SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วงนี้จะเห็นว่าตามโรงเรียนบรรยากาศกลับมาคึกคัก เพราะเด็กนักเรียนเริ่มกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ หลังจากนักเรียนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งที่ถูกหลงลืมจากสังคมไทย พวกเขายังไม่สามารถกลับมาเรียนในห้องเรียนพร้อมกับเพื่อน ๆ ซึ่งก็คือ เด็กนักเรียน G  เป็นชื่อที่เราใช้เรียก ลูกหลานของแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย เติบโตและใช้ชีวิตในประเทศไทย เพียงแต่ไม่มีบัตรประชาชนไทย ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ  แต่เดิมปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็ก G ถูกละเลยมาตั้งแต่อดีต และไม่เป็นที่สนใจจากคนในสังคม ภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งที่ในความเป็นจริงหากรัฐให้การสนับสนุนกับกลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ พวกเขาจะกลายเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนว โน้มต่ำลง และอนาคตสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมคนแก่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ ณ ปัจจุบัน

จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเล่าเรียนของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ อันได้แก่ ผู้ปกครอง คุณครู มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story) และ MAP Foundation  พวกเขาได้บอกเล่าถึงความยากลำบากของเด็ก G ที่ยังคงจะต้องเผชิญเพื่อจะได้เข้าถึงการศึกษาเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ  มีทั้งปัจจัยปัญหาภายนอกที่เป็นตัวแปรสำคัญ อย่างรัฐเองสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ ให้เอกสาร แก้ไขกฎหมาย หรือออกนโยบายเพื่อเข้าถึงการศึกษา และปัจจัยปัญหาภายใน เช่น สถานะทางการเงิน ภาษา ทัศนคติของผู้ปกครองและตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การเข้าถึงการศึกษาของเด็ก G มีอุปสรรคทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก

แก้ปัญหาชั่วคราวโดยให้รหัส G แก่เด็ก  

หากอ้างอิงจาก พระราชบัญญัติการศึกษา 2542 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2548 เด็กที่อาศัยอยู่ในไทยมีสิทธิที่จะได้เล่าเรียนทุกคนโดยไม่จำเป็นจะต้องใช้เอกสารใดๆ ในการยื่นเข้าเรียน ผู้ปกครองก็สามารถพาเด็กเข้าไปติดต่อขอเล่าเรียนได้โดยทันที ถึงแม้พวกเขาจะไม่มีสัญชาติไทย แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงไม่สามารถทำได้จริงอย่างที่รัฐได้ว่าไว้ อย่างเช่น ยังมีคนในประเทศเองบางกลุ่มที่ยังคงเห็นว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้สิทธิต่างๆ แก่พวกเขา ทางรัฐไทยจึงแก้ไขปัญหาโดยการให้รหัสชั่วคราวแก่เด็กกลุ่มนี้ เรียกว่า GR CODE หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า รหัส G คือ ระบบการกำหนดรหัสให้กับผู้ที่ไม่มีตัวตนในทะเบียนราษฎร เพื่อใช้สำหรับระบุตัวตนเด็กนักเรียนในสถานศึกษา  เพราะรัฐจะสามารถทราบถึงจำนวนเด็กและจัดสรรงบประมาณ เช่น อาหารกลางวัน นม หรืออุปกรณ์การเรียนได้อย่างครบถ้วน  ตัวเลข G ประกอบไปด้วย

เลขหลักที่ 1 G คือ Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลักที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ DMC (Data Management Center)

เลขหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงรหัสจังหวัด

เลขหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงรหัสอำเภอ 

เลขหลักที่ 6 และ 7 หมายถึงรหัสปีการศึกษา

เลขหลักที่ 8 ถึง 13 หมายถึงเลขลำดับที่ของนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวคนที่เท่าใดของระบบฐานข้อมูล DMC

ขั้นตอนการขอรับรหัส G มีตั้งแต่การขอเอกสารสูติบัตร ทะเบียนบ้าน หลักฐานทางราชการ หรือแม้ไม่มีเอกสารใดๆ เลย ก็ยังคงสามารถขอรหัส G ได้โดยเป็นไปตามการพิจารณาของทางรัฐไทย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของการรับรหัส G จะต้องอาศัยอยู่ในประเทศเท่านั้น จึงทำให้เด็กกลุ่มที่เดินทางไปกลับระหว่างประเทศ ไม่มีโอกาสได้รับรหัสนี้เพราะมีความซ้ำซ้อนเรื่องของที่อยู่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา 

