SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงนี้ประเด็นของ ‘เครดิตบูโร’ กลับมาเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอีกรอบ แน่นอนว่ามาพร้อมกับ ‘แบล็กลิสต์’ ความเชื่อผิดๆ ที่ตามหลอกหลอนลูกหนี้ชาวไทยมาอย่างยาวนาน

แต่ทำไมต้องมีเครดิตบูโร แล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘แบล็กลิสต์’ มีจริงหรือไม่ TODAY Bizview สรุปให้ฟัง

[ เข้าใจก่อนกู้ ‘เครดิตบูโร’ คืออะไร ]

เครดิตบูโร (Credit Bureau)​​​​​​​​​​​​​ หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลเครดิตลูกหนี้ เช่น บัญชีสินเชื่อ ประวัติการชำระเงิน ซึ่งส่งมาจากสถ​าบันการเงินและบริษัทสมาชิก

ข้อมูลที่จัดเก็บหรือรายงานในเครดิตบูโรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ขอสินเชื่อ ได้แก่

– ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด อาชีพ สถานภาพการสมรส ฯลฯ แต่จะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์

– ข้อมูลที่อยู่ที่ลูกค้าแจ้งกับสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

2. ข้อมูลเครดิต ได้แก่

– สรุปข้อมูลบัญชีสินเชื่อ ซึ่งเป็นตัวบอกว่า ลูกค้ามีสินเชื่ออยู่ทั้งหมดกี่บัญชี มีจำนวนบัญชีที่ใช้สิทธิแก้ไขข้อมูลหรือโต้แย้งกี่บัญชี

– ประเภทและเลขที่บัญชีของสินเชื่อ

– ชื่อผู้ให้สินเชื่อ

– วงเงินที่ได้รับอนุมัติ และวงเงินที่ใช้ไป

– สถานะของบัญชี เช่น ปกติ ปิดบัญชี พักชำระหนี้ ค้างชำระหนี้

– รายละเอียดการชำระหนี้ ซึ่งจะแสดงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา ทั้งที่ชำระตรง ชำระล่าช้า หรือผิดนัดชำระ

– ข้อมูลอื่นๆ เช่น วันที่เปิดบัญชี วันที่ชำระหนี้ล่าสุด วันที่ปิดบัญชี วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ​

[ เครดิตบูโรมีประโยชน์ยังไง ]

สำหรับสถาบันการเงิน เครดิตบูโรมีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้เห็นภาพลูกค้า และทำความเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น จากข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในระบบ เช่น หนี้ที่มีตอนนี้ ประวัติการชำระหนี้ หนี้สินต่อรายได้ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังช่วยให้สถาบันการเงินพิจารณาความเสี่ยงลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น ประวัติการชำระหนี้ จ่ายตรงเวลา จ่ายช้า หรือค้างจ่ายนานเท่าไหร่ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเบื้องต้นว่า ลูกหนี้คนไหนดีหรือไม่ดี มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

เมื่อพิจารณาความเสี่ยงเสร็จแล้ว ก็จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้หรือไม่ ถ้าปล่อยกู้ให้ ข้อมูลเครดิตก็ยังมีผลต่อการคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้แต่ละคนด้วย ถ้าเสี่ยงน้อย ดอกเบี้ยก็ต่ำ ถ้าเสี่ยงมาก ดอกเบี้ยก็สูง

สำหรับประโยชน์ต่อลูกหนี้ ถ้าเป็นคนที่มีประวัติการชำระหนี้ดี จ่ายเงินตรงเวลา ข้อมูลในเครดิตบูโรก็จะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินอยากปล่อยกู้ให้

[ ‘แบล็กลิสต์’ มีจริงหรือความเชื่อ ]

หลายคนมักจะพูดเสมอว่า เครดิตบูโรเก็บข้อมูลที่เรียกว่า ‘แบล็กลิสต์’ หรืออ้างว่า ‘ติด Blacklist ติดเครดิตบูโร’ ทำให้พอจะกู้ไม่ผ่าน ขนาดเคลียร์หนี้สินตรงนั้นไปแล้วก็ยังติด Blacklist อยู่

แต่จริงๆ แล้วนั้นลักษณะการจัดเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ไม่ได้จัดเก็บเป็น ‘แบล็กลิสต์’ หรือ ‘บัญชีดำ’ แต่อย่างใด โดย ‘เครดิตบูโร’ ยืนยันว่า บริษัทไม่เคยจัดทำและขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์กับใครไว้ในฐานข้อมูลเลย และในรายงานข้อมูลเครดิตบูโรก็ไม่มีคำว่า ‘แบล็กลิสต์’

แต่เครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลตามความจริง หากจ่ายแล้วก็บอกว่า ‘ปกติ’ หรือ ‘ไม่ค้างชำระ’ แต่ถ้ายังไม่จ่าย ก็บอกว่า ‘ค้างชำระ’ ไม่ว่าจะชำระตรงกำหนดหรือไม่ก็ตาม

โดยถ้าเคลียร์หรือชำระและปิดบัญชีไปแล้ว ทางเครดิตบูโรก็จะระบุตามนั้น เพียงแต่ข้อมูลจะยังไม่ถูกลบออกไปจนกว่าจะถึงกำหนดที่กฎหมายให้เก็บได้

ดังนั้น ‘แบล็คลิสต์’ ของเครดิตบูโรจึง ‘ไม่มีจริง’ มีเพียงการเก็บข้อมูลประวัติการขอสินเชื่อและการผ่อนชำระหนี้ของรายงานของสมาชิกเครดิตบูโรเท่านั้น

