SHARE

คัดลอกแล้ว

บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ DeepSeek แพลตฟอร์มเอไอใหม่จากจีน ที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับคนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ล้ำสมัย ความสามารถในการตอบคำถามต่างๆ ต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดฝั่งอเมริกา จนทำให้เกิดคำถามว่า หรือนี่จะเป็นการกำเนิดของสงครามเอไอยุคใหม่ระหว่างอเมริกา และจีน

พัฒนาการเอไอในจีน

ผศ.ดร.อาร์ม เล่าว่า จีนมีความคิดมานานแล้วว่า สามารถตั้งตัวเป็นเจ้าแห่งเอไอระดับโลกได้ เพราะเขามีขุมทรัพย์ที่สำคัญ นั่นคือ “ข้อมูล” (Data) ในระดับมหาศาล สำหรับใช้ในการฝึกฝนเอไอให้ฉลาดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความมั่นใจในระบบเอไอของจีนลงลดอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะ

  1. Computational Power หมายถึง ความสามารถในการประมวลผล ต้องมีชิปที่ประมวลผลได้เร็วที่สุด มีคุณภาพสูงที่สุด โดยอาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีที่รัฐบาลโจ ไบเดน ไม่ขายชิป NVIDIA ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดให้กับจีนอีกต่อไป
  2. การเข้ามาของ Open AI ที่เป็นโมเดลเอไอระบบใหม่ ที่เหมือนเข้ามาเปลี่ยนยุคเอไอใหม่อีกครั้ง ในขณะที่จีนยังใช้โมเดลเอไอระบบเก่าอยู่ ยังไม่เป็น generative AI

แต่ล่าสุด เมื่อมีการเปิดตัว DeepSeek ที่สร้างขึ้นมาจากชิปที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน ทางจีนอ้างว่า DeepSeek ทำงานไม่ได้ด้อยไปกว่า Chat GPT ของฝั่งอเมริกามากนัก โดยสร้างขึ้นมาจากเทคนิคทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันชาญฉลาดที่จีนพัฒนาขึ้นเอง ทำให้ DeepSeek มาลบล้างสมมุติฐานที่ว่า “การสร้างแพลตฟอร์มเอไอที่มีประสิทธิภาพ ต้องใช้ชิปประมวลผลที่ดีที่สุด พร้อมเงินลงทุนจำนวนมหาศาล” รวมถึงความเชื่อที่ว่าจีนต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเรียนรู้หรือสร้างโมเดลเอไอระบบใหม่ ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นกับวงการเอไอในอเมริกาเช่นกัน

“ดีพอ” ก็เพียงพอ รูปแบบการพัฒนาเอไอของประเทศจีน

จากความเชื่อที่ว่า การสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอ จำเป็นต้องใช้ชิปประมวลผลและเทคโนโลยีที่ “ดีที่สุด” มีประสิทธิภาพที่สุดมาโดยตลอด จากมุมมองของจีนกลับมองว่า พวกเขาต้องการเพียงเทคโนโลยีที่ “ดีพอ” ไม่จำเป็นต้องดีที่สุด ขอแค่ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน และปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปตามแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้อย่างหลากหลายทุกวงการ เช่น เอาเอไอไปใช้ในโรงงาน การจัดการระบบท่าเรือ ระบบจราจรเพื่อสร้าง Smart City เป็นต้น ดังนั้นตามความคิดของนักพัฒนา รวมถึงรัฐบาลจีน อาจมีแนวคิดที่ว่า พวกเขาต้องการระบบเอไอที่ใช้ได้ดีมากพอกับความต้องการของพวกเขาเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจากภาวะจำเป็นที่ต้องใช้ชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพแค่ “ดีพอ” จึงทำให้จีนยกระดับในการพัฒนาค้นคว้าการสร้างระบบเอไอ DeepSeek ที่มาพร้อมโจทย์ใหม่คือ ทำยังไงที่จะดึงประสิทธิภาพของชิป รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ระบบเอไอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจีนกว้านเอาหัวกะทิด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศมาแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการสร้างระบบเอไอ เพราะทั่วไปแล้วเอไอจะสร้างขึ้นจากชิปประมวลผลที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้ได้มาซึ่ง DeepSeek ระบบเอไอที่ทำงานได้ดีโดยไม่ต้องง้อชิปที่ดีที่สุด รวมถึงต้นทุนก็ต่ำลงไปด้วย ซึ่งปกติที่ต้นทุนที่สูงที่สุดของเอไอมักมาจากชิปและเทคโนโลยีต่างๆ แต่ของจีนกลับเป็นค่าจ้างของนักพัฒนารุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในจีนแทน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่นักพัฒนาของ DeepSeek เปิดระบบให้เป็น Open Source ที่เปิดเผยข้อมูลในการพัฒนาทั้งหมดให้กับทุกคนที่สนใจ ไม่ได้มีส่วนใดที่ปกปิดเป็นความลับ สาเหตุที่จีนเปิดเผยข้อมูลให้ทราบอย่างโปร่งใส อาจเป็นเพราะอยากเพิ่มความน่าเชื่อถือในระบบเอไอของตัวเอง ที่อ้างว่าแม้จะใช้ชิปประมวลผลที่ไม่ได้ดีที่สุด รวมถึงต้นทุนต่ำกว่าระบบเอไออื่นๆ แต่ก็มีประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้ด้อยไปกว่าใครจริงๆ โดยเหล่านักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และคนในวงการเอไอของอเมริกาที่ได้อ่านงานวิจัยและข้อมูลต่างๆ ก็พบว่า DeepSeek มาพร้อมกับระบบไอเอแบบใหม่ เทคโนโลยีวิศวกรรมแบบใหม่ ที่ลดต้นทุนในการสร้างได้จริง และมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีจริงๆ

สุดท้าย แนวคิดของจีนในการเปิดตัว DeepSeek อาจเป็นการประกาศกร้าวต่อหน้าอเมริกา ท้าชนซึ่งๆ หน้าว่าพวกเขาสามารถสร้างเอไอที่มีประสิทธิภาพที่ดีอย่าง DeepSeek ขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชิปประมวลผลที่ดีที่สุด ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก และสามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักพัฒนาทุกคนสามารถใช้ DeepSeek ในการต่อยอดระบบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ DeepSeek ได้เรียนรู้และได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัด และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft หรือ Google ที่จะสามารถพัฒนาระบบเอไอที่ดีได้

DeepSeek ชนวนสงครามเอไอระหว่างอเมริกาและจีน?

ผศ.ดร.อาร์ม กล่าวว่า จริงๆ แล้วอเมริกาและจีนมีสงครามกันมาทุกเรื่องนานแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องเอไอ แต่เป็นเทคโนโลยีทุกเรื่อง เพียงแต่เอไออาจจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความมั่นคงที่เอไอถูกมองว่าอาจเป็น animated weapon หรือเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ได้จริง ควบคุมในการทำงานได้เอง ดังนั้นทางอเมริกาจึงมองว่าเรื่องเอไอเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการกีดกันการจำหน่ายชิปประมวลผลเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลโจ ไบเดน ที่เข้มงวดรัดกุมยิ่งกว่าช่วงของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์เสียอีก จนอาจเรียกได้ว่า Tech War ระหว่างอเมริกาและจีนในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน เข้มข้นดุเดือดกว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ว่าได้

ทางด้านของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดตัวของ DeepSeek ว่า ถือว่าเป็น wake up call เป็นสัญญาณที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้อเมริกาหันมาใส่ใจและเต็มที่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอมากขึ้น เพื่อยังคงให้อเมริกายังคงเป็นผู้นำในด้านเอไอเหนือจีนให้ได้ นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าการที่ DeepSeek เป็น open source ทำให้วงการเอไอในอเมริกาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นด้วยได้เช่นกัน

แต่ชนวนสงครามเอไอที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะเริ่มต้นมาจากอเมริกาที่เริ่มต้นด้วยการกีดกันไม่ขายชิปที่ดีที่สุดอย่าง NVIDIA ให้กับจีนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะไม่สามารถใช้ชิป NVIDIA ได้ ไม่เคยมีความคิดที่จะต้องผลิตชิปขึ้นมาใช้เองเหมือนในตอนนี้ ดังนั้นการถูกบีบบังคับให้จีนต้องทำชิปใช้เองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นสงครามเอไอ และคาดว่าอเมริกาอาจยกระดับการกีดกันทางการค้า รวมถึงการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จากจีนมากขึ้นอีกได้ในอนาคต

สถานการณ์เรื่องเอไอในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์

ผศ.ดร.อาร์ม แสดงความคิดเห็นว่า เนื่องด้วยโจทย์ของแต่ละประเทศในตอนนี้ไม่เหมือนกัน อเมริกาเน้นการสร้างชิปประมวลผลและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ต้องดีที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานออกมาดีที่สุด แต่จีนกลับมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพรองลงมา แต่ก็ดีมากพอที่จะทำงานได้ดี แล้วเน้นที่การคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยให้การทำงานของเอไอดีขึ้น ลงทุนกับการว่าจ้างนักพัฒนาเก่งๆ ในจีน และเน้นการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เช่น นำไปใช้ในแอปพลิเคชันต่างๆ นำไปใช้กับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือไร้คนบังคับ จัดการระบบจราจรให้เป็น Smart City และอื่นๆ ดังนั้นจีนจะเน้นที่เรื่องการนำไปใช้จริงมากกว่า

นอกจากนี้ จีนอ้างว่านอกจากเรื่องชิปแล้ว ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่ยังต้องแข่งขันกัน โดยที่ยังไม่มีใครเก่งไปกว่ากัน เพราะเริ่มต้นแข่งขันพร้อมๆ กัน เช่น เทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีฟิวชั่น แบตเตอรี่ใหม่ หรือจะเป็น Photonic Chip ที่ทางจีนเตรียมตัวมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น และตั้งใจจะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ให้ได้

DeepSeek ก็อป Chat GPT?

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในวงการเอไอ คือการมาของ DeepSeek มีการก็อปปี้หรือลอกเลียนแบบการทำงานของ Chat GPT หรือไม่ ผศ.ดร.อาร์ม เล่าว่า เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาตามวัฒนธรรมจีนจะแตกต่างจากทางประเทศฝั่งตะวันตก สมัยก่อนมีความเชื่อที่มาจากสุภาษิตจีนว่า “การคัดลอกหนังสือ ไม่ถือเป็นการลอก แต่หมายถึงหนังสือดีจริงๆ ถึงมีคนมาคัดลอกไป” จีนมีความคิดที่ว่าการศึกษาเรียนรู้จากต้นฉบับที่ดี แล้วนำมาปรับใช้ มาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีขึ้น เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช้เรื่องที่ต้องกีดกันหรือเป็นความลับทางการค้าอะไร

นอกจากนี้หากย้อนไปดูถึงประวัติศาสตร์ในการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก ก็มักจะมาจากการลอกกันไปลอกกันมาอยู่แล้ว เทคโนโลยีเองก็เกิดจากการเรียนรู้จากคนอื่นก่อน แล้วนำมาต่อยอดเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ที่เรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองทีหลัง ดังนั้นสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ยากต่อการปิดเป็นความลับ แม้จะมีความเป็นไปได้ที่เจ้าของเทคโนโลยีจะเก็บสิ่งที่ดีที่สุดไว้กับตัวเอง ไม่เผยแพร่ให้ใครรู้ เช่น การที่ญี่ปุ่นส่งแต่มอเตอร์ไซค์รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุดไปขายในจีน เพื่อรักษาความลับในการผลิตโมเดลที่ที่สุดเอาไว้กันตัวเอง หรือเทคโนโลยีระบบ lithography ที่ใช้ในการผลิตชิปประมวลผล ที่ผลิตโดยบริษัท ASML ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เดียวเท่านั้นในตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องยากที่จะปกปิดเป็นความลับ เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้กันได้ง่าย

ดังนั้นเอไอเองก็ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่เป็นความลับที่มีแค่ผู้ผลิตเจ้าเดียวที่รู้ DeepSeek เองก็ยังไม่ใช่โมเดลเอไอที่ดีที่สุด แต่คนที่นำ DeepSeek ไปต่อยอดก็จะทำให้ได้เอไอที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจีน อเมริกา หรือชาติใดๆ รวมถึงผู้เล่นรายเล็กๆ ก็จะได้เปรียบมากขึ้นในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต

การเกิดของ DeepSeek ตกผลึกอะไรให้กับวงการเอไอในประเทศไทยได้บ้าง?

เอไอมีหลายมิติมาก นอกจากเอไอจะช่วยตอบคำถาม ให้เหตุผล มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็น และช่วยประมวลผลในเรื่องต่างๆ แล้ว ต่อไปในอนาคตเอไอยังมีความสำคัญเหมือนกับเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับทุกวงการ เพราะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาแอพลิเคชันต่างๆ ได้อีกมหาศาล และเมื่อย้อนไปดูจุดกำเนิดของ DeepSeek ที่ไม่ได้ใช้ชิปประมวลผลที่ดีที่สุด และไม่ได้ใช้ต้นทุนมหาศาลอย่างที่เคยเป็นมาก่อน นั่นแปลว่าการเข้าสู่โลกแห่งการใช้เอไอในทุกๆ อย่างบนโลกมันก็ง่ายขึ้นมาก ยิ่งเป็น open source ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ด้วยแล้ว ในอนาคตต้องมีคนมาพัฒนาต่อยอด และทำให้เทคโนโลยีนี้ไปต่อได้เร็วมากๆ จนอาจจะกลายเป็นยุคทองของเอไอ

ประเทศไทยเองก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแข่งเป็นผู้นำในการผลิตชิปที่ดีที่สุด หรือลงทุนด้วยเงินจำนวนมากที่สุด แต่เราสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในเรื่องของการนำเอไอมาประยุกต์ใช้จริงๆ ในวงการต่างๆ เช่น วงการธุรกิจ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น ช่วยคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ควบคุมการจราจร และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นมันยังมีอีกหลายมิติที่เอไอสามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์ในประเทศไทย กับคนไทยได้อีกมาก

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า