ไดอารี่ทำงานชัชชาติ วันแรกชัชชาติ ไปทำงาน ที่ว่าการ กทม. ถึง ตี 4 วิ่งรอบเสาชิงช้า ก่อนอาบน้ำ ทำงานต่อทันที
ถึงศาลาว่าการ กทม. ตี 4
วันที่ 2 ม.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ฯ กทม. เดินทางถึงศาลาว่าการ กทม. ตี 4 และวิ่งออกกำลัง ซิตตี้รัน รอบเสาชิงช้า และกลับมาอาบน้ำทำงานต่อ
รับเรื่องจากประชาชน
โดยในช่วงเช้าได้รับหนังสือจากกลุ่มเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนยื่นหนังสือเสนอนโยบายสนับสนุนหมวกกันน็อกให้เด็กที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้ารถเข็นจตุจักรมายื่นเรื่องการโดนยกเลิกสัญญา โดนนายชัชชาติ ลงมารับหนังสือและเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเอง
สางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว
จากนั้นได้หารือกับตัวแทนบริษัทกรุงเทพธนาคมนานกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อพิจารณารายละเอียดสัญญาการเดินรถและสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมถึงการนำสายสื่อสารลงดิน
หลังการประชุมนายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1 เดือน การหารือกับกรุงเทพธนาคมในวันนี้ ทำให้เห็นสัญญาการเดินรถที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน ต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไรและสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภากทม.หรือไม่ ซึ่งขออย่าเอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจเดินโครงการระยะยาว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน หากมีความจำเป็นที่กทม. ยังมีข้อบัญญัติในการกู้เงินที่จะนำมาชำระหนี้สินได้โดยเป็นข้อบัญญัติที่ต้องผ่านสภากทม. ก่อน และเป็นการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเอกชนกู้ ซึ่งย้ำว่าต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อน
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนการขยายสัญญาสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 นั้นยังไม่ได้มีการหารือเพราะยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ส่วนประเด็นที่จะทำราคาค่าโดยสารถูกลงในราคา 25 บาทว่า เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำ และมีความเป็นไปได้ แต่ยอมรับว่ามีปัจจัยอื่นที่ควบคู่ไปด้วยเช่น โครงสร้างหนี้พื้นฐานที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงกำไรและขาดทุน พร้อมมองว่าอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดภาระหนี้สิน คืออาจจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน เพราะปัจจุบันการให้บริการฟรีอาจจะไม่สมเหตุสมผล อาจจะส่งผลกระทบต่ออาชีพการให้บริการรถขนส่งสาธารณะที่จะขาดรายได้ ทั้งนี้ต้องดูความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นประชาชนและเอกชนด้วย
ขณะที่ประเด็นสายสื่อสารลงดิน นายชัชชาติ ระบุว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะขณะนี้มีปัญหาเรื่องการหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ ที่มีสัญญาจ้าง 4 ฉบับ ส่วนกรอบวงเงินที่สูง 19,000 ล้านบาท นั้น ทางบริษัทชี้แจงว่าเพราะเป็นรูปแบบที่ไม่รู้ว่าจะเจออะไรหน้างาน จึงต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดข้อมูล
นายชัชชาติระบุว่า หลังจากได้ข้อสรุปจะต้องรายงานต่อ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ เล็งผ่อนคลายมาตรการโควิด
นายชัชชาติ กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยให้ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจและในสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสม หลังจังหวัดภูเก็ต นำร่องถอดแมสก์ ในพื้นที่สาธารณะได้ แต่ต้องอยู่ห่างบุคคลอื่นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ว่ามาตรการดังกล่าวน่าสนใจเพราะกรุงเทพฯ กับภูเก็ตไม่ต่างกัน และกรุงเทพฯ ต้องเดินหน้าต่อ จึงเตรียมผ่อนคลายมาตรการให้เร็วที่สุด โดยจะต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักอนามัย กทม. และบุคลากรทางการแพทย์
ส่วนข้อเสนอให้กทม. ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ยาวออกไปถึงตี 2 ขณะนี้อนุญาตให้เปิดถึงเที่ยงคืน นายชัชชาติระบุว่า เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เพียงแค่ผับบาร์เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมไปถึงสถานประกอบการต่าง ๆ และสวนสาธารณะ ที่จะต้องขยายเวลาด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคประชาชน และผู้ประกอบการหลายฝ่าย
นายชัชชาติยังกล่าวอีกว่าถ้ามีเวลาจะไปสำรวจบรรยากาศการเปิดผับบาร์ตอนกลางคืน ตามนโยบายผู้ว่าฯเที่ยงคืนแต่ไม่ใช่วันนี้เพราะภารกิจแน่น
พาสื่อพาชมห้อง CCTV เชื่อมระบบ Traffy Fondue
นายชัชชาติ พาสื่อมวลชนเดินชมห้อง CCTV ที่เชื่อมต่อกับระบบ Traffy Fondue แพลตฟอร์มสำคัญ พัฒนาขึ้นมาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
นายชัชชาติ ระบุว่า เป็นแนวคิดที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เป็นช่องทางให้ประชาชนจากทุกเขตสามารถแจ้งปัญหาเมืองทั้งจราจร น้ำท่วม ทางเท้า จุดทิ้งขยะ ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่กทม.คอยรับเรื่องเพื่อดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งจะมีระบบตรวจสอบหลังแก้ปัญหาแล้วเสร็จ โดยขณะนี้ มีคนแจ้งปัญหาเข้ามาแล้วกว่า 4,000 เรื่อง แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 58 เรื่อง โดยในอนาคต ตนตั้งใจจะนำไปใช้เป็นหนึ่งใน KPI (ตัวชี้วัด) ประเมินการทำงานของตัวเอง และแต่ละสำนักงานเขตด้วย
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจสู่มือประชาชนได้ทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือ ผู้อำนวยการเขต จึงถือเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย” ชัชชาติ กล่าว
ชี้แจง ผช.เลขามีคดีปั่นหุ้น
นอกจากนี้นายชัชชาติ ยังชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกจับตาหลังจากเปิดตัวคณะทำงาน หนึ่งในนั้นคือ นางสาวศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งในอดีตนางสาวศนิ ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น เมื่อปี 2557
นายชัชชาติ ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบประวัติของนางศนิก่อนแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานอย่างรอบคอบแล้ว และทราบมาในอดีต กลต.สั่งปรับในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องในอดีตตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นความผิดพลาดและความเข้าใจผิดในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว โดยถูก กลต.สั่งปรับตามระเบียบแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่คดีอาญาและไม่ได้ถึงชั้นศาลไม่ผิดระเบียบ ของกทม.
สำหรับตำแหน่งที่เซ็นแต่งตั้งนางศนิ เป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน แต่เป็นงานด้านเอกสาร มั่นใจในศักยภาพของนางสาวศนิ ว่าจะสามารถร่วมงานกันได้อย่างดีเนื่องจากรู้จักกันมาก่อน