รพ.สนามธรรมศาสตร์ ขอนายกฯ ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาโควิด-19 รายวัน หวั่นวิกฤตผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ทำตัวเลขแตะ 20,000 ความกดดันจะอยู่ที่บุคลากรด่านหน้าทั้งหมด
เฟซบุ๊ก รพ.สนามธรมศาสตร์ โพสต์ข้อความไว้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ซึ่งนับเป็นวันที่ 112 ของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ และวันที่51 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต
ผู้ป่วยใหม่รายวัน และผู้เสียชีวิตจากโควิดทำสถิติใหม่ ที่ 18,912 รายและ 178 คนตามลำดับ ยอมรับว่าไม่เคยเห็นตัวเลขระดับนี้มาก่อนและสะท้อนวิกฤตครั้งนี้ทวีคูณเข้าไปอีก ระบบสายด่วนขอความช่วยเหลือทุกเลขหมายเกินจะรับผู้ป่วยได้ทุกราย เพราะเตียงในโรงพยาบาลเต็มจนล้นจนออกมานอกลานจอดรถ
รพ.สนามธรรมศาสตร์ ระบุว่า อยากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ตั้งวอร์รูม เรียกประชุมทุกเช้ากับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นใน 24 ชม. ที่ผ่านมา และสั่งการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ให้ชัดเจนในแต่ละเรื่องรวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“ความจริง มันไม่ได้เป็นปัญหาของแพทย์พยาบาลหรอก เพราะพวกเขาทำกันจนเต็มที่ ทำกันจนหมดหนทางที่จะทำต่อแล้ว ทำได้แค่นั้นก็คือแค่นั้น ปาดเหงื่อ นั่งพัก แล้วก็หยุดทำ เพราะทำอะไรต่ออีกไม่ได้แล้ว แต่ที่จะสูญเสียทับถมลงไปเรื่อยๆ ก็คือชีวิตของผู้คน ผู้คนธรรมดาสามัญที่ไม่มีอะไรสลักสำคัญ แต่เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติสนิทอันเป็นที่รักและมีความหมายต่อครอบครัวของเขา เราจะเพิกเฉย ละเลยต่อการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมายในแต่ละวันอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่นะ เราจะร้องขอมากไปหรือเปล่า ที่อยากจะให้นายกรัฐมนตรีตั้งวอร์รูม เรียกประชุมทุกเช้ากับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นใน 24 ชม. และสั่งการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนในแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สั่งลอยๆ ให้ทุกฝ่ายไปคิดหาวิธีแก้ปัญหามาให้อย่างที่เคยทำ เรามีนายกรัฐมนตรีไว้เพื่อสั่งการ เพื่อตัดสินใจ และเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของชาติมิใช่หรือ”
จากวันนี้ไป จนถึงวันใดวันหนึ่งในอีกไม่นานนัก เมื่อผู้ป่วยถึง 18,000 แตะ 20,000 หรือมากกว่านั้น ภาระและความกดดันมหาศาลจะตกอยู่กับแพทย์ พยาบาลด่านหน้าในทุกๆ โรงพยาบาล ที่จะต้องรับภาระในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หลั่งไหลเข้ามาจนเต็มล้น และต้องรับความกดดันจากความคาดหวังจากผู้ป่วยและญาติ ในเงื่อนไขการทำงานที่ยากลำบากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือน้อยมาก จากระบบสาธารณสุขที่แทบไม่เหลือพลังจะไปประคับประคองหน่วยใดได้อีก มีแต่ใจและความรักในเพื่อนมนุษย์เท่านั้นที่ทำให้ระบบโรงพยาบาลของเรายังยืนอยู่ต่อไปได้