SHARE

คัดลอกแล้ว

วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปิดตัวลง ได้ส่งผลอย่างไม่คาดคิดต่อสภาพแวดล้อมทั่วโลก ทั้งข่าวที่ชาวอินเดียบางส่วนสามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้อย่างชัดเจนในรอบหลายสิบปี ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นระดับมลพิษที่ลดลงอย่างมากทั่วจีนและยุโรป

ภาพ: TWITTER @abbu_pandit

 

การระบาดส่งผลให้โรงงานต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว ผู้คนออกจากบ้านลดลงส่งผลให้ขับรถน้อยลงเพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งของจีนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีระดับมลพิษในอากาศสูงติดอันดับโลก กลับมีท้องฟ้าที่สดใส

มลพิษทางอากาศที่ลดลง ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศที่นับเป็นปัญหาใหญ่ของจีน ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 1 ล้านคนในทุกๆ ปี ดีขึ้นทันตาเห็น

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายสิ่งแวดล้อม เตือนว่า นี่อาจไม่ใช่ความหวังสำหรับมนุษย์ เพราะการลดการปล่อยก๊าซพิษและมลพิษอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ไม่ทำให้สังคมได้รับความเสียหาย และยิ่งไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าระดับมลพิษจะกลับมาสูงอีกครั้งเมื่อการระบาดของไวรัสเริ่มเบาบางลง และในบางกรณีอาจกลับมาด้วยผลที่มีความรุนแรงยิ่งกว่า

เวด แมคกิลลิส อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าการระบาดจะก่อให้เกิดความหวังด้านสิ่งแวดล้อม คนที่มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถย้ายไปอาศัยไหนได้ ชีวิตของคนเหล่านี้กำลังถูกทำลาย

 

 

ในระยะสั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องมหัศจรรย์ โดยภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานอวกาศยุโรป แสดงให้เห็นถึงระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล ที่นำไปสู่การเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ที่ลดลงในหลายเมืองทั่วยุโรป ที่รวมถึงกรุงปารีส มาดริด และโรม ในขณะที่หลายประเทศบังคับใช้มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ และจำกัดการเดินทางของประชาชน เช่นเดียวกับหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ที่ประชาชนจำเป็นต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้าน เช่น ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก

จากข้อมูลการวิเคราะห์ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร “คาร์บอน บรีฟ” ระบุว่า จีน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลงกว่า 1 ใน 4 ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ นับตั้งแต่ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้

นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถบันทึกข้อมูลการลดลงของระดับมลพิษในลักษณะเดียวกันนี้ ในก๊าซพิษชนิดอื่นๆ อย่าง ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละออง ในจีน ซึ่งมีความพยายามในการลดปัญหามลพิษทางอากาศในหลายเมืองใหญ่มานานหลายปี

ในทางทฤษฎีแล้ว การลดลงอย่างมากของปัญหามลพิษและการปล่อยก๊าซคาร์บอน ถือเป็นพัฒนาการในแง่บวกสำหรับโลกและมนุษย์ เพราะปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลให้มนุษย์เสียชีวิตนับหลายล้านคนในแต่ละปี ทั้งยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

อากาศที่บริสุทธ์ยังอาจช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รู้สึกเบาใจในระยะเวลาสั้นๆ เพราะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้อย่างสะดวกมากขึ้น แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะกล่าวว่า การที่ต้องสูดดมมลพิษมานานหลายปี อาจทำให้เราหลายคนสามารถติดเชื้อดังกล่าวได้ง่ายขึ้นก็ตาม

ซาช่า มาร์สชาง รักษาการเลขาธิการสมาคมสาธารณสุขยุโรป กล่าวว่า “ความเสียหายได้เกิดขึ้นมานานแล้ว การที่เราหายใจเอาอากาศสกปรกที่เกิดจากไอเสียรถยนต์และอื่นๆ เข้าไปนานหลายปี จะยิ่งทำให้สุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วยยิ่งอ่อนแอลง”

การปล่อยมลพิษที่ลดลงอาจดูเหมือนเป็นชัยชนะสำหรับการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกจำเป็นต้องขึ้นสู่ระดับสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อให้โลกสามารถรักษาระยะเวลาที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งระดับดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลรุนแรง เช่น การลี้ภัยของประชากรจำนวนมหาศาลจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียแนวปะการังโลก

ในขณะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ที่เป็นผลมาจากการะบาดของโควิด-19 อาจทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงในปีนี้ แต่หากปราศจากความร่วมมือกันของหลายฝ่าย การปล่อยมลพิษก็จะไม่มีแนวโน้มลดลง

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนแสดงให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซพิษและปัญหามลพิษอาจย้อนกลับมาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อปลายเดือนมีนาคม ความต้องการใช้ถ่านหินและมลพิษที่เกิดจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ จีนจะใช้ช่วงเวลานี้ในการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือไม่? มาตรการนี้อาจช่วยในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดได้อย่างรวดเร็ว และพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม อาจจะไม่ทำให้มลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซพิษ ลดลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก จำเป็นต้องตอบคำถามในลักษณะเดียวกันนี้ หากผู้กำหนดนโยบายใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นและยั่งยืนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ท้องฟ้าที่แจ่มใสที่เราเห็นในวันนี้ คือตัวอย่างของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าจะใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะไปถึงจุดนั้นก็ตาม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า