SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่รอเตียง เข้าสู่ระบบรักษาได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงส่วนน้อยที่ปฏิเสธโรงพยาบาลที่จัดให้ ชี้โรคนี้อาการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เพื่อความปลอดภัยผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาป้องกันอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมแนะข้อปฏิบัติระหว่างรอเตียง รอผลตรวจและการให้นมบุตรของผู้ติดเชื้อ

วันที่ 20 เม.ย.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นวันละ 1,000 กว่าราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรอเตียงจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงพยาบาลทุกสังกัดบริหารจัดการเตียง ยืนยันมีเตียงเพียงพอ ทั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลสนามและ Hospitel สำหรับ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ โดยมีเกณฑ์ประเมินผู้ติดเชื้อที่จะเข้ารับการรักษาตามอาการ และมีศูนย์ประสานงาน 3 สายด่วน ได้แก่ สายด่วน 1668 ,สายด่วน 1669 และสายด่วน 1330

สำหรับ สายด่วน 1668 กรมการแพทย์ เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ เปิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานรวบรวมเตียงจากทุกสังกัด ในเขต กทม.และปริมณฑล โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่ วันที่ 10-18 เม.ย.2564 มีการประสานการจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อใน กลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีเขียว สามารถเข้าสู่การรักษาได้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยมีผู้ประสงค์ขอเตียง จำนวน 1,204 คน รับเข้าโรงพยาบาลแล้ว 627 คน ที่เหลือคาดว่า จะได้เตียงภายใน 1-2 วัน ระหว่างรอเตียงได้จัดให้ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยมติดตามอาการทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษาตามระบบของกระทรวงสาธารณสุขประสานให้ ทำให้มียอดคงค้างในระบบ ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไปรับการตรวจในคลินิก หรือ โรงพยาบาล ที่ไม่มีเตียงรองรับจะใช้เวลารอการประสานจัดหาเตียง ไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง

“ขอย้ำว่าตอนนี้มีเตียงว่างอยู่ แต่ความต้องการอาจไม่ตรงกับสิ่งที่จัดให้ ซึ่งตามหลักแล้วผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการรักษาทุกกรณี ตามเกณฑ์สีเขียว เหลือง แดง กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงผู้ติดเชื้อทุกราย หากคิดว่าไม่มีอาการและนอนอยู่บ้าน จนมีอาการรุนแรงขึ้นอาจเข้ารับการรักษาไม่ทัน จะทำให้อาการหนักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากเข้ารักษาในระบบอยู่ในความดูแลของแพทย์ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการสูญเสียได้ สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม กฎระเบียบ เพื่อช่วยให้การจัดการและการดูแลผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อที่รอเตียงและรอผลการตรวจ ขอให้งดพบปะผู้คน, ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสจุดเสี่ยง, แยกห้องส่วนตัว แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว สำหรับกรณีมารดาที่ให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า ไม่พบเชื้อโควิด 19 ในน้ำนม แต่มารดาต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง ทำความสะอาดร่างกาย สวมหน้ากากตลอดเวลา

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า มีการตั้งคำถามอย่างมากมายในเรื่องของฟ้าทะลายโจร ว่า มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ รวมถึง สามารถรักษาในคนที่ติดเชื้อได้หรือไม่ ต้องขอชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเคยให้ความสนใจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 มีการศึกษาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ซึ่งพบว่า ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีสารออกฤทธิ์สำคัญ ชื่อ ‘สารแอนโดรกราโฟไลด์’ (Andrographolide) ซึ่งในการทดลองพบว่า มีฤทธิ์การต้านไวรัสที่น่าสนใจ โดยเมื่อปีที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาว่า ฟ้าทะลายโจร พอไปอยู่กับเซลล์ในร่างกายแล้วจะป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ปรากฏว่า เชื้อไวรัสสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเซลล์บนที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ได้ ฉะนั้นแปลว่า “ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันโควิดได้” ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด และต้องมีมาตรการป้องกันโรคเช่นเดิม

แต่สารแอนโดรกราโฟไลด์ ในฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ฆ่าไวรัสในหลอดทดลองได้ และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้ รวมทั้ง ยังเป็นยาลดไข้ที่ดี ใช้เป็นยาหลักในการลดไข้ตั้งแต่ปี 2559 และมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ด้วย และยังส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ด้วย ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทย และกรมการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมการศึกษาวิจัยใน 9 โรงพยาบาล กับผู้ป่วย 304 คน เริ่มในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปอดบวม โรงพยาบาลให้เขาทานยาฟ้าทะลายโจร พร้อมกำหนดขอให้มีระดับของสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เพียงพอ สำหรับการกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ในที่สุดก็คำนวณได้ว่าต้องอยู่ในระดับ 180 มก.และแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง เพราะสารตัวนี้พอรับประทานวันละครั้งระดับยาในเลือดจะขึ้นๆ ลงๆ ต้องแบ่งให้หลายครั้ง และรับประทานติดต่อกัน 5 วัน

