ผลการวิจัยล่าสุดชี้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทคต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ได้ เป็นความหวังท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์
วันที่ 8 มกราคม 2564 เว็บไซต์ Bloomberg รายงานว่า ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ชี้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้ ถือเป็นข่าวดีหลังหลายฝ่ายกังวลถึงไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ในอังกฤษและแอฟริกาใต้ที่กำลังระบาดในตอนนี้
นักวิจัยทดลองด้วยการนำเลือดของอาสาสมัคร 20 คนที่มีแอนตีบอดีจากการรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค มาทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองต่อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ โดยผลการศึกษาเบื้องต้นชี้ว่า แอนตีบอดีที่สร้างจากวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคสามารถต้านเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้ ไม่ต่างจากการต้านเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดิม
ผลการศึกษานี้ถือเป็นข่าวดี เนื่องจากเป็นสัญญาณว่า วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยี mRNA เช่นวัคซีนของไฟเซอร์ร่วมกับไบโอเอ็นเทค และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) น่าจะมีประสิทธิภาพต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ได้
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า การทดลองครั้งนี้เป็นเพียงผลเบื้องต้นเท่านั้น ที่สำคัญเป็นเพียงการทดลองกับไวรัสกลายพันธุ์เพียงสายพันธุ์เดียว ยังไม่ได้ทดลองกับไวรัสกลายพันธุ์ที่อังกฤษและแอฟริกาใต้โดยตรง อีกทั้งไม่สามารถรับประกันได้ว่า หากไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์เพิ่มเติม วัคซีนที่มีอยู่จะสามารถต้านเชื้อได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารบริษัทไบโอเอ็นเทค รวมทั้งผู้บริหารบริษัทโมเดอร์นา ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า วัคซีนของพวกเขาสามารถต้านเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่หากต้องพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ จะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ แต่ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตใช้งานใหม่ทั้งหมด
ไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ในอังกฤษและแอฟริกาใต้ กำลังเป็นข้อกังวลของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เนื่องจากมีความชัดเจนว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์ทำให้อัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นกว่าเชื้อดั้งเดิม แต่ยังไม่มีหลักฐานมากพอจะสรุปได้ว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์มีฤทธิ์รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมหรือไม่