SHARE

คัดลอกแล้ว

ด็อค ริเวอร์ส (Doc Rivers) อาจไม่ใช่โค้ชที่ได้รับการบันทึกว่าเก่งที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อนับจากจำนวนแชมป์ แต่ในฐานะโค้ชผิวดำที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกสนาม และครั้งหนึ่งได้ก้าวไปอยู่บนจุดสูงสุดมาแล้ว ย่อมมีเรื่องราวน่าสนใจให้ได้ติดตามกัน

เขาได้ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านสารคดีกีฬาเรื่อง The Playbook: A Coach’s Rules For Life หรือในชื่อไทยว่า กฎชีวิตพิชิตทุกสนาม ที่กำลังฉายอยู่บน Netflix ณ ตอนนี้

การคุมทีมใหญ่ที่ไร้แชมป์มานาน ต้องนำทีมที่เต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์ รวมถึงการต้องเจอกับกระแสสังคมที่เกิดจากการเหยียดสีผิวโดยเจ้าของทีม

นี่คือกฎ 5 ข้อของด็อคที่เขานำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

 

1.จงไปให้สุด (Finish the Race)

แม้คนเราจะมีเป้าหมายต่างกัน แต่เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะไปทางไหน ข้อแนะนำของด็อคคือ พยายามวิ่งเข้าเส้นชัยให้ได้

ตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้นเกรด 1 ครูให้นักเรียนแต่ละคนเขียนบนกระดานว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เขาเขียนว่า ”ผมอยากเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ”

สิ่งที่เขาเขียนโดนครูลบออกในทันที พร้อมกับโดนสั่งให้ลดเป้าหมายลง ให้เขียนอย่างอื่นลงไปแทน

เมื่อด็อคเขียนประโยคเดิมลงไปเป็นครั้งที่สอง คราวนี้เขาโดนครูไล่กลับบ้าน จนพ่อของเขาต้องพาเดินมาส่งที่โรงเรียนอีกรอบ และได้บอกลูกชายก่อนเข้าห้องว่า

“มันเป็นเป้าหมายที่ดีนะ แต่ไม่ว่าลูกจะมีเป้าหมายอะไร ตอนนี้มันยังเร็วเกินไป เมื่อลูกหามันเจอแล้ว ขอจงไปให้สุด”

เมื่อเขาได้ยินเช่นนั้น เขาเดินไปที่กระดาน แล้วเขียนว่า ”ผมอยากเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ”

16 ปีผ่านไป เขาได้เซ็นสัญญาเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพของทีมแอตแลนตา ฮอว์กส์ ทำความฝันที่ถูกครูชั้นประถมมองว่าเป็นเป้าหมายที่เพ้อเจ้อ ให้กลายเป็นความจริงได้ในที่สุด

 

2.อย่าทำตัวเป็นเหยื่อ (Don’t be a Victim)

ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือเราจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้น

24 เมษายน 2014 ขณะที่ ด็อค ริเวอร์ส รับหน้าที่เป็นโค้ชให้ทีมลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส มีคลิปเสียงที่เป็นการบันทึกการสนทนาระหว่างเจ้าของทีม โดนัลด์ สเตอร์ลิง กับชู้รักของเขาหลุดออกมา

ในบันทึกดังกล่าวมีข้อความที่สเตอร์ลิงพูดในเชิงเหยียดคนผิวดำอย่างรุนแรง ระหว่างการตำหนิที่ชู้ของเขาไปถ่ายรูปกับ แมจิก จอห์นสัน นักบาสเกตบอลผิวดำระดับตำนาน แล้วโพสต์ลงบนอินสตาแกรม ในที่สุดคลิปเสียงนั้นก็กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วสหรัฐฯ

“ฉันแค่จะบอกแกว่า บนอินสตาแกรมบ้าๆ ของแกน่ะ แกไม่จำเป็นต้องเอาภาพที่เดินอยู่กับคนดำมาลง”

“แกจะชื่นชมเขา พาเขามาที่นี่ เลี้ยงอาหารเขา หรือมีเซ็กส์กับเขา ฉันไม่แคร์ ทำอะไรก็ได้แต่อย่าโพสต์รูปกับเขาลงอินสตาแกรมให้ชาวโลกได้เห็น จนคนต้องโทรมาหาฉัน”

กระแสสังคมถาโถมเข้ามาสู่ทีมอย่างหนัก ผู้คนจับจ้องไปที่ด็อคซึ่งเป็นโค้ชผิวดำว่าเขาจะมีปฏิกิริยากับข่าวนี้อย่างไร ที่เจ้าขององค์กรที่เขาทำงานให้อยู่ มีทัศคติต่อคนผิวดำเช่นนั้น

เขายอมรับว่าเขารู้สึกช็อก โกรธ และผิดหวัง กับความเห็นที่เจ้าของทีมแสดงออกมา หลายคนเรียกร้องให้ทีมบอยคอตต์การแข่งขัน NBA ที่กำลังแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ

“เราจะไม่ทำตัวเป็นเหยื่อ (We are never going to be victims) ” คือคำกล่าวของด็อคที่พูดกับลูกทีมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงนั้น

“พวกคุณเลือกได้ ว่าจะลงแข่งหรือไม่ แต่ โดนัลด์ สเตอร์ลิง จะเป็นฝ่ายชนะ ถ้าพวกเราไม่ลงแข่ง”

พวกเขาตัดสินใจลงแข่งขันต่อ แม้จะแพ้ในเกมถัดมา ทำให้ทั้งคู่เสมอกันที่ 2-2 เกม แต่หลังจากนั้น NBA ได้ออกมาประกาศแบน โดนัลด์ สเตอร์ลิง ตลอดชีวิต และทีมคลิปเปอร์สที่ไร้เจ้าของทีมจอมเหยียดผิว ก็กลับมาเอาชนะได้ใน 2 จาก 3 เกมที่เหลือ ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปสำเร็จ

 

3.แนวคิดแบบอูบูนตู (Ubuntu is a Way of Life)

หากเราใส่คำว่า Ubuntu ลงในกูเกิ้ล ผลการค้นหาที่ปรากฎออกมาล้วนเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับด็อค เขาไม่รู้มาก่อนว่าอูบูนตูคืออะไร จนกระทั่งมีแฟนบาสเกตบอลคนหนึ่งเข้ามาบอกเขา ว่าให้ไปลองหาความหมายของสิ่งนี้ดู

“มันไม่ใช่แค่คำศัพท์ ด็อค มันคือแนวทางการดำเนินชีวิต” หญิงคนนั้นย้ำอีกครั้ง

อูบูนตู เป็นแนวคิดที่พูดถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งยึดถือกันในหมู่คนแอฟริกัน โดยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นนับตั้งแต่การขึ้นเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ของ เนลสัน แมนเดลา เมื่อปี 1994

ความหมายแบบคร่าวๆ ของแนวคิดนี้คือ การที่บุคคลหนึ่งจะมีตัวตนขึ้นมาได้ เกิดจากการมีตัวตนร่วมกันของพวกเราทั้งหมด

ในกีฬาบาสเกตบอลซึ่งเป็นกีฬาประเภททีม ที่มีเพียงฝั่งละ 5 คน ผู้เล่นที่เก่งมากๆ คนหนึ่งอาจพาทีมชนะได้ในแต่ละเกม แต่ในระยะยาวแล้ว การทำงานร่วมกันเป็นทีมคือสิ่งที่สำคัญ ไม่แพ้กีฬาประเภททีมชนิดอื่นๆ

ด็อคชื่นชอบในแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก หลังจากใช้เวลาค้นคว้าจนถึงเช้าของอีกวัน เขาได้นำไปถ่ายทอดสู่ลูกทีม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ในปี 2007 ทีมบอสตัน เซลติกส์ ที่เขาคุม ได้ดึงผู้เล่นชื่อดังเข้ามาร่วมทีม 2 คน คือ เควิน การ์เน็ตต์ และ เรย์ อัลเลน เมื่อรวมกับดาวดังอีกคนที่อยู่กับทีมมาเป็นปีที่ 10 อย่าง พอล เพียร์ซ ทำให้ในปีนั้นด็อคมีผู้เล่นระดับออลสตาร์อยู่ในทีมถึง 3 คนด้วยกัน

คำถามก็คือเขาควรจะบริหารทีมอย่างไร ในสภาวะที่เสือ 3 ตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน

อูบูนตูคือคำตอบที่เขามองหา

หลังการแข่งขันเกมหนึ่ง นักข่าวเข้ามาสัมภาษณ์ เควิน การ์เน็ตต์ โดยเริ่มต้นด้วยการชื่นชมว่าคืนนี้เขาทำได้ดีมากในเกมรับ

“ไม่ใช่ ’ผม’ แต่เป็น ‘พวกเรา’ ต่างหาก ผมไปยืนตำแหน่งตรงที่ที่ผมควรอยู่ เพราะว่ามีคนอื่นไปยืนตรงที่พวกเขาควรอยู่ ถ้าพวกเราชนะ นั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไม”

 

4.แรงกดดันคือสิทธิพิเศษ (Pressure is a Privilege)

ความกดดันอาจส่งผลในแง่ลบหากไม่รู้จักวิธีการรับมือที่ถูกต้อง แต่ในอีกแง่หนึ่งมันอาจเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติในการมอง และคนที่จะประสบความสำเร็จเท่านั้นที่จะต้องเผชิญกับมัน

“เราคือบอสตัน เซลติกส์ และสิ่งที่เราทำทั้งหมดคือการเอาชนะ” คือแนวคิดที่ด็อคต้องการลงโปรแกรมฝังไปในหัวลูกทีม

NBA มีทีมลงแข่งขันถึง 30 ทีม แต่ตำแหน่งแชมป์มีเพียงหนึ่งเดียว และครั้งล่าสุดที่เซลติกส์ได้แชมป์คือปี 1986 ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนพวกเขาเป็นทีมใหญ่ที่คว้าแชมป์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ธงที่แสดงถึงเกียรติยศแห่งการเป็นแชมป์ 16 ผืนถูกแขวนไว้ในสนาม TD Garden ของพวกเขา เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ทีมก้าวไปไม่ถึงจุดที่เคยอยู่ ไม่เคยมีช่วงใดในประวัติศาสตร์ที่ทีมห่างแชมป์นานนี้มาก่อน

ในฤดูกาล 2007-08 ที่เซลติกส์ทำผลงานได้ดีจนกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์อีกครั้ง สิ่งที่ด็อคต้องการคือการเพิ่มแรงกดดันเข้าไป

เขาสั่งให้เจ้าหน้าที่ของทีมติดตั้งไฟสปอตไลต์เพื่อฉายไปบนผนังอันว่างเปล่า เป็นจุดที่ธงผืนที่ 17 จะถูกแขวนไว้หากพวกเขาได้แชมป์

สิ่งที่เขาบอกกับลูกทีมคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกถึงแรงกดดัน การที่พวกเขาทำงานหนักจนก้าวขึ้นมาอยู่ตรงจุดที่เจอแรงกดดันระดับนี้ได้ ควรจะรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิพิเศษ

ผนังว่างเปล่าที่มีไฟส่องอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง คือสิ่งที่คอยย้ำเตือนอยู่เสมอถึงแรงกดดันนั้น และด็อคหวังว่าลูกทีมจะรู้สึกถึงความเป็นคนพิเศษ ที่มีคนคาดหวังให้พวกเขานำธงแชมป์มาแขวนเพิ่มในสนามให้ได้

 

5.ผู้ชนะคือผู้ที่ไม่หยุดก้าวไปข้างหน้า (Champion Keep Moving Forward)

ทุกคนล้วนเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ผู้ชนะจะอดทนกับมัน และพยายามก้าวต่อไปให้ได้

ด็อคยกตัวอย่าง มูฮัมหมัด อาลี นักชกระดับตำนานที่เป็นไอดอลของเขาขึ้นมา

“ผู้คนคิดว่าถ้าคุณเป็นแชมป์ นั่นหมายความว่าคุณไม่โดนต่อย แต่ในความเป็นจริงมันตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง”

“คนเป็นแชมป์นั้นโดยต่อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาเลือกที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า”

รอบชิงชนะเลิศของ NBA ในปี 2008 เซลติกส์ต้องเจอกับของแข็งอย่าง ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ที่กำลังกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้การนำของผู้ที่ได้แชมป์ในฐานะโค้ชมาแล้วถึง 9 สมัย ฟิล แจ็คสัน

ปีนั้นยังเป็นปีที่ โคบี ไบรอันต์ ของเลเกอร์ส ซูเปอร์สตาร์อันดับ 1 ของยุคผู้ล่วงลับ ทำผลงานได้ดีจนคว้าตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่ายอดเยี่ยมประจำปี (MVP) ไปครองเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในอาชีพยัดห่วงของเขา บวกกับการได้ เพา กาซอล เซนเตอร์ระดับออลสตาร์เข้ามาเสริมทีม ซึ่งเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นที่เลเกอร์สต้องการอย่างมาก หลังจากที่ ชาคีล โอนีล โดนเทรดออกไปเมื่อปี 2004

