SHARE

คัดลอกแล้ว

ระดับสายตา มองเห็นความหวัง ในชุมชนคนแม่สาย จ.เชียงราย หลังดินโคลนกองพะเนิน ถูกกำจัดจนเห็นเค้าเดิม ก่อนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ แต่ต่ำกว่าระดับสายตา กว่า 20% ของระบบระบายน้ำแบบปิด ไม่ต่างกับ ‘ระเบิดเวลา’ ที่ตั้งนับถอยหลัง เมื่อต้องเผชิญฝนรอบถัดไป

 

“เวลาเดินทางไปในที่ประสบภัย ดูเหมือนไม่มีอะไรแล้ว แต่ใต้ดินยังมีดินโคลนอยู่ นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ในฤดูฝนข้างหน้า ระบบท่อ ระบายน้ำล่มงานเข้านะครับ เหมือนบ้านคุณส้วมเต็ม”

ถึงไม่ใช่ ปภ. หน่วยงานรัฐ ที่ประชาชนนึกถึงเมื่อเกิดสาธารณภัย แต่ในทุกภัยพิบัติ คงไม่มีใครเอาความเห็นต่าง มาเป็นเหตุลดทอนน้ำหนักเสียง ของ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผอ.มูลนิธิกระจกเงา โดยเฉพาะในห่วงที่ไทยเผชิญภัยพิบัติตลอดทั้งปี และยังมีหลายพื้นที่รอการฟื้นฟู

ช่วงสัปดาห์ ขณะที่ อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ยังอยู่ในช่วงวิกฤตในหลายพื้นที่ รายการ TODAY LIVE มีโอกาสพูดคุยกับสมบัติ ถึงการรับมือภัยพิบัติในรอบหลายเดือนมานี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

[เจ็บกันถ้วนหน้า]

“บอบช้ำกันหมด ของเสียหาย 100%” เป็นประโยคสั้นๆ ที่แทบจะกลายเป็นบทสรุป ของสถานการณ์ทั้งประเทศ ที่สมบัติสัมผัสเองจากหน้างาน แม้ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่จะต่างกันไป

พูดง่ายๆ อย่างภาคใต้ ที่ปริมาณในช่วงเกิดน้ำท่วมอยู่ระดับไม่ต่ำกว่ากว่า 500 มิลลิเมตร เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ในกรุงเทพฯ ช่วงที่ว่าฝนตกอย่างกับฟ้าถล่ม อยู่เฉลี่ยราว 80 มิลลิเมตร ก็กลายเป็นทะเลกรุงเทพฯ ได้แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกด้วยเส้นทางระบายน้ำลงทะเล ทำให้ภาคใต้ลดระยะเวลาการท่วมขังได้ดีกว่าหลายพื้นที่ “ไม่ใช่ว่าน้ำลดตู้เย็นที่พังไปแล้วจะติด ประตูที่บวมน้ำจะหายเอง” ตามความเห็นของสมบัติ

เช่นเดียวกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่ต้องรับมือกับน้ำป่าไหลหลากซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยปริมาณฝนที่ตกมากกว่าปกติ 50-60% จนดินอุ้มน้ำไม่ไหว ผนวกกับภาพผืนป่าต้นน้ำที่เปลี่ยนสภาพ อย่างกรณีพื้นที่เชื่อมต่อ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และ อ.แม่สาย จ.เชียงรายของไทย ที่ป่าต้นน้ำฝั่งเพื่อนบ้านแปรสภาพเป็นพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมาก นั่นถึงอาจเป็นเหตุหนึ่งของมวลดินปริมาณมหาศาล ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยอยู่ตอนนี้

ภาพจาก: TNP

[เอายังไงต่อกับดินโคลน]

ทำความเข้าใจกันก่อน ระบบระบายน้ำของเทศบาลตำบลเเม่สาย  แบ่งเป็น ระบบปิด 20% และระบบเปิด 80% ซึ่งส่วนของระบบปิดนี่แหละ ที่กำลังเป็นข้อห่วงกังวลของสมบัติ

“ต้องหาวิธีการเอาโคลนออกจากท่อระบายน้ำ ซึ่งยังเป็นปัญหาทางเทคนิค เหมือนว่าจะทำได้ใช่ไหมครับ เพราะตอน กทม. เข้าไป ทำได้ไปความยาวหลักกิโลเมตร แต่ยังมีอีกเยอะมาก และจำนวนเครื่องจักรมีจำกัด ตอนนี้เขาก็ปิดงานไม่มีใครไปดูดแล้ว ผมก็รอดูว่าท้องถิ่นกับรัฐบาล จะมีแผนจัดการท่อระบายน้ำยังไง”

