Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“เราคิดเรื่องฆ่าตัวตายมาเยอะแล้วนะ วันที่เราตัดสินใจจะโดดตึกตายอาจเป็นวันเดียวกับที่พ่อแม่รู้เรื่องนี้ก็ได้” คำบอกเล่าจากปากของเด็กสาววัย 16 ปี ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพียงไม่กี่วัน ก่อนหน้านั้น ‘เธอ’ จำเป็นต้องเข้าแอดมิทในสถาบันจิตเวช นานเกือบ 2 สัปดาห์ ตามคำวินิจฉัยของจิตแพทย์ เพราะพยายามทำร้ายร่างกายตนเองเป็นครั้งที่ 6

“พอออกมาอยู่หอคนเดียวก็รู้สึกอยากทำ (กรีดข้อมือ) ทุกวัน อยากทำให้มันสบายใจขึ้นค่ะ”  เด็กหญิงเล่าช้าๆ เธอบอกว่ารู้สึกง่วงนอนเนื่องจากยาที่กินเข้าไป เราสังเกตแขนซ้ายของเธอเต็มไปด้วยรอยแผลหลายสิบรอย เรียงต่อกันเป็นริ้วๆ 

“เรื่องโดดตึกนี่…คิด คิดหลายครั้งมาก เคยเขียนจดหมายลาไว้ด้วยนะคะ เคยคิดถึงขั้นนั้นแล้ว”

เด็กหญิงเริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อประมาณ 5-6 เดือนก่อน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพ่อแม่ของเธอไม่เคยรับรู้ จนกระทั่งวันที่เข้าแอดมิทในโรงพยาบาล

เด็กสาวอายุ 16 ปี ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

วัยรุ่นไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1 ล้านคน

ปลายปี 2560 กรมสุขภาพจิตประเมินว่าวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และอีกกว่า 3 ล้านคนมีความเสี่ยงสูง ในขณะที่เราจะเห็นข่าวนักเรียนนักศึกษา ‘ฆ่าตัวตาย’ อยู่เป็นระยะ workpointTODAY รวบรวมเหตุฆ่าตัวตายเฉพาะช่วงต้นปี 2562 พบว่ามีข่าวนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะความเครียดและโรคซึมเศร้ามากกว่า 10 ราย

นิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายเพราะความเครียดและโรคซึมเศร้า (ม.ค. – เม.ย. 62)

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา ระบุว่านักเรียนนักศึกษาที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในปัจจุบันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากครอบครัว ทั้งในแง่ของความรุนแรง การสูญเสีย การถูกทอดทิ้ง และความคาดหวังที่สูงเกินไป

“ในมุมของพ่อแม่ ทุกคนรักลูก พยายามจะให้สิ่งที่ดีกับลูก สนับสนุนเขา แต่บางครั้งการสนับสนุนนั้นก็ปนมากับความคาดหวังที่สูง” พญ.สมรัก อธิบาย

เมื่อถามว่าพ่อแม่ยุคก่อนก็คาดหวังให้ลูกเรียนดี เป็นคนเก่ง มาโดยตลอด แต่ทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น

พญ.สมรัก บอกว่า “สมัยนี้เรามีสื่อมากมาย เห็นคนอื่นมีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ สังคมก็ปลื้มกับคนที่มีความสามารถสูงแบบนี้ มันสร้างความกดดันซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าแท้จริงแล้วเด็กเอาเข้าไปเป็นความคาดหวังกับตัวเอง กลัวว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมายจนเกิดเป็นความเครียดสะสม ในที่สุดมันก็ส่งผลกระทบต่อสารสื่อประสาท ต่อฮอร์โมน ต่อร่างกาย ปรากฏเป็นอาการของโรค”

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา

ย้อนกลับไปที่กรณีของเด็กหญิงวัย 16    ชยุต พ่วงมหา ผู้ประสานงานโครงการเลิฟแคร์สเตชั่น (บริการให้คำปรึกษาปัญหาวัยรุ่น) เล่าว่า ‘เธอ’ เรียนอยู่ชั้น ม.5 เป็นแกนนำเยาวชนในโครงการเลิฟแคร์สเตชั่น ทำกิจกรรมผลักดันประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาวะวัยรุ่น

