SHARE

คัดลอกแล้ว

ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 รายงานข้อมูล แนวโน้มสถานการณ์ และการช่วยเหลือครอบคลุมทุกปัญหาเร่งด่วน เผย เด็กติดเชื้อเพิ่มจาก 366 ราย เป็น 18,879 รายต่อสัปดาห์ เล็งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 รายวันล่าสุดประมาณ 2,900 คน มีจำนวนเด็กติดเชื้อสะสม 96,393 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การปกป้องคุ้มครองไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานเดียว จึงนำมาสู่ความร่วมมือของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนความเสมอภาคเพื่อการศึกษา กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานเชื่อมต่อบริการของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และอาสาสมัครในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวได้อย่างไร้รอยต่อ กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี โดยแบ่งการช่วยเหลือตามสภาพปัญหา ดังนี้

  1. กลุ่มเด็กติดเชื้อและพ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ
  2. กลุ่มเด็กติดเชื้อแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ
  3. กลุ่มเด็กไม่ติดเชื้อแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ
  4. กลุ่มที่ทั้งเด็กและพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ติดเชื้อแต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
  5. กลุ่มเด็กที่กำพร้าพ่อหรือแม่หรือกำพร้าทั้งพ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่เป็นผู้ดูแลเสียชีวิตจากโควิด-19 โดย เน้นการดูแลที่ใช้ครอบครัวเป็นฐานและการรักษาความสัมพันธ์ของเด็กและครอบครัว

โดยศูนย์เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. มีกรณีที่น่าเป็นห่วง คือเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองดูแลเพราะป่วยอยู่ และเด็กกำพร้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลเด็กกำพร้าที่ให้การช่วยเหลือและอยู่ระหว่างการช่วยเหลือมีจำนวน 182 คน ทั้งกำพร้าพ่อแม่หรือกำพร้าทั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครอง กระบวนการช่วยเหลือเชิงรุกจะมีผู้จัดการรายกรณี ในระยะเร่งด่วน คือให้เด็กมีผู้ดูแลและปลอดภัย และประสานหน่วยงานเครือข่ายให้การช่วยเหลือด้านกาย จิต สังคม รวมถึงป้องกันหลุดออกจากระบบการศึกษา ประกอบไปด้วย 1.การเข้าถึงบริการด้านการตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาล 2.การปฐมพยาบาลทางจิตใจ เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียด 3.จัดบริการเพื่อให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคม เช่น กองทุนคุ้มครองเด็ก เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ยังรวมถึง ถุงยังชีพ ถุงการเรียนรู้ เพื่อเด็กในภาวะวิกฤติอีกด้วย 4.ระบบการเลี้ยงดูทดแทน ทั้งแบบฉุกเฉินสำหรับเด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับการดูแลในระยะกักตัว 14 วันเพื่อติดตามอาการในสถานที่กักตัว (State Quarantine) และการเลี้ยงดูทดแทนแบบชั่วคราวสำหรับเด็กที่พ้นระยะกักตัว 14 วันที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปเลี้ยงดู หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียชีวิตในรูปแบบครอบครัวเครือญาติ ครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวบุญธรรม หรือสถานสงเคราะห์ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย) และ 5.ทุนสร้างโอกาสเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“การทำงานของศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด – 19 เป็น virtual center เชื่อมโยงฐานข้อมูลการช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ เน้นบุคลากร อาสาสมัครในพื้นที่ทั่วประเทศเป็นสำคัญเพื่อเข้าถึงเด็กได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนทั่วไปสามารถประสานแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง สายด่วน 1300 ติดต่อผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด และแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก และความร่วมมือล่าสุด 4 หน่วยงาน คือ แอดไลน์ @savekidscovid19 มีทีมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีเด็กและครอบครัวตกหล่นจากการช่วยเหลือ” นางสุภัชชา กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีจำนวนเด็ก แรกเกิด-18 ปี ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น จากสถิติสัปดาห์ที่ 33 ข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 ส.ค.2564  จากจำนวน 366 รายต่อสัปดาห์ เป็น 18,879 รายต่อสัปดาห์ล่าสุด โดยพบว่ามีจำนวนเด็กเสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย  โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราจะเห็นตัวเลขเด็กป่วยติดเชื้อต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกินหมื่นราย โดยกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็ก และมีโรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรม ติดเตียง หัวใจพิการมาแต่กำเนิด เมื่อป่วยจะมีอาการหนักและรุนแรงกว่าเด็กปกติที่ป่วย ขณะที่สาเหตุการติดเชื้ออาจมาจากมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เช่น หอม กอด เป็นต้น

