ย้อนกลับไป 27 ปีก่อน (2 ก.ค. 2540) เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปตลอดกาล คือการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านั้นจะมีความเสี่ยงจากการโจมตีค่าเงินบาทหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ยังสามารถรับมือและผ่านมาได้
จนกระทั่ง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ นำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทในท้ายที่สุด ทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ที่เคยขยายตัวได้อย่างรวดเร็วที่ 5.8% ในปี 2527 จากการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) ต้องติดลบลงไป -2.8% ในปี 2540
ตลาดทุนไทยเองก็เช่นเดียวกันในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล แต่จากการลอยตัวค่าเงินบาทที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าหลายๆ ประเทศจนเกิดเป็นช่องว่างมากมายขึ้น เส้นทางของตลาดทุนจึงไม่ได้สวยหรูนับตั้งแต่ตอนนั้น
ทำให้มีการตั้งคำถามว่า หากประเทศไทยไม่เจอวิกฤตต้มยำกุ้งจนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในตอนนั้น ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทย ตลาดทุนไทยจะเป็นแบบไหน
ซึ่งแม้จะผ่านมาแล้วถึง 27 ปี และเศรษฐกิจจะมีพัฒนาการในการฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่เศรษฐกิจยังคงมีปัญหาในเขิงโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่
กลับมาที่ปัจจุบันปี 2567 ‘ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้เล่าว่า นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งและครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง
โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน
ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Market Cap ของตลาดหุ้ก็ลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี และนักลงทุนรายบุคคลในไทยลดลงจาก 47% มาสู่ระดับ 31%
ด้านฟันโฟลว์ก็ยังทยอยไหลออก จากเศรษฐกิจที่โตช้าและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ของไทยกับสหรัฐที่มีส่วนต่าง (Gap) ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในปี 2566 จนปัจจุบันของสหรัฐอยู่ที่ 4.70% ส่วนไทยอยู่ที่ 2.36%
สำหรับแนวโน้มในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าตลาดทุนน่าจะยังคงซบเซาต่อ เพราะนักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งของสหรัฐและการใช้นโยบายปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงปลายปีนี้ก่อน
ซึ่งหลังจากที่มีความชัดเจนมากขึ้นและเฟดมีการปรับลดดอกเบี้ยทำให้ส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐลดน้อยลงในปีนี้ บวกกับ GDP ของไทยในไตรมาส 4 ที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3-4% ก็น่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาสนใจมากขึ้น
จึงประเมินตลาดหุ้นในในช่วงที่เหลือของปีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,240-1,430 จุด ซึ่งมองตลาดหุ้นไทยเป็น K shape และเป็น sector selection
โดยแนะนำให้ลงทุนใน sector ที่เน้นการขยายตัวของกำไร คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงกลุ่มที่มีการจ่ายปันผลดี เช่น กลุ่มธนาคาร เป็นต้น
ครึ่งแรกผ่านไปแล้วแม้อาจจะผ่านมาได้แบบไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก แต่ในช่วงครึ่งปีที่เหลือยังมีหลายเรื่องที่น่าสนใจมากๆ รออยู่ ที่จะเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ตลาดทุนไทยจะกลับมาน่าสนใจได้ไหม เป็นเรื่องนี้น่าติดตาม