก็จะได้รับการรับรอง อีกทั้งสามารถนำผลการประเมินมาปรับปรุงการบริการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด” นพ.พลวรรธน์กล่าว

สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.กิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรน ตามมาตรการควบคุมโรค 5 ข้อ เพื่อรับ QR Code และพิมพ์ QR แปะไว้หน้าร้านค้า 2.ประชาชน เมื่อจะเข้าไปใช้บริการในร้านค้า/สถานประกอบการ check-in โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดหน้าร้าน เมื่อใช้เสร็จก็ check-out ผ่านการสแกน QR อีกทั้งสามารถทำแบบประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการร้านค้านั้นๆ ซึ่งคะแนน (เรตติ้ง) จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้า/สถานประกอบการแข่งขันให้บริการที่ดี และ 3. เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนฯ ของ ศบค. ในการเข้าปฏิบัติการทุกครั้ง จะต้องมีการแสดงตัวตนผู้พิทักษ์ ก่อนเข้าตรวจสอบร้านค้า ซึ่งข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กับ “ไทยชนะ” จะแสดงข้อมูลชื่อ รูปติดบัตร และข้อมูลเจ้าหน้าที่รายนั้นๆ โดยร้านค้าสามารถสแกน QR ผ่านมือถือเพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้พิทักษ์จริง

“ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในการเข้าลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจาก ศบค. พิจารณามอบหมายให้ กรมควบคุมโรคเป็น ผู้ควบคุมข้อมูล และให้กระทรวงการคลัง(ธนาคารกรุงไทย) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูล เป็นการร่วมกันทำงานด้านระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อบริหารสถานการณ์โควิด-19” นพ. พลวรรธน์กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า