SHARE

คัดลอกแล้ว

คริปโตเคอร์เรนซี หรือ สกุลเงินดิจิทัล ไม่ใช่แค่กระแสอีกต่อไป ภายหลังสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก บริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียง นักลงทุนรายย่อย หรือแม้แต่รัฐบาลบางประเทศ ต่างกระโดดเข้ามาร่วมวง เพราะเชื่อว่าคริปโตฯ จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินในอนาคตไปตลอดกาล

TODAY Bizview ชวนย้อนทวนพื้นฐานความรู้คริปโตฯ ฉบับอัปเดต 2022 ก่อนจะมาถึงวันที่ประเด็นการเทรดและภาษีการเทรดคริปโตฯ ในประเทศไทยร้อนแรงเหมือนวันนี้

⚫️ คริปโตฯ คืออะไร

คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) แรกของโลกอย่าง ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เกิดขึ้นหลังวิกฤตซับไพรม์ โดยทีมผู้สร้างมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงระบบการเงินแบบเดิมให้กลายเป็นระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง เพราะมองว่าตัวกลางในระบบการเงินแบบเก่าอย่างธนาคาร ไม่สามารถเชื่อถือและเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิกฤตทางการเงินครั้งแล้วครั้งเล่า

การทำงานของบิตคอยน์ รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆ จะวิ่งอยู่บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการกระจายศูนย์ หรือต้องแฮ็กคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ทั้งระบบจึงจะโค่นระบบลงได้ อีกทั้งข้อมูลบนบล็อกเชนยังสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก ส่งผลให้ความเสี่ยงถูกโจรกรรมน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

นอกจากนั้น เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีหน้าที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้ถือครองเหรียญ ข้อมูลการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของธุรกรรม โดยผู้ที่ตรวจสอบข้อมูลบนบล็อกเชนจะได้รับเหรียญเป็นสิ่งตอบแทน เรียกกระบวนการนี้ว่า การขุดเหรียญ (Coin Mining) รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชนยังช่วยให้เหรียญที่ขุดได้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนบนกระดาน กลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนประเภทหนึ่ง

⚫️ ลงทุนยังไง ใครลงทุนได้บ้าง

สำหรับช่องทางการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี นักลงทุนสามารถซื้อขายเหรียญผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) อาทิ ไบแนนซ์ (Binance) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือศูนย์ซื้อขายสัญชาติไทยอย่าง บิทคับ (Bitkub) หรือสตางค์โปร (Satang Pro) เป็นต้น ซึ่งศูนย์ซื้อขายดังกล่าวเปรียบเสมือนตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนสามารถเข้ามาซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้บนกระดาน โดยมีข้อแตกต่างตรงที่ตลาดคริปโตฯ สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนคุณสมบัติของผู้ลงทุนนั้น เรียกได้ว่า “ใครๆ ก็ลงทุนได้” ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของศูนย์ซื้อขายที่ผู้ลงทุนสนใจ ถึงอย่างนั้นการลงทุนผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (อายุระหว่าง 18-20 ปี ต้องยื่นเอกสารเพิ่มและได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครอง)

หากพิจารณาจากพฤติกรรมการลงทุน หรือคำถามที่ว่า “การลงทุนในคริปโตฯ เหมาะกับนักลงทุนระยะสั้น หรือนักลงทุนระยะยาวมากกว่ากัน” ด้วยภาวะตลาดที่ค่อนข้างผันผวน และราคาเหรียญหลายตัวที่ปรับตัวขึ้นลงระดับมากกว่า 1,000% 

อาทิ โฟลกิ อินุ (FLOKI) โดชคอยน์ (Dogecoin) หรือคับ (KUB) ฯลฯ อาจเป็นโอกาสทองของนักเก็งกำไรระยะสั้น แต่สำหรับบางเหรียญอาจเหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนระยะยาว

ยกตัวอย่างบิตคอยน์ที่มาพร้อมกับปรากฎการณ์ “ฮาล์ฟวิ่ง” (Halving) หรือปรากฎการณ์ที่จำนวนเหรียญทั้งตลาดจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณเหรียญที่ถูกขุดออกมาในระบบอยู่ในระดับที่มากจนเกินไปและอาจส่งผลให้เกิดการเฟ้อของเหรียญ ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ปรับฐานขึ้นทุกๆ 4 ปี

ปรากฎการณ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 ภายหลังฮาล์ฟวิ่งราคาเหรียญปรับขึ้นทะลุ 10,000 ดอลลาร์ ก่อนจะปรับขึ้นต่อเนื่องมาทำจุดสูงสุดในปัจจุบันที่ระดับ 67,000 ดอลลาร์ (ณ วันที่ 8 พ.ย. 2564) ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้อาจส่งผลบวกต่อนักลงทุนที่หวังลงทุนยาวหลายปี

⚫️ กระแสเหรียญน่าจับตา

นอกเหนือจากเหรียญที่ประสบความสำเร็จติดลมบนในตลาดแล้วอย่างบิตคอยน์ และอีเธอร์เรียม (Ethereum) ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีก็ไม่ได้หยุดนิ่ง โดยมีเหรียญประเภทต่างๆ ออกสู่ระบบ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญมีม (Meme Coin) หรือเหรียญแฟน (Fans Token) เป็นต้น

