Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการระบาดของโคโรนาไวรัส แต่ในอีกด้านหนึ่ง มาตรการครั้งนี้ยังอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ไม่คาดคิด

 

 

ผู้หญิงและเด็กทั่วโลกซึ่งต้องใช้ชีวิตร่วมกับความรุนแรงในครอบครัว กลับไม่สามารถหลบหนีไปจากผู้กระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อพวกเขาได้ในระหว่างการกักตัว โดยในหลายประเทศ เช่น บราซิล เยอรมนี อิตาลี และจีน นักเคลื่อนไหวและผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

นักเคลื่อนไหวกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า ที่มณฑลหูเป่ย จุดศูนย์กลางการระบาดของไวรัสครั้งแรก พบว่ามีรายงานการเกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เฉพาะในเขตอำเภอเดียวในช่วงระหว่างการล็อคดาวน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จาก 47 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว เป็น 162 ครั้งในปีนี้

นายหวั่นเฟ่ย อดีตตำรวจผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศลด้านการต่อต้านการทำร้ายร่างกาย กล่าวว่า การระบาดของไวรัสได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว จากสถิติพบว่า ร้อยละ 90 ของสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19

ความรุนแรงในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ ในบราซิล ศูนย์บริการชุมชนของรัฐเผิดเผยว่าเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก

เอเดรียน่า เมลโล ผู้พิพากษาในนครริโอเดอจาเนโร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า เหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 ถึง 50 สิ่งที่เราพอทำได้คือการทำใจให้สงบ เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาของสเปน กล่าวว่า บริการสายด่วนให้ความช่วยเหลือได้รับการแจ้งเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20 ในช่วงของมาตรการล็อคดาวน์ ส่วนที่ประเทศไซปรัส สายด่วนในลักษณะเดียวกันนี้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หลังจากวันที่ 9 มี.ค. หลังจากที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศ

แอนนิตา ดราก้า จากสมาคมป้องเหตุความรุนแรงในครอบครัวในกรุงนิโกเซีย กล่าวว่า เหตุรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จึงมีผู้โทรแจ้งตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว สามารถชี้ให้เห็นเฉพาะในกรณีที่ผู้หญิงสามารถโทรขอความช่วยเหลือได้เท่านั้น ขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกลัวว่าผู้ที่ทำร้ายพวกเธอจะได้ยิน หรือกลัวว่ามันจะทำให้พวกเธอออกจากบ้านไม่ได้

ในอิตาลี นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การโทรแจ้งสายด่วนให้ความช่วยเหลือลดลงอย่างมาก แต่กลับพบว่ามีข้อความหรืออีเมล์ที่แสดงถึงความสิ้นหวังเพิ่มขึ้นมาก

เลลล่า พัลลาดิโน จาก EVA Cooperativa กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันความรุนแรงต่อสตรี กล่าวว่า ได้รับข้อความหนึ่งจากผู้หญิงที่ขังตัวเองในห้องน้ำ เพื่อขอความช่วยเหลือ ตอนนี้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเกิดขึ้นมากมาย และยิ่งน่าสิ้นหวังเพราะพวกเธอออกไปไหนไม่ได้ และเชื่อว่ารายงานการกระทำความรุนแรงต่อสตรีน่าจะสูงขึ้นอีกมาก หลังจากมาตรการล็อคดาวน์คลี่คลายลง

ส่วนในสเปน ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวด และผู้ฝ่าฝืนอาจต้องถูกปรับเงิน รัฐบาลแจ้งว่า ผู้หญิงจะไม่ถูกปรับหากพวกเธอต้องออกจากบ้านเพราะถูกกระทำความรุนแรง

แต่เมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีรายงานการเสียชีวิตที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ 5 วันก่อนหน้านี้ เมื่อหญิงคนหนึ่งถูกสามีสังหารต่อหน้าลูกๆ ที่จังหวัดบาเลนเซีย

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่เพิ่มขึ้น คือผลกระทบข้างเคียงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ การกระทำความรุนแรงคือรูปแบบที่มีการผลิตซ้ำในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง วิกฤตเศรษฐกิจ หรือในระหว่างการเกิดโรคระบาด

มาร์ซี่ เฮิร์ช ผู้จัดการอาวุโสกลุ่มเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรม Women Deliver กล่าวว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในทุกๆ สถานการณ์วิกฤต สิ่งที่เรากังวลคืออัตราความรุนแรงที่สูงขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของผู้หญิงที่ลดลง

