เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครอง พบผู้ปกครอง 3 ใน 4 อนุญาตให้บุตรหลานฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ร้อยละ 59.2 ต้องการฉีดเป็น pfizer
วันที่ 14 ก.พ. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการสำรวจแบบสอบถามความสมัครใจในการฉีดวัคซีนโควิดของประชาชน สาระสำคัญคือ การรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปตามความสมัครใจ การศึกษานี้ให้นักเรียนมัธยมปลาย 4 ท่าน ฝึกการทำวิจัย แบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการสอนให้คิดและวิเคราะห์เป็น เราเริ่มให้วัคซีนในเด็กอายุ 5- 11 ปี ได้เริ่มขึ้นแล้ว ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่าเด็กจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ควรจะได้รับวัคซีน
จากแบบสอบถามความสมัครใจในผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 5 ถึง 11 ปี ถึงความสมัครใจในการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยผ่านทางสื่อสังคม ในช่วงวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ปกครองตอบคำถามมาทั้งสิ้น 3,588 คน ผลที่ได้พอจะประเมินได้ดังแสดงในรูป
ผู้ตอบแบบสอบถามมีหลากหลายอาชีพ โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ รับราชการ ธุรกิจส่วนตัว บริษัทเอกชน และแม่บ้าน และอื่นๆ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะปริมณฑล และกระจายเกือบทั้งประเทศ
ผู้ปกครอง จำนวน 3,588 คน จะจะอนุญาตให้บุตรหลานที่อายุ 5-11 ปี รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร้อยละ 75.3 และไม่ขอรับวัคซีนร้อยละ 24.7 ในจำนวนที่จะไปรับวัคซีน (2,700 ตน) ชนิดของวัคซีนที่ต้องการ ตามที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. จะเป็น pfizer ร้อยละ 59.2 sinopharm 30.7 %, sinovac 5.6 %, และฉีดสลับชนิดของวัคซีน 4.6 %
จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ความต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กยังอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 3 ใน 4 และการเลือกฉีดชนิดของวัคซีนก็มีความหลากหลาย ที่น่าสนใจ คือคำถามปลายเปิด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ต้องให้กับบุตรหลานไปรับวัคซีน ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงอาการข้างเคียง และผลระยะยาวของวัคซีน การให้ความรู้ ประโยชน์ ผลที่ได้รับ และอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากวัคซีน ในวัคซีนชนิดต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยการตัดสินใจของผู้ปกครอง นักเรียนที่ทำการศึกษาคือ นายนรกิตติ์ สุทธินรเศรษฐ์ นางสาวลิตา ตันติประภาส นายนรเศรษฐ์ สุทธินรเศรษฐ์ และ นางสาวปิยาภา สุทธินรเศรษฐ์
ที่มา : https://www.facebook.com/yong.poovorawan