ทำไมการจัดการดินโคลนถึงต้องใช้เวลานับเดือน? สมบัติ เล่าว่า ปริมาณดินโคลนกว่า 190,000 คิว เป็นคำตอบของเรื่องนี้ ลิงคำนวณคร่าวๆ ถ้ารถสิบล้อคันนึงที่บรรทุกได้ 24 ก็ต้องวิ่งเกือบ 8,000 รอบ ถึงจะครบ กว่าจะตักได้ กว่าจะขนได้ ใช้เวลาทุกขั้นตอน

แล้วความเป็นจริงยิ่งกระจ่างชัด เมื่อคณะทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ พร้อม ผู้บริหารสำนักระบายน้ำ เข้าไปช่วยเหลือและประเมินงานจริง

รถดูดโคลน 6 คัน รถน้ำ 8 คัน และเจ้าหน้าที่ราว 80 ชีวิต ของ กทม. ถือเป็น ‘เบอร์ 1’ ของประเทศนี้ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพเครื่องมือ และความพร้อมของคนทำงาน ยังมองว่านี่คืองานยาก สมบัติจริงยิ่งตระหนักว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว

“ผู้รับเหมาท้องถิ่นทำไม่ได้นะ คุณอย่าคิดว่าจะเอานักโทษเรือนจำอะไรไปขุด ทำไม่ได้ มันไม่ใช่ท่อระบายน้ำปกติแล้ว เป็นท่อน้ำท่วม ทั้งหมดในท่อคือดินโคลน ซึ่งแข็งตัวไปแล้ว มันเหนียวมาก เหนียวแบบสุดฤทธิ์สุดเดช”

“จำน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 54 ได้ไหม หลังจากนั้นเรามีปัญหาตามมาอีกหลายปีนะ เนื่องจากมีสิ่งปฏิกูล บอกท่อระบายน้ำไปไม่ได้ระบายช้า สุดท้ายงัดมามีกระสอบทรายอุดอยู่ข้างใน จากที่ยัดไว้กั้นน้ำไหลย้อนท่อ” ตัวอย่างที่สมบัติยกมานี้ เพื่อให้เห็นภาพ ว่าความรุนแรงที่แม่สายหนักหนากว่านั้นมาก

ภาพจาก: TNP

ในฐานะภาคประชาสังคมที่ใกล้ชิดพื้นที่ สมบัติ มองว่า มีงบประมาณแล้ว ไม่ใช่จะจัดการได้เลย กรณีนี้จำเป็นต้องมีการสำรวจ และทดลองอย่างเป็นระบบ

“แล้วจะสัมพันธ์เกี่ยวกับวิธีการเปิดประมูลด้วยนะ หมายความว่าถ้าคุณไม่รู้สภาพการณ์ข้างล่าง ว่าท่อมีประสิทธิภาพเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ขนาดเท่าไหร่ ปริมาณของดินที่อยู่ข้างในสภาพการณ์กี่เปอร์เซ็นต์ ความยากในการเข้าออกคืออะไร คุณจะไม่รู้ว่างานนี้ยากหรือง่าย” นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานท้องถิ่น และรัฐบาลที่ต้องร่วมมือกัน 

ทั้งหมด ยังไม่ได้นับรวมอุปสรรคด้านการสื่อสารในพื้นที่เอง ที่ยังมีให้เห็น ทั้งในแง่การพูดคุยกับชาวบ้าน ตลอดจนการสั่งการระหว่างหน่วยงานเอง

ตัวอย่างที่ ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สาย เล่าเอาไว้ผ่านเวที ฟังเสียงประเทศ  “ฟังเสียงคนแม่สาย : อนาคตของเมืองท่ามกลางภัยพิบัติ ทางออกคืออะไร? ของ ThaiPBS เมื่อช่วงต้นเดือนมา พูดถึงข้อวิพากษ์จากชาวบ้าน กรณีสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำล้น

นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ระบุว่า คนในหมู่บ้านมีหลายสถานะ เอกสารสิทธิ์ถือครองบ้านก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อแผนงาน กระบวนการเรียนรู้ ที่ต้องเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้ความช่วยเหลือ และการสื่อสารกับชาวบ้านไม่ชัดเจน 

