งานวิจัยสหรัฐฯ ชี้อาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนโควิดต้านสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ หลังทำวิจัยกับลิงพบวัคซีนที่ใช้กันอยู่มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน
วันที่ 5 ก.พ. 2565 เว็บไซต์ DW รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์อเมริกันทำการวิจัยกับลิง โดยการให้ลิงที่ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นามาแล้ว 9 เดือน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกฉีดวัคซีนกระตุ้นแบบปกติเหมือนที่คนทั่วไปฉีด ส่วนอีกกลุ่มฉีดวัคซีนโควิดที่พัฒนาเพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ
ผลการทดสอบพบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งสูตรปกติที่ใช้กันอยู่ และสูตรที่ออกแบบมาเพื่อต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน มีประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของลิงให้สูงขึ้นเมื่อเจอไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน
แดเนียล ดวค นักวิจัยประจำสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้สรุปว่า นี่เป็นข่าวดีมาก เพราะมนุษยชาติอาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนโควิดสูตรใหม่ เพื่อต้านสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ โดยเขาเชื่อว่าวัคซีนโควิดที่มีอยู่น่าจะมีประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้
ขณะที่ศาสตราจารย์จอห์น มัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาชี้ว่า ข้อได้เปรียบจากการวิจัยที่ศึกษาจากลิงคือการที่นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้มันติดเชื้อโควิดเพื่อดูปฏิกิริยาหลังฉีดวัคซีนได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองวัคซีนโควิดจำเป็นต้องดูประสิทธิภาพหลังการใช้งานในมนุษย์เป็นหลักอยู่ดี