“สำหรับประเด็นการแพร่เชื้อในครอบครัว สถาบันสุขภาพเด็ก อาจฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี และมีโรคร่วม เนื่องจากห้ามการติดเชื้อค่อนข้างยาก ดังนั้นวัคซีนจะเป็นคำตอบช่วยลดป่วยหนักและลดการเสียชีวิตในเด็กที่มีปัญหาโรคประจำตัวได้ โควิด-19 ทำลายทุกทฤษฎีที่เรารู้จัก อยู่ที่เราชั่งสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ว่าอะไรได้ประโยชน์ เรารู้แล้วว่าการฉีดวัคซีนในเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ เด็กควรได้รับวัคซีน วัคซีนถ้าพัฒนาไปเรื่อย ๆ ทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ ปลายปีหน้าอาจเป็นเหมือนไข้หวัด แต่ต้องดูว่าวัคซีนสามารถพัฒนาประสิทธิภาพได้ขนาดไหน นี่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาพัฒนา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ช่วงที่ผ่านมาได้พยายามดูแลเด็กเล็ก ๆ อย่างเช่นการทำงานผ่านศูนย์สร้างสุขทุกวัยที่เกียกกาย เขตดุสิต โดยรับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป ไม่สามารถรับครอบครัวได้ แต่ถ้าเป็นสถาบันเด็กจะเปิดรับทั้งแม่และลูก มีเตียงรอรับเพียง 100 เตียง ปัจจุบันตอนนี้กรมการแพทย์กำลังทำ Community Isolation ภายในค่ายทหาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งครอบครัว แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าอาการต้องไม่หนักทั้งคู่ เพราะ CI เป็นการเปิดรับทุกเพศทุกวัย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. สนับสนุน กลไกอาสาสมัครคุณภาพเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการดูแลรวดเร็วขึ้น รวมถึงเป็นกำลังเสริมให้แก่หน่วยงานหลักต่างๆ เช่น อาสาสมัครคุณครูทั้งในระบบและนอกระบบในชุมชนต่างๆ อาสาสมัครเยาวชน ช่วยรับส่งผู้ป่วยเด็ก การส่งชุดยา เครื่องมือติดตามอาการหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิต ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตลอด 24 ชม นอกจากนี้ยังร่วมกับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนระบบอาสาสมัครดูแลเด็กสัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างระยะเวลากักตัว 14 วัน ในสถานที่กักตัว (State Quarantine) ดูแลเด็กป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานพยาบาลทุกรูปแบบ อาสาสมัครเยี่ยมเด็กและครอบครัวในพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามการเลี้ยงดู ส่งยา อาหารหรือเครื่องใช้จำเป็น และอาสาสมัครเลี้ยงดูเด็กชั่วคราวในครอบครัวอุปถัมภ์   ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อน เปิดรับอาสาได้เต็มรูปแบบภายเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีค่าตอบแทน ให้แม้เงินที่ได้อาจไม่มากนักแต่ก็จะทำให้มีรายได้หมุนเวียน ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

