ศบค.แจงยังไม่ถอดรายชื่อจีนและเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อออกจากเขตโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ย้ำมาตรการคัดกรองต้องเข้มข้นไม่ให้เดินทางแบบเสรี ขณะที่ไทยป่วยโควิดเพิ่ม 8 ราย จากการตรวจเชิงรุกพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลยอดติดเชื้อสะสม 3,000 คน
วันที่ 8 พ.ค.2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 8 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,000 ราย ผู้ป่วยรักษาหายรวม 2,784 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เท่ากับมีผู้เสียชีวิตสะสม 55 คน โดยมีผู้ป่วยยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 161 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย มาจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ที่จ.ยะลา 3 ราย และติดเชื้อในชุมชนสัมผัสผู้เดินทางกลับจากมาเลเซีย อีก 5 รายเป็นต่างด้าว ที่ศูนย์กักกันผู้ต้องกัก อ.สะเดา จ.สงขลา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการขยายนิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งร่วมกับปัจจัยเสี่ยง สามารถไปตรวจได้ทันที การขยายนิยามผู้สงสัยติดเชื้อ (PUI) ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เพื่อให้คนเข้ามารับการตรวจหาเชื้อได้มากขึ้น เช่น มีปัจจัยเสี่ยงประวัติเดินทางไปยัง หรือมาจากพื้นที่เกิดโรค ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด ติดต่อกับคนจำนวนมาก ไปที่ชุมนุมชน ตลาดนัด ห้างฯ สถานพยาบาล ขนส่งสาธารณะ สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ และแพทย์สงสัยว่า ติดเชื้อ ซึ่งคนไทยสามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โฆษก ศบค. ยังรายงานว่า มีการขยายเกณฑ์ผู้ป่วยที่มีอาการสำคัญใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเข้าสู่กระบวนการการตรวจหาเชื้อและระบบการรักษาว่า ได้มีการปรับเกณฑ์ผู้ป่วยที่ต้องสงสัย หรือ PUI หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ 1 พฤษภาคม 63 เพื่อนำเคสเข้ามาตรวจให้มากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจจะป่วยด้วยโรคโควิด-19 และมีอาการแสดงออกดังต่อไปนี้ คือ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก รวมถึงผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ หากมีแค่ข้อใดข้อหนึ่งให้เข้ามารับการตรวจได้ รวมทั้งอาการจมูกไม่ได้กลิ่น สืบเนื่องจากรายงานระดับโลกรวมทั้งประเทศจีนและหลายประเทศพบว่า อาการจมูกไม่ได้กลิ่นเป็นอาการแรก ๆ ของโรคโควิด-19 หากมีอาการไม่ได้กลิ่นอย่างเดียวก็ให้เข้ามารับการตรวจได้ บวกกับการมีปัจจัยเสี่ยง ประวัติมีไข้อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาหรือไม่มีไข้ก็มาตรวจได้
ทั้งนี้ การขยายอาการที่เพิ่มขึ้น เพื่อดึงให้คนเข้ามารับการตรวจได้มากขึ้น สำหรับประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วันที่ผ่านมา คือ 1. มีประวัติเดินทางไปยัง หรือมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก่อน เช่น กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจังหวัดที่อยู่ภาคใต้ก็ได้ 2. ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก 3. ไปในที่ชุมนุมชน หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มของคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ 4. ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ขอให้เข้ามารับการตรวจ 5. แพทย์สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ส่งตรวจได้ โดยถ้าอยู่ในเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ
ยังไม่ถอนชื่อจีนและเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อเขตติดโรคติดต่ออันตรายโควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงกรณีมีการเสนอให้ถอดรายชื่อจีนและเกาหลี ออกจากรานชื่อประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ว่า ยังเป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุม ศบค. ซึ่งยังต้องมีขั้นตอนหารือ รวมทั้งเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยยังคงมีมาตรการเคร่งครัดในการจำกัดเที่ยวบิน ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้มีเที่ยวบินโดยสารทั่วไปเข้าประเทศ มาตรการ Fit to Fly ต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง ผู้เดินทางเข้าประเทศยังต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine หรือ Local Quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ซึ่งมั่นใจได้ว่า ด้วยมาตรการเหล่านี้ ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างเสรี ในระยะยาวนั้น หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย ก็จะมีมาตรการดูแลคนต่างชาติเช่นเดียวกับการดูแลคนไทย เช่นกรณี คนจีนที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรก สามารถรักษาจนหายและเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ของไทยสามารถสร้างความมั่นใจของการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อโอกาสที่ประเทศไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างปกติมาถึง
โฆษก ศบค. เผยการตรวจผู้ติดเชื้อจำนวน 40 รายที่จังหวัดยะลาและผู้ป่วยที่เป็นทหารเรือ ซึ่งต้องใช้ผลการตรวจถึง 3 แล็บชี้แจงว่า เป็นการทวนสอบหรือการตรวจซ้ำซึ่งเป็นมาตรฐานปกติทั่วไปเพื่อสร้างความมั่นใจ กรณีผู้ป่วย 40 รายนั้น เมื่อผลตรวจจากแล็บ 1 และ แล็บ 2 ไม่ตรงกัน ก็ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมที่แล็บ 3 กรณีผู้ป่วยที่มาจากกองทัพเรือ ผลตรวจในครั้งแรกให้ผลเป็นบวก ผลตรวจในครั้งที่ 2 ให้ผลเป็นลบ จึงมีความจำเป็นที่จะเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อทวนสอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ความสำคัญกับการตรวจเชื้ออย่างมาก หากการตรวจครั้งแรกให้ผลเป็นลบ ครั้งที่สองให้ผลเป็นบวก ก็จะทำการรักษาทันที แต่ถ้าหากครั้งแรกให้ผลเป็นบวก ครั้งที่สองให้ผลเป็นลบ แพทย์ผู้ตรวจจะต้องทำการสังเกตอาการ รวมทั้ง แพทย์อาจมีดุลยพินิจให้ตรวจซ้ำได้ เพื่อความรอบคอบและป้องกันบุคคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ที่มาเข้ารับการตรวจด้วย ถือว่าเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสังคม
โฆษก ศบค. ย้ำว่า การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากเร่งตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงสองกลุ่มหลักแล้ว อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังเน้นการตรวจหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติม รวม 6 กลุ่ม แบ่งเป็น 1. บุคลากรทางการแพทย์ 2. ผู้ต้องขัง 3. คนขับรถสาธารณะ 4. พนักงานไปรษณีย์ พนักงานส่งของ 5. แรงงานต่างด้าว และ 6. ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง บุคคลเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มของ 85,000 คน ที่จะต้องได้รับการจัดการให้เข้าถึงการตรวจ จำนวนตัวเลขผู้ได้รับการตรวจที่สูงเพียงพอ ยืนยันถึงความสามารถของระบบการทำงาน พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจได้
ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงกรณีผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนคำสั่งรวมถึงการแนะผู้ประกอบการในเฟส 2 ว่า ศบค. วางแผนตรวจสอบผู้ประกอบการแต่ละประเภท ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม ทั้งนี้ ไม่อยากให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเกิดโทษรุนแรงหรือถูกปรับ แต่ต้องการให้เกิดความปลอดภัย การปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดผลดีคือสามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ หากไม่มีการปฏิบัติตามอาจต้องปิดปรับปรุง ก่อนจะอนุญาตให้เปิดบริการใหม่อีกครั้ง โดยชุดตรวจประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข เข้าไปดูแลเพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ โดยมีมาตรการหลักและมาตรการเสริมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และประเภทของการใช้บริการ พร้อมย้ำว่าการร่วมมือของประชาชนกว่าร้อยละ 90-100 จะทำเดินหน้าสามารถเปิดระยะต่อไปได้