SHARE

คัดลอกแล้ว

สำหรับผู้เชี่ยวชาญ สิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ อาจเป็นหายนะด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุดเท่าที่คนในรุ่นปัจจุบันเคยประสบมา และมีความรุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ผ่านๆ มา เป็นสงครามที่นานาประเทศ คนมากมายต้องสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ สงครามที่สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สุขภาพ และเศรษฐกิจ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้

 

ว่ากันว่า ทุกๆ 100 ปี จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นบนโลก และอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่การระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 นี้ เกิดขึ้นห่างจากการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดสเปน 102 ปี แม้จะมีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนในขณะนั้น แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากในขณะนั้นไม่มีใครทราบว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร ไม่มีใครรู้จักการกักตัว มาตรการเว้นระยะทางสังคม หรือ Social Dintancing และยังไม่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ในการตรวจหาเชื้อและการดูแลรักษาเช่นในปัจจุบัน

 

แม้ว่าการระบาดของโรคต่างๆ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น โรคเอดส์ โรคเมอร์ส หรือโรคซาร์ส จะนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และในปัจจุบันยังคงพบผู้ติดเชื้ออยู่ เช่น เอชไอวี แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ก็คือ ผู้ป่วยหลายรายไม่แสดงอาการใดๆ และบางรายตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความเสี่ยงที่น่ากังวลกว่าโรคชนิดอื่น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจใช้ชีวิตตามปกติร่วมกับคนอื่น และกลายเป็นผู้แพร่เชื้อโดยที่ไม่ตั้งใจ และตราบเท่าที่ที่ยังคงไม่มียา วัคซีน หรือการรักษารูปแบบใดๆ ที่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้ในปัจจุบัน แม้ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มีความล้ำหน้าและทันสมัยยิ่งกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากยังควบคุมไม่ได้ โควิด-19 ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียยิ่งกว่าหายนะครั้งใดๆ ในอดีต

 

 

สอดคล้องกับสิ่งที่ นายบิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ เคยกล่าวไว้ที่งาน TED Talks เมื่อปี 2015 ว่า ทุกวันนี้ ความเสี่ยงต่อหายนะที่รุนแรงระดับโลก ไม่ได้เป็นสงคราม แต่ถ้ามีอะไรก็ตามฆ่าคนมากกว่า 10 ล้านคน ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี เป็นไปได้สูงว่ามันจะเป็น ไวรัสที่ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าที่จะเป็นสงคราม ไม่ใช่ขีปนาวุธ หากแต่เป็นจุลชีพ เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ เราลงทุนไปมากกับการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ แต่เราได้ลงทุนไปน้อยมาก กับระบบที่จะหยุดการแพร่กระจายของโรค เราไม่พร้อมสำหรับการระบาดครั้งถัดไป

 

จนถึงวันที่ 6 เม.ย. ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกพุ่งสูงมากกว่า 1.25 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 68,000 ราย ในขณะที่สถานการณ์ระบาดของสหรัฐอเมริกายังคงทวีความรุนแรงจนน่าวิตก มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 กว่า 9,000 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้มากกว่า 324,000 แสนคน  โดยขณะนี้ชาวอเมริกันประมาณ 3 ใน 4 คนดำรงชีวิตอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19

 

ส่วนสเปน เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรองลงมาคือ 130,000 คน โดยพบผู้เสียชีวิตในสเปนแล้วมากกว่า 12,000 คน ส่วนอิตาลี มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก คือเกือบ 16,000 คน และผู้ติดเชื้อมากกว่า 124,000 ราย ขณะที่ฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 90,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 7,500 คน

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่าการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นวิกฤตความท้าทายครั้งใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากโรคระบาดนี้เป็นภัยคุกคามทุกคน

 