[ กู้ไม่ผ่านเพราะเครดิตบูโร ]

ในความเป็นจริงแล้วเครดิตบูโรไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจว่า ลูกหนี้คนไหนจะกู้เงินได้ไม่ได้ ขอสินเชื่อผ่านไม่ผ่าน เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละธนาคารและสถาบันการเงินในการตัดสินใจ

ถึงอย่างนั้น สถาบันการเงินก็อาศัยข้อมูลเครดิตบูโรเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ต้องเอาไปรวมกับข้อมูลอื่นอีก เช่น รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้คืน หลักประกัน ฯลฯ

ในกรณีที่กู้ไม่ผ่านหรือถูกปฏิเสธสินเชื่อเพราะข้อมูลเครดิตบูโร สถาบันการเงินต้องออกหนังสือชี้แจงให้ชัดเจนว่า ไม่ให้กู้เพราะเครดิตบูโรคือยังไง เช่น มีข้อมูลแสดงว่ามีหนี้ค้าง มีหนี้หรือวงเงินสินเชื่อมากเกินไป

ซึ่งลูกหนี้สามารถนำหนังสือชี้แจงมาตรวจเครดิตกับเครดิตบูโรได้ฟรี ถ้าเห็นว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็สามารถยื่นหลักฐานขอกู้กับสถาบันการเงินใหม่ได้

แต่ถ้ากู้ไม่ผ่านเพราะเหตุผลอื่นๆ จะต้องสอบถามไปยังธนาคารนั้นๆ เพราะสถาบันการเงินแต่ละที่มีนโยบายการให้สินเชื่อของตัวเอง และไม่ต้องรายงานข้อมูลให้เครดิตบูโรทราบว่า เพราะอะไรถึงปฏิเสธสินเชื่อ

[ เครดิตไม่ดีสามารถซ่อมได้ ]

ถ้ามีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี มีการค้างชำระนานกว่า 90 วันขึ้นไป จะทำให้โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนน้อยลงและได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่ดอกเบี้ยที่ต่ำยากขึ้น

แน่นอนว่าในบางครั้ง ‘ปัญหาเครดิต’ อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ปัญหาเครดิตไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วต้องอยู่ตลอดไป เพราะมันสามารถซ่อมได้ 

ถึงในอดีตเราจะเคยมีปัญหาค้างชำระ หรือจ่ายช้าบ้างบางงวด แต่ถ้าปัจจุบันสามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ รายงานข้อมูลเครดิตก็จะถูกปรับสถานะกลับมาเป็น ‘สถานะปกติ’ ในรอบเดือนถัดไป

โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและใช้ข้อมูลจากรายงานในระยะเวลาที่แตกต่างกัน บางแห่งอาจจะดูจากประวัติการผ่อนชำระย้อนหลัง 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน หรือ 18 เดือน ว่าเรามีวินัย และความสามารถในการผ่อนชำระตรงต่อเวลามากน้อยขนาดไหน

ดังนั้น ทางที่ดีควรผ่อนชำระให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอจนครบสัญญาหรืออย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อสร้างเครดิตที่ดีในรายงานของเครดิตบูโร เพื่อจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายและได้ดอกเบี้ยต่ำ

[ ข้อเสนอยกเลิกแบล็กลิสต์ ]

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เครดิตบูโรไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลบัญชีดำ แต่ข้อมูลเครดิตเปรียบเสมือนรายงานผลการศึกษา คือ จะรายงานตามผลจริงที่เกิดขึ้น และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขประวัติเดิมได้

หากเราเคยค้างชำระหนี้ไว้ ข้อมูลก็จะขึ้น ณ เดือนที่เราค้างชำระว่า ‘ค้างชำระ’ แต่ถ้าจ่ายหนี้ที่ค้างไปแล้ว จะมีข้อมูลใหม่ขึ้นมาว่า ชำระเรียบร้อยแล้วหรือปิดบัญชีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการค้างชำระเดิมจะไม่ได้ถูกลบออกไป จนกว่าข้อมูลชุดนั้นจะถูกลบออกไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 3 ปีหรือ 36 เดือน

สำหรับคนที่เป็นหนี้มาก เป็นหนี้หลายที่จนจ่ายไม่ไหว ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มี ‘คลินิกแก้หนี้’ มาช่วยเหลือ ซึ่งปลายทางหากกลับมาชำระได้ตามปกติ ก็สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ที่มีคุณภาพได้เช่นเดียวกัน

[ ค้างค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ติดเครดิตบูโร ]

เครดิตบูโรจะรายงานเฉพาะหนี้ที่เราไปขอกู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็คือพวกสินเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ ซึ่งต้องเป็นสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติและมีประวัติการชำระหนี้เท่านั้น

ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ เหล่านี้ จะไม่มีประวัติอยู่ในเครดิตบูโร ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนกังวลและสอบถามไปยังเครดิตบูโรเช่นกัน

โดยผู้ถามค้างค่าโทรศัพท์มาประมาณ 1 ปี กังวลว่าจะติดเครดิตบูโรและทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเครดิตบูโรให้คำตอบว่า

‘ปัจจุบันนี้ประวัติการชำระค่าโทรศัพท์มือถือยังไม่ถูกนำส่งมาที่บริษัทข้อมูลเครดิต จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ แต่ทางที่ดี คุณน่าจะไปชำระค่าโทรศัพท์ที่ค้างไว้’

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า