SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดหนึ่งเดือนของปฏิบัติการทางทหารรัสเซียบุกยูเครน ได้สร้างผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจวงกว้าง

แน่นอนว่ารัสเซียก็บอบช้ำหนักเมื่อผลของการถูกคว่ำบาตรสะเทือนถึงเศรษฐกิจของประเทศ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และภาพรวมปีนี้เศรษฐกิจของยุโรปก็จะชะลอตัวลงแรงที่สุดเช่นกัน

แต่บนความเสียหายนี้ ก็มีผู้ได้รับผลประโยชน์

เมื่อระเบิดทุกลูกที่ถูกจุดขึ้น กระสุนทุกนัดที่ถูกยิงออกไป กลายเป็นกำไร รายได้ และมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นให้กับบริษัทผู้ผลิตและค้าอาวุธในหลายประเทศ

…เมื่อสงครามทำให้อุตสาหกรรมค้าอาวุธกลับมาคึกคัก

บริษัทผู้ผลิตอาวุธชั้นนำหลายแห่งในโลกขณะนี้ต่างกำลังรับประโยชน์และสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นถ้วนหน้า

เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร TODAY Bizview จะสรุปให้ฟัง

นับตั้งแต่ข้อพิพาทของรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นจนนำมาสู่การสู้รบระดับสงคราม ส่องเข้าไปดูในตลาดหุ้นต่างประเทศจะพบว่ามีการเก็งกำไรหุ้นในบริษัทค้าอาวุธหลายบริษัท

และราคาหุ้นของบริษัทค้าอาวุธใหญ่ๆ เหล่านี้ ก็ปรับตัวขึ้นสวนทางหุ้นกลุ่มอื่นๆ

ผลกำไรเบ่งบานปรากฏขึ้นมาบนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นผ่านความเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ

-Raytheon Technologie บริษัทผู้นำด้านเรดาร์และอาวุธระบบไฟฟ้า ผลิตเครื่องบินรบ โดรน เครื่องยนต์ชั้นสูง เชี่ยวชาญด้านระบบป้องกันภัยทางอากาศ โดยเฉพาะขีปนาวุธนำวิถีที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ อย่างมิสไซล์กำหนดเป้าด้วยเรดาร์ที่สร้างกำไรให้บริษัทมาก

ซึ่ง Greg Hayes ซีอีโอของ Raytheon Technologies กล่าวแบบมีนัยสำคัญว่า “ผลประกอบการของบริษัทนั้นเชื่อมโยงกับความตึงเครียดในยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งต่อผลประโยชน์ของบริษัท”

-Lockheed Martin บริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ด้านการทหารยักษ์ใหญ่ของโลก และมีเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก และระบบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธแบบบูรณาการที่เป็นจุดขาย

ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เช่น เครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ และงานอาวุธยุทโธปกรณ์ระบบกองทัพเรือ โดยมีสินค้าดาวเด่นคือ เครื่องบินรบขับไล่ F-35 ซึ่งทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก

ฝ่ายบริหารของบริษัทกล่าวกับนักลงทุนว่า “การแข่งขันที่มีอำนาจยิ่งใหญ่นี้ (สหรัฐฯ-รัสเซีย-ยูเครน) เป็นสัญญาณที่ทำให้มองเห็นถึงธุรกิจของบริษัทมากขึ้น”

-General Dynamics บริษัทที่ทำธุรกิจด้านการบินเเละการป้องกันประเทศ มีขายตั้งแต่ยานรบ ระบบอาวุธเเละยุทโธปกรณ์ ระบบเฝ้าระวังเเละลาดตระเวน รวมไปถึงการต่อเรือ ได้รายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ปลายปี 2564

โดยผลประกอบการปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,257,000,000 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.84% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 3,167,000,000 ดอลลาร์

-BAE Systems บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรและใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 23%

-Rheinmetall บริษัทที่ผลิตอาวุธเทคโนโลยีด้านการป้องกันภัยของเยอรมนี ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 60%

ซึ่งซีอีโอของ Rheinmetall บอกว่า “หลายเดือนก่อนมีคนต้องการแบนเรา เพราะอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่แย่และอันตรายมาก แต่ตอนนี้มันเป็นโลกที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง”

-Leonardo บริษัทอิตาลีที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการบินและอวกาศการป้องกันและความมั่นคง ราคาหุ้นเพิ่มกว่า 44%

-Thales บริษัทเทคโนโลยีการบิน อวกาศและการป้องกันภัยของฝรั่งเศส ซีอีโอได้บอกกับนักลงทุนว่าข่าวดังกล่าว (ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย) “เป็นบวก” ต่อบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจด้านการป้องกันประเทศรวมถึงบริษัทของเราด้วย

ความช่วยเหลือทางอาวุธที่ถูกส่งไปยังแนวรบของยูเครน ได้สร้างความ “คึกคัก” ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศ รวมทั้ง “ราคาหุ้น” ของบริษัทเหล่านี้ต่างก็สูงขึ้นด้วย

นับตั้งแต่ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเริ่มเกิดขึ้น สหรัฐฯ เองได้เสนอความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ยูเครน

พร้อมกับที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า ได้สนับสนุนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนเพื่อรับมือรัสเซีย โดยได้จัดซื้อและส่งมอบอาวุธจำนวน 450 ล้านยูโร ให้กับยูเครน

ผลข้างเคียงของสงครามส่งผลต่อราคาหุ้นของทั้งอุตสาหกรรมผลิตและค้าอาวุธ ดังจะเห็นได้ว่าทั้งบริษัท Raytheon และ Lockheed Martin ที่ร่วมกันพัฒนาและผลิต “FGM-148 Javelin” หรือ “จรวดพิฆาตรถถัง”

ซึ่งอาวุธชนิดนี้เป็นหนึ่งในอาวุธเทคโนโลยีขั้นสูงที่กองทัพสหรัฐอเมริกามอบให้กองทัพยูเครน และกลายเป็น “อาวุธจู่โจมหลัก” ของกองทัพยูเครนในการต่อต้านการบุกรุกของรัสเซียด้วย

ซึ่งการช่วยเหลือยังมีให้อย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่ามีการส่ง FGM-148 Javelin ที่ผลิตในสหรัฐฯ เข้าไปให้ยูเครนจำนวนมาก

รวมทั้ง Stinger ที่เป็นขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบประทับบ่าชนิดยิงจากดินขึ้นสู่อากาศด้วย

ยังรวมถึงจรวดต่อต้านรถถัง (NLAW) จำนวน 2,000 เครื่องจากอังกฤษ ที่ถือเป็นอาวุธรุ่นใหม่ก็ถูกส่งเข้าไปในยูเครนตั้งแต่ก่อนมีการสู้รบ ส่วนเยอรมนีได้ส่งอาวุธต่อต้านรถถังให้ 1,000 เครื่อง และขีปนาวุธ Stinger อีก 500 เครื่อง

ขณะที่ประเทศแถบกลุ่มบอลติก ทั้ง ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ก็ยังส่งอาวุธหลายพันชิ้นให้แก่ยูเครน

โดยอาวุธทั้งหมด รวมทั้งอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาวุธยุทภัณฑ์อื่นๆ ทั้งปืนเล็กยาวจู่โจม ปืนกล ทุ่นระเบิดต่อต้านรถถัง เครื่องกระสุนอีกหลายร้อยตัน หมวกและเสื้อเกราะ ถูกส่งเข้าไปพร้อมการข่าวที่รายงานว่ายูเครนใช้อาวุธเหล่านี้ทำลายยานยนต์หุ้มเกราะของรัสเซียได้สำเร็จ

คำพูดเก่าแก่ที่ว่าสงครามไม่เคยเหมาะกับใครก็ตามยกเว้นผู้ค้าอาวุธนั่นเอง

กรณีของรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดแรงสะเทือนกังวลไปถึงประเด็นในทะเลจีนใต้ด้วยนั้น ได้สร้างแรงกดดันต่อการใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมในหลายประเทศของยุโรป

โดยรัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ เยอรมนีประกาศเพิ่มงบฯกลาโหมอีก 2 % ของจีดีพี หรืออีกกว่า 1 แสนล้านยูโร เทียบเท่ากับงบประมาณกลาโหมประเทศในสองปีกว่า

โดยงบฯก้อนนี้จะมีการลงทุนโครงการอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพ และสนับสนุนจัดหาอาวุธให้ยูเครนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ที่จะยกขบวนเพิ่มงบทางทหารนตามมาอีก คือ ฝรั่งเศส สวีเดน ฟินแลนด์ ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่ยิ่งเป็นสัญญาณบวกให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธ

ในวิฤตมีโอกาส บนความไม่แน่นอนของโลกและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ โดยในรายงานประจำปีของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ปี 2564 บอกเราว่า…

มี 10 ประเทศที่เป็นเจ้าตลาดการค้าอาวุธของโลก นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล อิตาลี เกาหลีใต้ สเปน และสหราชอาณาจักร ที่เหลือคือประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในวงจรห่วงโซ่การผลิตทำหน้าที่ป้อนวัตถุดิบการผลิตบางชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรายใหญ่

วัฏจักรของธุรกิจที่อยู่บนความน่าหดหู่นี้ได้ให้ประโยชน์ต่อบริษัทอาวุธและผู้ถือหุ้นของบริษัท เมื่อผลกำไรและโอกาสการเติบโตของธุรกิจได้เบ่งบานยามเมื่อมีระเบิดซักลูกตกลงมา

และข้อสรุปนี้ก็บอกเราอย่างเช่นที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ตลอดเวลาว่า  “ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่มนุษย์เว้นว่างจากสงคราม”

 

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

[email protected]

 

 

อ้างอิง

https://thewire.in/business/russia-ukraine-invasion-business-arms-manufacturers

https://www.opendemocracy.net/en/dark-money-investigations/ukraine-war-uk-lords-richer-arms-investments-russia-bae-systems

https://graphics.reuters.com/UKRAINE-CRISIS/WEAPONS/lbvgnzdnlpq

https://www.bbc.com/thai/international-60675542

https://www.bangkokbiznews.com/world/995554

เปิดโผ 4 หุ้นค้าอาวุธ เดือนเดียวราคาพุ่งกระฉูด รับสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ปะทุเดือด!

https://www.tnnthailand.com/news/tech/107704/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า