ช่องว่างลักษณะนี้ ถึงทำให้ภาพของ ‘ภาคประชาชน’ มีบทบาทอย่างมากในวิกฤตต่างๆ 

[ใกล้เคียงงานอาสาสมัครใน ‘อุดมคติ’ ที่สุดครั้งหนึ่ง]

เชื่อว่าระหว่างติดตามสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงรายนาที หลายคนยังร่วมเอาใจช่วยบรรดาภาคประชาสังคม ที่ลุยเต็มที่ สมบัติ ฉายภาพงานอาสาสมัครที่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ กู้ภัยในจุดเกิดเหตุ และทีมจัดการฟื้นฟู

โดยในช่วงต้น ภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประชาชนจะได้เห็น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและส่วนกลาง กำลังพล รวมถึงบรรดามูลนิธิ ศาลเจ้า ต่างวิ่งวุ่นกัน และที่ขาดไม่ได้คือหน่วยสนับสนุน ที่ต้องดูแลทั้งคนทำงาน และผู้ประสบภัย

“น้ำไปทุกคนทยอยถอย ยกเว้นคนทำข้าวกล่อง อย่างมูลนิธิเพชรเกษม ยืนหนึ่งในปีนี้เลย รั้งท้ายนานมาก เนื่องจากที่แม่สายยังกลับไม่ได้ ระหว่างทางต้องมีคนผลิตข้าวกล่อง ไว้รองรับคนทำงานอาสาสมัคร และชาวบ้านที่กลับบ้านไม่ได้” 

ส่วนงานอีกฟากหนึ่ง คือทีมจัดการฟื้นฟู ซึ่งเป็นหน้างานที่สมบัติ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ด้วยประสบนับเป็นจุดแข็ง สมบัติ ประเมินได้ว่า การหลั่งไหลของการช่วยเหลือก็จำเป็นต้องจัดระเบียบเช่นกัน เพราะแต่ละวัน นอกจากทีมงานช่วยเหลือในพื้นที่หลักร้อยแล้ว นักเรียน นักศึกษา และเครือข่ายชาวบ้าน ก็พร้อมช่วยกันเต็มที่หลักพันคน

“เรารู้ว่าจะมีคนมาช่วยงาน แล้วเขาจะติดข้อจำกัดอะไร อย่างเรื่องว่าไม่รู้จะลงไปที่บ้านไหน พื้นที่ไหน ขาดอุปกรณ์ เราอาจจะช่วยเขาในการจัดการ พร้อมทำงานคู่กับเครื่องจักร” สมบัติ ฉายภาพกิจกรรมการล้างบ้านที่เกิดขึ้น

ภาพจาก: มูลนิธิกระจกเงา

“เรื่องล้างบ้านก็เรื่องหนึ่ง จบงานเสร็จปุ๊บก็ต้องคิดถึงเรื่องของที่จะเอาเข้าไป อย่างกระจกเงาที่กรุงเทพฯ เราเป็นพื้นที่รับบริจาคอยู่แล้ว โดยปกติมีคนเอาเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ข้าวของ เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งเสียไม่เสียมาบริจาคเต็มไปหมด เราพอมองออกว่าแพทเทิร์นของการฟื้นฟูชุมชน ความต้องการเขาคืออะไรบ้าง”

และเหตุภัยพิบัติเช่นนี้ พวกเขาจำเป็นต้องช่วยเหลือไปถึงการฟื้นฟูทางอาชีพ “อย่างร้านตัดผมอุปกรณ์ไปหมด โชคดีว่ามีร้านตัดผมใหญ่ในกรุงเทพฯ เห็นใจคนอาชีพเดียวกัน เราช่วยกันทำร้านให้กลับมา เขาก็ซื้ออุปกรณ์ไปติดตั้งให้ ถึงฟื้นขึ้นมาได้”

ลักษณะเช่นนี้ ก็เกิดขึ้นกับพ่อค้าเสื้อผ้ามือสองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน “น้ำมาปุ๊บ ซัดไปหมดเลย เราก็คัดพวกเสื้อผ้า ขับไปให้ จัดให้สามารถฟื้นชีวิตขึ้นมาให้ได้”

การช่วยเหลือลักษณะ สมบัติเข้าใจดี ว่าหากต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ขณะที่ รูปแบบการทำงานของมูลนิธิกระจกเงา มีทรัพยากรพร้อมต่อการฟื้นฟูเบื้องต้นอยู่แล้ว “กระจกเงามีของอยู่แล้วเราถึงสามารถทำได้ เชื่อไหม ขนของจากกรุงเทพฯ 60 กว่าคันรถนะ เพื่อฟื้นฟูที่เชียงรายแค่พื้นที่เดียวตอนน้ำท่วม ปริมาณมหาศาลมาก”

ถึงจะผ่านมาแล้วหลายวิกฤต และร่วมสู้ในทุกสนามของงานอาสาสมัคร ทว่า สมบัติ ถึงขั้นออกปากว่าโมเดลช่วยเหลือและฟื้นฟูในพื้นที่อุทกภัยใน จ.เชียงราย รอบปีนี้ ใกล้เคียงกับภาพในอุดมคติของตัวเขาเอง

“ทำงานภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสเกลขนาดใหญ่ ถ้าการทำงานที่ส่วนหน้าไม่มีปัญหา ไม่ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องที่ดีมากๆ โมเดลที่เชียงรายปีนี้ใกล้เคียงกับอุดมคติมากที่สุด มีเพียงรอยต่อเล็กน้อยที่ติดขัด แต่เป็นเรื่องปกติมาก” สายตาของสมบัติ นับเป็นเครื่องยืนยันชั้นดี

[รัฐทำดีก็ต้องชม]

“น้องๆ สึนามิเลยนะ คนที่ลงไป” หากใครทันช่วงเวลาการสูญเสียจากภัยพิบัติ ปี 2547 ก็อาจพอนึกออกว่า สมบัติกำลังพูดถึงความสนใจของผู้คนในระดับที่ไม่ปกติ และนี่เองกลายเป็นสูตรโกงความสำเร็จการช่วยเหลือง ของอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องปรบมือให้สื่อมวลชน

“ฝ่ายรัฐก็มองออกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่ภัยพิบัติระดับท้องถิ่นจัดการกันเองได้ พอมองว่าสำคัญปุ๊บ อย่างตอนผมรอผมร้องขอว่า ควรจะมี บกปภ.ช. (ส่วนหน้า) คุณภูมิธรรม ก็ส่งรัฐมนตรีอิ่ม (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย) ลงไปเอง”

ต่อให้การลงไปนั่งหน้างานครั้งนี้ จะไม่ใช่เพื่อการสั่งการโดยตรง แต่ รมช.มหาไทย ก็สามารถส่งข้อมูลไปที่ส่วนกลาง เพื่อให้ตัดสินใจทางนโยบายบางเรื่อง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณลงมา ทำให้งานในพื้นที่เดินหน้าไปได้ ตามความคิดของสมบัติ

ขณะเดียวกัน ความสนใจเชิงลบต่อเหตุการณ์ ก็ผลักดันให้ประชาชนที่มีศักยภาพร่วมกันสนับสนุน แต่ในทางกลับกัน ความสนใจที่กระจุกตัวในพื้นที่เดียว ก็ทำให้ทีมอาสาสมัคร ‘หมดแรง’ จนส่งผลกับการช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ ในเวลาต่อมา

“เราเอาบทเรียนที่ภาคเหนือไปปรับใช้ที่ใต้ตอนนี้ได้ แต่ผมถามว่าคุณจะดึงอาสาสมัครไปยังไง…และผมถามว่าคุณเหลืออยู่เท่าไหร่ คุณตันหมดไปกี่สิบ คุณบุ๋ม-ปนัดดาหมดไปกี่สิบ สต๊อกคุณมีอยู่เท่าไหร่ สาธารณะบริจาคไปหมดแล้วตั้งแต่เชียงราย หมดมือแล้ว” 

ผู้นำจำเป็นต้องลงพื้นที่หรือไม่? ในฐานะหน่วยงานภาคประชาสังคม ที่ใกล้ชิดชาวบ้านแล้ว สมบัติเห็นว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า  ‘เข้าใจสถานการณ์ให้ดีที่สุด’ 

ไม่ว่าจะลงหรือไม่ลง ต้องเข้าสถานการณ์พื้นที่ให้ได้ ไปแล้วอาจจะเป็นเรื่องของกำลังใจ หรือลงไปช่วยสั่งการให้ความจำกัดที่มีอยู่มันไหลลื่นขึ้น แต่ถ้าไม่ไปก็ควรจะส่งคนที่มีอำนาจเต็ม ไว้ใจได้ มีทักษะ มีประสบการณ์ระดับหนึ่งลงไป…แต่ลงไปก็ดี ได้เห็นความรู้สึก มันมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึก” 

[อาสาสมัครแข็งแรง สะท้อนรัฐล้มเหลว?]