การแข่งขันรอบชิง NBA ใช้ระบบ 4 ใน 7 เกม ใครชนะถึง 4 นัดก่อนจะได้แชมป์ไปครอง และเซลติกส์ก็คว้าชัยไปได้ก่อนใน 2 เกมแรกที่เล่นในบ้านตนเอง

การได้เล่นในสนามตนเองถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถชี้ขาดผลแพ้ชนะได้เลย จากข้อได้เปรียบเรื่องเสียงเชียร์และความคุ้นเคย ทำให้ในกรณีที่คู่ชิงสูสีกันมาก มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ผลการแข่งขันจะออกมาในลักษณะบ้านใครบ้านมัน คือใครได้เล่นในสนามตนเองมักจะเก็บชัยชนะได้เสียเป็นส่วนใหญ่

ในกรณีแบบนี้แม้เซลติกส์จะนำไปก่อน 2-0 แต่ถ้าหากปล่อยให้เลเกอร์สที่เล่นในบ้านเอาชนะได้ 3 เกมรวด จะทำให้พวกเขาตกเป็นฝ่ายตาม 2-3 และเจอกับแรงกดดันมหาศาลในเกมที่ 6 ทันที เพราะถึงจะได้กลับไปเล่นในสนามเหย้าของตัวเอง แต่ถ้าแพ้อีกเกมเดียวเท่ากับว่าเลเกอร์สจะคว้าแชมป์ทันที

ในเกมที่ 3 ที่สลับมาแข่งที่สนาม Staples Center ของเลเกอร์ส เป็นฝั่งเจ้าบ้านที่เอาชนะไปได้ ทำให้เซลติกส์นำอยู่เกมเดียว ถ้าหากแพ้เกมถัดไปจะกลายเป็นเสมอ 2-2 ทันที

เกมที่ 4 เลเกอร์สออกสตาร์ตได้อย่างสุดยอด ออกนำไปก่อน 35-14 ซึ่งระยะห่าง 21 แต้มในควอเตอร์แรกนี้เป็นแต้มควอเตอร์แรกที่ห่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิง NBA แม้เซลติกส์จะพยายามลดช่องว่างลงมาในบางช่วง แต่เลเกอร์สก็ยังทำแต้มทิ้งห่างต่อไปเรื่อยๆ จนในควอเตอร์ที่ 3 มีช่วงหนึ่งที่แต้มห่างกันถึง 24 แต้ม

คนที่ดูอยู่คงมองว่าเกมนี้จบแล้ว แต่ด็อคกลับไม่คิดเช่นนั้น เขาพยายามกระตุ้นลูกทีมต่อไป แม้ว่ามันจะยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้เล่นต้อง ’เชื่อ’ ว่ามันเป็นไปได้

ระยะห่าง 24 แต้มถูกลดลงมาเหลือ 12 แต้มอย่างรวดเร็ว จากการทำคะแนนของเซลติกส์แบบรวดเดียว ไม่ปล่อยให้เลเกอร์สทำได้เลยแม้แแต่แต้มเดียว

ชัดเจนแล้วว่าผู้เล่นเซลติกส์เชื่อว่าพวกเขาทำได้ จากตาม 24 แต้ม ยังลดลงมาเหลือ 12 แต้มได้ ทำไมพวกเขาจะทำอีก 12 แต้มเพื่อเสมอไม่ได้ล่ะ?

เกมดำเนินมาจนเหลือเวลาการแข่งขันอีก 4:07 นาที ระยะห่างลดลงมาเหลือเพียง 2 แต้มแล้ว เอ็ดดี้ เฮาส์ ตัวสำรองของทีมเซลติกส์ ชู้ตลูก 3 คะแนนลงไป ทำให้เซลติกส์สลับมาเป็นผู้นำได้สำเร็จ ก่อนจะเอาชนะในเกมนั้นไปได้ 97-91 นำห่างเป็น 3-1 เกม

ตอนนี้เซลติกส์เหมือนยกภูเขาออกจากอกแล้ว เพราะถึงเกมหน้าจะแพ้ แต่พวกเขาก็ยังนำอยู่ 3-2 และในเกมที่ 6 ที่ได้กลับไปเล่นในบ้าน เซลติกส์ที่เล่นแบบไร้ความกดดัน เอาชนะเลเกอร์สไปได้แบบขาดลอย 131-92 คว้าแชมป์ NBA ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า