โรคโควิด-19 “เป็นภัยต่อทุกๆ คนบนโลก และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดภาวะถดถอยในระดับเลวร้ายที่มิอาจเทียบกับอดีตที่ผ่านมา” กูเตอร์เรสกล่าวขณะนำเสนอรายงานของสหประชาชาติว่าด้วย “ความรับผิดชอบร่วมกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลก : การรับมือผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจจากโรคโควิด-19”

 

นายกูแตร์เรส ยังชี้ว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่จะเกิดตามมาจะสร้างความถดถอยอย่างหนักให้แก่ประเทศทั่วโลก ชนิดที่เหตุการณ์เลวร้ายในอดีตที่ผ่านมา ไม่อาจจะเทียบเท่า หรือนำมาเปรียบเทียบได้

 

“ข้อเท็จจริงสองประการบวกกับความเสี่ยงที่มีส่วนยกระดับความไม่มั่นคง ความวุ่นวาย และความขัดแย้ง ทำให้เราเชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวิกฤตความท้าทายครั้งใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องการมาตรการรับมือที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะรับมือได้ดีก็เมื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ละทิ้งเกมการเมือง และตระหนักว่ามนุษยชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย”

 

ทั้งนี้ ตามรายงานของ UN คาดว่า สถานการณ์โรคระบาดจะส่งผลให้มีผู้ตกงานทั่วโลกราว 25 ล้านคน และประเมินว่า กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกจะเผชิญแรงกดดันลง ถึงร้อยละ 40

 

ไข้หวัดใหญ่สเปนและโรคเอดส์

 

เมื่อปี 1918 หรือมากกว่า 100 ปีที่แล้ว โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งถือเป็นโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า โอกาสที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหญ่ยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถรับมือการระบาดครั้งใหญ่ได้ดีกว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

 

 

ลอร่า สปินนีย์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่สเปน “Pale Rider: The Spanish Flu of 1918 and How It Changed the World” กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นหนึ่งในการระบาดที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษยชาติเคยเผชิญมา และนับเป็นการระบาดที่ต่างจากการระบาดของไข้หวัดทั่วไป ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา เราเผชิญการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดมาแล้ว 15 ครั้ง และ 5 ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงยุค 1890  สามารถวัดค่าได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ และไม่มีครั้งใดที่คร่าชีวิตผู้คนได้เกินกว่า 3 ล้านคน

 

ในยุคที่เกิด “ไข้หวัดเอเชีย” เมื่อปี 1957 และ “ไข้หวัดฮ่องกง” เมื่อปี 1968 เรามีเครื่องมือสมัยใหม่สำหรับการเฝ้าระวังโรคระบาด และมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระหว่าง 5 แสน ถึง 2 ล้านคน แม้จะสูงแต่ก็เทียบไม่ได้กับไข้หวัดใหญ่สเปน

 

ไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1918-1919 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 50 ล้านคน ซึ่งมากกว่ายอดทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 3 เท่า กลายเป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดนับแต่เหตุการณ์ Black Death หรือกาฬมรณะ ซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคสมัยศตวรรษที่ 14 ซึ่งคาดว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 75 ถึง 100 ล้านคน

 

ไม่ว่ามันจะมีต้นกำเนิดอย่างไร แต่ไวรัสก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มทหารเยอรมันและลุกลามไปยังสเปน แม้สเปนไม่ได้เข้าร่วมสงครามก็ตาม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศปกปิดข่าวการระบาดเอาไว้ ทำให้สเปนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีการระบาด จึงเรียกการระบาดครั้งนั้นว่า “ไข้หวัดสเปน”

 

ส่วนการติดเชื้อเอชไอวีในมนุษย์ องค์กรความร่วมมือด้านเอชไอวีและเอดส์ “UNAIDS” และองค์การอนามัยโลก  ได้ประมาณการไว้ว่ามีผู้คนทั่วโลกราว 37.9 ล้านคนที่ยังคงใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวีอยู่ แยกเป็นเด็กราว 1.7ฃ ล้านคน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมทั้งหมดราว 74.9 ล้านคน นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรก และมีผู้เสียชีวิตรวม 32 ล้านคน นับตั้งแต่การตรวจพบครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม  1981 ทำให้เชื้อเอชไอวี เป็นหนึ่งในการแพร่ระบาดที่เป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ ที่ร้ายแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อีกเหตุการณ์หนึ่ง

