SHARE

คัดลอกแล้ว

‘คริปโตเคอร์เรนซี’ หรือ สกุลเงินดิจิทัล เคยเป็นความหวังใหม่ของหลายคนในช่วงโควิด-19 เพราะแม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่แค่ไหน แต่คริปโตฯ กลับพุ่งเอาๆ สวนทางเศรษฐกิจ สร้างกำไรให้นักลงทุนเป็นร้อยเท่าพันเท่า

โดยเฉพาะ ‘บิตคอยน์’ (BTC) คริปโตเคอร์เรนซีแรกของโลกที่ทะยานแตะ 2 ล้านบาทต่อเหรียญ จากเหรียญไร้มูลค่าในปี 2552 เป็นแรงผลักให้คริปโตฯ ตัวอื่นๆ ราคาพุ่งตาม

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อราคาบิตคอยน์ทยอยดิ่งลงเรื่อยๆ ทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี และยังมีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ฉุดบรรยากาศการลงทุนทั้งตลาด

[ 7 เว็บเทรดเลิกจ้างพนักงานกว่า 3 พันคน ]

นอกจากนักลงทุนจะถูกกระทบจากราคาเหรียญที่ร่วงต่ำลงแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกกระทบแบบจังๆ คือ ‘ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล’ (Exchange) หรือเว็บเทรดคริปโตฯ นั่นเอง

จากข้อมูลของ BitcoinDominance พบว่า บิตคอยน์มีอัตราส่วนการครองตลาดสูงกว่า 60% แน่นอนว่า เมื่อบิตคอยน์ร่วง วอลุ่มการซื้อขายส่วนใหญ่ในตลาดก็พลอยลดลงไปด้วย

การลดลงของวอลุ่มเทรดบิตคอยน์ รวมถึงเหรียญอื่นๆ ในตลาด ทำให้ค่าฟีของธุรกิจ Exchange ลดลง ส่งผลให้เว็บเทรดคริปโตฯ ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น BlockF,i Crypto.com, Gemini, Coinbase, Compass Mining, OpenSea หรือ Blockchain.com ประกาศลดคนในท้ายที่สุด

จากรายงานข่าว พบว่า Exchange ทั้ง 7 แห่ง ประกาศเลิกจ้างพนักงานรวมกันกว่า 3,200 คนเลยทีเดียว โดยบางแห่ง เช่น Gemini ปลดพนักงานออกถึง 2 รอบ เพราะถูกกระทบจากสภาพตลาดคริปโตที่ปั่นป่วน

[ Zipmex ดราม่าสั่นคลอนเว็บเทรดไทย ]

Exchange ในไทยก็หนีไม่พ้นขาลงของตลาดคริปโตฯ ล่าสุด Zipmex หนึ่งในเว็บเทรดเบอร์ต้นๆ ของประเทศ กำลังประสบวิกฤตสภาพคล่องจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก ZipUp+ ซึ่งเป็นผลจากที่คู่ค้า Celcius Network และ Babel Finance ล้มละลาย

หลังเกิดปัญหา Zipmex ตัดสินใจระงับการฝาก-ถอนเหรียญใน ZipUp+ เพราะฝั่ง Zipmex Global ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ZipUp+ (กฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้ Zipmex ประเทศไทยเปิดบริการลักษณะนี้) ไม่สามารถถอนเงินออกจาก Celcius และ Babel ที่กำลังมีปัญหาได้เหมือนกัน

เบื้องต้น Zipmex ประเมินมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นเงินฝากกับ Celcius มูลค่า 5 เหรียญสหรัฐ (ราว 180 ล้านบาท) และเงินฝากกับ Babel มูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,700 ล้านบาท)

แม้ภายหลัง Zipmex จะเปิดให้ฝากถอนบางเหรียญได้ 100% แต่เหรียญดังอย่าง BTC และ ETH ยังต้องรอความชัดเจนช่วงกลางเดือน ส.ค. และผู้บริหารคาดว่าจะไม่สามารถหาเงินมาคืนได้เต็มจำนวน

ข้อมูลจากกลุ่มผู้เสียหาย ระบุว่า BTC มีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 340 ล้านบาท คิดเป็น 42.70% จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ส่วน ETH หรือ อีเธอเรียม มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 301 ล้านบาท คิดเป็น 37.71% (ข้อมูล ณ 3 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น.)

เหตุการณ์นี้ ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนประกาศเลิกใช้บริการเว็บเทรดสัญชาติไทย เพราะกังวลว่าปัญหาลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับกระเป๋าเงินตัวเองอีก แม้เป็น Exchange ที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการก็ตาม

[ UST-LUNA ซ้ำเติมตลาดขาลง ]

การล้มลงของ Celcius กับ Babel ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะมีต้นตอมาจากการล่มสลายของ UST-LUNA เหรียญดังจาก Terra Money ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ค. 2565

การล้มลงของทั้ง 2 เหรียญ สร้างความเสียหายราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท กระทบตั้งแต่นักลงทุนตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงนักลงทุนสถาบัน

สำหรับ Celcius เดิมถือเป็นคู่แข่งของเหรียญ LUNA เมื่อมีข่าวลบของ LUNA ออกมา ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เกิดการแห่ถอนเงินในที่สุด