ที่น่าสนใจคือ ในผู้ป่วย 304 ราย ทุกรายอาการดีขึ้น และด้วยขนาดยา และระยะเวลาที่เราคำนวณกันมาเรียบร้อยเราไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เวียนศรีษะ ใจสั่น หน้ามืด รวมถึงถ่ายเหลว

จึงสรุปว่า “ฟ้าทะลายโจรมีโอกาสเป็นข้อเสนอเป็นทางเลือกที่สำคัญในการใช้รักษาโควิด กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง” และขณะนี้เรามีการขยายการศึกษาลงไปสู่กลุ่มโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ก็สนใจนำฟ้าทะลายโจรไปใช้ในผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง และหากมีความก้าวหน้าอย่างไร กรมการแพทย์จะหยิบยกผลลัพธ์มารายงาน

อย่างไรก็ตาม แม้มีประโยชน์แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยแพ้ยาฟ้าทะลายโจรมาก่อน หรือรับประทานครั้งแรกผื่นขึ้น การแพ้แบบนี้เป็นสัญญาณว่าต้องหยุดใช้ เช่นเดียวกับ หญิงตั้งครรภ์ ก็ไม่แนะนำ รวมถึงหญิงให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคตับ ไต และที่ต้องห้ามพิเศษคือ ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคประจำตัว อาทิ วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล และยาลดความดันโลหิต ถ้ารับประทานรวมกันอาจทำให้ประสิทธิภาพออกฤทธิ์ไม่เหมือนเดิม

ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านมานาน ฤทธิ์ของมันสามารถเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นข้อแนะนำได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเราจะส่งเสริมสุขภาพดูแลภูมิคุ้มกันได้ดี ต้องรับประทานประมาณ 20 มก./วัน ติดต่อกัน 5 วัน และหยุดพักอย่างน้อย 2 วัน และทำได้ต่อกันไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ต้องระวังอาการข้างเคียง ข้อแนะนำนี้เกิดจากการศึกษาในประเทศชิลี ซึ่งพบว่าเมื่อให้ผู้เป็นอาสาสมัครรับประทานฟ้าทะลายโจรในปริมาณดังที่กล่าวมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ปรากฏว่าผู้เป็นอาสาสมัครติดเชื้อหวัดน้อยลง ก็เป็นคุณค่าสมุนไพรที่ต้องศึกษากันต่อไป ถ้าไม่มีข้อห้ามอะไรก็อาจเป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม พญ.อัมพร เสริมอีกว่า มีหลายคำถามที่คนตั้งคำถามเยอะมากคือ เรามีสมุนไพรเยอะแล้วสามารถนำมารักษาโควิดได้หรือไม่ เช่น กล้วยดิบ ที่มีฤทธิ์ฝาด โดยบอกว่า เมื่อรับประทานเข้าไปช่องทางที่ฤทธิ์ของกล้วยดิบลงไปสู่ร่างกายเรา คือ ระบบทางเดินอาหาร หรือกระเพาะอาหาร ซึ่งไม่ใช่ช่องทางเดียวกับเชื้อไวรัสโควิดที่เข้าช่องทางระบบหายใจ ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ป้องกันได้ หรือแม้แต่ วิธีใช้น้ำมะนาวกลั้วคอ ก็ลักษณะคล้ายกันคือ ลงสู่ระบบทางเดินอาหาร

ส่วนยาพื้นบ้านอื่นๆ มีบทบาทสำคัญในแง่การส่งเสริมสุขภาพโดยรวม แต่ไม่ได้จำเพาะว่า ป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ขณะที่ กระชาย มีการศึกษาได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงฟ้าทะลายโจร แต่ขณะนี้ไม่สามารถออกรูปแบบกระจายให้สะดวกต่อการรับประทานในระดับยาที่สูงพอต้านไวรัสได้ แปลว่าเราค้นพบกระชายครึ่งกิโลถึงจะทำให้การรับประทานต่อครั้งต้านไวรัสได้ ซึ่งก็เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ตอนนี้กลไกของกระชายกำลังอยู่ในขั้นวิเคราะห์คาดว่าจะมีความก้าวหน้ามาบอกเล่าในครั้งต่อไป เช่นเดียวกับกัญชาที่มีสารอาจจะถูกเป็นทางเลือกในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ใช่สารป้องกันหรือรักษาโควิดได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า