สำรวจการ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนไทย
จากข้อมูลการใช้เครือข่ายดีแทคในช่วง Covid19
วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงวิกฤติด้านสาธารณสุข แต่ยังนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบผู้คนทุกกลุ่มด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากก็กำลังจะออกมาสู่โลกการทำงานที่อาจไม่มีงานรองรับ ในขณะที่กลุ่มคนที่ยังคงรักษางานและอาชีพของตัวเองไว้ได้ บางส่วนก็ต้องยอมถูกลดเงินเดือนและค่าจ้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
วิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดดังกล่าว ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มทุกระดับต้องปรับตัว หลายคนที่ตกงานจนไม่มีกำลังทรัพย์และกำลังซื้อเพียงพอที่จะอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯ อาจต้องตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงเพียงต่างจังหวัด แต่อาจเท่ากับการเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อกลับสู่บ้านเกิดที่ไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดินไทยด้วย
วันที่
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลให้
เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนขนานใหญ่
ทั้งการเคลื่อนย้ายภายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การย้ายออกสู่ต่างจังหวัด ไปจนถึงการย้ายถิ่นจากประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ
และหากเราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจน ก็เท่ากับว่าเราจะสามารถมองเห็นผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างรอบด้านขึ้นด้วย ว่าไม่ใช่เป็นเพียงวิกฤติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นวิกฤติด้านประชากรที่มีการแปรผันในวิถีชีวิตผู้คนผนวกอยู่ในนั้นด้วย
ทีมข่าว workpointTODAY ได้ร่วมมือกับดีแทค
ในการนำสถิติการใช้ข้อมูลมือถือผ่านเครือข่ายดีแทคของคนไทยทั่วประเทศมาวิเคราะห์
เพื่อศึกษาแบบแผนการใช้โทรศัพท์มือถือผ่านเครือข่ายดีแทคที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทย และตอบคำถามว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลในด้านประชากรศาสตร์ให้คนไทยทั่วประเทศต้องย้ายถิ่นฐานไปอย่างไรบ้าง
วันที่
จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ข้อมูล (data) ผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้เครือข่ายดีแทค พบว่าน่าจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนในประเทศไทยออกจากเมืองกรุงสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะสู่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
จากข้อมูลพบว่าในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์หลายอย่างได้มีการประกาศใช้แล้ว เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการกำหนดเคอร์ฟิว ในช่วงดังกล่าวพบว่าคนไทยใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคมากกว่าในช่วงต้นเดือน มี.ค. ประมาณ +9.58%
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลแยกแต่ละภูมิภาค พบว่าการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งที่ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ +10% โดยในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย.
การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเพียง +0.12% จากช่วงต้นเดือน มี.ค. และหากรวมเขตปริมณฑลเข้าไปด้วย การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคก็ยังเพิ่มขึ้นเพียง +3.65% เท่านั้น ในขณะที่การใช้ข้อมูลจากพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพิ่มขึ้น +16.15%, +13.52% และ +16.48% ตามลำดับ
ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้พอสรุปได้ว่าในระหว่างที่เกิดการระบาดของโควิด-19 น่าจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนไทย จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะสู่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
การย้ายถิ่นฐานออกสู่ต่างจังหวัดของคนไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ยังหมายถึงความต้องการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคที่ไปกระจุกตัวหนาแน่นขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทางดีแทคตั้งเป้าจะขยายบริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการบนคลื่นทีโอที เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐาน ภายในปี 2563 เพื่อตอกย้ำในความเป็นผู้นำการให้บริการ 4G-TDD เร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วย
การใช้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ
ในเขตใจกลางกรุงเทพฯ ลดลงในช่วงวิกฤติโควิด-19
วันที่
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากสถิติการใช้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือเครือข่ายดีแทค จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่การใช้ข้อมูลลดลงอย่างมากในช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 คือเขตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช้อปปิ้ง เช่น เขตบางรัก ที่มีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติอย่างย่านสีลมและถนนพัฒน์พงศ์ ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. การใช้ข้อมูลในเขตนี้ลดลงถึงประมาณ -30% ในขณะที่เขตพระนครที่มีถนนข้าวสารซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอีกแห่งของชาวต่างชาติ ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในเขตนี้ก็ลดลงประมาณ -25% ส่วนเขตวัฒนาที่มีย่านท่องเที่ยวอย่างทองหล่อและเอกมัย การใช้ข้อมูลในช่วงเดียวกันนี้ก็ลดลงกว่า -20% สำหรับเขตจตุจักรที่มีสวนจตุจักรซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ของทั้งชาวไทยและต่างชาติ การใช้ข้อมูลก็ลดลงประมาณ -15% และเขตราชเทวี ที่เป็นย่านช้อปปิ้งเสื้อผ้าขนาดใหญ่และมีทั้งประตูน้ำและแพลตตินั่ม แฟชั่นมอลล์ การใช้ข้อมูลในย่านนี้ก็ลดลงถึงเกือบ -25% ในระหว่างที่มีการล็อกดาวน์
การใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้า
ลดลงมากกว่าในพื้นที่อื่น
วันที่
และเขตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดคือเขตปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าและแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ มาบุญครอง สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามสแควร์ เฉลี่ยแล้วในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่เป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคอย่างเข้มข้นที่สุด การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในเขตนี้ลดลงมากกว่า -40% โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในเขตนี้ลดลงมากที่สุดถึง -43.98% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ไทยยังไม่ได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์
นอกจากนี้ เมื่อดูการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคอย่างละเอียดโดยแยกตามประเภทของสถานที่ จะพบว่าในช่วงล็อกดาวน์ ห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ข้อมูลลดลงอย่างมาก โดยลดลงจากช่วงปกติกว่า -66% ในขณะที่พื้นที่ประเภทอื่น การใช้ข้อมูลลดลงไม่มากเท่า เช่น พื้นที่ที่เป็นออฟฟิศการใช้ข้อมูลลดลง -41% ในขณะพื้นที่อย่างโรงพยาบาล การใช้ข้อมูลลดลงเพียง -19%
สะท้อนให้เห็นว่าการล็อกดาวน์ที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโรคระบาด กระทบพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างห้างสรรพสินค้ามากกว่าพื้นที่อื่นๆ
วันที่
นอกจากนี้ จากข้อมูลยังชี้ด้วยว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้กลับมาเท่าเดิมแม้จะมีการคลายล็อกดาวน์แล้ว เช่นเขตบางรัก ที่ในช่วงต้นเดือน ส.ค. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในย่านนี้ก็ยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติกว่า -22% รวมถึงเขตราชเทวี ปทุมวัน และวัฒนา ที่ในช่วงต้นเดือน ส.ค. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคจากในพื้นที่เหล่านี้ก็ยังลดลงติดลบ 16-18% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ แสดงให้เห็นว่าแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้จะกลับมาคึกคักขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเที่ยบเท่ากับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้
ในขณะเดียวกัน หากดูข้อมูลในพื้นที่ปริมณฑล จะเห็นได้ว่ามีหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ที่ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ หยุดชะงัก การใช้ข้อมูลในพื้นที่เหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้ต้องหยุดทำงานชั่วคราว หรือหากยังคงทำงานก็ต้องทำจากที่บ้าน ทำให้คนกลุ่มนี้ที่ปกติแล้วเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางเมือง จำต้องอยู่ในที่พักตลอดวัน
และส่งผลให้การใช้ข้อมูลในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย เช่น อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร, อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี, อ.ดอนตูม จ.นครปฐม, อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี และ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ เป็นต้น พื้นที่เหล่านี้มีการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ +20% ในช่วงเดือน เม.ย.
ข้อมูลข้างต้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงลักษณะของกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองความหนาแน่นต่ำ แต่ความแออัดสูง กล่าวคือผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ทำให้โดยรวมแล้วกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นต่ำ ในขณะเดียวกันพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่น ศูนย์การค้า แหล่งช้อปปิ้ง และออฟฟิศจำนวนมากกลับกระจุกตัวอยู่กลางเมือง ทำให้ในช่วงเวลาทำงาน ผู้คนต้องแห่เดินทางเข้ามาสู่พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ นำมาซึ่งปัญหาความแออัดในช่วงกลางวัน
รูปแบบการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของผังเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่โซนที่อยู่อาศัยมักอยู่นอกเมือง และกันพื้นที่ใจกลางเมืองไว้สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาเมืองหนาแน่นต่ำ แต่แออัดสูงดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชั่วคราวในช่วงวิกฤติโควิด-19 ของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนี้ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในเขตปริมณฑลเข้มข้นขึ้น ทางดีแทคจึงได้มีการขยายอุปกรณ์ Massive MIMO ซึ่งเป็นอุปกรณ์รับส่งสัญญาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงข่าย 4G ของดีแทค โดยทั้งหมดนี้ช่วยให้โครงข่ายดีแทคสามารถรองรับการดาวน์โหลดข้อมูลที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 3 เท่า เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานที่มากขึ้นในพื้นที่เขตปริมณฑลรอบนอกกรุงเทพฯ
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง
ต่อการค้าชายแดนที่ จ.สระแก้ว
วันที่
สถิติการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทค ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย เช่นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งมีศูนย์กลางการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นั่นคือตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จากสถิติการใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือผ่านเครือข่ายดีแทคพบว่าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. การใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือผ่านเครือข่ายดีแทคใน อ.อรัญประเทศ หายไปทันทีกว่า -45% โดยในช่วงสัปดาห์ที่เริ่มมีการประกาศปิดชายแดนไทย-กัมพูชา 23-29 มี.ค. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่ อ.อรัญประเทศลดลงทันทีกว่า -44% สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตลาดโรงเกลือที่หยุดชะงักลงทันทีที่มีการปิดชายแดน และซบเซายาวไปจนถึงช่วงต้นเดือน ก.ค.
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเปิดชายแดนไทย-กัมพูชาที่ จ.สระแก้วอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค. การใช้ข้อมูลโทรศัทพ์มือถือผ่านเครือข่ายดีแทคก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการค้าขายชายแดนที่กลับมาคึกคักตามเดิม
โดยในช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.ค. – 2 ส.ค. ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากเปิดชายแดนอีกครั้ง พบว่าการใช้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือผ่านเครือข่ายดีแทคกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 แล้ว โดยมีการใช้ข้อมูลน้อยกว่าช่วงต้นเดือน มี.ค. เพียง -3.64% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า หลังจากมีการเปิดชายแดนไทย-กัมพูชา การค้าชายแดน ณ ตลาดโรงเกลือน่าจะกลับมาคึกคักแทบจะเท่าเดิมแล้ว
การให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ประชากรไม่หนาแน่น แต่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางเช่นนี้ ต้องการคลื่นความถี่ต่ำที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกล เช่น คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ทางดีแทคได้เคยให้ข้อมูลกับทีมข่าว workpointTODAY ว่ามีแผนขยายบริการ 4G เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ มาเพิ่มความครอบคลุมของสัญญาณในภูมิภาคสำคัญทั่วไทย โดยพร้อมที่จะให้บริการ เพียงแค่ต้องรอเดินหน้าหลังจาก กสทช. ได้มอบใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่าจะได้รับภายในไตรมาส 4 ปี 2563 นี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า