“จริงและไม่จริง” ผอ.มูลนิธิกระจกเงา ตอบคำถามนี้โดยไม่ขึ้นเยอะ ด้วยมองว่าแต่ละเหตุการณ์มีปัจจัยแวดล้อมจำนวนมาก 

“การที่อาสาสมัครออกมา แสดงว่าขนาดของปัญหาใหญ่มาก ใหญ่กว่าระบบที่รัฐจะรับมือได้ ทำให้เกิดช่องว่าง ภาคประชาชนเห็นปัญหาก็อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยอัตโนมัติ ถามว่าสะท้อนประสิทธิภาพของรัฐไหม ‘ใช่’ แต่ต้องดูว่า เหตุครั้งนั้นใหญ่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติแล้วยังไงมันก็ต้องเกินระบบ หรือซับซ้อนในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึง”

ขณะเดียวกัน สมบัติ ชี้ว่า ต้องกลับมาย้อนดูระบบงาน รับมือภัยพิบัติในสภาวะปกติ อย่างอุบัติเหตุตามท้องถนน ที่เอกชนก็เข้าถึงก่อนรัฐเช่นกัน โมเดลลักษณะนี้ก็ยังคงไม่มีข้อสรุป ว่าตกลงแล้ว เป็นความล้มเหลวของรัฐหรือไม่

“รัฐก็จะบอกว่า เอกชนทำได้ดีอยู่อยู่แล้ว รัฐจะทำไปทำไมแค่ต้องส่งเสริม ถึงได้มีค่าเคสให้ เวลาคนป่วยไปส่งโรงบาลไก็เอาไป 500 บาท นี่ไม่ใช่กำไรแค่ค่าน้ำมัน”

ต่อให้ใครมองว่า นี่แหละคือความล้มเหลว ดูเหมือน สมบัติ ขอเห็นต่าง “รัฐก็เล่นบทแบบนี้ คิดว่าทำสู้เอกชนไม่ได้ก็ปล่อยให้เอกชนทำไป แล้วเขาก็ไปออกระเบียบจัดสรรไม่ให้ตีกัน จริงๆ ออกแบบดีๆ รัฐทำได้มากกว่านั้น”

ถึงได้เป็นที่มาข้อเสนอของสมบัติ ที่มองว่า การพัฒนาลำดับต่อไปของรัฐ ควรมุ่งเน้นที่การส่งเสริมสนับสนุน “ตอนนี้กลายเป็นเอกชนบริษัทใหญ่ๆ แจกบัตรน้ำมันเลย ถ้าผมเป็นรัฐ เวลาเกิดแบบนี้ ผมก็จะบอกเลยขอความร่วมมือภาคประชาชนที่ลงไปช่วยกัน รถกู้ชีพที่เครื่องหมายชัดเจน คุณผ่านเส้นทางนี้จอดเลย เติมน้ำมันได้เลย ก็ส่งเจ้าหน้าที่ สตง.ไปนั่งอยู่ที่ปั๊มแจกบัตรน้ำมัน” 

“ถ้าคุณเป็นรัฐ แล้วคุณรู้ว่าประเทศนี้ภาคประชาสังคม อาสาสมัครแข็งแรง คุณก็เติมดับเบิล ให้มันติดเทอร์โบทำงานได้ดีขึ้น คนก็ไม่มาตำหนิว่ารัฐทำงานสู้เอกชนไม่ได้ อันนี้คุณก็โม้ไปเลย ว่าเอกชนทำงานได้เพราะแรงซัปพอร์ตรัฐ”

สมบัติ เล่าถึงคำบอกเล่าของหน่วยงานหนึ่ง ที่นำกำลังพลมาช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย ระบุว่า การเดินทางนอกพื้นที่มีต้นทุน และตัวเลขไม่ได้น้อยๆ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธข้อเสนอแนะที่เขากำลังพูดถึงอยู่

“เวลาเกิดสาธารณะภัยขนาดใหญ่ แล้วคุณอยากจะเพิ่มขีดความสามารถ 200 ถึง 300% ลองไปทำแผนมาสิ ลองทำแผนมาแล้วรัฐก็ไปเติม” จินตนาการของสมบัติจะเกิดขึ้นจริง ต่อเมื่อวิธีคิด กฎระเบียบ และวิสัยทัศน์ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการปรับปรุง จะว่ายกเครื่องทั้งระบบก็เป็นได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า