SHARE

คัดลอกแล้ว

บันทึก ‘ชัชชาติ’ วันแรกที่ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า ตอบชัดหลังรับตำแหน่งยังไม่เข้าพบนายกฯ ไม่กังวลข่าวงบกทม.เหลือน้อย 

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ภายหลัง รับหนังสือรับรอง อย่างเป็นทางการจาก นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะเรียบร้อย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เดินทางพร้อม ทีมรองผู้ว่าฯ กทม., ทีมที่ปรึกษา และทีมงาน เข้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 13.09 น. เปิดใจตื่นไปวิ่งปกติ ที่พิเศษคือคุณแม่อวยพรให้ไปดีๆ รู้สึกอบอุ่น

โดย นายชัชชาติ ได้กล่าวกับข้าราชการ ลูกจ้าง กทม. ด้วยประโยคซื้อใจ “ไม่ใช่นาย เราคือเพื่อนร่วมงานกัน” ย้ำจะดูแลให้ความเป็นธรรมกระบวนการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่เช่นนั้นจะเสียขวัญ พนักงานระดับล่างบางคนทำงานมานานยังไม่ได้รับการบรรจุ พอไม่ได้รับความเป็น คนจะรู้สึกอัดอั้น พลอยไม่ชอบระบบไปด้วย ซึ่งวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย. นี้ จะเชิญ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มาพูดคุยต้องเริ่มจากความโปร่งใส และย้ำนโยบายเป้าหมายย้ายศาลาว่าการกทม. ไปรวมที่เดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. ดินแดง ยอมรับมีข้าราชการบางส่วนไม่อยากย้าย แต่อยากให้นึกถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะมีคณะทำงานเข้ามาดูแล คืนลานคนเมืองให้เป็นมากกว่าที่จอดรถของข้าราชการ ลูกจ้าง กทม. เพื่อที่ว่าในอนาคตจะเป็นฮับของเกาะรัตนโกสินทร์

 

หลังเสร็จสิ้นพิธีการ นายชัชชาติ ได้เปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯ ที่ปรึกษาและทีมงานต่างๆ และได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ตอบในหลายคำถาม ดังนี้

เดินหน้าลุยงานรับมือน้ำท่วม ความปลอดภัย เคลียร์สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายชัชชาติ กล่าวว่า “วันนี้ก็เป็นวันแรกที่มาเริ่มงานคิดว่าเราคงลุยงานกันเลยนะครับ มีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเร่งด่วน เรื่องเร่งด่วนที่มอบหมายไปตอนนี้ก็คือ เรื่องน้ำท่วมแน่นอนเพราะเป็นหน้าฝน เดี๋ยวให้รองวิศณุดู เตรียมการเร่งด่วนรับมือน้ำท่วม ความปลอดภัยทางถนน ทางม้าลาย เรื่องหาบเร่แผงลอยแจ้งท่านปลัดไปแล้วว่านโยบายตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นไม่มีการโอนอ่อนอะไร คือยังเป็นหมือนเดิมหมด เราเห็นเริ่มมีข่าวว่า มีการเข้ามารุกล้ำพื้นที่ทางเท้ามากขึ้น ต้องบอกท่านปลัดว่าเหมือนเดิมยังไม่มีเปลี่ยนแปลงนโยบาย ต้องหาข้อสรุปเรื่องหาบเร่แผงลอยให้ได้ว่า จุดที่สมดุลอยู่ตรงไหน และสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว พรุ่งนี้ (2 มิ.ย. 2565) จะเชิญทางกรุงเทพธนาคม มาให้ข้อมูลตัวสัญญาต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร มีคณะทำงานแล้ว ได้ทำงานมา 2-3 อาทิตย์แล้ว คงทำให้เรื่องนี้ให้โปร่งใส คงจะมีรายละเอียดไปคุยกับทางรัฐบาลให้มากขึ้น เตรียมป้องกันโควิด ดูแลไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เน้นลงพื้นที่ให้มากขึ้น”

แนวทางสำหรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยสรุป นายชัชชาติ บอกว่า 1. เรื่องหนี้ที่กทม. รับโอนมา 50,000-60,000 ล้านบาท ต้องถามว่ารับถูกต้องหรือไม่ เพราะมีหนี้ส่วนที่รถไฟฟ้าไปถึง จ.ปทุมธานีกับ จ.สมุทรปราการ ต้องดูว่าหนี้ตรงนี้สภาฯ กทม.รับหรือยัง คืออยู่ๆ รัฐบาลให้ กทม.รับหนี้ เรามีกระบวนการรับหนี้อย่างไร 2. ส่วนกระบวนการจ้างเดินรถ เข้าใจว่ามีเรื่องค้างที่ ป.ป.ช. และการต่อสัญญาสัมปทานถึงปีพ.ศ. 2602 ตรงนี้ใช้ ม.44 ไม่ใช่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งเราก็สงสัยว่า ราคา 65 บาทจริงหรือไม่ ใครเป็นคนคิด ไม่มีการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเลย และเราก็สบายใจ เพราะเรื่องเหล่านี้เราไม่ได้เป็นคนทำ เราแค่มาดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วก็มาเล่าให้ประชาชนฟัง เพื่อมาคิดทางออกกัน ส่วนเรื่อง 8 สถานี 30 บาท คือเวลาพูด 65 บาทไกลสุด ซึ่งน้อยคนจะนั่งไกลสุด ถ้าเฉลี่ย 8 สถานีน่าจะเมคเซ้นส์มากกว่าแต่ต้องมาคุยรายละเอียดอีกที

ส่วนหนี้ที่มีการฟ้องร้อง 4 หมื่นล้านบาท นายชัชชาติ กล่าวว่า “เรื่องหนี้ไม่ต้องกังวล เพราะว่าเทียบกับหนี้ของรัฐบาลไม่ได้เยอะ หนี้ของรัฐบาลผมว่าเป็นหลายล้านล้าน ถ้าจำเป็นก็ออก Bond หรืออะไรก็ได้ คืออย่าเอาตรงนี้มาเป็นตัวกดดันประชาชนในระยะยาวไม่ใช่ประชาชนต้องมารับ… เพราะต้องการแก้หนี้ไอ้ก้อนนี้ไง อย่างนี้ไม่สมเหตุสมผล วิธีการแก้หนี้มีอีกหลายวิธี จริงๆ แล้ว กทม.ตัดสินใจกู้เงินมาใช้แล้ว… ดังนั้นอย่าเอาตรงนี้เป็นเงื่อนไขว่าหนี้เยอะต้องไปต่อสัญญา ผมว่าคนละเรื่องกัน ถ้าคิดรวมกันจะสับสน ต้องแยกเรื่องหนี้กับสัมปทานออกจากกัน”

ในปีงบประมาณ 2565 งบของกทม.จำกัดมีไม่ถึง 100 ล้านบาทจะดำเนินการอย่างไร

นายชัชชาติ กล่าวว่า ถามว่าทำไมงบประมาณน้อย คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราไม่ได้ลด รัฐบาลลด ลดไปเหลือแค่ 10% เงินหายไปเกือบหมื่นล้าน จะเห็นว่าหลายโครงการก็โดนตัดงบประมาณไปทั้งเรื่องระบายน้ำอะไรต่างๆ แต่เชื่อว่าตัวเลขคงไม่น้อยขนาดนั้น เมื่อกี้ได้คุยกับท่านปลัด บอกว่า จริงๆ แล้วมีเงินที่ยังไม่ได้จ่าย เดี๋ยวต้องไปดูว่าสุดท้ายแล้วเหลือเท่าไหร่จริงๆ แต่ต้องเรียนว่านโยบายเราที่เสนอไป 214 ข้อ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะ เรารู้อยู่แล้วว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จะเห็นว่าเราไม่ได้มีเมกะโปรเจกต์อะไรอยู่ในนี้ ต้องจัดความสำคัญก่อน ทำเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินทำก่อนเลย ยกตัวอย่างเช่นที่เราทำเมื่ออาทิตย์ แอปฯ ที่ประชาชนแจ้งเหตุได้
ไม่ได้ใช้เงินสักกะบาท แต่สามารถมีข้อเรียนเข้ามา 20,000 กว่าเรื่องได้ หลายๆ เรื่องเทคโนโลยีไม่ต้องใช้เงิน เราไม่ได้กังวลตรงนี้ เพราะว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ หลายๆ เรื่องสามารถเริ่มเดินได้ โดยยังไม่ต้องใช้เงินแต่ว่าเราจะรอปีงบประมาณ 2566 อีกที ซึ่งเดี๋ยวเปิดสภากทม. คงต้องมาดูงบประมาณตรงนี้อีกที สรุปว่าไม่ได้เป็นห่วงอะไรครับ แล้วหลายเรื่องสามารถขับเคลื่อนได้  ถึงแม้ว่าไม่ต้องใช้เงิน

“เรื่อง 94 ล้าน ท่านสามารถ (สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.) ให้ข่าวเมื่อเช้าถูกไหม รายละเอียดยังไม่ได้เห็นหรอก แต่ท่านคงมีข้อมูลระดับหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่ามีเงินที่ยังไม่ได้จ่าย เงินค้างจ่ายอยู่ในระบบอีก เชื่อว่าประมวลแล้วเรียกคืนมาได้ มีเงินสะสมกทม.อีกเป็นหมื่นล้านที่สามารถให้สภาฯ กทม.อนุมัติ ใช้จ่ายเร่งด่วนฉุกเฉินได้ ผมว่าอันนี้ไม่ได้เรื่องใหญ่กทม.มีเงินสะสมอยู่เหมือนกัน” นายชัชชาติ กล่าว และว่า จะให้ปลัดกทม. ทำเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทย ขอเปิดสภาฯ กทม. ได้แม้จะ ส.ก.ยังรับรองไม่ครบ 50 เขต เพราะว่าไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 13 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นคงไม่มีเวลาไหนที่เร่งด่วนกว่าเวลานี้แล้วที่จะเอาตัวแทนประชาชนจริงๆ เข้ามาดูแลปัญหาคนกรุงเทพ ต้องเร่งเปิดให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังกล่าวตอบเรื่องยุทธศาสตร์กับงบประมาณของกทม. ว่า ขั้นแรกต้องประเมินความคุ้มทุนของพวกเมกะโปรเจกต์ก่อน นโยบายของเราคือ “เส้นเลือดฝอย” คือดูแก้ปัญหาประชาชนในระดับรากหญ้า เส้นเลือดฝอย ที่อยู่ใกล้บ้าน ต้องพัฒนาให้งบประมาณลงไปที่เขตมากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นตัดสินใจในงบประมาณ ดังนั้นโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ 6 อุโมงค์ 28,000 ล้านบาท อาจต้องมาทบทวนก่อนว่าอะไรก่อนอะไรหลัง หรือโรงบำบัดน้ำเสียอีก 7-8 โรง ลำดับความสำคัญได้หรือไม่อะไรสำคัญก่อนหลัง แต่เราเชื่อว่าเราจะเน้นเส้นเลือดฝอยให้มาก หรือโครงการสวนลุมพินีอีก 2,000 ล้านบาท จำเป็นตอนนี้หรือไม่ หรือว่าเราควรทำสวนย่อย 20 สวน หรือ 50 สวน เงินเท่ากันต้องมาคิดตรงนี้แทน เรายังมั่นใจว่าเราจะทำเส้นเลือดฝอยจะแก้ปัญหาประชาชนได้มากกว่า

ปัญหาคนไร้บ้านที่ผู้ถามระบุเป็นคนวิกลจริตสร้างปัญหา

นายชัชชาติ ตอบว่า ต้องแก้ไขคนไร้บ้าน 100 % เป็นคนวิกลจริต 1-2 % ดังนั้นเราอย่าพูดให้คนรู้สึกกลัวคนไร้บ้านจำนวนมากไม่ได้สร้างปัญหา ต้องทำความเข้าใจก่อน ต้องเริ่มจากการทำฐานข้อมูลก่อน อาจต้องลงไปเชิงรุกดูว่าจำนวนมีเท่าไหร่ เชื่อว่ามีไม่เยอะ อย่าให้ประชาชนตื่นกลัว ‘บ้านอิ่มใจ’ ต้องเปิดใหม่ เคยมีบ้านแม้นศรีแต่ปิดไป ทำให้ไม่มีพื้นที่ให้คนไร้บ้านพำนักชั่วคราว “ไร้บ้านต้องไม่ไร้โอกาส” เขาได้สิทธิ์เหมือนพวกเรา ได้บัตรทองได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลเหมือนพวกเราแต่อาจไม่มีบัตรประชาชนก็เลยเข้าถึงสิทธิ์ไม่ได้ กทม.ต้องเข้าไปช่วย ดูแลกายใจสุขภาพให้ ต้องดำเนินการ ซึ่งมีแผนแล้ว

การจัดลำดับว่าระหว่างจะลงพื้นที่หรือเข้าไปพบนายกฯ พูดคุยปัญหากทม.ก่อน

นายชัชชาติ กล่าวว่า  “โอ้เรื่องท่านนายกฯ คงไม่ใช่ตอนนี้ครับ เพราะว่าตอนนี้ไม่ทราบว่าจะคุยอะไรกับท่านนะ ตอนนี้โฟกัสเรื่องของเราก่อน แต่ละรองแต่ที่ปรึกษาก็ไปลุยของตัวเอง มีเรื่องแต่ละเรื่องที่ต้องทำก็ทำไปเลย แล้วสลับกันวันธรรมดาคงลุยที่นี่ เสาร์อาทิตย์คงลุยพื้นที่ เพราะว่าวันธรรมต้องลุยกับราชการถูกไหม ทำตามนโยบาย 214 ข้อ แล้วก็ปัญหาต่างๆ ที่เร่งด่วน จากนั้นเสาร์อาทิตย์ลงพื้นที่ คุยกับประชาชนดูหน้างานดูติดตามการก่อสร้างต่างๆ ที่มีปัญหาความล่าช้า ก็คงจะทำผสมกันไป แต่ดูในช่วงเวลาที่เหมาะสม”

เมื่อถามว่าจะไปพบนายกฯ เมื่อไหร่ นายชัชชาติ บอกว่า “ยังไม่ได้คิดเลยครับ” เมื่อถามอีกว่าแต่นายกฯ อยากให้ไปพูดคุยด้วยก่อน นายชัชชาติ ตอบว่า “เดี๋ยวถ้าเรามีข้อมูลพร้อม ผมคงเรียนท่านรัฐมนตรีมหาดไทยก่อนตามลำดับชั้น เมื่อถามอีกว่าแล้วจะไปพบกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อใด นายชัชชาติ ตอบว่า “เดี๋ยวข้อมูลให้พร้อมก่อน เดี๋ยวเขามีกระบวนการติดต่อกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีการนำไปเปรียบเทียบกับนายกฯ ว่าเป็นมวยคู่ทางการเมืองในแง่รัศมี นายชัชชาติ ตอบว่า “ต้องบอกว่าไม่มีผมเป็นท้องถิ่น ผมดูแลแค่กทม. มวยคนละชั้น เพราะท่านอยู่ ระดับรัฐบาล ผมระดับท้องถิ่น” 

เมื่อถามว่าอีกว่า จะประสานการทำงานอย่างไรให้เป็นเนื้อเดียวกันไม่มีรอยต่อระหว่างรัฐบาลกับกทม. นายชัชชาติ ตอบว่า “ผมว่าตอนนี้เรารู้สึกก็ไม่มีรอยต่อนะ คือเราสามารถทำงานได้กับทุกคน หวังว่าจะไม่มีรอยต่อ เราอยากทำงานจริงๆ ผมรู้สึกว่าลำดับชั้นคือมหาดไทย งั้นเราคุยกับมหาดไทยก่อนครับ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชัชชาติ’ เข้ารับหนังสือรับรองเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17

ประมวลภาพ ‘ชัชชาติ’ เข้าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าวันแรก ย้ำกับข้าราชการ-ลูกจ้างกทม. มาเป็น ‘เพื่อนร่วมงาน’ ไม่ใช่ ‘นาย’

‘ชัชชาติ’ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการ กทม. ดินแดง

‘ชัชชาติ’ คิกออฟนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น นำร่องนโยบายแรก ใน 214 นโยบาย   

เปิดรายชื่อ ทีมของ ‘ชัชชาติ’ พร้อมประวัติที่น่าสนใจ

กทม.เริ่มเทศกาลแรกเดือนมิถุนายน เปิดงาน Pride Month 2022 สามย่านมิตรทาวน์

อดีต รองผู้ว่าฯกทม. เปิดงบกรุงเทพฯ ปี 65 จาก 7.8 หมื่นล้านเหลืองบให้ ‘ชัชชาติ’ ใช้แค่ 94 ล้านบาท

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า