“เด็ก G บางคน ถ้าพ่อแม่พอพูดภาษาไทยได้ เวลาครูขอเอกสารหลักฐานว่าข้ามมาถูกต้องไหม เด็กอยู่ที่ไหน ทะเบียนบ้านไหน ถึงพ่อแม่แรงงานข้ามชาติที่ข้ามมาจะไม่มีเลขบัตรประชาชนแต่ว่า จะต้องมีเลขที่บ้านให้เขา เวลาครูขอเอกสารประกอบการทำเลขตัว G ต้องให้มั่นใจว่าไม่ใช่เด็กที่ข้ามไปข้ามมา ถ้าหากพ่อแม่ไม่รู้ภาษาไทย ฟังไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารกันอย่างไร ครูขออะไรมาก็ไม่รู้ ไม่มีคนแปลให้ อันนี้เด็กก็เลยไม่ได้รับรหัสตัว G นี่คือมีปัญหาเหมือนกัน’’ เสียงสะท้อนจากบทสัมภาษณ์ของ คุณอนันต์ มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story)

นอกจากนี้รหัส G ยังมีข้อจำกัดคือ สามารถใช้สำหรับแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น มีผลแค่ในโรงเรียน และมีอายุใช้งานเพียงแค่ 6 ปี ไม่ได้รับสิทธิทางด้านสาธารณะสุขต่าง ๆ เช่น หากเกิดอุบัติเหตุนอกโรงเรียนขึ้นผู้ปกครองต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทางพยาบาลทั้งหมด

“แต่สิทธิที่จะขาดไปคือสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับเด็กที่มีบัตรประชาชนไทย บางคนก็มีบัตรประกันสังคม บัตรทอง แต่ว่าเด็ก G ไม่มี เขาจะต้องจ่ายค่ารักษาพยายาลเอง ”  — คุณอนันต์ มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story)

 

 เรียนฟรี ที่ไม่ฟรี สารพัดค่าใช้จ่ายที่แอบซ่อนอยู่

แม้รัฐไทยสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรีตามการศึกษาภาคบังคับถึง 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมัธยมปีที่สาม แต่บางครอบครัวไม่สามารถที่จะส่งลูกจนจบครบภาคบังคับได้ เลยมีเด็กจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบการศึกษา แม้จะมีการศึกษาทางเลือกอย่าง กศน. รองรับ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แฝงเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น ค่ารถ เด็ก G บางคนอยู่ไกลจากสถานศึกษา หรือต้องนั่งรถข้ามฝั่งมายังประเทศไทย บางค่าใช้จ่ายรัฐไม่ได้ช่วยอุดหนุน ผู้ปกครองบางคนมีทัศนคติที่ว่าให้เด็กแค่อ่านออกเขียนได้ เพื่อไม่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้างก็พอแล้ว

‘‘เขาจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เป็นค่าธรรมเนียม ที่ไม่น้อยเลยทีเดียว สองสามพันต่อเทอมแล้วมาเรียนหนังสือก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าอาหารอะไรอย่างอื่นอีก พ่อแม่ก็จะไม่เห็นความสำคัญ คือครึ่ง ๆ ครับ คืออย่างแบบถ้าพ่อแม่ทำงานอยู่โรงงานอยู่แล้ว ก็เอาลูกมาเข้าโรงงาน หรือหัวหน้าถามว่ามีลูกชายไหม อายุเท่าไร ถ้าอายุ 16 ปีก็มาทำงานได้แล้ว มันเริ่มจากเล็ก ๆ ตรงนี้จนอายุ 18 ปี เด็กก็บรรจุเข้าเป็นพนักงานทีนี้เขาก็ไม่ได้เรียนเลย’’ — คุณอนันต์ มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story)

ในขณะที่บางคนไม่แม้แต่จะได้เข้าถึงการศึกษาเลย เพราะทัศนคติของพ่อแม่มองว่า คงจะดีกว่าหากลูกมาช่วยกันหาช่องทางทำมาหากิน การศึกษาไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพวกเขา บางครอบครัวพ่อแม่มีลูกค่อนข้างเยอะจึงต้องสลับกันเข้าเรียนระหว่างพี่น้อง 

“ครอบครัวหนึ่งครอบครัวมีลูกเยอะ เยอะสุดมีเด็ก 13 คน ซึ่งเยอะมากนะ คุณภาพชีวิตมันจะแย่ เพราะเรื่องของการกินเด็กมันไม่ได้โตตามวัยของเขา ปกติถ้าเด็กที่สมบูรณ์พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูได้ ได้อาหารครบถ้วนถูกสุขลักษณะทุกอย่างเด็กก็จะโตค่ะ แต่นี่บางทีเด็กอายุ 10 ปี 11 ปียังตัวเล็กอยู่เลย แต่ว่าความเชื่อของผู้ปกครองเขาคิดว่ามีลูกเยอะๆแล้วพอโตมาก็ให้ไปทำงาน เขาก็มีความคิดแบบนี้กัน’ — คุณหนิง Map Foundation

กำแพงของภาษาอุปสรรคสำคัญในการเรียน

กำแพงภาษา คืออุปสรรคสำคัญของเด็ก G ในการเข้าเรียนโรงเรียนไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะเข้าใจ อ่านออกและ เขียนได้ เพราะการเรียนการสอน การสื่อสารทั้งกับครูและเพื่อนร่วมชั้นใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก แต่ก็มีบางโรงเรียนตามตะเข็บชายแดน ที่เด็กส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนจากทางเพื่อนบ้าน จึงสื่อสารกันในห้องเรียนเป็นภาษาต่างประเทศอย่างเดียว เลยทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยก็ไปได้ช้าอีก แต่บางโรงเรียนสนับสนุนให้มีการสื่อสารมากถึง 4 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน พม่า และอังกฤษ นอกจากนี้คุณครูกับเด็ก G มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภาษากัน ไม่ใช่แค่นักเรียนจะได้รับภาษาและวัฒนธรรมจากโรงเรียน แต่ครูเองก็ได้แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมจากเด็กกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน คุณครูโรงเรียนเวียงพานได้บอกกับเราว่า 

‘‘พวกครูยิ่งได้เปรียบ ยิ่งอยู่ตะเข็บชายแดน ทั้งแรงงานพม่า แรงงานจากประเทศจีน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษา เขาก็จะนำวัฒนธรรมกับลูกหลานเขามา เราจะได้เรียนรู้จากพวกเขา ซึ่งตรงนี้มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าสำหรับในความคิดครูนะ ได้รู้วิถีชีวิตของคน ๆ หนึ่งมากกว่า’’ 

การขาดความเอาใจใส่ต่อเด็ก G ของภาครัฐ แม้ว่าความจริงแล้วจะมีเด็กกลุ่มนี้แทรกซึมอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด แต่กลับยังไม่มีหลักสูตรการเรียนที่เหมาะสมรองรับสำหรับพวกเขา ส่งผลให้ตัวเด็กต้องกดดันตัวเอง ปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายแล้วเด็กบางคนจึงเลือกที่จะยอมแพ้และไม่อยากเรียนต่อ คุณหนิง MAP Foundation ได้กล่าวว่า

‘‘เวลาเราไปคุยกับคุณครู คุณครูก็บอกว่าเป็นอุปสรรคเหมือนกัน คุณครูก็ต้องฝึกภาษาเมียนมาค่ะ อย่างครูก็สอนว่าถ้าอยากไปเข้าห้องน้ำก็ให้ขออนุญาตเป็นภาษาไทยนะ เพราะครูอยากให้เด็กได้ภาษาไทยในช่วงอนุบาลจนถึง ป.1 เด็กก็จะพยายามพูดภาษาไทย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นเด็กเมียนมาทั้งหมดก็ทำให้เด็กซ้ำชั้นเพราะไม่ได้ภาษาไทย ก็ต้องซ้ำชั้น ป.1 ไม่งั้นถ้าเรียนไม่ผ่านแล้วขึ้นไป ป.2 มันก็จะเป็นแรงกดดันทำให้เด็กไม่สามารถไปต่อได้ ก็ต้องเรียนให้ได้ก่อนตอนอยู่ชั้น ป.1 แล้วถึงจะขึ้น ป.2’’

หากเด็กกลุ่มG ได้รับโอกาสศึกษาต่อถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้  กำแพงภาษาจะกลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เพราะพวกเขามีทางเลือกสามารถเลือกใช้ภาษาใดก้ได้ในการทำงานต่อไปในอนาคต

ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อการเรียนของเด็ก G 

ผลของโรคระบาด COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจปิดตัว และยกเลิกสัญญาลูกจ้าง ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนตกงาน ขาดรายได้ หากไม่โดนให้ออกก็ถูกลดเงินเดือน รายได้ไม่เพียงพอต่อปากท้องคนในครอบครัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายเลยให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนมาช่วยกันทำงาน

การระบาดที่รุนแรงเด็กไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ ส่วนใหญ่ไม่เรียนออนไลน์ ก็เรียนแบบผสมทั้งทางออนไลน์และให้เด็กบางส่วนมาเรียนที่โรงเรียน การเรียนออนไลน์สร้างความลำบากให้ทั้งทางเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน การเรียนออนไลน์จะต้องใช้เทคโนโลยี เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และต้องเป็นรุ่นที่ใช้เรียนโปรแกรม Zoom หรือ Google Classroom ได้ บางบ้านมีลูกหลายคนอุปกรณ์การเรียนไม่พอต้องสลับกันเรียนระหว่างพี่น้อง มาตราการปิดกั้นพรมแดนทำให้เด็ก G บางคน ไม่สามารถข้ามฝั่งมาเรียนได้ บางประเทศไม่สามารถใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศอย่าง เมียนมา ที่มีการสั่งตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้นักเรียนจะต้องเดินทางจากบ้าน มายังอำเภอท่าขี้เหล็ก เพื่อรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากประเทศไทยใช้ในการเรียนออนไลน์ 

“เขามาอยู่ใกล้ ๆ ทางชายแดน เขามาอยู่บ้านญาติกัน ตามบ้านคนรู้จัก เขามีญาติพี่น้องอยู่ที่นั้นหมด เพื่อมารับสัญญานอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทย ส่วนใหญ่จะก็จะเป็นฝั่งท่าขี้เหล็กที่เรียนกับเรานะ แต่ทางเชียงตุงก็มีนะแต่ส่วนน้อย” —  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเวียงพาน

สำหรับนักเรียนกลุ่ม G ระดับชั้นเล็ก เช่น ระดับปฐมวัย ยิ่งต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ยังไม่ชินกับภาษาไทย และใช้โทรศัพท์ไม่เป็น ผู้ปกครองต้องคอยดูแลขณะที่เรียน  บางครั้งผู้ปกครองของเด็กบางคนก็ไม่ได้เข้าใจภาษาไทยเหมือนกัน  จึงไม่สามารถที่จะบอกลูกให้ทำตามคำสั่งของคุณครูได้ พ่อแม่เด็ก G บางคนต้องออกไปรับจ้างทำงาน ไม่สามารถอยู่กับลูกในระหว่างเรียนได้ ต้องทิ้งเด็กไว้ที่บ้าน หรือบางคนนำลูกไปทำงานด้วย  เด็กๆ G ตัวน้อยเหล่านี้ก็จะต้องขาดเรียนหรือได้รับความรู้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเก่งไม่แพ้เด็กไทย 

ถ้าเด็ก G มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างที่ตั้งใจไว้ ข้อได้เปรียบที่เด็ก G มีคือความสามารด้านการสื่อสารหลายภาษา เช่น ภาษาถิ่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จากคำสัมภาษณ์หลายคนกล่าวว่า เด็ก G มีความขยัน และอดทน ใฝ่เรียนรู้ บางคนเมื่อจบม. 3 เลือกเรียนต่อสายอาชีพ เช่น การช่าง การตัดเย็บ งานฝีมือ การโรงแรม ซึ่งเป็นทักษะอาชีพสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจไทย และเด็ก G หลายคนที่มีความสามารถเข้าร่วมการแข่งขันกิจกรรม ทั้งด้านวิชาการ สอบชิงทุน และกีฬา หรือด้านอื่นๆ เมื่อชนะในเขตพื้นที่ของตนไม่สามารถข้ามเขตไปแข่งต่อได้ หรือบางรายประสบความสำเร็จถึงระดับประเทศ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของการเป็นG ทำให้เขาเหล่านั้นไม่สามารถทำตามฝันได้สำเร็จ  คุณครูของโรงเรียนบ้านเวียงพานกล่าวว่า

“ส่วนใหญ่เขาจะเป็นสายอาชีพ แต่เด็กทุกคนของโรงเรียนบ้านเวียงพาน ก็จะมีแนะแนวเพื่อศึกษาต่อไม่ว่าจะเป็นสายสามัญหรือสายอาชีพ คือพ่อแม่ของเด็กให้ได้อย่างเดียวคือการศึกษา อย่างน้อยให้ลูกมีการศึกษา อย่างน้อยจบม.3 หรือม.6 เพื่อไปต่อยอดต่อไป แต่มันก็มีหลายครอบครัวก็มีหลายปัญหา บางครอบครัวพี่ก็จะต้องหยุดเรียน จบม.3 เพื่อมาส่งน้องเรียนต่อ มันก็มีหลายปัจจัยหลายเหตุ แต่ส่วนใหญ่เด็กๆก็จะไปเรียนสายอาชีพครับ”

