สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมศึกษาวิจัย รากกัญชาอาจช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด
วันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่อาคารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ พร้อมเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อขึ้นทะเบียนของกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค. นี้ เพื่อให้เกิดเป็นมรดกของชาติและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สร้างประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์
สถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ขออนุญาตการปลูกกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1
- พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1
- พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1
- พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1
เพื่อศึกษาวิจัยและใช้เป็นต้นแบบ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะนำพันธุ์ที่ได้ไปขยายให้กับเครือข่ายที่ทำการวิจัยร่วมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร ทำให้สามารถเลือกพันธุ์ที่จะนำไปใช้ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สามารถพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนากัญชาพันธุ์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ทางกรมวิทย์ฯ ได้มีการสกัดส่วนรากกัญชานำไปศึกษา พบว่าอาจมีผลในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งตรงกับสถานการณ์ในช่วงนี้ คือ ผู้ที่ป่วยโควิด-19 แม้จะหายแล้วแต่เนื้อเยื่อปอดก็ถูกทำลายไป ดังนั้นหากกรมวิทย์ฯ สามารถพัฒนาวิจัยศึกษาได้สำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในวงการแพทย์ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัยรากกัญชานี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์อย่างสูงที่สุด และมอบหมายให้เกิดการทำงานร่วมกันกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อสร้างความหวัง เกิดเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบจากโควิด-19
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะของ ต้น ใบ ช่อดอกและกลิ่น แตกต่างกัน นอกจากนี้จากการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพันธุ์กัญชาแต่ละพันธุ์ พบว่า กัญชาไทยทั้ง 4 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้นไม่ได้พบได้ทั่วไป เป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาแต่ละพันธุ์ของไทยมีสารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกัน จึงมีประโยชน์ต่อการบ่งใช้ในการรักษาโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สารสำคัญคงที่ในการปลูก ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป