SHARE

คัดลอกแล้ว

มหากาพย์ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย กลับมามีความเคลื่อนไหวดุเดือดอีกครั้งในวันนี้ (14 มี.ค. 66) ที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นครม.นัดสุดท้าย ก่อนนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา

จากกรณี เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมถึง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของ BTSC เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

โดยกล่าวหาในประเด็นหลักว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (กฎหมายร่วมทุน)

วันนี้ (14 มี.ค. 66) เวลา 13.00 น. นายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัทฯ จึงเปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจง สรุปได้ดังนี้

ผู้บริหารบีทีเอส ชี้แจงข้อกล่าวหา-ยันไม่หยุดเดินรถ

นายคีรี ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบีทีเอส กล่าวว่า คดีที่อยู่กับ ป.ป.ช. ส่วนตัวนั้นไม่ทราบเรื่อง เพราะ ป.ป.ช. ไม่เคยแจ้ง หรือเรียกไปให้ข้อมูล กระทั่งบีทีเอสได้แสดงตัวต่อสู้กับเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ไม่ถูกต้อง วันนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายกฎหมายอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย เรายังไม่ทราบเลยว่า เราไปร่วมกระทำความผิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และมีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าเราไปกระทำความผิด

โดยอยากให้เห็นภาพการต่อสู้และผลของการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของตน ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาหลายสิบปี เป็นนักธุรกิจ เป็นนักลงทุน ซึ่งกำไรที่ได้รับมา ไม่ได้เอาเปรียบประเทศ ตอบแทนคืนสู่ประเทศและสังคม ประมูลต่อสู้ด้วยตัวเลขที่แฟร์ๆ ไม่ฮั้วกับใคร เรื่องนี้มันมีขบวนการที่ต้องการให้บีทีเอสได้รับความเสียหายถึงขนาดให้ล้มละลายเลย

นายคีรี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าบีทีเอสจะถูกกลั่นแกล้งอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนและผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นว่า บีทีเอสยังเข้มแข็ง กระแสเงินสดในมือยังมีเพียงพอ และจะไม่หยุดเดินรถเพื่อให้กระทบกับการบริการประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่หากสักวันมีปัญหาเกิดขึ้น ถึงวันนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลก็คงต้องรับผิดชอบ เพราะบีทีเอสยืนยันว่า จะไม่หยุดเดินรถ และว่า ไม่มีบริษัทไหนในโลกที่รัฐบาลติดหนี้ถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทก็ยังทำงานต่อไป ถึงแม้ต้องกู้เงิน ก็ล้มไม่ได้

“ผมว่าเรื่องพวกนี้ส่วนตัวกล้าพูด มันเริ่มมาจากที่ผมไปประมูลสายสีส้ม เกิดการเปลี่ยนทีโออาร์กลางอากาศ จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เริ่มแย้งมาตลอด เรื่องการใช้ ม.44 ในการต่อสัมปทาน แต่วันนี้ผมต้องการแค่เอาเงินมา วันนี้หนี้ท่วมไป 5 หมื่นล้านบาทแล้ว คงอยากทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่ผิดคนแล้ว ผมยืนยันว่าเราจะไม่หยุดเดินรถ จะอยู่แบบนี้ เพราะคุณกำลังทำลายความสะดวกของคนในกรุงเทพ ผมยืนยันว่ายังไหวอยู่ เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีสกปรกกว่านี้” นายคีรี กล่าว

ส่วนเรื่องพนักงานไปประท้วงวันนี้ ตนไม่รู้เรื่อง คิดว่าไม่มีประโยชน์แต่ขอบคุณที่มีน้ำใจกับบริษัทและตน พร้อมย้ำจะไม่หยุดเดินรถ

ขณะที่ นายสุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.นั้น เป็นการกล่าวหาในเรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง, สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585

โดยกรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอส ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย และทางบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งบริษัท ยืนยันว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใดๆ

สำหรับที่มาของการทำสัญญาจ้างเดินรถ เริ่มต้นจากที่ประชุม ครม.เมื่อ 26 ธ.ค.2543 กทม.เสนอต้องการร่วมทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมติที่ประชุม ครม.ให้ไปเปิดประมูล โดยให้เหมือนโครงการเดิม คือ ให้เอกชนลงทุน 100% กทม.จึงมาเชิญบีทีเอสไปทำข้อเสนอ แต่บีทีเอสยืนยันว่าลงทุน 100% ทำไม่ได้ ถ้าจะให้ทำก็ขอรับเงินอุดหนุนโครงสร้างโยธา แต่คณะกรรมการคัดเลือกในขณะนั้นให้ข้อเสนอนี้ไม่ได้ เพราะมองว่าขัดกับมติ ครม. จึงยุติการจัดทำ พรบ.ร่วมทุน

หลังจากนั้น กทม.จึงดำเนินการลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอง และเมื่อแล้วเสร็จต้องเปิดเดินรถ จึงมีการไปหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งชี้ว่าหากจะจ้างเดินรถไม่เข้าข่าย พรบ.ร่วมทุน จึงไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน พรบ.ร่วมทุน และมีการเริ่มขั้นตอนว่าจ้างบีทีเอสตามขั้นตอนทางกฎหมายของ กทม.เอง ซึ่งมีการจ้างเดินรถทั้งในส่วนต่อขยาย และเส้นทางหลัก ช่วงสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 หลังจากหมดสัญญาจะเป็นการจ้างเดินรถ

นายสุรพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันภาระหนี้สินคงค้างจากสัญญาจ้างเดินรถ ณ สิ้นเดือน ก.พ.2566 มีรวมประมาณกือบ 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จำนวนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล รวมกว่า  2.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ข้อพิพาทที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องเรียกเก็บหนี้สินดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นหนี้ที่ถูกต้อง และ กทม.ต้องชำระร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม

อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าสถานะทางการเงินขณะนี้ยังเข้มแข็ง เพราะแม้จะไม่ได้รับรายได้จากการรับจ้างเดินรถ แต่ในปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่จะทยอยเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะมีรายได้เข้ามาจากค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าทั้งสองโครงการรวมเฉลี่ยปีละ 2 พันล้านบาท ดังนั้นหากเปิดให้บริการในกลางปีนี้ คาดว่าจะสร้างรายได้รวม 1 พันล้านบาท อีกทั้งจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนของงานโยธา 4.7 พันล้านบาท โดยรัฐมีกำหนดจ่ายให้เป็นระยะเวลา 10 ปี

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ ที่ปรึกษาประธานกรรมการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของบีทีเอสกำลังทำหนังสือขอรายละเอียดถึง ป.ป.ช.เพิ่มเติม เกี่ยวกับระเบียบตามกฎหมายของป.ป.ช.ในกรณีที่แจ้งข้อกล่าวหา เพราะต้องการทราบถึงสำคัญและพฤติการณ์แห่งคดีว่า บริษัทกระทำผิดอย่างไรบ้าง รวมทั้งในการกล่าวหานั้นมีพยานหลักฐานหรือไม่ เพื่อที่บริษัทจะได้ต่อสู้ทางคดีต่อไป

อีกด้าน พนักงานบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นับร้อยคน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล ขีดเส้นภายใน 7 วัน รัฐต้องจ่ายหนี้สินที่ติดค้างบริษัทรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับทาง ป.ป.ช. 

ป.ป.ช.ชี้แจงแจ้งหาข้อกล่าวบีทีเอสเป็นไปตามขั้นตอน

นายนิวัติไชย  เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหนังสือร้องเรียนจาก นายเศกศักดิ์  หุ่นสอาด ในฐานะตัวแทนกลุ่มพนักงาน BTS ซึ่งเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนพร้อมด้วยพนักงานบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จำนวนประมาณ 150 คน เพื่อขอให้ตรวจสอบ กรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวในประเด็น “ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)”

โดย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า กรณีเรื่องกล่าวหาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในประเด็นเกี่ยวกับการอนุมัติใบอนุญาตและสัมปทานการเดินรถนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อรวบรวบพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จนมีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อ  ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนดังที่ปรากฏเป็นข่าว

ซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นขั้นตอนตามกระบวนการดำเนินงานตามกฎหมายของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนนำเสนอพยานหลักฐานต่าง ๆ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้สรุป และนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อวินิจฉัยต่อไป

ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิ ตามกฎหมายในการแก้ข้อกล่าวหาเพื่อความเป็นธรรมตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเต็มที่ โดยในขั้นตอนนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด จนกว่าจะมีการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า