องค์กรไม่เสวงหาผลกำไรอย่างทาง MAP Foundation เองก็พยายามที่จะส่งเสริมให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติได้มีความมั่นใจมากขึ้น

“เขาอยากได้สัญชาติไทย เพราะเขาก็สามารถที่จะเลือกได้ ไปไหนก็ได้ ถามว่าเขาอึดอัดไหมเขาก็อึดอัดนะคะเพียงแต่ว่าไม่รู้จะพูดคำว่าอึดอัดออกมายังไงดี เขาเองคิดมาตลอดว่าเด็กพม่าต้องอยู่ที่นี่ ต้องทำอยู่แค่นี้ ต้องอยู่ในกรอบ ซึ่งเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่มีสิทธิ์เท่าเด็กไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามีในหัวอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยอยากจะทำกิจกรรมให้เขาออกจากกรอบ ให้ได้เท่าที่เราจะทำได้นะคะ เราก็เลยพยายามที่จะไปสร้างความมั่นใจให้กับเขาในกิจกรรมในพื้นที่ค่ะ”

ความรู้สึก ความหวัง และข้อเรียกร้อง ของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติในอนาคต

สุดท้ายนี้ เราได้รวบรวมความรู้สึก ความคิดเห็น ของผู้ที่สัมภาษณ์แต่ละคนต่อเด็กกลุ่ม G ดังนี้

คณอนันต์ มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story ) ผู้ที่ทำงานช่วยเหลือเด็ก G มาหลายปี เป็นตัวแทนบอกถึงความรู้สึกของเด็ก G ภายใต้จิตสำนึกที่อยู่ลึก ๆ ภายในของเด็ก แม้เด็กจะไม่ได้เกิดที่ไทย แต่เติบโตมากับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมไทย เด็ก G เลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย พวกเขาคือคนไทยคนหนึ่ง

‘‘เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนไทยถึงแม้ว่าเขาจะเกิดฝั่งนู้น อยากจะได้สิทธิ พลเมืองไทย ทุกอย่าง อย่างเช่นเลือกตั้ง ทำไมบางคนได้เลือกแต่เขาไม่ได้เลือก เขาก็อยากจะเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็น เพราะเดี๋ยวนี้เริ่มมีความคิด อะไรก็ตามคิดว่าเป็นคนไทย ฉันเป็นคนไทย ผมก็มีทีมงานนะน้องเขาเกิดที่เมียนมาแต่ว่าก็มาโตที่ไทย น้องเขาก็เป็นคนไทยอยู่ละ ถึงแม้จะชื่อเมียนมา ความรู้สึกนึกคิดเขาก็เป็นคนไทย เขาก็เกิดและโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นคนไทยแต่ว่าเลือกเกิดไม่ได้แค่นั้นเอง’’ 

เด็กG ก็มีความฝันเหมือนเด็กคนอื่นๆ อยากไปโรงเรียน ได้เรียนหนังสือสูงๆ เพื่อในอนาคตจะได้สบาย แต่เขาไปถึงเป้าหมายไม่ได้ เมื่อยังติดขัดที่เขาเป็นได้แค่เด็ก G  และทำได้แค่รอเวลาที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่

“บางคนก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่าไปเรียนเป็น 10 ปี “จะได้สัญชาติจริงเหรอครู” ถ้าสมมติว่าเขาเรียนจบป.ตรี แล้วเขาจะได้จริงเหรอ เขาก็ยังมีคำถามให้กับเรา เราก็จะต้องพูดให้เป็นเชิงบวกให้กับนักเรียน ให้กำลังใจเขา ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่สัญชาติ ค่าของคนอยู่ที่ความคิด” — คุณครูโรงเรียนบ้านเวียงพาน

แต่เพราะเป็นได้แค่เด็ก G เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จากสิทธิที่ไม่ได้รับ หรือการโดนเลือกปฏิบัติจากคนบางกลุ่มในสังคม เลยมีบางมุมหนึ่งทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สถานะตัวเองดีว่า เขาไม่ได้เท่ากับคนอื่น  

“เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนไทยค่ะ เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกแรงงานอยู่ค่ะ อย่างเรื่องวันเด็กนะคะ เด็กเขาไม่อยากไปเข้าร่วมที่เทศบาล เพราะเขาบอกว่าถ้าเป็นเด็กเมียนมาเขาก็จะไม่ให้เต้น ให้แค่ขนมแล้วก็ให้กลับเลย ถ้าได้เต้นบนเวทีก็จะอยู่ท้ายแล้วเด็กไทยก็จะได้เต้นก่อน เป็นสิ่งที่เขาไม่อยากไปร่วม แล้วทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้มีค่าอะไรเลย น้อยหน้า แม้แต่คนในชุมชนเองในช่วงสถานการณ์โควิดถ้าเป็นคนพม่าเขาจะระวังเป็นพิเศษเลย ถ้าเป็นร้านค้าของชำคนไทยก็ยังเข้าได้อยู่แต่ถ้าเป็นคนเมียนมาก็จะให้ฉีดแอลกอฮอล์แล้วก็อยู่ด้านนอกรอ” — คุณหนิง MAP Foundation

มันคงจะดีถ้าพวกเขามีตัวตนในสังคม มีสถานะอย่างถูกต้องในประเทศ ได้แสดงศักยภาพที่เขามีได้อย่างเต็มที่  ได้ไปถึงฝั่งฝันในอนาคตที่พวกเขาวาดฝันเอาไว้

“กลุ่มที่ไม่มีบัตรประชาชน ทั้ง ๆ ที่เรียนอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ฉันไม่มีมีเลขบัตรประชาชน แล้วก็สวัสดิการรักษาพยาบาลก็พ่อแม่ต้องออกเอง ไม่มีของรัฐบาลให้ แต่ว่าเหยียดเรื่องภาษาไหม ก็ไม่มี รู้สึกว่าการเหยียดแบบนั้นในสังคมไทยมันด้อยลงไปละ เรา open มากขึ้น เพื่อนฉันเป็นเมียนมาแล้วไงหล่ะ แทบจะไม่มีแล้ว แต่เด็กจะรู้สึกว่าทำไมฉันก็เรียนดีแต่ฉันไม่ได้ไปต่อหรือฉันได้แค่นี้ ไม่ได้ไปต่อหมายถึงไม่ไปให้สุดถึงปริญญาโท รู้สึกว่าเด็กด้อย เด็กขาดสิทธิ์” — คุณอนันต์ มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story)

เพราะการเป็นเด็กเป็นได้แค่ครั้งเดียว เด็กในวันนี้ก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การสนับสนุนให้กลุ่มเด็กเปราะบาง ได้เลือกทางเดินชีวิตที่มีคุณค่าของพวกเขาตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากจะช่วยให้เด็กได้มีอนาคตที่ดีแล้ว สังคมก็จะดีขึ้นด้วย ในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว คงจะดีกว่าหากเราสนับสนุนให้เด็กกลุ่ม G ได้มีสัญชาติไทย  ได้รับการศึกษา และสวัสดิการจากรัฐ  เพราะเด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตไป พวกเขาจะกลายเป็นคนขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ให้เดินหน้าต่อไปได้ และเด็กเหล่านี้มีความเก่งไม่แพ้เด็กไทยในด้านทางวิชาการ ด้านภาษา รัฐไทยจึงไม่ควรทอดทิ้งพวกเขา และช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นอย่างน้อยในฐานะมนุษย์ที่พึงจะมีสิทธิเท่าเทียมกันได้

อ้างอิง 

ศาสตรา บุญวิจิตร. (2563). เด็ก G กับ 10 ปีกองทุนคืนสิทธิ. เสียงชนเผ่า, ปีที่ 11(ฉบับที่ 12),  8-11. 

มติชนสุดสัปดาห์ .(18 พฤศจิกายน 2564). เด็ก G นักเรียนไร้สัญชาติ กับความหวังสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข. สืบค้นเมื่อ , 17 ตุลาคม 2564 จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_32573 


ผลงาน ““จะได้สัญชาติจริงเหรอครู” ความสิ้นหวังที่ซ่อนในคำถามของเด็ก G จัดทำโดยผู้เข้าร่วมโครงการอบรม ‘USAID Thailand Counter Trafficking in Persons Project (CTIP): ข้างในคนนอก Media Training Program by workpointTODAY’ สมาชิกประกอบด้วย

อติกานต์ วรรณโอภาส
ดารณี เกิดนาค

ภายใต้การสนับสนุนขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) จัดโดยองค์การ Winrock International ร่วมกับ Love Frankie และ workpointTODAY เป็นโอกาสใหม่ของคนอยากเรียนรู้งานสื่อ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และความเข้าใจของนักเรียน-ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า