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นสงครามที่เรียกว่า “สงครามเบ็ดเสร็จ” หรือ การทำสงครามที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ทรัพยากรและอาวุธที่ตนเองมีทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อทำลายรัฐศัตรู โดยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการรบระหว่างกลุ่มประเทศอักษะ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น กับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรนำโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา

 

 

สงครามครั้งนี้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อกองทัพเยอรมันบุกเข้าไปยึดครองประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939 ทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และดินแดนอาณานิคมของอังกฤษอีก 4 แห่ง ประกาศสงครามกับเยอรมนี ต่อมาในปี 1940 กองทัพเยอรมันรุกรานนอร์เวย์และเดนมาร์ก ก่อนที่จะโจมตีฝรั่งเศสผ่านทางเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ในปีเดียวกันนี้เอง อิตาลีได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส ถัดมาในปี 1941 เยอรมนียึดครองยูโกสลาเวียและเริ่มส่งทหารเข้าไปรุกรานสหภาพโซเวียต ขณะที่ญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbour) บนเกาะฮาวายของสหรัฐฯ แล้วประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ การโจมตีของกองทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ส่งผลให้สหรัฐฯ ตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลก

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความสูญเสียให้แก่ผู้คนจำนวนมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ ระหว่างปี 1937 ถึง 1945 ทั้งทหารและพลเรือนของทั้งสองฝ่ายประมาณ 73 ล้านคน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่คาดว่าประเทศต่างๆ ใช้เงินหมดไปกับการทำสงครามครั้งนี้รวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โควิด-19 กับความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

นายแพทย์ ไบรอัน โมนาฮาน แพทย์ประจำทำเนียบขาวและศาลฏีกาสหรัฐฯ เคยแสดงความเห็นว่า ในที่สุดแล้ว ชาวอเมริกันราว 70 ถึง 150 ล้านคน หรือราวร้อยละ 21-46 ของประชากรจะติดเชื้อ  หากยึดอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 1 ยอดผู้เสียชีวิตของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 7 แสน  ถึง 1.5 ล้านคน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ที่กล่าวว่า ในที่สุดชาวเยอรมันราวร้อยละ 60 ถึง 70 จะติดเชื้อไวรัส และมีผู้ประเมินว่าในที่สุดประชากรโลกราวร้อยละ 40 ถึง 70 จะติดเชื้อ

 

 

ด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ประจำเมืองเซนต์หลุยส์ ประเมินว่าในไตรมาสที่ 2 ชาวอเมริกันอาจว่างงานกว่าร้อยละ 30  ผลิตภัณพ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี หายไปร้อยละ 50  ส่วนบริษัท มอร์แกน สแตนลีย์ ประเมินว่า จีดีพีไตรมาส 2 จะหายไปร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ทั้งที่สหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว, ประเทศในตลาดเกิดใหม่ และประเทศที่กำลังพัฒนา โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะย่ำแย่กว่าช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 แต่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า และอาจเป็นการดีดตัวครั้งใหญ่ หากประเทศต่างๆประสบความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และป้องกันมิให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลาย และการปลดพนักงานตามมา

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกหดตัวลงร้อยละ 0.10 ในปี 2009 ภายหลังเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในปี 2008 และถ้าหากเศรษฐกิจหดตัวอีกครั้วในปีนี้ ก็จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009

 

มันจะไปสิ้นสุดตอนไหน

 

ต่อคำถามที่ว่า แล้วการระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด จนกระทั่งปัจจุบันยังคงไม่ผู้เชี่ยวชาญรายใดทราบ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคที่มีการระบาดไปทั่วโลก โดยพิจารณาจากการระบาดที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว

 

อาจมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะเริ่มระบาดอย่างถาวรในมนุษย์ เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และจนถึงจุดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่า ไวรัสอาจจะพัฒนาเป็นโรคประจำฤดูกาลเช่นหวัดหรือไม่

 

สำหรับในขณะนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงมากกว่าดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวว่า เราได้ผ่านจุดของการควบคุมไวรัสมาแล้ว เช่นเดียวกับที่เราทำได้กับโรคซาร์ส หรือโรคเมอร์ส นั่นหมายความว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับเราต่อไป การระบาดจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า Herd immunity หรือสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หรือได้รับวัคซีนป้องกันโรค แต่ก็มีจำนวนมากพอ จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้

 

ในขณะที่สัดส่วนของประชากรดังกล่าว สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเรา นักวิจัยคาดการณ์ว่า ระดับ Herd immunity ขั้นต่ำของโควิด-19 จะอยู่ที่ราว 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 ของกลุ่มประชากร หรือคิดเป็นประชากรโลกราว 2,500 ล้านคน จาก 5,000 ล้านคน

 

แล้วเราจะต้องจัดการอย่างไรต่อไปจนกว่าจะถึงวันนั้น

 

สำหรับหลายประเทศ กลยุทธ์ที่พอจะทำได้คือการออกมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชากร ที่จะช่วยลดอัตราการระบาดลงให้ได้มากที่สุด เช่นการปิดธุรกิจต่างๆ โรงเรียน การทำกิจกรรม และการกักตัวที่บ้าน ซึ่งมาตรการนี้อาจช่วยชะลอการระบาดของเชื้อไม่ให้รุนแรงมาก ที่จะช่วยลดภาระของสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยทำให้หน่วยงานต่างๆ มีเวลาในการจัดเตรียมสถานที่สำหรับการรักษา การทดสอบการตรวจหาผู้ที่อาจติดเชื้อ

 

แล้วเมื่อใดมาตรการต่างๆ จะลดความเข้มงวดลง

 

เราอาจไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้เมื่อใด เพราะการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เร็วเกินไป อาจทำให้สถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นข่าวที่ว่าทางการเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด เริ่มประกาศเปิดเมืองแล้ว หลังจากต้องปิดเมืองนานกว่า 2 เดือน แต่เราต้องไม่ลืมว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจีน นับว่ามีความเข้มงวดอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

ด้านนางเจนนี่ แฮร์รีส์ รองประธานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของอังกฤษเผยว่า มาตรการปิดเมืองจำเป็นต้องมีการบังคับใช้อย่างน้อย 2 ถึง 3 เดือน หรืออาจถึง 6 เดือน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อแนะนำให้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวไปจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์

 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ ที่รวมถึงนายสก็อตต์ ก็อตลีบ อดีตผู้อำนวยการองค์การอาหารและยา ได้ร่วมกันประเมินแผนกลยุทธ์ขั้นต่อไป ที่อาจอนุญาตให้โรงเรียนและธุรกิจต่างๆ เปิดทำการได้อีกครั้ง แต่ยังคงจำกัดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของประชาชน ประชาชนจะยังคงได้รับคำแนะนำให้รักษาระยะห่างระหว่างกัน และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับคำแนะนำให้จำกัดเวลาเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ และหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกครั้ง มาตรการต่างๆ ก็จะมีความเข้มงวดขึ้นตามไปด้วย

 

ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เคยเสนอโมเดลให้มีการจำกัดการใช้เวลาในสถานที่สาธารณะลงร้อยละ 75 จนกว่าจะเกิด Herd immunity ขึ้น โดยครัวเรือนทั้งหมด จำเป็นต้องลดการติดต่อกับโรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะลง ร้อยละ 75  และขยายขีดความสามารถในการตรวจสอบเชื้อให้ได้ราว 750,000 ครั้งต่อสัปดาห์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า