“เด็กกำพร้า เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด  รองลงมาคือพ่อแม่ตกงานยากจนเฉียบพลัน การฟื้นฟูเยียวยาต้องทำทันที  โดยเน้นป้องกันเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา จึงจัดให้มีทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กในภาวะวิกฤติโควิด โดยมี case manager วางแผนการช่วยเหลือรายคน อย่างน้อย 1,000 ทุน ถ้าเราไม่เริ่ม ในสถานการณ์ปีเศษๆ ที่ผ่านมาจะไม่มีใครดึงเด็กขึ้นมาจากความเงียบ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ทำงานเพียง 4 หน่วยงานไม่ได้ เราจึงพร้อมระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยให้เด็กของเรารอด” ศ.ดร.สมพงษ์  กล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียมีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากความสามารถการเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ และสถานการณ์ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องและมีบางครอบครัวมีสมาชิกมากกว่า 1 คน ที่เสียชีวิต ​โดยการเสียชีวิตทั้งพ่อแม่ และผู้สูงอายุ จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีความเศร้าจากการสูญเสียคนที่รัก แต่ปฏิกริยาของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ที่ต้องการคนแวดล้อม มาช่วยทำให้ความเศร้าผ่านไป ​อีกทั้งการศึกษาจากหลายประเทศพบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบมากกว่าปกติ ทั้งการไม่มีโอกาสได้ร่ำลา จัดพิธีศพเต็มรูปแบบ ส่งผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ​จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ไม่อยากให้เด็กเกิดรู้สึกผิด เสียใจ หรือ ฝังใจจากความสูญเสีย แต่อยากให้เด็กผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้  อีกทั้งการเสียชีวิตของทั้งพ่อและแม่ จะทำให้เด็กกำพร้าไม่มีพ่อแม่อีกต่อไป การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ก็จะยากลำบาก รวมไปถึงกลุ่มที่มีความยากลำบากมาก่อนหน้านี้แล้วต้องมาเสียผู้นำครอบครัวซ้ำเติมอีก ย่อมสร้างความหวั่นไหวมากกว่าเดิม ทั้งการอยู่ที่เดิมไม่ได้ ไม่มีคนดูแลต้องเปลี่ยนไปอยู่กับญาติ เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่อยากให้เด็กอยู่กับความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ อยากให้เด็กเติบโตไปข้างหน้าผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ ​ส่วนกรณีเด็กพิเศษนั้นขณะนี้​โรงพยาบาลสนามราชานุกูลได้เปิดรับดูแลเด็กพิเศษเป็นการเฉพาะอีกด้วย

นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ในภาวะฉุกเฉินของเด็กทั่วโลกคิดว่าเด็กมีสิทธิที่จะต้องได้รับการดูแลโดยครอบครัว ซึ่งครอบครัวไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่อยู่กับเด็กแต่รวมถึงเครือญาติ ดังนั้นหากภาครัฐมีนโยบายที่สนับสนุนก็จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กได้อยู่กับคนใกล้ชิด ขณะที่การแยกเด็กป่วยออกจากครอบครัวถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่ควรทำ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือให้คนในครอบครัวช่วยดูแลกันเอง ​อีกประเด็นคือกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กเปราะบางที่พ่อแม่เสียชีวิต ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ราชการจะเข้ามาช่วยได้มากคือ หาให้ได้ว่าเด็กกลุ่มนี้คือใคร และให้บริการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันดูแลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อยากให้คำนึงถึงการดำเนินงานที่เหมาะสมกับทั้งตัวเด็กและครอบครัว และนำแนวคิดนี้มาใช้ในการทำงานทุกส่วนให้ทั่วถึง ในการตัดสินใจด้านนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ ในตอนนี้ได้คำนึงถึงเรื่องความสำคัญกับทั้งเด็กและครอบครัวอย่างชัดเจนแล้ว เพราะเรื่องนี้สำคัญมากในการช่วยเหลือและดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เวลาให้ความช่วยเหลือครอบครัวหนึ่ง เราต้องมองจากหลายๆ มุมประกอบกันด้วย เช่น นอกจากการเจ็บป่วย เรายังต้องดูว่า ครอบครัวนั้นมีปัญหาทางเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะต้องใช้กลไกการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ มาช่วยหนุนเสริม และยังต้องคิดต่อยอดไปถึงการออกแบบมาตรการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน เพื่อให้ครอบครัวมีศักยภาพด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ที่จะทำให้มีความเข้มแข็งและความสามารถพอในการเลี้ยงดูลูกของตัวเองให้ได้ดีต่อไป

