SHARE

คัดลอกแล้ว

หุ้น DELTA กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งแล้วพุ่งอีก จากหลัก 10 สู่หลัก 100 และจากหลัก 100 กำลังก้าวสู่หลัก 1,000 ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้งหมดใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีที่เท่านั้น

แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หุ้น DELTA ปรับขึ้นได้เร็วขนาดนี้ ราคาหุ้นถูกลากขึ้นมาขนาดนี้เข้าข่าย ‘ปั่นหุ้น’ หรือเปล่า TODAY Bizview สรุปให้ฟัง

[ DELTA เป็นของใคร ทำธุรกิจอะไร ]

DELTA หุ้นของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power Management Solutions) เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531

โดยเดลต้า ประเทศไทย เป็นบริษัทในเครือของเดลต้า อีเลคโทรนิค์ อิ้งค์ (Delta Electronics, Inc.) ประเทศไต้หวัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย ‘บรูซ เฉิง’ (Bruce Cheng) นักธุรกิจชาวไต้หวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971)

หุ้น DELTA เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2538 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยราคาเปิดการซื้อขาย 74 บาทต่อหุ้น ที่ราคาพาร์ (Par Value) 10.00 บาท ณ ตอนนั้น

หากเทียบกับตอนนี้ที่แตกพาร์เหลือ 1.00 บาทแล้ว ก็เท่ากับว่า หุ้น DELTA เข้าซื้อขายที่ราคาเพียง 7.40 บาทเท่านั้น

ขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบัน ซื้อขายกันในระดับที่สูงกว่า 800 บาท และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ราคาหุ้นก็ปรับขึ้นสูงสุดแตะ 990 บาท ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นตั้งแต่วันแรก ได้กำไรมากกว่า 13,000% เลยทีเดียว

[ ทำไมหุ้น DELTA ถึงขึ้นไม่หยุด ]

สำหรับสาเหตุที่ราคาหุ้น DELTA พุ่งไม่หยุด ต้องไล่กันมาทีละสเต็ป

2563 – ราคาหุ้นทะยานขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) ต่อเนื่อง จากปกติซื้อขายกันหลัก 50 บาท แต่จู่ๆ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นทะลุ 100 200 300 400 500 600 700 จนในที่สุดมาทำจุดสูงสุดของปีที่ 838.00 บาท

ช่วงนั้นนักวิเคราะห์ก็คาดว่า เป็นเพราะกำไรของบริษัทฯ กำลังเติบโต แรงเก็งกำไรจากประเด็นที่หุ้นน่าจะได้เข้าคำนวณดัชนี SET50 ประกอบกับ DELTA เป็นหุ้นที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ค่อนข้างน้อย ทำให้ราคาถูกลากขึ้นไปได้ง่าย

ทำให้ปี 2563 ราคาหุ้นปิดปีที่ 486.00 บาท เพิ่มขึ้น 432.50 บาท หรือ 88.99% จากราคาเปิดต้นปี 53.50 บาท

2564 – ปีถัดมา DELTA ก็ยังพุ่งต่อเนื่อง แค่ต้นปีก็ทำ New High ที่ 804.00 บาทแล้ว แต่หลังจากนั้นก็เหวี่ยงลงไปต่ำสุดที่ 286.00 บาท ก่อนจะเหวี่ยงขึ้นมาใหม่ที่ 780.00 บาท

ส่วนสาเหตุช่วงนั้น บริษัทฯ บอกว่า เป็นเพราะนักลงทุนมั่นใจในหุ้น DELTA ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังปัจจัยบวกจากเทรนด์การเติบโตของเทคโนโลยี

แต่ตอนที่ร่วง คาดว่าเป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มาตรการกำกับการซื้อขาย Cash Balance โดยให้นักลงทุนซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดเท่านั้น อีกทั้งมีแผนทบทวนเกณฑ์ Free Float ซึ่งอาจกระทบหุ้น DELTA โดยตรง

ทำให้ปี 2564 ราคาหุ้นปิดปีที่ 412.00 บาท ลดลง 98 บาท หรือ 19.21% จากราคาเปิดต้นปี 510.00 บาท

2565 – ในช่วงครึ่งแรก ราคายังหุ้นทรงตัวแถวๆ 300-400 บาท แต่ในช่วงครึ่งหลัง ราคาหุ้นเริ่มขยับขึ้นอีกรอบ ทะลุ 500 600 700 800 ตามลำดับ จนวันทำการสุดท้ายของปี (30 ธ.ค. 2565) ทำจุดสูงสุดที่ 876.00 บาท

ส่วนสาเหตุ นอกจากกำไรของบริษัทฯ จะเติบโตแล้ว นักวิเคราะห์คาดว่า ยอดขายของ DELTA จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และถูกเก็งกำไรจากประเด็นที่ได้เข้าคำนวณ SET50 รอบใหม่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังหันมาทำแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกด้วย

ทำให้ปี 2565 ราคาหุ้นปิดปีที่ 830.00 บาท เพิ่มขึ้น 416 บาท หรือ 100.48% จากราคาเปิดต้นปี 414.00 บาท

2566 – เปิดต้นปีราคาหุ้นก็ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) ที่ 990.00 บาท แต่ตอนนี้ปรับตัวลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 800 บาท ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า นักลงทุนยังเก็งกำไรประเด็นเข้า SET50 และธุรกิจ EV

แต่ก็มีอีกกระแสว่า ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นจากหลักสิบมาเป็นหลักร้อย จากหลักร้อยกำลังเข้าสู่หลักพัน อาจมาจากการปั่นหุ้นของนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ถูกสนับสนุนด้วย Free Float ของ DELTA ที่ต่ำ ทำให้นักวิเคราะห์ต้องออกมาเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวัง

[ กลายเป็นหุ้นที่แพงที่สุดในไทย ]

การปรับขึ้นรอบล่าสุด ทำให้ DELTA กลายเป็นหุ้นที่แพงที่สุดในประเทศไทย (ในแง่ของราคา) โดยหุ้นไทยที่แพงที่สุด 5 อันดับแรก (ณ วันที่ 6 ม.ค. 2566 เวลา 15.15 น.) คือ

1. DELTA 810 บาท

2. บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 349 บาท

3. บมจ.โรงพยาบาลมหาชัย (M-CHAI) 304 บาท

4. บมจ.มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (METCO) 287 บาท

5. บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) 283 บาท

นอกจากนี้ การปรับขึ้นของ DELTA ยังทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization: Market Cap.) สูงที่สุดในประเทศไทยที่ 1.14 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ มากกว่า Market Cap. ของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ปตท. (PTT) ที่ 9 แสนล้านบาท และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่ 1 ล้านล้านบาทแล้ว

ถ้ายังจินตนาการความใหญ่ไม่ออก ต้องอธิบายว่า หากมัดรวมหุ้น 4 แบงก์ใหญ่ในไทยอย่าง บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) รวมกัน ก็ยังมี Market Cap. ไม่เท่า DELTA ตัวเดียว

[ หุ้นขึ้นไม่หยุดแล้วจะมีวันที่ร่วงไหม ]

เมื่อถามนักวิเคราะห์ว่า ราคาหุ้น DELTA ขึ้นไม่หยุดแบบนี้ จะมีวันที่ราคาหุ้นปรับลงมาไหม ‘วิจิตร อารยะพิศิษฐ’ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตอบว่า

แน่นอนว่าหุ้น DELTA มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลง และยากที่ราคาจะยืนอยู่ในระดับ 800-900 บาท หรือแม้กระทั่ง 1,000 บาท เพราะปัจจุบันนักวิเคราะห์ในตลาด (Consensus) ให้ราคาเหมาะสมไว้ที่ระดับ 600 บาทเท่านั้น

แม้ตอนนี้จะยังมีปัจจัยบวกจากที่ได้เข้าคำนวณดัชนี SET50 รอบใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้กองทุนเชิงรุก (Active Fund) ต้องปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในช่วงนี้ตามกองทุนดัชนีก็ตาม แต่ราคาก็ยังสูงไป

‘เป็นหุ้นที่ดี แต่ราคาแพงไป’

ดังนั้น ราคาในโซนนี้ไม่แนะนำให้ลงทุน แต่ถ้าปรับตัวลงมาบริเวณ 600 บาทหรือต่ำกว่า แนะนำให้เข้าลงทุนได้ เพราะในระยะยาวยังได้ปัจจัยบวกจากออเดอร์ของบริษัทแม่ และการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ EV

[ สรุปลงทุนได้ไหม ลงทุนดีไหม ]

ส่วน ‘ภราดร เตียรณปราโมทย์’ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ชี้ว่า การขยับขึ้นมาร้อนแรงจนทำให้ DELTA กลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ด้วย Market Cap. สูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท

แต่มีหลายๆ มุมที่แสดงให้เห็นว่าหุ้นอาจจะขึ้นเร็วและร้อนแรงเกินไปและไม่สอดคล้องกับหุ้นแม่ (DELTA / 2308TT) ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ปัจจุบันราคาหุ้น DELTA สูงกว่าหุ้นแม่มากเกินไป ซึ่งแต่ก่อนราคาหุ้น DELTA จะสูงกว่าหุ้นแม่ราว 1-1.5 เท่า และการเคลื่อนไหวมักจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน (มีค่าความสัมพันธ์กัน หรือ Correlation สูงถึง 0.79%) ส่วนหนึ่งเกิดจาก Delta Electronics (ไต้หวัน) ถือหุ้น DELTA ถึง 64%

แต่ปัจจุบันราคาหุ้น DELTA สูงกว่าหุ้นแม่เกือบ 3 เท่าไปแล้ว และราคาเริ่มไม่สอดคล้องกัน และทิ้งห่างมาในช่วงสั้นๆ ดังนั้น การลงทุนในช่วงนี้อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

2. ในมุมมูลค่าหุ้น (Valuation) DELTA แพงกว่าหุ้นแม่มาก ทั้งราคาต่อกำไรย้อนหลัง (Trailing PE) ที่สูงถึง 85.9 เท่า (หุ้นแม่ 23.8 เท่า) ราคาเทียบกับมูลค่าบัญชี (PBV) 22.1 เท่า (หุ้นแม่ 4.1 เท่า)

แม้ Delta Electronics (ไต้หวัน) และ DELTA จะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดย DELTA จะเน้นผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท High End เป็นหลัก ส่วน Delta Electronics (ไต้หวัน) จะเน้นผลิตสินค้าทั่วไป (Standard Product) เป็นหลัก แต่ในมุม Valuation DELTA ก็ยังถือว่าแพงในเชิงเปรียบเทียบกับหุ้นแม่

3. การปรับขึ้นแรงของ DELTA ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งทำธุรกรรมผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้นรายตัว (Single Stock Futures) สะท้อนได้จากสถานะคงค้างที่เพิ่มขึ้น 126% จาก 488 สัญญา มาที่ 1,355 สัญญา (ระหว่าง 29 ธ.ค. 2565 – 3 ม.ค. 2566)

ทั้งนี้ หากประเมินต้นทุนเฉลี่ยของการเปิดสถานะครั้งนี้อยู่ที่ 830 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันที่ 912 บาท บน Leverage ของ DELTA ที่ 8.85 เท่า จะได้ผลตอบแทนมากถึง 87%

ดังนั้น ต้องระวังแรงขายทำกำไรที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในจุดที่ระดับสถานะคงค้างของ DELTA ใกล้จุดสูงสุดเดิมในปี 2564 ที่ 1,292 สัญญา หลังจากนั้นก็เกิดสัญญาณขายทำกำไร (Take Profit) ทำให้ราคาหุ้นปรับลง 22% ในระยะเวลา 2 สัปดาห์

‘ทั้งหมดที่กล่าวมา แม้ DELTA จะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว แรงเสริมจากการเปิดสถานะฟิวเจอร์ส แต่ราคาหุ้นที่ขยับขึ้นมาเร็วและแรงเกินไปเมื่อเทียบกับหุ้นแม่ในหลายๆ มุมทำให้นักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนในช่วงต่อจากนี้ อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น’

ที่มา:

  • https://www.deltaww.com/en-US/about/Delta-Profile
  • บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • Bloomberg Terminal
  • https://simplywall.st/stocks/th/tech/set-delta/delta-electronics-thailand-shares
  • https://www.tradingview.com/markets/stocks-thailand/market-movers-most-expensive/
  • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า