แต่นอกจากเรียนหนังสือและทำกิจกรรมแล้ว เธอยังทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นหลังเลิกเรียนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว “พ่อแม่เขาแยกทางกัน น้องไม่ได้เกลียดพ่อเกลียดแม่ และพ่อแม่ก็ไม่ได้เกลียดเขา แต่ตัวโรคมันบอกเขาว่าตัวเขาทำผิดมาตลอด เกิดมาเป็นภาระของพ่อแม่”

สอดคล้องกับคำตอบของเด็กหญิง เมื่อเราถามว่าทำไมเธอถึงไม่ยอมบอกพ่อกับแม่ว่าป่วย “หนูไม่อยากให้เขารู้ ไม่อยากให้เขาเป็นห่วง กลัวบอกไปแล้วเขาจะทะเลาะกันด้วยค่ะ แต่โชคดีที่พี่ๆ เขาทำงานด้านนี้เลยช่วยได้”

 

3 อุปสรรคที่ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการรักษาโรคซึมเศร้า

ชยุต คือหนึ่งในพี่ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือและพาเด็กหญิงไปหาหมอ เขามองว่าอุปสรรคใหญ่ 3 อย่างที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้ คือ ผู้ปกครอง กฎหมาย และบริการของรัฐที่ยังไม่ตอบโจทย์

“ผู้ปกครองบางทีก็เป็นอุปสรรคกับการเข้าพบแพทย์นะครับ บางเรื่องเด็กเขาบอกไม่ได้จริงๆว่าที่เขาเป็นแบบนี้เพราะพ่อนั่นแหละ ถ้าจะพาพ่อไป แต่พ่อเป็นสาเหตุของโรคบางอย่างเนี่ย เขาก็พาไปไม่ได้ แม่เป็นสาเหตุของโรคบางอย่างเขาก็พาไปไม่ได้”

แต่พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ระบุในมาตรา 21 ว่ากรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้ปกครองเป็นผู้ให้ความยินยอมในการรับการรักษา

‘ผู้ปกครอง’ และ ‘กฎหมาย’ ที่กำหนดให้เด็กต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ในสายตาของชยุต “เด็กบางคนประเมินตัวเอง ทำแบบทดสอบต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต  คิดว่าฉัน ‘ใช่’ แล้วล่ะ เข้าข่ายทุกข้อเลย แต่ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ ไปไม่ถูก จะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างไร โทร.ไปสายด่วนก็ไม่มีคนรับ อันนี้ต้องโทษหน่วยงานของรัฐเลยนะ ว่าจัดทำบริการไม่สมบูรณ์”

ชยุต พ่วงมหา ผู้ประสานงานโครงการเลิฟแคร์สเตชั่น (บริการให้คำปรึกษาปัญหาวัยรุ่น)

ผู้ประสานงานเลิฟแคร์สเตชั่นยังเล่าถึงปัญหาของเด็กๆ ต่ออีกว่า “พอผ่านด่านแรกไปได้ปุ๊บ คือผู้ปกครองโอเค ยอมให้รักษา ด่านที่สองคือ ‘คิวต่อไปเดือนมิถุนายน’ เด็กต้องรอนานมาก แล้วถ้าจะใช้สิทธิรักษาฟรี คลินิกเปิด 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 เด็กเลิกเรียน 4 โมงเย็น ปัจจัยพวกนี้มันไม่ตอบโจทย์เลย”

 

จิตแพทย์เด็กเห็นด้วย  ถ้าเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป  จะพบจิตแพทย์ด้วยตนเองให้เบื้องต้น

พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่าการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันทั้งกับเด็กและครอบครัว เพราะถ้าเด็กเปลี่ยนแต่ครอบครัวไม่เปลี่ยนเด็กก็ยังจะเผชิญอยู่กับปัญหาเดิม

แต่ในกรณีของเด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี  พญ.โชษิตา เห็นด้วยว่าเด็กน่าจะมีสิทธิ์ขอรับความช่วยเหลือได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง เนื่องจากปัญหาของเด็กมักเชื่อมโยงกับผู้ปกครองด้วยจึงทำให้เด็กรู้สึกลำบากใจที่จะต้องเล่าเรื่องราวต่างๆ ต่อหน้าพ่อหรือแม่ 

เพราะฉะนั้นการเปิดทางให้เด็กเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้เองในเบื้องต้น อย่างน้อยจะช่วยให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองได้เหมาะสมขึ้น

 

‘โรคซึมเศร้า’  สังเกตอย่างไร ?

“โรคซึมเศร้าเนี่ย เวลาเรามาเจอมันมักจะแสดงออกทางร่างกายแล้ว” ชยุตบอก “แรกๆ เขาก็เก็บตัวเงียบ ไม่พูดกับใคร มีอาการหงุดหงิด ร้องไห้โดยไร้สาเหตุ ดูเศร้าตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งบ่นว่า ‘เหนื่อย’ ไม่ไปหรอกเหนื่อย ไม่กินหรอกเหนื่อย ถ้าบ่นว่าเหนื่อยบ่อยๆ อันนี้ก็ต้องระวัง”

ส่วนการทำร้ายตัวเองนั้น นอกจากจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคแล้วยังเป็นสัญญาณ ‘ขอความช่วยเหลือ’ ด้วย

พญ.สมรัก อธิบายว่า “การทำร้ายตัวเองด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เป็นสัญญาณบอกว่า ‘เขาต้องการความช่วยเหลือ’ แต่อะไรที่จะดังพอ…สำหรับบางคนการไปบอกพ่อกับแม่ก็อาจจะไม่มีใครฟังเขา แต่การทำร้ายตัวเอง การที่มีเลือด มีบาดแผล มันสามารถดึงความสนใจมาได้ เพราะการทำร้ายตัวเองทำร้ายชีวิตมันดังมาก แต่ทีนี้บางคนก็ยังคิดว่าเป็นการ ‘เรียกร้องความสนใจ’ เลยไม่สนใจ อันนี้ไปผิดทางอีก”

พ่อแม่จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะคอยซัพพอร์ทลูกระหว่างกระบวนการรักษา ทว่าคำพูดให้กำลังใจบางคำ เช่น สู้ๆ นะ เดี๋ยวก็ดีขึ้น ลูกต้องหายแน่ๆ คนอื่นยังหายเลย กลับไม่ได้ทำให้คนป่วยรู้สึกดีขึ้น ซ้ำร้ายจะกลายเป็นสร้าง ‘ความกดดัน’ มากกว่าเดิม

 

เปิดใจรับฟังสำคัญที่สุด

ล่าสุดหลังจากที่คุณหมออนุญาตให้เด็กหญิงออกจากโรงพยาบาล ‘เธอ’ อาศัยอยู่ที่บ้านของชยุตบ้าง บ้านของพ่อบ้าง บ้านของแม่บ้าง สลับๆ กันไป เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าช่วงเวลานี้เธอไม่ควรอยู่คนเดียว

“พวกพี่ๆ เขาเป็นคนบอกพ่อกับแม่ค่ะ คุณแม่ก็ยังมีไม่เข้าใจบ้าง แต่คุณพ่อเข้าใจค่ะ ตอนนี้ความรู้สึกมันกลับกันเลยจากที่จะโดดตึกตายกลายเป็นรู้สึกว่า…พ่อก็ยังเป็นห่วงเราอยู่” เธอก้มมองมือตัวเองแล้วพูดต่อว่า “พอพ่อกับแม่รู้แล้ว มันเหมือนเป็นการเปิดทางให้หนูรักษาเต็มตัวสักที ไม่ต้องเก็บไว้คนเดียวอีกต่อไปแล้ว”

เด็กสาวอายุ 16 ปี ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

และก่อนจะจบการสัมภาษณ์ เราขอให้ชยุตสรุปปิดท้ายเป็นข้อแนะนำสั้นๆ 3 ข้อ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

“อย่างแรกเลยครับ ต้องรับฟัง รับฟังอย่างจริงจังแบบที่พ่อแม่ไม่เคยรับฟังมาก่อน อันนี้สำคัญที่สุดเลย สอง ทำความเข้าใจกับโรค สาม ต้องให้ความร่วมมือกับหมอ ยาที่หมอให้มาต้องกินอย่างไร  ลูกกินยาแล้วเป็นอย่างไร ต้องกลับไปบอกหมอได้ว่าลูกพูดอะไรบ้าง สังเกตพฤติกรรมลูก เรื่องพวกนี้คนใกล้ชิดจะส่งสัญญาณให้หมอได้ดีที่สุด” ชยุตย้ำ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า