SHARE

คัดลอกแล้ว
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นศักยภาพของรัฐบาลแต่ละประเทศในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ขณะที่ผู้นำหลายประเทศตัดสินใจรับผิดชอบด้วยการลาออก ยอมรับความจริงว่าไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ
วันนี้ workpointTODAY นำตัวอย่างผู้นำบางประเทศที่ตัดสินใจลาออก หลังเผชิญวิกฤติศรัทธาจากประชาชน ผลจากโรคโควิด-19

นายคูเรลซูค อุคนา (Khurelsukh Ukhnaa) ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีมองโกเลีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังชาวมองโกเลียออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ต่อการบริหารจัดการโรคโควิด-19

โดยในช่วงแรกของการระบาด รัฐบาลมองโกเลียได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในมองโกเลียมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลมองโกเลียต้องประกาศล็อกดาวน์ และใช้มาตรการที่เข้มงวด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ

ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลมองโกเลียในภาวะวิกฤติ ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายคือ มีการเผยแพร่ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งพร้อมลูกที่เพิ่งคลอด ถูกย้ายไปกักตัวท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัดถึง -25 องศาเซลเซียส โดยที่ผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าวสวมเพียงชุดคลุมและรองเท้าฟองน้ำ ทำให้ชาวมองโกเลียวิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือด เนื่องจากชาวมองโกเลียเชื่อว่า หญิงเพิ่งคลอดควรหลีกเลี่ยงอากาศหนาว

นายกรัฐมนตรีมองโกเลียแถลงลาออก โดยยอมรับว่า นี่เป็นการแสดงความรับผิดชอบและเป็นไปตามความต้องการของสาธารณชน

นายอิกอร์ มาโตวิก (Igor Matovic) ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสโลวาเกียเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงข้อตกลงที่เขาแอบไปทำอย่างลับๆ เพื่อซื้อวัคซีนสปุตนิก-5 ของรัสเซียจำนวน 2 ล้านโดส โดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาล

การสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากรัสเซียของนายมาโตวิก ถูกวิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากสหภาพยุโรปยังไม่รับรองวัคซีนชนิดนี้ และทำให้บรรดารัฐมนตรีและสมาชิกสภาหลายคนจากพรรคร่วมรัฐบาลทยอยลาออกเพื่อประท้วงการตัดสินใจดังกล่าว

นอกจากการแอบไปทำข้อตกลงซื้อวัคซีนรัสเซีย โดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว นายมาโตวิกยังถูกวิจารณ์ถึงการรับมือการแพร่ระบาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้สโลวาเกียเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงติดอันดับต้นๆ ในชาติตะวันตก

นายเดวิด คลาร์ก (David Clark) รัฐมนตรีสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังถูกแฉว่า ละเมิดกฎล็อกดาวน์ของรัฐบาลถึง 2 ครั้ง ด้วยการแอบออกไปขี่จักรยานบนภูเขา และแอบพาครอบครัวไปเที่ยวทะเล ซึ่งห่างจากที่พัก 23 กิโลเมตร

นายคลาร์กยอมรับว่า เขาได้ทำในสิ่งที่โง่เง่า และขาดความยั้งคิด พร้อมกล่าวขอโทษต่อนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

โดยก่อนเกิดกรณีนี้ นายคลาร์กถูกสังคมวิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข เห็นได้จากการแถลงข่าวหลายครั้งที่เขาไม่ได้เตรียมข้อมูลให้พร้อม จนหลายคนวิจารณ์ว่า นายคลาร์กเป็นจุดอ่อนเดียวของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากถึงการรับมือโรคโควิด-19

นางสาวพิลาร์ มาเซสติ (Pilar Mazzetti) ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขเปรูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังถูกเปิดเผยว่า ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรี ลัดคิวการฉีดวัคซีนให้กับอดีตประธานาธิบดีเปรู

รายงานระบุว่า นางสาวมาเซสติ อนุญาตให้อดีตประธานาธิบดีมาร์ติน วิซคาร์รา ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนหน้าการประกาศใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการหลายเดือน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

แม้ในเวลาต่อมา อดีตประธานาธิบดีเปรูจะแก้ข่าวว่า เขาได้รับวัคซีนก่อนคนอื่นเนื่องจากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทดลองวัคซีน ไม่ได้รับอภิสิทธิ์ฉีดวัคซีนก่อนคนทั่วไป แต่หลายฝ่ายไม่เชื่อในคำอธิบายนี้ และเรียกร้องให้นางสาวมาเซสติลาออกจากตำแหน่ง

นายเออร์เนสโต อารัวโฌ (Ernesto Araujo) รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล ขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลวทางการทูต จนทำให้บราซิลได้รับวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

หลายฝ่ายมองว่า นายอารัวโฌซึ่งมีท่าทีสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมักแสดงความเห็นโจมตีรัฐบาลจีนอยู่เสมอ ส่งผลกระทบต่อการเจรจานำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศจีน

รายงานระบุว่า ในจดหมายลาออกของนายอารัวโฌให้เหตุผลว่า เขาไม่ต้องการสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลอีกต่อไป

นายซามีร์ โมบีดีน (Samir Mobeideen) ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยจอร์แดนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการลาออกพร้อมกับรัฐมนตรียุติธรรม หลังทั้งสองคนถูกเปิดเผยว่า ละเมิดข้อกำหนดล็อกดาวน์ จากการเข้าร่วมงานปาร์ตี้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

สื่อท้องถิ่นของจอร์แดนระบุว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนร่วมงานปาร์ตี้ที่มีผู้เข้าร่วม 9 คน ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้รวมกลุ่มกันได้สูงสุด 6 คนเท่านั้น ขณะเดียวกันภาพที่เผยแพร่ออกมายังพบว่า รัฐมนตรีทั้งสองคนไม่รักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

ชาวจอร์แดนไม่พอใจการกระทำของรัฐมนตรีทั้งสองคนอย่างมาก รวมทั้งวิจารณ์รัฐบาลว่าสองมาตรฐาน เนื่องจากที่ผ่านมาจอร์แดนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับประชาชน โดยคนทั่วไปอาจถูกจับทันทีหากละเมิดกฎล็อกดาวน์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า