ทุกวันนี้ต้องพูดว่า คนไทยชอบทาน ‘ขนมปัง’ น่าจะพอๆ กับข้าว และบางคนทานแทบจะครบ 3 มื้อด้วยซ้ำ ทั้งนี้มีข้อมูลว่าในปี 2567 ตลาดในประเทศไทยสำหรับ ‘เบเกอรี่’ คาดว่าจะแตะ 40,000 ล้านบาท
ดังนั้น มีหรือที่ CPRAM ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์ขนมปังที่เราน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ชื่อว่า ‘เลอแปง’ ซึ่งวางจำหน่ายในเซเว่น-อีเวฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ จะปล่อยให้ตลาดนี้หลุดมือไปง่ายๆ
โดยในปี 2566 CPRAM โกยรายได้ไปกว่า 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเบเกอรี่ถึง 30% ในพอร์ตที่ทำเงิน และในปีนี้ตั้งเป้าถึง 30,000 ล้านบาท ดังนั้น แผนขยายการผลิตขนมปัง ที่กระแสกำลังมาแรงจึงถูกบรรจุเข้าไปในกลยุทธ์การตลาดล่าสุด
[ ขนมปังแผ่น = โรงงานแห่งที่ 16 ]
ก่อนที่จะมีโรงงานผลิตขนมปังแผ่นแห่งใหม่ในจังหวัดชลบุรี CPRAM มีทั้งหมด 7 สาขา 15 โรงงานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1 เป็นแห่งที่ 16 บนพื้นที่ 45 ไร่
‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้พูดในระหว่างสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เหตุผลที่ลงทุนมากถึง 2,000 ล้านบาท กับโรงงานแห่งที่ 16 เพราะเทรนด์กับบริโภคขนมปังของคนไทยที่มากขึ้นอย่างน่าสนใจ”
สำหรับกำลังการผลิตขนมปังแผ่นที่โรงงานแห่งที่ 16 นี้ สามารถผลิตเต็มกำลังได้ที่ 2.4 ล้านแผ่นต่อวัน และหากรวมกับโรงงานที่ลาดกระบัง ซึ่งผลิตขนมปังด้วยเช่นกัน กำลังการผลิตเต็มที่จะอยู่ที่ประมาณ 4.4 ล้านแผ่นต่อวัน
“การเพิ่มกำลังการผลิตของเลอแปง เหตุผลเพราะว่าที่ผ่านมาเรายังเสิร์ฟลูกค้าได้ไม่ทั่วถึง ขณะที่ผู้บริโภคหันมานิยมทานขนมปังมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่วิถีชีวิตในปัจจุบันของคนไทยที่ต้องการอาหารที่หาซื้อง่าย สะดวกรวดเร็ว แต่ก็อยากให้มีรูปลักษณ์ที่น่าทาน รสชาติที่อร่อย หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของเลอแปงที่คนไทยนิยมทานก็คือ พอตเก็ตหรือแซนด์วิชกระเป๋า”
“เราน่าจะมีโอกาสได้มาร์เก็ตแชร์ 1 ใน 5 ของตลาดไทย”
นอกจากขนมปังแผ่นที่ผลิตที่โรงงานแห่งที่ 16 ยังมี ‘ขนมปังฟรีซ’ เช่น พาย, แป้งพิซซ่า, Frozen Dough โดยแต่ละประเภทสามารถผลิตได้ในหลัก ‘แสนชิ้น/วัน’ ตัวอย่างเช่น พาย ที่มีกำลังการผลิตที่ 200,000 ชิ้น/วัน ส่วนแป้งพิซซ่าอยู่ที่ 100,000 ชิ้น/วัน
เมื่อเราถามถึงเลอแปงว่า ผลิตภัณฑ์ขนมปังแผ่นประเภทไหนที่ขายดี คนไทยนิยมทานมากที่สุด คำตอบก็คือ ‘ขนมปังแผ่นแบบดั้งเดิม’ 20 แผ่นเต็มๆ ไม่มีแผ่นหัวและท้ายประกบ
ขณะที่ขนมปังแผ่นแบบ ‘โฮลวีท’ (สีเขียว) ความนิยมกำลังเพิ่มมากขึ้น มีคนสนใจ และตามหาอยู่เรื่อยๆ
สำหรับ วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู เขามองว่า “ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่ดี ด้วยความที่ CPRAM เป็นธุรกิจอาหาร คนก็ยังคงต้องกินอยู่ดี ส่วนเราก็เน้นคุณภาพ เน้นความอร่อย และราคาต้องเข้าถึงผู้บริโภคด้วย”
จากที่ผู้เขียนได้ไปดูด้วยตาตัวเองกับโรงงานแห่งที่ 16 ต้องพูดว่า มีหลายขั้นตอนที่ทำให้รู้สึกว่า ก้อนขนมปังช่างเดินทางนานเหลือเกินถึง 9 ชั่วโมง กว่าจะผ่านมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ น้องขนมปังต้องใช้เวลามากมาย จนมาถึงเวลาพัก กว่าจะเดินทางไปห้องบรรจุภัณฑ์ โดยทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่ผลิตโดยเครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ทำให้กำลังการผลิตเดินเครื่องได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะว่ามีพี่ๆ พนักงานในโรงงานราว 2,000 คนที่คอยตรวจเช็ค ช่วยเหลือเครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูงในนั้นตลอด เพื่อให้ขนมปังเลอแปงยังคงมาตรฐานและความอร่อยไม่เปลี่ยน ถือว่าเป็นเรื่องชวนเซอร์ไพรส์ของวันอยู่เหมือนกัน
[ โรงงานระบบปิด 100% แบบจอมปลวก ]
อีกหนึ่งสิ่งที่รู้สึกประทับใจก็คือ ดีไซน์ของโรงงานแห่งที่ 16 แบบ ‘จอมปลวก’ นี่คือชื่อที่ทาง CPRAM หลายๆ คนพูดถึงโรงงานแห่งนี้ เพราะว่าการทำงาน ทุกขั้นตอนนั้น ตั้งแต่ผลิต ยันขนส่ง ทุกอย่างเกิดขึ้น ‘ใต้ดิน’
บรรยากาศภายนอกโรงงานเราแทบจะไม่มีพี่พนักงานเดินไปมาให้เสี่ยงอันตราย และก้อนขนมปังก็อยู่อย่างปลอดภัยไร้สิ่งเจือปนด้วย
นอกจากนี้ CPRAM ยังสร้างโรงงานแห่งนี้ให้เป็นโรงงานสีเขียว (Green Factory) ซึ่งใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop) ขนาดรวม 2 เมกะวัตต์ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ซึ่งภาคธุรกิจทั่วโลกยกให้เป็นพันธกิจใหญ่หลวง ณ ตอนนี้
ดังนั้น จากสิ่งที่ผู้เขียนเห็น และฟังข้อมูลจากทาง CPRAM เป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 30,000 ล้านบาท คิดว่าไม่น่าพลาดเป้า เพราะทั้งกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง, การเปิดตัวโรงงานที่ทันสมัยมากๆ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างเต็มที่ รวมไปถึง ความเข้าใจผู้บริโภคทั้งผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ออกรสชาติใหม่ๆ รวมถึงอาหารที่มีเมนูใหม่ๆ อยู่ตลอด เป้าเติบโตนี้ในมุมผู้เขียนคิดว่าไม่ไกลเกินฝัน