“ผมรู้สึกหดหู่…ผมคิดว่า ถ้าทุกคนที่มี ก็เดือดร้อนทุกคนแหละ แต่ถ้าคุณเดือดร้อนน้อยกว่าคนอื่นและถ้าคุณมีทรัพย์สิน มีเงินทอง หรือว่ามีอะไรที่สามารถช่วยคนอื่นได้โดยตัวเองไม่เดือดร้อน ถ้าคุณไม่ทำ นี่คือเป็นโอกาสที่เรียกได้ว่าชีวิตนี้อาจจะครั้งเดียว…อย่าไปคิดมาก ทำแล้วดีไหม คุ้มไหม อย่าไปคิดครับ นาทีนี้ไม่ต้องคิดอะไร ทำได้ก็ทำ แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็อย่าสร้างปัญหาให้กับคนอื่นด้วย”
วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ workpointTODAY ถึงแนวคิดเบื้องหลังการจุดประกายความคิด “ศูนย์พักคอยตันปัน”
นายตัน กล่าวว่า หากเป็นคนอื่นก็คงทำแบบตน บังเอิญว่าตนมีตึก 6 ชั้นดังกล่าวที่ ทางเข้า RCA ถนนเพชรบุรีตัดใหม่อยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยปล่อยเช่าทำคลินิก ทำให้มีห้องอยู่ค่อนข้างพอสมควร
“หมอคืนมาเมื่อตอนโควิด ผมก็ปิดทิ้ง จนวันนึงผมรู้สึก มันไม่ไหวแล้ว เราเห็นคนที่นั่งรอตรวจหรือตรวจแล้วเจอก็หนักกว่าเดิมอีก เจอปั๊บก็รอเตียง มันหาเตียงไม่ได้…ผมก็รู้สึก เอ๊ะ ผมมีตึกนึงหนิ มันก็เคยเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มันใช้ได้นะ”
นายตันกล่าวอีกว่า ศูนย์พักคอยนี้อาจไม่เหมือนที่อื่น ด้วยมีเครื่องปรับอากาศและมีห้องพักเป็นส่วนตัวประมาณ 20 กว่าห้อง ขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุง โดยมีแนวคิดว่าอย่างน้อยก็ได้แบ่งเบาหรือทำให้การสูญเสียที่ไม่จำเป็นลดลงบ้าง คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานได้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
นอกจากนี้ นายตันยังเผยอีกว่า ก่อนทำ ตนคิดว่าจะง่ายกว่านี้ แต่พอลงมือทำจริง มีเงื่อนไขของกทม.และสาธารณสุขค่อนข้างมาก เนื่องจากการจะให้ผู้ป่วยโควิดเข้ามาพักจะต้องมีการแบ่งโซนตามสีต่างๆ ขณะเดียวกัน ผู้ดูแลก็ต้องปลอดภัยด้วย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ แพทย์ รวมทั้งผอ.เขตก็ให้คำแนะนำและความรู้เป็นอย่างดี “สิ่งที่ผมมีอยู่มันแทบจะใช้ไม่ได้ ถ้าตอนนี้กลับมาดูอีกที ห้องเปล่าๆ ทำง่ายกว่าครับ บางห้อง เราต้องรื้อแทบจะเกือบหมด แต่ก็เต็มใจทำนะครับ ยังไงก็จะทำให้เสร็จตามกำหนดการ”
สำหรับจำนวนเตียงที่รองรับได้ นายตันกล่าวว่า เดิมที คาดไว้ที่ 100-120 ราย แต่ขณะนี้ สามารถรองรับได้ถึง 154 ราย ตนมีหน้าที่ปรับปรุงตึกให้สมบูรณ์ตามระเบียบของเขต, กทม., หรือทางโรงพยาบาล เนื่องจากเมื่อเปิดใช้งานแล้ว ศูนย์พักคอยแห่งแรกของเขตห้วยขวางนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลในเครือของกทม.และเขตห้วยขวาง
ด้วยเหตุนี้ ทีมจึงคาดกันว่าน่าจะรับเพียงผู้ป่วยโควิดสีเขียว อย่างไรก็ตาม นายตันเผยว่า หากเป็นวัดหรือศาลาคงลงทุนมากไม่ได้ด้วยต้องคืนสถานที่ในภายหลัง แต่เพราะเป็นตึกส่วนตัวจึงปรับปรุงได้ค่อนข้างมาก โดยมีแผนที่จะลงทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์เข้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน “สมมติเขียวแล้วมันกลายเป็นเหลืองแล้วล่ะ แต่ว่าไม่มีเตียง ทำยังไง อย่างน้อยผมก็ต้องมีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจน เครื่องมือวัดต่างๆ ที่พอช่วยได้นอกจากยาและหมอที่ทางกทม.จะมาซัพพอร์ตเรา”
ด้านสุขภาพจิตของคนไทยในภาวะโควิด 19 นี้ นายตันกล่าวว่า อันดับแรกต้องเชื่อก่อนว่าภาวะดังกล่าวเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรา ครอบครัวเรา หรือประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็ให้เชื่อว่าจะสามารถผ่านไปได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจหลายท่านที่กำลังเดือดร้อน ไม่ว่าจะตกงาน หรือรายได้ลดลง แต่เราจำเป็นต้องเก็บรักษาลมหายใจให้อยู่ผ่านจากวิกฤตโควิดนี้และอย่าเพิ่งยอมแพ้ โดยนายตันแนะว่า ขณะนี้ไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ และหากรับภาระไม่ไหว สิ่งใดจำเป็นต้องตัดก็ให้ตัด เพราะอาจกลายเป็นกับดักชีวิตที่หนักกว่าโควิดในท้ายที่สุด
“วิกฤตของโควิดก็ยังมีวิกฤตอยู่ข้างในอีก คือเศรษฐกิจหรือปัญหาหนี้สินของคน” นายตันกล่าว ก่อนเสริมว่า ภาวะโรคระบาดโควิด 19 นี้เป็นวิกฤตที่หนักที่สุดเท่าที่ตนเคยผ่านมา
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจ นายตันเผยว่า ควรตัดสินใจอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ควรกู้หนี้เพื่อมาอุดส่วนที่ขาด หากไม่ไหวก็ควรปล่อยไปก่อน นอกจากนี้ นายตันยังแนะอีกว่า ควรมีอาชีพมากกว่าอาชีพเดียว เพราะโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมก็เปลี่ยนตาม ธุรกิจหรือสินค้าเดิมๆ อาจไม่ได้ผล ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในส่วนของภาครัฐ นายตันกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมว่าการแก้ปัญหาตอนนี้คือต้องหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนให้เยอะที่สุด เร็วที่สุด ส่วนประชาชน อย่าไปกลัว อย่าไปรอเลยครับ อะไรที่ฉีดได้ฉีดไปเถอะ อะไรต้องรอนานๆ อย่าเพิ่งรอ ฉีดไปก่อน เพราะว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้คือการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยป้องกันจากหนักเป็นเบา สำคัญกว่านั้นคือความเชื่อมั่นของเราและคนอื่นในด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ”