สำนักงานสถิติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดเล็กและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องลดหรือเลิกจ้างพนักงาน
วันที่ 18 เม.ย. 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วานนี้(17 เม.ย. 2563) สำนักงานสถิติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องลดหรือเลิกจ้างพนักงาน
สถิติของเกาหลีใต้ระบุว่าในเดือนมีนาคม เกาหลีใต้มีจำนวนผู้มีงานทำ 26,609,000 คน ซึ่งลดลง 195,000 คนจากปีก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 และถือเป็นการลดลงที่มากที่สุดรองจากสถิติในเดือนพฤษภาคม 2009 ซึ่งลดลงมา 240,000 คน อันเป็นช่วงที่เกาหลีใต้ได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติการเงินโลก
อุตสาหกรรมบริการเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้คนต้องเก็บตัวอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปซื้อของและเดินทาง
การจ้างงานในภาคค้าส่งและค้าปลีกลดลงถึง 168,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขที่ลดต่ำมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2014
ขณะที่อุตสาหกรรมที่พักและร้านอาหารมีจำนวนงานลดลง 109,000 ตำแหน่งในเดือนที่แล้ว ทำสถิติลดลงต่อเนื่อง 14 เดือน
จำนวนงานในภาคบริการการศึกษาลดลง 100,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม เนื่องจากโรงเรียนต้องเลื่อนวันเปิดทำการออกไป ก่อนจะกลับมาเปิดภาคเรียนในเดือนเมษายน โดยให้บริการทางออนไลน์เท่านั้น
การจ้างงานในกลุ่มผู้ผลิตลดลงในช่วง 3 เดือนนี้ ขณะที่ภาคบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม อีกทั้งภาคขนส่งและคลังสินค้ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมา
จำนวนแรงงานนอกระบบลดลง 195,000 คนในเดือนมีนาคมจากปีที่แล้ว ทำสถิติดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่เกิดการดิ่งตัวลงอย่างหนักถึง 447,000 คนในเดือนธันวาคม 1998 หลังเกิดวิกฤติการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แม้แรงงานประจำจะเพิ่มขึ้น 459,000 คนในเดือนมีนาคม แต่แรงงานรายวันกลับหดตัวลง 173,000 คน
จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ลางานโดยยังคงสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ เพิ่มขึ้นถึง 1,607,000 คนในเดือนมีนาคม จากเดิมที่ 1,260,000 คนในปีก่อนหน้า ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเดือนกรกฎาคม 1983
อัตราการจ้างงานของผู้คนช่วงวัย 15 ปีขึ้นไปหดตัวลง 0.9 จุดจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว มาอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ในเดือนมีนาคมของปีนี้ ขณะที่อัตราการจ้างงานจากการดำเนินการตามวิธีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำหรับผู้มีอายุระหว่าง 15-64 ปี ลดลง 0.8 จุดมาอยู่ที่ร้อยละ 65.4
อัตราการจ้างงานของผู้คนช่วงวัย 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 0.8 จุด สวนทางกับอัตราการจ้างงานของกลุ่มช่วงวัยอื่นที่ลดลงในเดือนที่แล้ว
อัตราการจ้างงานเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนคนทำงานต่อประชากรวัยทำงานทั้งหมด (ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป) ถือเป็นตัวเลือกที่แสดงสภาพตลาดแรงงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น สำหรับประเทศที่มีลักษณะสังคมประชากรผู้สูงอายุเช่นนี้
อัตราการว่างงานลดลง 0.1 จุดเมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ร้อยละ 4.2 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขผู้ว่างงานอยู่ที่ 1,180,000 คน ซึ่งลดลง 17,000 คนจากช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
อัตราการว่างงานที่ลดต่ำลงมาจากการที่บริษัทต่างๆ เลื่อนกำหนดการรับสมัครงานออกไป ด้วยเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดการติดโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้หางานลดลง
อัตราการว่างงานที่ขยายตัว (Expanded jobless rate) สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะตลาดแรงงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.8 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 14.4 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
อัตราการว่างงานที่ขยายตัวสำหรับกลุ่มเยาวชนวัย 15-29 ปี เพิ่มขึ้น 1.5 จุดมาอยู่ที่ร้อยละ 26.6 ในเดือนที่แล้ว
ขณะที่อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการ (Official unemployment rate) หมายถึงผู้ที่สามารถเริ่มงานใหม่ได้ทันที แต่ไม่สามารถหางานได้ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
อัตราการว่างงานที่ขยายตัวมีตัวเลขมากกว่าอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการ เพราะนับรวมกลุ่มผู้ท้อแท้จากการหางาน กลุ่มผู้ทำงานชั่วคราวแต่มีเป้าหมายหางานเต็มเวลา และกลุ่มผู้เตรียมพร้อมจะรับงานหลังจบการศึกษาระดับวิทยาลัยด้วย
จำนวนประชากรที่ไม่ได้ทำงานทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 516,000 คนมาอยู่ที่ 16,923,000 คนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2009
กลุ่มที่ระบุว่าตนเองอยู่ใน “ช่วงพักงาน” จากการตอบแบบสอบถามขยายตัวถึง 366,000 คนในเดือนมีนาคม โดยกลุ่มนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถรวมเข้ากับกลุ่มผู้ว่างงาน หรือกลุ่มผู้ท้อแท้เกินกว่าจะหางานก็ได้ ในช่วงเวลาเช่นนี้
กลุ่มผู้ท้อแท้ที่จะหางาน ให้เหตุผลของการล้มเลิกความพยายามว่ามาจากสภาพตลาดแรงงานที่เลวร้ายขึ้น โดยตัวเลขของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 44,000 คน มาอยู่ที่ 582,000 คนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว