‘สมาคมคราฟท์เบียร์‘ แห่งประเทศไทยยื่นจดหมายนายกฯ ร้องขอให้ผ่อนปรนกฎหมายสุราบางข้อ เช่น การห้ามถ่ายบรรจุหีบห่อ การโพสต์ภาพผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ธุรกิจคราฟท์เบียร์สามารถปรับตัวขายในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ระลอกใหม่ ต่อชีวิตผู้ประกอบการ
วันที่ 15 มกราคม 2563 อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องขอให้มีการผ่อนปรนข้อกฎหมายเกี่ยวกับสุราเพื่อเปิดช่องให้ธุรกิจคราฟท์เบียร์ได้ปรับตัวเข้ากับสถนการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วยข้อเสนอ 6 ข้อ ดังนี้
1.) อนุญาตให้ธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นร้านอาหาร สามารถจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านได้ โดยร้านอาหารดังกล่าวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน การจัดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้า และปิดการให้บริการนั่งในร้านตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น
2.) ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้
3.) ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย
4.) ผ่อนปรนให้ร้านค้าสามารถโพสรูปสินค้า และอธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโซเชียลมีเดียได้
5.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม
6.) อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพาสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
สมาคมฯ ระบุว่า “สมาคมคราฟท์เบียร์ มีความเข้าใจถึงความปรารถนาดีและความกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส” อันเป็นที่มาของคำสั่งกรุงเทพมหานครในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหาร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งประเทศ แต่ก็ระบุว่าหากธุรกิจคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยไม่ได้รับการบรรเทาลงอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้
“ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์จำนวนไม่น้อยกว่า 600 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน”
ตั้งแต่มีการระบาดของโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยเผชิญปัญหาต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สด ซึ่งเป็นสินค้าที่ มีต้นทุนสูงและมีอายุสินค้าสั้นได้ ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สด ในบรรจุภัณฑ์อื่น เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ เนื่องจากผิดพรบ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 157 ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ แม้ตัวกฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหา มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน เช่น ไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนปัญหามาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังรวมไปถึง การเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่
“ท้ายที่สุดแล้ว ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ประกอบอาชีพสุจริตในธุรกิจคราฟท์เบียร์ ได้แต่หวังว่าทางภาครัฐจะมีความเห็นใจ เข้าใจอย่างจริงใจ ถึงสถานการณ์ที่เราได้รับผลกระทบอยู่ และขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเยียวยาตามที่ได้เสนอไป”