ในหลายประเทศ ได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือนโยบาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด้กและสตรีที่เกิดขึ้นในช่วงของการกักตัวในช่วงโรคระบาด

ในสหราชอาณาจักร มันดู รี้ด ผู้นำพรรคความเท่าเทียมของสตรี เรียกร้องขอให้ตำรวจมีอำนาจพิเศษในการขับไล่ผู้กระทำผิดออกจากบ้านในช่วงมาตรการล็อคดาวน์ และขอให้ทางการยกเลิกค่าธรรมเนียมศาลสำหรับคำสั่งคุ้มครอง

อัยการที่เมืองเทรนโต้ ในอิตาลี ได้ระบุให้ผู้ที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้อื่นในครอบครัว จะต้องออกจากบ้าน ไม่ใช่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ โดยได้รับการชื่นชมจากสหภาพแรงงานอิตาลี ที่ระบุในแถลงการณ์ว่า การที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเพราะการระบาดของไวรัสก็เป็นเรื่องยากสำหรับทุกคนแล้ว แต่มันกลับกลายเป็นฝันร้ายสำหรับผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุรุนแรงทางเพศ

ส่วนที่เยอรมนี นางแคทรีน เกอริ่ง เอ็กฮาร์ต หัวหน้าพรรคกรีน กล่าวแสดงความกังวลว่า มีสตรีจำนวนมากที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านร่วมกับคู่รักที่มีพฤติกรรมรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับการสร้างบ้านพักฉุกเฉินสำหรับสตรีเพิ่ม เนื่องจากแม้ในช่วงเวลาปกติ สถานที่เหล่านั้นก็มีผู้ใช้บริการจำนวนมากแล้ว พร้อมเรียกร้องให้ทางการนำโรงแรมที่ไม่มีผู้ใช้บริการ มาเปลี่ยนเป็นบ้านพักสำหรับผู้หญิง

ด้านรองหัวหน้าพรรคกรีน กล่าวว่า ควรจัดให้มีโครงการเยี่ยมบ้านต่อไป ในกรณีที่สงสัยว่าอาจมีการประพฤติต่อเด็กที่ไม่เหมาะสม แม้จะมีการออกกฎห้ามในช่วงนี้ก็ตาม

ตำรวจในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย หนึ่งในพื้นที่ที่มีรายงานการกระทำความรุนแรงต่อสตรีสูงที่สุดในประเทศ ได้เปิดบริการสายด่วนให้ความช่วยเหลือหลังจากพบว่ามีรายงานเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้น

โฆษณาบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีข้อความว่า “หยุดยั้งโคโรนา แต่ไม่ใช่เสียงของคุณ” ตำรวจระบุว่าได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงดูแลแต่ละคดี และตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิดหากพบว่ากระทำความรุนแรง

ที่กรีซ เจ้าหน้าที่ได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือสตรีที่ประสบกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดในระหว่างการกักตัว เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการด้านนโยบายครอบครัวและความเท่าเทียมทางเพศของกรีซ เปิดเผยว่า เรื่องนี้คือปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นในช่วงเวลาของวิกฤตโรคระบาด เจ้าหน้าที่กำลังทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขเรื่องนี้ เมื่อได้ข้อมูลตัวเลขที่ถูกต้องในสัปดาห์หน้า เราก็จะทราบถึงความรุนแรงที่แท้จริงของปัญหา และจะขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อกระแสหลัก เพื่อเผยแพร่เรื่องนี้

ด้านนางปรีติ พาเทล รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ กล่าวในคอลัมน์ที่เขียนให้กับเว็บไซต์เดลี่เมล์ ว่า มาตรการล็อคดาวน์อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่บ้านของตนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น เธอตระหนักดีว่ามาตรการเว้นระยะทางสังคม (social distancing) และการกักตัว อาจทำให้มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมที่ถูกซ่อนเร้น เช่นความรุนแรงในครอบครัวและการคุกคามทางเพศต่อเด็ก

“สิ่งที่ฉันต้องการจะบอกต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทุกคนคือ เราไม่ได้ลืมพวกคุณ และเราจะไม่ทำให้คุณสูญเสียความศรัทธา ส่วนสิ่งที่ฉันต้องการจะบอกกับผู้กระทำความผิดทุกคนคือ คุณจะไม่มีวันลอยนวลไปกับสิ่งที่คุณได้ก่อไว้”

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2019 มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในอังกฤาและเวลส์ เป็นหญิงราว 1.6 ล้านคน และชาย 786,000 คน และเมื่อปี 2018 ทั่วสหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในครอบครัว 173 คน

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า