นางสาวนิโคล่า  กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องหนุนเสริมศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์ให้สามารถรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดตามมาด้วย โดยเรื่องนี้ ยูนิเซฟมีความเชี่ยวชาญจากการทำงานในภูมิภาคต่างๆ ที่จะสามารถเข้ามาสร้างศักยภาพเพิ่มเติมให้ได้ แล้วเรายังมี Magic Box เป็นชุดกล่องกิจกรรมที่มีของเล่น หนังสือ ตัวต่อ และสื่อต่าง ๆ เพื่อใช้ทำกิจกรรมกับน้องๆ ได้ อันนี้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าน้องๆ ต้องถูกกักตัว จะได้มีกิจกรรมทำผ่อนคลายและเรียนรู้ไปกับผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ดูแลด้วย  ยูนิเซฟพร้อมทำงานร่วมกับภาคีทุกฝ่าย เพื่อให้เด็กได้เติบโตและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ แม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม

นายคริส โปตระนันทน์ กลุ่มเส้นด้าย กล่าวว่า การมีศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ถือเป็นโครงการที่ดีและสวยงาม ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาพบปัญหาเวลามีเด็กมาขอความช่วยเหลือทำได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีกลไกรองรับการช่วยเหลือเด็กเอาไว้ อย่างโรงพยาบาลสนามก็ไม่รองรับเด็ก โฮสพิเทลก็ไม่รองรับเด็ก นี่คือ 2 สิ่งที่กลุ่มเส้นด้ายทำและเจอมา เพราะมีแต่หมอ General Practice ไม่มีหมอเด็กหรือหมอติดเชื้อที่จะเข้ามาดูแล ทุกครั้งที่มีเด็กติดเชื้อเราต้องขอให้โรงพยาบาลช่วยเหลือ และก็มีหลายแห่งให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่บางที่ก็ไม่สามารถช่วยได้ ซึ่งเมื่อมีศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ถือเป็นการช่วยเหลือเด็กที่ดีมาก

ในส่วนของกลุ่มเส้นด้ายมี 4 กรณีที่พบมาคือ 1.แม่ติดลูกติด แม่ได้ที่รักษาแต่แม่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกอยู่ลำพัง 2.ลูกติด แม่ไม่ติด สิ่งที่พบคือแม่ยอมเสียสละ ยอมติดโควิดเพื่อลูกเพื่อจะได้ดูแลลูก ซึ่งถ้าหน่วยงานราชการออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้คุณแม่ได้ ยอมให้แม่ที่ไม่ติดเชื้อเข้าไปดูแลลูก ไม่ว่าจะใน รพ.สนาม หรือโฮสพิเทล แล้วสามารถเบิกงบประมาณตรงนี้ได้จะดีมาก 3.แม่ติดลูกไม่ติด ถ้าจะยอมให้ลูกที่ไม่ติดเชื้อเข้าไปด้วย ต้องมีผ้าอ้อม นมให้ดื่ม มีงบจัดสรรให้จะดีมาก และ 4.เด็กต่างด้าว หรือเด็กเป็นคนไทยแต่แม่เป็นต่างด้าว ถ้าราชการทุกฝ่ายมาแก้กฎระเบียบที่ติดขัดแก้ไขได้ ทางกลุ่มเส้นด้ายจะยินดีอย่างยิ่ง

“กรณีแม่ลูกติดโควิด เด็กจะหาโรงพยาบาลยาก แม่ไม่ยอมไปโรงพยาบาลเพราะรอให้ลูกได้ที่รักษา จนเป็นเหตุที่ทำให้แม่เกิดอาการที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต ถ้าแก้ปัญหาได้ พยายามให้เด็กเข้าไปรักษาด้วย เด็กจะกำพร้าน้อยลง พยายามทำให้เกิดโฮสพิเทลที่ให้ครอบครัวเข้าไปได้เลย ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะช่วยเติมเต็มตรงนี้ได้ การส่งเด็กไปยังโรงพยาบาลสนาม ไม่ใช่ว่าแพทย์ไม่อยากรับคนไข้ คุณหมออยากรับแต่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์รับรองเด็ก” นายคริส กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า