ส่วนกรณี Babel ก็ขาดสภาพคล่องเพราะไปลงทุน LUNA เช่นกัน อีกทั้งยังขาดทุนจาก BTC และ ETH รวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงยืนกรานว่าตอนนี้ยังไม่ล้มละลาย และมีการเจรจาขอพักหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว

[ SCB ซื้อ Bitkub ไม่คว่ำแต่ไม่คืบ ]

นอกจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ Zipmex แล้ว Exchange อันดับ 1 ในประเทศอย่าง ‘บิทคับ’ (Bitkub) หลังมีข่าวว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าซื้อหุ้น 51%

แต่ล่าสุด ดีลการซื้อขายหุ้นก็ยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งมีข่าวลือดีลล่มออกมาเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดคริปโตฯ ร่วงแรง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า การเข้าซื้อ Bitkub ของ SCB อาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีอีกต่อไป

ประกอบกับที่ผู้บริหารระดับสูงของ SCB กล่าวกับสื่อต่างประเทศว่า ความล่าช้าของดีลซื้อ Bitkub เป็นผลจากกฎเกณฑ์กำกับดูแลของไทยที่ขัดขวางการเติบโตของตลาดเทรดคริปโตฯ

อย่างไรก็ตาม SCB ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจและหารือกับหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้การซื้อหุ้น Bitkub อาจช้าไปจากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จทันไตรมาส 1 ปี 2565

ขณะที่ ‘มาณพ เสงี่ยมบุตร’ Chief Finance & Strategy Officer ของ SCB และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ยืนยันในการประชุมร่วมกับนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งล่าสุดว่า

ความผันผวนที่เกิดขึ้นกับตลาดคริปโตฯ ไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัท เพราะจุดประสงค์ของ SCB ไม่ได้ลงทุนเพื่อหวังเก็งกำไร แต่เป็นการลงทุนเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อหาโอกาสนำมาใช้เสริมศักยภาพการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าดีลการเข้าซื้อ Bitkub ได้มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

[ แยกให้ออกระหว่างเงินฝากกับแชร์ลูกโซ่ ]

‘กัณฑ์ คลอวุฒินันท์’ ที่ปรึกษาในการทำโปรเจกต์และนักลงทุนอิสระ อธิบายปรากฏการณ์ข้างต้นว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ Exchange ทั่วโลก เป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทน (Yield) กับผู้ฝากเงิน เสมือนว่า Exchange เป็นธนาคารดิจิทัล

ถึงอย่างนั้นก็ตาม การกำหนด Yield ที่สูงจนเกินไป ท้ายที่สุดกลไกก็จะไม่ยั่งยืน ไม่ต่างอะไรกับ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่ไม่รู้ว่าจะพังลงมาตอนไหน

ยกตัวอย่างเคสของ Terra บริษัทแม่ของเหรียญ UST และ LUNA ที่ล่มสลายภายในพริบตา ก็เป็นผลจากที่ตั้ง Yield ไว้สูงเกินไปกว่า 20%

แม้ตอนหลังที่เกิดปัญหาจะทยอยลดผลตอบแทนลงเหลือ 19% 18% และ 17% ตามลำดับก็ตาม แต่มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่หมดความเชื่อมั่นและแห่ถอนเหรียญออกไป ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.2 แสนล้านบาท)

เช่นเดียวกับ Celcius Network ตอนนี้ ที่ล้มจนผลกระทบลามมาถึง Exchange ในไทย เพราะ Celcius เองก็กำหนดผลตอบแทนสูง 8-10% จากการฝากเหรียญประเภท Stablecoin

‘พูดง่ายๆ คือ เอาเงินมาล่อ เพื่อดึงดูดให้คนมาฝากเงินด้วย แต่เจ้าที่ที่ตั้ง Yield สูงๆ กลไกก็ไม่ยั่งยืน ถึงจุดหนึ่งที่จ่ายไม่ไหว หรือคนเริ่มกลัว เริ่มแพนิค ก็เกิดการเทขายออกมา ลักษณะเหมือนแบงก์รัน’

ทางที่ดีที่สุด ถ้าเห็น Yield สูงระดับ 10% ก็ต้องระวังแล้ว สันนิฐานไว้ก่อนเลยว่า Yield สูงเท่ากับแชร์ลูกโซ่ เพราะผลตอบแทนปกติควรอยู่ที่ระดับแค่ 2-3% เพื่อให้ระบบยังไปต่อได้

ถึงตลาดขาลงจะทุบธุรกิจเว็บเทรดคริปโตฯ ทั่วโลก แต่หลายคนก็ยังมีความหวังว่า ปรากฎการณ์ Bitcoin Halving หรือการลดซัพพลายบิตคอยน์ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเป็นแรงส่งให้ตลาดคริปโตฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง และถึงตอนนั้นธุรกิจ Exchange คงกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้งเช่นกัน

ในทางกลับกัน การถอนเงินออกของเหล่า ‘วาฬ’ เช่น สถาบันการเงินชั้นนำของโลก กองทุนขนาดใหญ่ และบรรดาเศรษฐี เพราะหมดวิกฤตโควิด-19 แล้ว คงยากที่ตลาดคริปโตฯ จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง และนั่น อาจเป็นจุดจบของจริงของธุรกิจ Exchange ทั้งในไทยและในต่างประเทศ

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า