SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราอาจเห็นโลกเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนเสียชีวิตนับแสนและอีกนับล้านล้มป่วยจากโควิด-19 ส่วนผู้คนที่ร่างกายแข็งแรงดี อาจพบว่าวิถีชีวิตของตนเริ่มเปลี่ยนไปด้วย

จากวิกฤตการระบาดทำให้หลายประเทศและหลายเมืองต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ เช่นในอิตาลี ที่ออกข้อกำหนดการเดินทางออกนอกบ้านที่เข้มงวดที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนกรุงลอนดอน จากเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน ทางการประกาศปิดผับ บาร์ ร้านอาหาร และโรงละคร และสั่งให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน ขณะที่สายการบินทั่วโลกหยุดให้บริการ

 

 

มาตรการที่กล่าวมา ล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลที่ไม่คาดคิดตามมานั่นคือระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เช่นที่นิวยอร์ก ลดลงถึงร้อยละ 50 ส่วนที่จีนลดลงถึงร้อยละ 25 หลังจากทางการสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่บ้าน โรงงานหยุดการผลิต ขณะที่การใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่ใหญ่ที่สุดของจีน ลดลงถึงร้อยละ 40 นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จากข้อมูลของกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของวันที่มีคุณภาพอากาศดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ใน 337 เมืองทั่วจีน ส่วนในยุโรป ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ลดลงอย่างมากทางภาคเหนือของอิตาลี เช่นเดียวกับที่สเปน และสหราชอาณาจักร

ปัจจุบัน วิกฤตโรคระบาดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกแล้วถึง 183,470 คน และติดเชื้ออีกเกือบ 2.63 ล้านราย ซึ่งนี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว แต่เราไม่ควรมองว่านี่คือวิธีที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน และนี่ไม่ใช่วิธีการที่มีความยั่งยืนเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง เพราะท้ายที่สุดแล้ว การระบาดก็จะค่อยๆ ลดลง ผู้คนก็จะต้องออกมาใช้ชีวิตตามปกติเช่นเดิม และนั่นก็อาจทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนและมลพิษ กลับเข้าสู่สภาพเดิม

คิมเบอร์ลี นิโคลาส นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน จากมหาวิทยาลัยลุนด์ ในสวีเดน กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรต้องนำมาพิจารณาคือ เหตุผลต่างๆ ที่ทำให้การปล่อยก๊าซพิษลดลง เช่น การขนส่ง ที่มีการปล่อยมลพิษคิดเป็นร้อยละ 23 ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก ซึ่งลดลงในระยะสั้นในประเทศที่มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ด้วยการห้ามประชาชนออกนอกบ้าน

แล้วจะเป็นอย่างไร หากมาตรการต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลงในช่วงที่การระบาดลดลง นิโคลาสกล่าวว่า อาจเกิดกรณีที่คนเกิดอาการ “เบื่อบ้าน” อย่างรุนแรงหลังต้องกักตัวมานาน และออกเดินทางมากกว่าที่เดิม และอาจเกิดกรณีที่คนเหล่านั้น อาจรู้สึกยินดีทีได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว และหันไปสนใจกับสิ่งที่เป็นแก่นสารของชีวิต วิกฤตครั้งนี้ อาจทำให้คนหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และชุมชน ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง มันก็อาจช่วยลดการปล่อยมลพิษในระยะยาวได้

 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โรคระบาดส่งผลต่อระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรค มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษที่ลดลง แม้แต่ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

จูเลีย ปอนกราตซ์ อาจารย์ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและระบบการใช้ที่ดิน จากมหาวิทยาลัยมิวนิค พบว่าโรคระบาด เช่น การระบาดของกาฬโรคในยุโรป ในสมัยศตวรรษที่ 14 หรือโรคฝีดาษในอเมริกาใต้ ในสมัยศตวรรษที่ 16 ล้วนแต่ส่งผลต่อระดับก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ หลังมีการค้นพบฟองอากาศขนาดเล็กในแกนกลางของน้ำแข็งยุคโบราณ

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนการศึกษาอื่นๆ พบว่าการเสียชีวิต ทำให้พื้นที่ที่เคยใช้สำหรับการทำการเกษตรถูกทิ้งร้าง จนกลายสภาพเป็นป่า และทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ลดตามไปด้วย

ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นในอดีต และอาจไม่ทำให้การใช้ที่ดินลดตามไปด้วย และอาจเป็นเช่นเดียวกับในยุควิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008-2009 ที่ทำให้ระดับการปล่อยมลพิษทั่วโลกลดลงนานกว่า 1 ปี เนื่องจากกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลง ที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบได้กับกิจกรรมด้านการขนส่ง โดยการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม การผลิต และการก่อสร้าง รวมกันคิดเป็นร้อยละ 18.4 ของกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของมนุษย์ทั่วโลก ขณะที่วิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมลดลงร้อยละ 1.3 แต่กลับมาสู่ระดับเดิมอย่างรวดเร็วในปี 2010 หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนกลับมาอีกครั้งคือ ระยะเวลาของการระบาด ปอนกราตซ์ กล่าวว่า “ในขณะนี้ยังยากที่คาดการณ์ หากการระบาดยังยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปี อาจทำให้ความต้องการของผู้บริโภคยังคงลดต่ำ เนื่องจากรายได้ที่ลดลง การใช้พลังงานฟอสซิลและน้ำมันอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว แม้ความสามารถในการรองรับจะมีอยู่แล้วก็ตาม

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตในปี 2020 ถึงแม้ว่าหลายสำนักจะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงกว่าครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่ถึงกระนั้น เกลน ปีเตอร์ส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในกรุงออสโล ระบุว่า ปี 2020 โดยรวม การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกจะลดลงร้อยละ 0.3 แม้จะน้อยกว่าในยุควิกฤตการเงินโลกปี 2008 แต่โอกาสที่จะกลับมามากเท่าเดิมมีน้อยกว่า หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงานสะอาด

จากผลกระทบของโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง อาจเกิดคำถามที่ว่าเราควรจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหรือไม่ “อาจิต นิรันจัน” ผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อมจากสถานีโทรทัศน์ DW News ของเยอรมนี กล่าวว่า เราจำเป็นต้องกลับสู่ภาวะปกติ แต่ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป มันเป็นเรื่องยากที่จะพูดคุยเกี่ยวกับความหวังหรือการเฉลิมฉลองให้กับผลของการล็อคดาวน์ เพราะตอนนี้เราอยู่ท่ามกลางการระบาด และนี่เป็นวิกฤตที่มีความเร่งด่วนมากกว่าวิกฤตด้านสภาพอากาศโลก เราสามารถเข้าใจได้ว่าการที่ผู้คนรู้สึกยินดีกับสิ่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อเราพูดถึงปัญหาคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากที่สุด กว่า 7 ล้านคนต่อปี และทำให้อายุของเราสั้นลงโดยเฉลี่ย 3 ปี

สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ในระยะสั้นคือ ผู้คนได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น แต่คำถามคือ มันจะอยู่กับเราไปนานอีกเท่าใด และเมื่อมาตรการล็อคดาวน์สิ้นสุดลง สภาพเศรษฐกิจจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไรด้วยวิธีที่ไม่นำไปสู่การสร้างมลพิษเพิ่มขึ้น

แม้การระบาดและการชัตดาวน์ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง จนทำให้เยอรมนีและหลายประเทศอาจบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่นี่อาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

นิรันจัน ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศกล่าวว่า นี่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก แต่ก็มีทางออกที่ชัดเจนที่ช่วยทำให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ตกลงกันไว้ ด้วยวิธีการที่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่นพลังงานลม และแสงอาทิตย์ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหาร เช่นเนื้อวัว เพราะการเลี้ยงวัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซมีเทนหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งเนื้อสัตว์เหล่านี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ การหาวิธีการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เช่นการล็อคดาวน์ในปัจจุบัน

 

 

อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง จะไม่ช่วยให้ปัญหาโลกร้อนยุติลงได้

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเผยแพร่แถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เม.ย. โดยระบุว่า โรคโควิด-19 อาจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแทนที่การรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนได้

นายเพตเตรี ทาลัส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่า ขณะที่โรคโควิด-19 สร้างวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ร้ายแรง แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ ยาวนานหลายร้อยปี หากเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ และสิ่งที่เราต้องทำคือการลดความรุนแรงของทั้งโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ยใหม่ของอุณหภูมิโลกจะเปลี่ยนไปในช่วงปี 2020-2024 และอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์

ด้านฮิวแมน ไรท์ วอตช์ กล่าวว่า ผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก ที่สุดแล้วอาจขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะเลือกดำเนินนโยบายอย่างไร และอยากให้เศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางเป็นอย่างไร เมื่อวิกฤตครั้งนี้คลี่คลายลง และที่สำคัญคือพวกเขาจะยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกมากน้อยแค่ไหน

หลายฝ่ายมองว่า ความพยายามในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาด คือโอกาสในการหันมาใช้พลังงานทางเลือก เช่นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพลังงานสะอาด หรือการปรับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อให้ลดการปล่อยก๊าซลงให้ได้มากที่สุด ส่วนความช่วยเหลือในภาคการเงิน ธนาคารต่างๆ อาจลดการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มการลงทุนในด้านการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า