แต่กระแสการลงทุนในช่วงโค้งท้ายของปี 2564 ต่อเนื่องไปยังปี 2565 เชื่อว่าการลงทุนในเหรียญเกม (Gaming Coin) เช่น แซนด์ (SAND) มานา (MANA) และกาลา (GALA) ซึ่งมาพร้อมกับกระแส NFT (คริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่ง) และเมตาเวิร์ส (Metaverse) จะยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง 

โดยผู้ลงทุนสามารถนำเหรียญที่ได้ไปใช้จ่ายในเกมหรือเล่นเกมเพื่อรับรางวัลพิเศษ เช่น เหรียญ A จำนวน 1,000 เหรียญ ซึ่งหากราคาเหรียญพุ่งแรงก็สามารถแปลงเข้ากระเป๋าเงิน (Wallet) รับเงินเข้ากระเป๋าได้

⚫️ ท่าทีของไทยและต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายในการนำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้จ่าย หรือเป็นสื่อกลางชำระราคาสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันนั้น แม้รัฐบาลหลายประเทศจะยังไม่ให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำเตือนถึงความเสี่ยงการนำคริปโตฯ มาชำระเงิน ด้วยสาเหตุที่ราคาสินทรัพย์มีความผันผวนสูง มีความเสี่ยงถูกโจรกรรมทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจรั่วไหล รวมถึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือการฟอกเงิน

โดยระบุว่า มุมมองของ ธปท. สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศที่ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนถึงความเสี่ยงในการนำมาใช้เพื่อการชำระเงิน ขณะที่สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการพิจารณาออกเกณฑ์กำกับดูแลผู้ในบริการสกุลเงินดิจิทัล หรือจีนที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดห้ามสถาบันการเงินและผู้ให้บริการระบบใช้จ่ายให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี

แต่ในบางประเทศ อาทิ สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือไอซ์แลนด์ ฯลฯ มีความตั้งใจสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจต่อสกุลเงินดิจิทัล สนับสนุนให้เกิดการใช้งานจริง รวมถึงไปถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนผ่านการลดข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน

ขณะที่ท่าทีของภาคเอกชนในประเทศไทยยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สวนทางกับความกังวลของทางการ โดยองค์การชั้นนำในประเทศ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ส่งบริษัทย่อย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เข้าลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เจ้าของกระดานเทรด Bitkub

ด้าน บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ ประกาศจับมือกับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด จัดตั้ง บริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เพื่อร่วมลงทุนและบริหาร บิทคับ เอ็ม โซเชียล (BITKUB M SOCIAL) ชุมชนดิจิทัล (Digital Community) รวมถึงสนับสนุนการใช้จ่ายด้วยคริปโตฯ

⚫️ ประเด็น ‘ภาษีเทรด’ ร้อนแรง

นอกจากการนำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้จ่ายแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของคริปโตฯ ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ‘ภาษีเทรดคริปโตฯ’ ที่กรมสรรพากรออกมายอมรับว่า มีการเก็บภาษีเงินได้จากการเทรดคริปโตฯ จริง โดยวิธีการคำนวณภาษีเป็นการคำนวณแบบรายธุรกรรม (transaction) และคิดภาษีจากกำไรเท่านั้น ไม่สามารถนำขาดทุนมาหักลบได้ พร้อมเดินหน้าประสานงานกับศูนย์แลกเปลี่ยนฯ เพื่อขอข้อมูลด้วย

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงถึง ‘วิธีการเรียกเก็บ’ ที่หลายฝ่ายมองว่า ไม่เหมาะสม และไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติที่แท้จริงของการเทรด แม้ในช่วงถัดมาโฆษกรัฐบาลจะยืนยันว่า นายกฯ รับทราบปัญหาและเร่งสรรพากรให้ให้ความชัดเจนกับประชาชนแล้ว ขณะที่กรมสรรพากรก็รับลูกและยืนยันว่าจะเร่งหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและให้ความชัดเจนภายในเดือน ม.ค. นี้

⚫️ อนาคตที่ปฏิเสธไม่ได้

นอกเหนือจากความเชื่อ อุปสงค์และอุปทานเหรียญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดแล้ว คริปโตเคอร์เรนซียังถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสอนาคตในการทำให้สิ่งต่างๆ เข้ามาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น สื่อ ดนตรี หรือค้าปลีก ฯลฯ โดยกระแสดังกล่าวส่งผลให้รายได้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวหายไป และมีเพียงผู้เล่นที่เปลี่ยนตัวเองเข้าสู่โลกดิจิทัลเท่านั้นที่อยู่รอด

ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมทางการเงินกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านในลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ถูกดิสรัปด้วยโรบอทเทรด หรือธุรกิจธนาคารที่ถูกดิสรัปด้วยธนาคารดิจิทัล ซึ่งการ Digitize เงินมาสู่คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเพียงมิติหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดเท่านั้น

แต่สำหรับมุมมองของนักลงทุนผู้มากประสบการณ์ ผู้ประสบความสำเร็จจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนสายคุณค่า หรือนักลงทุน VI (Value Investor) กลับมองว่า 

การซื้อขายเหรียญคริปโตฯ เปรียบเสมือนการพนันแบบไม่ผิดกฎหมาย เพราะนอกจากจะไม่สามารถประเมินปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อทิศทางการขึ้นและลงของราคาเหรียญในระยะยาวได้แล้ว การซื้อขายในระยะสั้นอาจสร้างทั้งผลกำไรหลายเท่าตัว หรือในทางกลับกันก็อาจทำให้นักลงทุนเผชิญผลขาดทุนอย่างมหาศาล หรือเสียเงินลงทุนทั้งหมดในเวลาอันสั้น

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า